พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อังคาร 20 ธ.ค. 2022 5:20 am
#กรรมฐาน_๕
..ในเบื้องต้นแห่งการพิจารณาหรือปฏิบัติธรรมข้อนี้พึงตั้งสติให้มั่นคงดีแล้ว นึกถึงเกศาคือผมจิตก็นึกไปถึงผม โลมาคือขนจิตก็นึกถึงขนทั่วสรรพางค์กาย นขาเล็บนึกถึงเล็บเท้าเล็บมือ ทันตาฟันฟันเบื้องล่างเบื้องบน ตโจหนังสิ่งที่หุ้มห่อทั่วสรีระร่างกายนี้ จะพิจารณาเพียง๕ข้อนี้ก็ได้แล้วกลับไปกลับมา เมื่อพิจารณาจนเกิดความแม่นยำหรือไม่เผลอดีแล้ว ต่อไปก็พิจารณาถึงว่านึกถึงเกศานึกไปถึงผม ก็นึกว่าผมนี้ก็ไม่สะอาดผมนี้ก็ปฏิกูล ทิ้งไว้สองวันสามวันไม่อาบน้ำชำระร่างกายก็มีกลิ่นปฏิกูลโสโครก แม้ขน เล็บ ฟัน หนังก็เช่นเดียวกัน
..ที่จะเห็นง่ายที่สุดก็คือฟัน วันหนึ่งวันหนึ่งที่เราบริโภคอาหารหลายเวลา ถ้าไม่ได้แปรงฟันและชำระล้างฟันความปฏิกูลเกิดได้ง่ายที่สุดเพราะต้องไปคลุกเคล้ากับอาหารสิ่งต่างๆตลอดจนอาหารที่มีปลาเนื้อและผักหญ้า จึงติดตามซอกฟันไรฟันต่างๆนานเกินเวลาเกิดบูดเกิดเน่า กลิ่นก็ปฏิกูลและยังประทุษร้ายบริเวณเหงือกของฟันให้เกิดการอักเสบสึกกร่อนของฟันได้อีกด้วย พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงทั้ง๕ประการนี้กลับไปกลับมา โดยเห็นปฏิกูลแล้วเมื่อพิจารณาไปจนเห็นสิ่งเหล่านี้ปรากฏกับจิต เช่นเราเกิดความขยะแขยงโสโครกปฏิกูลสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้ง๕อย่างนี้
..สิ่งนั้นเมื่อเรานึกถึงแล้วปรากฏกับจิต เหมือนจิตมีตาเป็นผู้เห็นครั้นเมื่อได้เห็นแล้วก็พิจารณาดูอยู่ด้วยความมีสติก็จะเห็นเป็นโสโครกปฏิกูลมากขึ้น เห็นสรีระส่วนใดส่วนหนึ่งโสโครกปฏิกูลมากขึ้น จิตก็ถอนออกจากนิวรณ์ จิตถอนออกจากนิวรณ์แล้วอารมณ์ความสงบก็เกิดขึ้นง่ายเพราะไม่มีตัวบังตัวดึงจิตให้อยู่ในอำนาจของนิวรณ์ จิตซึ่งเป็นธรรมชาติผ่องแผ้วก็จะอยู่กับกรรมฐานที่นึกคิดนั้น เวลาเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดและทั้ง๕อย่างปรากฏกับจิต จิตย่อมสงบทันที ความสงบของจิตในขณะนั้นประณีตกว่าเหนือกว่าที่เราสงบแบบธรรมดา แล้วพึงมีสติคุมจิตที่สงบนั้นดูสิ่งที่เห็นและให้เกิดความสงบให้มากให้เกิดความชำนาญให้เกิดความคล่องแคล่วแล้วก็ขยายการพิจารณานั้นออกไป
โอวาทธรรมหลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร
#เขาไม่พลัดพราก_เราก็พลัดพราก
"... เขาไม่จาก.. เราก็จาก เพราะโลกนี้เต็ม
ไปด้วยความจาก ความพลัดพรากกันอยู่แล้ว
โดยหลักธรรมชาติ ..."
#หลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน
#เรื่องบอกบุญทำให้จริง
องค์หลวงปู่ลี ตาณํกโร ท่านได้ยกตัวอย่างเรื่องการบอกบุญว่า
มีพระหนุ่มรูปนึง ไปบอกบุญโยม พอได้ปัจจัยแล้ว ก็ไม่นำไปสร้างตามวัตถุประสงค์ กลับนำไปซื้อรถมาให้ตนเอง...ไม่นานสุดท้าย พระรูปนี้ก็ตาย
ท่านเน้นย้ำอีกว่า . . .
"ทำอะไรให้ทำจริงๆ อย่าไปทำหลอกโยมเขา"
หลวงปู่ลี ตาณํกโร
วัดป่าหัวตลุก อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์
#สังขารร่างกายนี้เป็นของว่างเปล่า
แท้จริงแล้ว สังขารร่างกายนี้ มันเป็นของว่างเปล่า..!! มันไม่ได้เป็นของผู้ใด หากเราทั้งหลายไม่เข้าใจธรรมะในสภาวะอันนี้ ไม่เข้าใจในสังขารนี้ จึงคิดว่าของเรา ของเขา จนเกิดอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา
เมื่อเกิดอุปาทาน ก็เข้าไปยึดภพ เกิดภพ เกิดชาติ ชรา พยาธิ มรณะต่อไป มันจึงเป็นทุกข์อยู่เช่นนี้
#หลวงปู่เสาร์_กันตสีโล
อริยบุคคลต้องเริ่มละข้าศึกคือความยึดถือ ไม่จมอยู่ในความยึดถือไม่มีทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ ฉะนั้นมันจึงเริ่มเย็น ถ้ายึดแล้วมันไม่เย็น มันต้องไม่ยึดมันจึงจะเริ่มเย็น
ฉะนั้นอย่ามัวเป็นปุถุชนกันให้นาน เหมือนกับปู่โสมเฝ้าทรัพย์เลย รักความเป็นปุถุชน เกาะไว้แน่น ไม่ยอมละไป เหมือนเขาเรียกว่าปู่โสมเฝ้าทรัพย์ เดี๋ยวนี้มันเฝ้าความเป็นปุถุชนของมัน
พยายามล้างความยึดถือที่ว่าตัวกูว่าของกู ไม่ว่าอะไรที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าตัวกูว่าของกูแล้ว ก็ตามละ นี่จะเรียกว่าอริยชน
สรุปเป็นคำกลอนว่า
อริยะ แปลว่าละ จากข้าศึก
ไม่จมลึก อยู่ ใน โลก โศกสลาย
จนไม่มี ข้าศึกใหญ่ ทางใจกาย
เพราะจางคลาย จนวิโยค เป็นโลกเย็น
เป็นปุถุชน กันทำไม ให้นานเล่า
จะตายเปล่า ไปทั้งชาติ ฉลาดเห็น
มันมีทาง ชนะทุกข์ ทุกประเด็น
อย่ามัวเป็น ปู่โสม เรื่องโคมลอย
ทิฏฐิว่า ตัวกู และของกู
มุ่งมล้าง มันอยู่ ไม่ท้อถอย
กิเลสหาย เริ่มมลาย ไม่รัดร้อย
นี้คือรอย อริยา รีบหาเทอญ
#หลวงปู่พุทธทาส
“จะสุข… ก็เพราะใจปรุงให้สุข
จะทุกข์… ก็เพราะใจปรุงให้ทุกข์
ดังนั้น สิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุด
คือ การปรุงของใจคนนั้นแหละ
มิใช่การกระทำของคนอื่น
คนอื่นจะทำอย่างไร
เราระวังการปรุงของใจเราเองให้ถูกต้อง
แล้วความทุกข์ของเราจะไม่เกิด
เพราะการกระทำของเขาเลย”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
“เมื่อทำดีแล้ว ใครจะว่าอะไรก็ช่างเขา
ต้องคิดว่า นั่นเป็นสมบัติของเขา ไม่ใช่ของเรา
ส่วนความดีที่เราทำ ก็ย่อมอยู่ที่ตัวเรา
คนทำผิดนั้นดีกว่าคนไม่ทำ ทำผิดยังแก้ให้ถูกได้
แต่คนไม่ทำนี่สิ ไม่รู้จะไปแก้อย่างไร
เพราะไม่รู้ว่าตนเป็นคนผิดหรือคนถูก
การไม่ทำนั่นก็ผิดอยู่ในตัวแล้ว”
ท่านพ่อลี ธัมมธโร
“โลกนี้มันเป็นโลกที่ไม่เที่ยงนะ
มีกฏของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เข้าบังคับบัญชาอยู่ตลอดเวลา แล้วมนุษย์เรา
แต่ละคนๆ ไม่ใช่ว่าอายุจะยืนยาวอะไรนักหนา
แล้วก็บอกไม่ได้ด้วยว่า คนแก่จะต้องตาย
ก่อนวัยเด็กเสมอไป เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้
เสียชีวิตลง เกิดโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียน
ทำให้ตายก่อนวัยอันควร
ท่านจึงสอนว่า อย่าประมาทในคุณงามความดี
อย่าคิดว่า ทำน้อยนิดมันจะไม่ให้ผล เมื่อทำอยู่บ่อย ๆ
มันก็จะติดเป็นนิสัย แล้วสิ่งเหล่านี้แหละ
ที่จะชักนำเราให้พ้นทุกข์ไป ภายในวันหนึ่งแน่นอน
หลวงพ่อสุดใจ ทันตมโน
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.