#จิตประเสริฐ_จิตเกษม
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ .. แปดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าและสาวก ไม่มีความยินดีและโศกเศร้า ไม่มีความหวั่นไหว..ไม่มีความยินดี ยินร้าย กับอารมณ์แปดอย่าง นี่ละ จึงว่าจิตประเสริฐ จิตเกษม.
#หลวงปู่ขาว_อนาลโย
#พระธรรมคำสอน หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
“จิต” กับ “ใจ” ก่อนจะฝึกหัดสมาธิ พึงข้าใจถึง “จิต” กับ “ใจ” เสียก่อน ในที่นี้พึงเข้าใจกันเสียก่อนว่า “จิต” กับ “ใจ” มิใช่อันเดียวกัน
“จิต” เป็นผู้นึกคิดนึกปรุงแต่งสัญญาอารมณ์สรรพสิ่งทั้งปวง “ใจ” เป็นผู้นิ่งอยู่เฉยๆ เพียงแต่รู้ว่านิ่งอยู่เฉยๆ ไม่มีคิดนึกปรุงแต่งอะไรอีกเลย เปรียบเหมือนแม่น้ำ กับคลื่นของแม่น้ำ เมื่อคลื่นสงบแล้ว จะยังเหลือแต่แม่น้ำอันใสแจ๋วอยู่อย่างเดียว
สรรพวิชาทั้งหลาย และกิเลสทั้งปวง จะเกิดมีขึ้นมาได้ ก็เพราะจิตคิดนึกปรุงแต่งแส่ส่ายหามา สิ่งทั้งปวงเหล่านั้น จะเห็นได้ชัดด้วยใจของตนเอง ก็ต่อเมื่อ จิตนิ่งแล้วเข้าถึงใจ
น้ำเป็นของใสสะอาดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อมีผู้นำเอาสีต่างๆ มาประสมกับน้ำนั้น น้ำนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสีนั้นๆ แต่เมื่อกลั่นกรองเอาน้ำออกมาจากสีนั้นๆ แล้ว น้ำก็จะใสสะอาดตามเดิม “จิต” กับ “ใจ” ก็อุปมาอุปมัยดังอธิบายมานี้
แท้จริงพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเทศนาไว้แล้วว่า จิตอันใด ใจก็อันนั้น ถ้าไม่มีใจ จิตก็ไม่มี จิตเป็นอาการ ใจไม่มีอาการ การฝึกหัดสมาธิภาวนา ไม่ว่าจะฝึกหัดโดยอาจารย์ใดและวิธีอะไรก็แล้วแต่เถิด ถ้าถูกทางแล้ว จะต้องเข้าถึงใจทั้งนั้น
เมื่อเข้าถึงใจ เห็นใจของตนแล้ว ก็จะเห็นสรรพกิเลสของตนทั้งหมด เพราะจิตมันสะสมกิเลสไว้ที่จิตนั้นทั้งหมด คราวนี้เราจะจัดการอย่างไรกับมันก็แล้วแต่เรา
หมอซึ่งจะรักษาโรคนั้นๆ ให้หายได้เด็ดขาด ก็ต้องค้นหาสมุฏฐานของโรคนั้นให้รู้จักเสียก่อน แล้วจึงจะวางยาให้ถูกกับโรคนั้นได้
เราบริกรรมพุทโธๆๆ ไปนานๆเข้า จิตก็จะค่อยคลายความฟุ้งซ่าน แล้วจะค่อยมารวมเข้ามาอยู่กับพุทโธ จิตจะตั้งมั่นเป็นอารมณ์อันเดียวกับพุทโธ จนเห็นจิตที่ว่า พุทโธอันใดจิตก็อันนั้นอยู่ตลอดทุกเมื่อ ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดๆ ก็เห็นจิตใสแจ๋วอยู่กับพุทโธนั้น
ประคองจิต ไม่รีบร้อน เมื่อได้ถึงขนาดนั้นแล้ว ขอให้ประคองจิตนั้นไว้ในอารมณ์นั้น นานแสนนานเท่าที่จะนานได้ อย่าเพิ่งอยากเห็นนั่นเห็นนี่ หรืออยากเป็นนั้นเป็นนี้ก่อนเลย
เพราะความอยาก เป็นอุปสรรคแห่งจิตที่เป็นสมาธิอย่างร้ายแรง
เมื่อความอยากเกิดขึ้น สมาธิก็จะเสื่อมทันที สมาธิเสื่อมเพราะหลักสมาธิ คือ “พุทโธ” ไม่มั่นคง คราวนั้นแหละ คว้าหาหลักอะไรก็ไม่ได้ เกิดความเดือดร้อนใหญ่ คิดถึงแต่อารมณ์ที่เคยได้รับสมาธิความสงบสุขเมื่อก่อน จิตก็ยิ่งฟุ้งใหญ่ ฯลฯ
ฝึกหัดสมาธิให้เหมือนชาวนาทำนา เขาไม่รีบร้อน เขาหว่านกล้า ไถ คราด ปักดำ โดยลำดับไม่ข้ามขั้นตอน แล้วรอให้ต้นข้าวแก่ ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่เห็นเมล็ดไม่เห็นรวงเลย แต่เขาก็มีความเชื่อมั่นของเขาว่า จะมีเมล็ดมีรวงวันหนึ่งข้างหน้าแน่ๆ เมื่อต้นข้าวแก่แล้วออกรวงมา จึงเชื่อแน่ว่าจะได้รับผลแน่นอน เขาไม่ไปดึงต้นข้าวให้ออกรวงเอาตามใจชอบ ผู้ไปกระทำเช่นนั้น ย่อมไร้ผลโดยแท้
การฝึกสมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน จะรีบร้อนข้ามขั้นตอนย่อมไม่ได้ ต้องตั้งจิตให้เลื่อมใสศรัทธาให้แน่วแน่ ว่าอันนี้ล่ะ เป็นคำบริกรรมที่จะทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้แท้จริง แล้วอย่าไปลังเลสงสัยว่า คำบริกรรมนี้จะถูกกับจริตนิสสัยของเราหรือไม่หนอ คำบริกรรมอันนั้น คนนั้นทำมันเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ เราทำแล้วจิตไม่ตั้งมั่นอย่างนี้ใช้ไม่ได้
ถ้าจิตตั้งมั่นแน่วแน่ในคำบริกรรมที่ตนภาวนาอยู่นั้นแล้ว เป็นใช้ได้ทั้งนั้น เพราะภาวนาก็เพื่อต้องการทำจิตให้แน่วแน่เท่านั้น ส่วนนอกนั้นมันเป็นตามบุญวาสนาของแต่ละบุคคล
ครั้งพุทธกาล มีพระรูปหนึ่งไปภาวนาอยู่ใกล้สระน้ำแห่งหนึ่ง เห็นนกกระยางตัวหนึ่งโฉบปลากินเป็นอาหาร ท่านเลยถือเอาเป็นคำบริกรรมภาวนา จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นกกระยางกินปลาไม่เคยเห็นในกัมมัฏฐานบทใด แต่ท่านเอามาภาวนาจนสำเร็จ นี้เป็นตัวอย่าง
จิตตั้งมั่นในคำบริกรรม จิตที่ตั้งใจอบรมให้อยู่ในขอบเขตของคำบริกรรมพุทโธๆๆ ซึ่งมีสติเป็นผู้ควบคุมแล้ว ย่อมจะละพยศตัวร้ายกาจของตัวเองได้ และเราก็ต้องฝึกฝนอบรม เพราะต้องการความสุขสงบของจิต ธรรมดาของจิตย่อมมีอารมณ์ส่งส่ายหาความฟุ้งซ่านเป็นวิสัยอยู่แล้ว ดังอธิบายมาแล้ว โดยมากมันจะส่งส่ายไปในอารมณ์เหล่านี้ คือ พอเริ่มบริกรรมพุทโธ เอาจิตไปตั้งไว้ในพุทโธๆ เท่านั้นแหละ มันจะไม่อยู่ในพุทโธๆ มันจะวิ่งไปหาการงานที่เราเริ่มจะทำหรือกำลังทำอยู่ ปรุงแต่งทำนั่นทำนี่วุ่นวายไปหมด กลัวการงานมันจะไม่ดีไม่งาม กลัวการงานนั้นมันจะไม่สำเร็จ การงานที่เรารับจากคนอื่น หรือรับเฉพาะส่วนตัวมันจะเสียผลประโยชน์หรือขายขี้หน้า เมื่อเรารับแล้วไม่ทำตาม ฯลฯ
นี่เป็นเรื่องรบกวนใจไม่ให้เป็นสมาธิของผู้อบรมใหม่อย่างหนึ่ง เราดึงเอาจิตมาไว้ที่พุทโธๆๆ นั้นอีก บอกว่านั่นมิใช่หนทางแห่งความสงบ ทางสงบแท้ต้องเอาจิตมาตั้งไว้ที่พุทโธแห่งเดียว แล้วบริกรรมพุทโธๆๆ เรื่อยไป ฯลฯ
ประเดี๋ยวส่งไปอีกแล้ว คราวนี้ไปถึงครอบครัวโน้น ส่งไปหาลูก ไปหาภรรยา ไปหาสามีโน้น เขาจะอยู่อย่างไร เขามีสุขภาพพลามัยดีหรือไม่หนอ ได้บริโภคอาหารดีมีรสหรือไม่หนอ ถ้าอยู่ห่างไกลกัน ก็คิดถึงที่อยู่ที่นอน จะอยู่จะกินอย่างไร ผู้จากไปก็คิดถึงผู้อยู่ทางบ้าน ผู้อยู่ทางบ้านก็คิดถึงผู้ไปไกล กลัวว่าจะไม่ปลอดภัย กลัวคนอื่นจะมาข่มเหง ไม่มีผู้อยู่เป็นเพื่อน กลัวจะเหงาหงอย ฯลฯ คิดไปร้อยแปดพันเก้าสุดแท้แต่จิตจะปรุงจะแต่งไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันคิดไปเกินกว่าเหตุทั้งนั้น
หรือถ้ายังเป็นโสดยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ ก็จะปรุงจะแต่งไปในทางสนุกสนานเพลิดเพลินกับหมู่กับเพื่อน ที่เคยเที่ยวสนุกเฮฮาไปในที่ต่างๆ บางคนถึงกับอุทานออกมาเป็นเสียง ดังหัวเราะก้ากก็มี กิเลสตัวนี้มันร้ายแรงยิ่งกว่าเพื่อน
เมื่อภาวนาพุทโธๆๆ กิเลสมันเห็นว่าไม่ได้การแล้วเขาจะหนีจากเราไปอีกแล้ว มันก็จะสรรหาสิ่งที่จะผูกมัดให้เราติดมั่นเข้าทุกที เราเกิดมาตั้งแต่เด็กจนโตเราไม่เคยฝึกสมาธิภาวนาเลย มีแต่ปล่อยให้จิตไปตามอารมณ์ของกิเลส เพิ่งมาฝึกหัดเดี๋ยวนี้เอง เมื่อมาภาวนาพุทโธๆๆ เพื่อให้จิตมันมารวมอยู่ที่พุทโธ จิตมันจึงดิ้น เหมือนกับบุคคลโยนปลาขึ้นจากน้ำไปที่บนหาด ปลาย่อมดิ้นหาน้ำเป็นธรรมดา เราดึงเอา “จิต” ให้เข้ามาหา “พุทโธ” อีก.
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
สติ นำทางถึงที่สุด...
บันทึกธรรม องค์หลวงพ่อบุญช่วย ปญฺญวนฺโต ในวันเคลื่อนสรีระสังขารพ่อขาววันชาติ ยิ้มมี
. พ่อขาวแสดงธรรมให้เราเห็น นั่นแหละของจริง ถ้าเป็นคนธรรมดา ถ้าไม่มีภาวนาอยู่ไม่ได้ ภาวนาให้จิต อนุภาพของจิต รั้งเอาสังขารไว้พิจารณา ถ้าคนไม่มีภาวนาปุ๊บ ทิ้งเลย ทิ้งเลย มันเป็นอย่างนั้นแหละ
. ของใครก็เอาไว้ไม่ได้ สังขาร แต่ต้องไปตามสภาวะ ถ้าไปทิ้งก่อนไม่ได้ ทิ้งก่อนไม่ได้ ถ้าทิ้งก่อน ถ้าพูดหยาบๆ เหมือนเราฆ่าตัวเองตาย เพราะมันต้องไปถึงที่หนึ่งก่อน
. หลวงพ่ออยู่กับหลวงพ่อทอง ตอนที่ท่าน สังขารแย่มากๆ พังมากๆ ท่านพูดว่า ถ้าผมปล่อย "ลม" ผมก็ไปแล้ว นี่แหละ
. ที่จริงน่ะ เราปล่อยมันก็ปล่อยได้ แต่ว่าต้องปล่อยให้ถึงที่ก่อนแล้วค่อยปล่อย ถ้าปล่อยไม่ถึงที่ ก็เรียกว่า "เราทิ้ง เราฆ่าตัวเอง" เนี่ย...พวกเรา ที่เป็นกัน ไม่มีสติก็เป็นแบบนี้แหละ ถ้ามีสติแล้วเราต้องไปให้ถึงที่
. ถึงที่ก็คือ ลมมันไปเป็นลม ดินมันไปเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ไฟเป็นไฟ ตัวพุทธะ ผู้รู้ รู้อยู่อย่างนี้ไปตลอด ส่วนนี้ก็สู่ธรรมเหมือนเดิม พยายามทำให้ได้อย่างนี้
. ทั้งนั้นทั้งนี้ ต้องฝึกสติ ไม่ฝึกสติมันรู้ไม่ได้ ทำไม่ได้ ไปรู้ๆ อยู่อย่างนี้ รู้ไม่ได้ ตัวสติตัวนี้แหละจะประคองเรา ไปถึงที่สุด...
หลวงพ่อบุญช่วย ปญฺญวนฺโต วัดภูริทัตตปฏิปทาราม ค่ำวันอังคารที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ณ ลานประชุมเพลิงสลายสรีระพ่อขาววันชาติ ยิ้มมี วัดป่าสะรวงใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
เมื่อกายเราสบายแล้วบริกรรมภาวนา หรือนึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว รวมเอา พุทโธ พุทโธ คำเดียว อย่าส่งใจไปข้างหน้ามาข้างหลัง ทั้งซ้ายทั้งขวา ข้างบนข้างล่าง
ตั้งไว้เฉพาะท่ามกลางตรงที่รู้ พุทโธ พุทโธ อยู่นั้น อย่าส่งใจไปอื่น หลับตางับปากแล้วก็เพ่ง ทำใจให้สงบ
เราอยากสุขอยากสบาย อย่าไปนึกทุกข์นึกยาก สิ่งไรทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวเรา อย่าส่งใจไป ตั้งไว้เฉพาะส่วนที่รู้
ความรู้นี่แหละสำคัญ มันไม่เป็นของแตกของทำลายของฉิบหาย เป็นผู้รู้อยู่ภายใน เพ่งดูให้รู้ว่ามีอยู่จำเพาะตนของตน
สุขทุกข์ ดีชั่ว เป็นความสมมติทั้งนั้น สุขก็ว่าเอาเอง ทุกข์ก็ว่าเอาเอง ดีก็ว่าเอาเอง ชั่วก็ว่าเอาเอง
อย่าไปว่าอะไรซี่ เย็นร้อนเราก็ว่าเอาเองทั้งหมด อย่าไปว่า วางใจให้สบายเท่านั้นแหละ เรื่องจึงจะดี
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
"บุญกุศลนั้น ก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี ภาวนาบารมีนี้แหละ ทานก็รู้อยู่แล้ว คือการสละ หรือการละ การวาง ผู้ใดละมาก วางได้มาก ก็เป็นผลานิสงส์มาก ผู้ใดวางได้น้อย ละได้น้อย ก็มีผลานิสงส์น้อย"
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
มนุษย์เราทั้งหลาย ไม่ต้องการทุกข์ ต้องการแต่สุข ความจริงสุข นั้นก็คือ ทุกข์อย่างละเอียด เช่นเดียวกับ ทุกข์ ก็คือ ทุกข์อย่างหยาบ
พูด อย่างง่ายๆ สุข และทุกข์ ก็เปรียบเสมือน "งูตัวหนึ่ง" ทาง หัว มันเป็น "ทุกข์" ทาง หาง มันเป็น "สุข"
เพราะถ้าลูบทางหัวมันมีพิษ มันก็กัดเอา ไปจับหางมันก็เหมือนเป็นสุข แต่ถ้าจับไม่วาง มันก็หันกลับมากัดได้ เหมือนกัน
เพราะ ทั้ง "หัวงู และ หางงู" มันก็อยู่ใน งูตัวเดียวกัน เช่นเดียวกับ "สุขและทุกข์" ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกัน
หลวงปู่ชา สุภัทโท
|