พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 07 พ.ย. 2022 12:16 pm
“เราต้องสอนตัวเอง
ถ้ามีธรรมะอยู่ในใจ
ใจจะไม่หลง ไม่โลภ ไม่โกรธ
ไม่รัก ไม่ชัง ไม่ยินดี ยินร้าย
จะสบายใจอยู่ตลอดเวลา”
#คติธรรม
#พระจุลนายก
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
...ถ้ารู้สึกว่าบริกรรมพุทโธทำให้อยู่กับลมหายใจง่ายขึ้น เราก็ใช้คำบริกรรมไป ต้องทดลอง เรากับคนอื่่นอาจจะไม่เหมือนกันทีเดียว แต่โจทย์ก็เหมือนกัน ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ตัว ทำอย่างไรเราจึงจะตื่นรู้เป็นพุทธะอยู่ตลอดลมหายใจเข้า ตลอดลมหายใจออก
ถ้าเราต้องการความละเอียดในการกำหนด เราจะนึกแบ่งลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นสามส่วน คือ ต้นลม กลางลม ปลายลม จากลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นสอง กลายเป็นหก หายใจเข้า ตอนต้น-ตอนกลาง-ตอนปลาย จะมีช่วงว่างระหว่างหายใจเข้าหายใจออก แล้วก็หายใจออก ตอนต้น-ตอนกลาง-ตอนปลาย นี่ก็เป็นตัวอย่างของกุศโลบายช่วยในงาน ช่วยให้เราได้สร้างความพอใจกับการมีสติอยู่ในปัจจุบัน
มีสติเมื่อไรไม่ต้องสงสัย ความสุขก็จะตามมา ความสุขนั้นไม่ใช่เป้าหมายของการปฏิบัติแต่ว่าเป็นกำลังใจ ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ ตลอดลมหายใจเข้า ตลอดลมหายใจออก...
พระอาจารย์ชยสาโร
นำสมาธิภาวนา ในวาระปฏิบัติธรรมออนไลน์แก่สถานกงสุลใหญ่
วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
#บุญสำเร็จที่ใจ
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ
"...คนเรา เวลามาถวายทาน จะเป็นใส่บาตรหรือถวายสังฆทาน ก็อยากจะได้บุญ คำว่าบุญก็ต้องรู้จักให้ดีเพราะเดี๋ยวนี้มีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนมาก ตัวอย่างง่ายๆ เวลาจะกรวดน้ำหรืออุทิศบุญกุศลให้ใคร เดี๋ยวนี้บางคนมีความเข้าใจว่า #ถ้าเราอุทิศให้คนอื่นบุญกุศลของเราจะเหลือน้อยลง ... #ยิ่งเราอุทิศให้กับใครบุญของเราก็จะมากขึ้นไปด้วย เป็นบุญที่เรียกว่า ปัตติทานมัย ปัตติทานมัยคือการอุทิศบุญกุลคลให้กับผู้อื่น จะเป็นผู้ล่วงลับ จะเป็นเจ้ากรรมนายเวร หรือแม้แต่คนที่มีชีวิตอยู่ก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่เพียงแต่หวงเงิน แต่เรายังหวงบุญด้วย จะอุทิศหรือเราจะแผ่บุญกุศลให้ใครก็ไม่เห็นพอใจ ไม่อยากทำ เพราะคิดว่าบุญกุศลเหมือนกับเงิน ยิ่งให้กระเป๋าเราก็เหลือน้อยลง แต่บุญไม่ใช่อย่างนั้น บุญยิ่งให้เราก็ยิ่งได้ แล้วเดี๋ยวนี้มีบางคนเข้าใจไปว่า เวลาพระจะให้พร หรือเวลาเหมือนจะอุทิศบุญกุศลให้ใคร ถ้ามีคนอื่นมาร่วมรับพรด้วย มาร่วมรับบุญด้วย ก็จะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แบบนี้ก็มี
มีเพื่อนที่เป็นพระเล่าให้ฟัง มีสามีภรรยาคู่หนึ่งมาถวายสังฆทาน พอทำพิธีถวายเสร็จท่านก็จะให้พร และก็เป็นโอกาศที่เจ้าตัวจะได้กรวดน้ำ แกคงมาเหมือนกับสะเดาะเคราะห์เพราะมีเคราะห์ แต่ว่าพอพระจะให้พรตัวภรรยาก็ออกไป พระท่านก็รออยู่ว่าเมื่อไรภรรยาจะกลับมาเพื่อให้พรพร้อมกัน ก็ไม่กลับเข้ามาสักที พอสอบถามสามีก็ได้ความว่า เขากลัวว่าถ้าเขามารับพรด้วย พรที่สามีจะได้หรือกุศลที่จะได้ก็จะน้อยลงเพราะต้องหารสอง เรื่องนี้คิดกันแบบนี้ มันไม่เหมือนอาหาร ไม่เหมือนกับเงิน เงินนี่ถ้าให้ใครถ้ามีน้อยคนตัวหารก็น้อยแต่ละคนก็ได้มาก แต่ถ้าคนมากแต่ละคนก็ได้น้อยลงเพราะต้องหารเฉลี่ยให้เท่าๆกัน อาหารก็เหมือนกัน อาหารที่มีมากแต่คนกินมีมากด้วยแต่ละคนก็ได้น้อยลง แต่บุญไม่ใช่อย่างนั้น
พรก็เหมือนกัน จะกี่คนๆ รับพรรับบุญก็ได้เท่ากัน ที่จริงจะว่าได้เท่ากันก็ไม่ถูก เพราะมันอยู่ที่ใจ ถ้าใจตอนนั้นใจโปร่งใจโล่งใจเบาสบายก็รับหรือได้บุญเต็มๆ เหมือนกับน้ำที่จะใส่แก้ว น้ำจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ว่าแก้วว่างหรือไม่ ถ้าแก้วว่างก็รับน้ำได้เต็มๆ แต่ถ้าแก้วมีน้ำอยู่แล้วสักครึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสาม แถมเป็นน้ำขุ่นๆ ด้วย เติมน้ำใสน้ำขาวลงไปก็ได้แค่ครึ่งเดียวที่เหลือก็ล้นหมด เวลาเรามาทำบุญก็ต้องทำใจให้โปร่งให้โล่งสบาย จึงมีประเพณีว่าก่อนที่จะถวายสังฆทานก็ให้มีพิธีกรรมเล็กน้อยก่อน เช่น กล่าว นโมฯ สามจบ แล้วก็กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย แล้วก็อาจจะมีการสมาทานศีลด้วย ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ใจสงบ ให้ใจโล่งปลอดโปร่ง ทำให้เกิดความปิติ เวลาถวายทาน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากที่ถวายทาน ถ้า #ระหว่างที่ถวายกังวลว่าจะไม่ใครถ่ายรูปเลยแล้วจะไปขึ้นเฟสบุ๊คอย่างไรจิตใจก็หม่นหมองแล้ว เดี่ยวนี้จะทำบุญต้องมีคนมาถ่ายรูป #พอไม่มีคนมาถ่ายรูปหรือลืมเอากล้องมาลืมเอาโทรศัพท์มาไม่สบายใจแล้วจิตใจหม่นหมองแล้ว #ตรงนี้แหละที่ทำให้ได้บุญน้อยเพราะว่าจิตใจไม่โปร่งไม่โล่ง
แล้ว #เวลาทำบุญถวายทานถวายสังฆทาน #จะกรวดน้ำก็ได้ไม่มีน้ำก็นึกในใจก็ได้ เรียกว่ากรวดแห้ง นึกถึงผู้ที่ล่วงรับที่เราจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ #แล้วก็ไม่ต้องนึกว่าพระจะสวดยะถาฯหรือไม่ #แล้วก็ไม่ต้องเจาะจงว่าต้องสวดยะถาฯเท่านั้น เคยไปบิณฑบาตรแถวบ้านตาดรินทอง มีชาวบ้านพึ่งกลับมาจากในเมืองสงสัยจะไปทำงานมาหลายปี เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วก็รอกรวดน้ำ อาตมาก็เริ่มสวดอะภิวาทะนะสีฯ เธอก็ไม่ยอมกรวดน้ำสักที จนจบแล้ว แกก็พูดขึ้นมาว่า หลวงพ่อสวดยะถาฯ หน่อย แต่อะภิวาทะนะสีฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของบทยะถาฯ อยู่แล้ว แกเข้าใจว่าต้องยะถาฯ ถึงจะได้บุญมาก ถ้าไม่ยะถาฯ ได้บุญน้อย ไม่เกี่ยวกันเลย มันอยู่ที่ใจ..."
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
คนเรานั้นหากรู้จัก “เฉย” ได้บ้างในบางสถานการณ์ ก็จะพบได้เองว่า เรื่องยุ่ง ๆ ในชีวิตมันจะหายไปเยอะเลย
.
แต่การที่ใครจะเฉยได้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย ๆ ผู้ที่จะทำได้ก็ต้องมีสติปัญญาอันสุขุมลุ่มลึกมิใช่น้อย มิฉะนั้น ก็มิอาจสะกดกลั้นอารมณ์ร้อนที่กำลังพลุ่งพล่านดาลเดือดอยู่ภายในใจ
.
ควรเฉยในกาลอันควรเฉย ควรพูดในกาลอันควรพูด ควรทำในกาลอันควรทำ ควรคิดในกาลอันควรคิด โบราณจึงบอกว่า “ทำอะไรก็ให้รู้จักกาลเทศะ” นั่นแหละ คือ สติปัญญาอันยอดเยี่ยม ถ้าไม่รู้จักกาลเทศะ มันก็จะกลายเป็น บ้า ๆ บอ ๆ ไป อันนี้โบราณไม่ได้ว่า แต่เราว่าเอง
.
การควรเฉยก็ไม่เฉย ดันทะลึ่งไปพูด การควรพูดก็ไม่พูด ดันทะลึ่งไปเฉย การควรทำก็ไม่ทำ การควรคิดก็ไม่คิด มันก็ยุ่งตายห่ะ! เท่านั้นเอง!!
.
#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๔
เมตตาธรรมจาก
พระอาจารย์วิทยา กิจวิชโช
เจ้าตัวความคิด นี่มันเกิดมาจากหลายอย่างเลย
เกิดมาจาก ขันธ์ 5 มี รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ
มากระทบ แล้วปรุงแต่ง ความคิดของเรา
ถ้ามันคิด ก็ปล่อยให้มันคิดไป
ให้ดูเอาความคิดตัวเอง ให้รู้เท่าทัน
รู้ทันมัน ถ้าคิดไป ทั่วทีป ทั่วแดน นี่มันใช้ไม่ได้
เราต้องควบคุมความคิดของตัวเอง
นั่นละ...ทำบ่อยๆ เดี๋ยวก็ชินเอง..ดอก
โอวาทธรรม หลวงปู่จื่อ พนฺธมุตฺโต
"... วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันพระ
วันโกนอย่างนี้ พวกเราชาวพุทธ
ควรจะ เสาะแสวงหา คุณงาม
ความดี เข้าสู่ใจ ..."
..............................
#หลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
“ขออุบายเรื่องการยึดติดพระเครื่อง”
ถาม: กราบขออุบายจากพระอาจารย์เรื่องการยึดติดพระเครื่อง วัตถุมงคล สำหรับคนที่ยึดติดมากๆ ควรพิจารณาอย่างไรเพื่อคลายความยึดติดได้ครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็บอกว่ามันเป็นแค่วัตถุ มันไม่มีสาระอะไร เราไปหลงเขาสมมุติกันขึ้นมา เขาว่าดียังนั้นดียังนี้ แต่ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่ามันดีอย่างที่เขาพูดหรือเปล่า เพราะมันจะมีข้อที่มันจะมาแย้งทุกครั้ง บางคนบอกว่ามีพระเครื่องห้อยคอแล้วจะปลอดภัย ก็ไปดูคนที่ห้อยคอเขาตายก็มีตั้งเยอะแยะ
ดังนั้นมันไม่มีหรอก พระเครื่องมันเป็นเพียงวัตถุ เป็นเหมือนของเล่นของเด็กอย่างนี้ แต่เราไม่รู้เราไปถูกเขาสอนว่าเป็นของวิเศษ พอใส่แล้วจะคุ้มครองเรา พอวันไหนไม่ได้ใส่พระเครื่องรู้สึกไม่มั่นใจแล้ว ออกจากบ้านกลัวเดี๋ยวจะรถคว่ำตาย กลัวจะถูกรถชนตายขึ้นมา
มันเป็นเรื่องอุปาทาน เรื่องของความคิดปรุงแต่งของเรา ต้องดูว่าคนที่ห้อยพระเครื่องก็ตาย คนที่ไม่ห้อยพระเครื่องก็ตาย มีพระเครื่องเต็มบ้านขโมยก็ขึ้นบ้านได้ บ้านก็ไฟไหม้ได้ บ้านก็น้ำท่วมได้ มันไม่ได้เป็นอะไรหรอก มันไม่มีอะไรทั้งนั้น เป็นเพียงแต่ความเชื่อของเรา
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
…การฟังธรรม..” ต้องฟังด้วยสติ “
คอยฟังเสียงที่เข้ามาสัมผัสกับหู
จะพิจารณาตามไปก็ได้
จะเกิดความเข้าอกเข้าใจ
จะทำให้ปล่อยวางได้
.ถ้าพิจารณาไม่ทัน
“ ก็ให้มีสติเกาะอยู่กับเสียงไปเรื่อยๆ “
อย่าไปคิดเรื่องอื่น
ใจก็จะ..สงบเย็นได้ .
……………………………………………
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๑๕ กัณฑ์ที่ ๓๘๗
๒๑ กันยายน ๒๕๕๑
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.