ในวันเกิด เราควรฉลองความรักที่แม่มีต่อเรา อย่าลืมว่าเรามีชีวิตอันมีค่านี้ได้ก็เพราะความรักและความเสียสละของแม่ ตลอดระยะเวลาเก้าเดือน แม่ต้องทนลำบากสักเพียงใดเพื่อให้เราเกิดมา หากคลอดโดยธรรมชาติ แม่ต้องผจญกับความเจ็บปวดสาหัสที่สุดเท่าที่มนุษย์เราจะพึงประสบ แต่แม่ก็ยอมรับความเจ็บปวดนี้ด้วยใจยินดี เมื่อเห็นหน้าลูกเป็นครั้งแรก แม่ร้องไห้ด้วยความดีใจ ด้วยการเกิดมาเป็นมนุษย์นี้เองที่ทำให้เรามีกายและใจที่สามารถเข้าถึงปัญญา ความเมตตากรุณาและสันติสุข ในวันเกิด เราจึงไม่ควรลืมว่าแม่คือผู้ให้ชีวิตนี้แก่เรา
มุฑิตาสักการะท่านอาจารย์ ในวาระวันคล้ายวันเกิดปีที่ ๖๕ ๗ มกราคม ๒๕๖๖ พระธรรมพัชรญาณมุนี พระอาจารย์ชยสาโร
#กิเลสทันสมัย
#กิเลสทันสมัย... เพราะเกิดได้ทุกกาลเวลา #ธรรมะของพระพุทธเจ้า... ก็ทันสมัยเสมอ "เพราะใช้กำจัดกิเลสได้ ทุกกาลเวลาเช่นกัน"
#หลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน [วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี]
#จิตที่ไม่มีสมาธิก็เพราะมีนิวรณ์ ทำให้ไม่ได้มีความสงบ ไม่ใช้ปัญญา
จึงได้แสดง นิวรณ์ ๕ และกัมมัฏฐานสำหรับแก้เพิ่มเติม ดังต่อนี้
๑. ความพอใจใฝ่ถึงด้วยอำนาจของกิเลสกาม เรียกว่า “กามฉันทะ”
แก้ด้วยเจริญ อสุภกัมมัฏฐาน พิจารณาซากศพ หรือเจริญ กายคตาสติ พิจารณาร่างกายอันยังเป็นให้เป็นของน่าเกลียด
๒. ความงุ่นง่านด้วยกำลังโทสะ เรียกรวมว่า “พยาบาท”
แก้ด้วยเจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หัดจิตให้เกิดในทางหัดคิดให้เรียเกิดเมตตา สงสาร กรุณา ช่วยเหลือเมื่อมีความสามารถ เกิดความพลอยยินดีไม่มีริษยา เกิดความปล่อยวาง หยุดใจที่คิดโกรธได้
๓. ความท้อแท้ หรือคร้าน หรือความหดหู่ง่วงงุน เรียกว่า “ถีนมิทธะ”
แก้ด้วยเจริญ อนุสติกัมมัฏฐาน พิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บ้าง พิจารณาความดีของตนบ้าง เพื่อให้จิตเบิกบาน และมีแก่ใจหวนอุตสาหะ หรือทำอาโลกสัญญา กำหนดหมายแสงสว่าง ให้จิตสว่าง
๔. ความฟุ้งซ่าน หรือคิดพล่าน และความจืดจางเร็ว หรือความรำคาญ เรียกว่า “อุทัจจกุกกุจจะ”
แก้ด้วย เพ่งกสิณ กำหนดลมหายใจเข้าออก หัดผูกใจไว้ในอารมณ์เดียว หรือเจริญมรณสติ อันจะทำให้ใจสงบด้วยสังเวช
๕. ความลังเลไม่แน่ลงได้ เรียกว่า “วิจิกิจฉา”
แก้ด้วยเจริญ ธาตุกัมมัฏฐาน หรือ วิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อกำหนดรู้สภาวที่เป็นอยู่ตามเป็นจริง
อีกอย่างหนึ่ง ทำความกำหนดรู้จิตที่มีนิวรณ์ และนิวรณ์ที่มีในจิต เมื่อเกิดปัญญาความรู้จักนิวรณ์ และโทษของนิวรณ์ขึ้น นิวรณ์ก็จะสงบหายไป
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร (ที่มา : “รวมธรรมะ”; พิมพ์เผยแพร่เนื่องในงานฉลอง ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันที่ ๑ มกราคม-๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓. หน้า ๒๒๒-๒๒๓)
“บ้านสกปรกคุณไม่กวาด คุณก็บอกว่าปล่อยวาง
ลูกทำตัวไม่ดี คุณก็ไม่ยอมบอกเตือน คุณก็บอกว่าปล่อยวาง
หนักเข้า อะไรมากระทบกายใจก็ปล่อยไป ปัญหาเข้ามาสุมหัวมากมาย ก็ไม่แก้ไข เพราะคุณปล่อยวาง
แบบนี้ไม่เรียกปล่อยวาง เรียกว่า ปล่อยปละละเลย”
หลวงปู่หา สุภโร
“ขึ้นปีใหม่แล้ว จากคนเก่า คนเก่าเป็นคนไม่ดีอย่างไร บกพร่องตรงไหน ให้แก้ไขดัดแปลง ตรงที่บกพร่องให้ดีขึ้น”
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
ฝากถึงท่านนักปฏิบัติ... ที่ปฏิบัติมาถึงขั้นพิจารณา แล้ว...ไปต่อไม่เป็น (ตัวอย่าง...การพิจารณาปัจจุปันธรรมครับ)
เหตุการณ์วันนั้นพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ (วัดท่าซุง) นั่งรับแขกอยู่ที่ศาลานวราช... ก็มีผู้ชายคนหนึ่งเดินขึ้นมากลางศาลา แล้วเปิดพัดลมเพดานแล้วนอนกลางศาลา หลวงตาก็โมโหมาก เพราะหลวงพ่อนั่งรับแขกอยู่...หลวงตานึกในใจ... "อยากเดินไปหิ้วคอแล้วถีบลงจากศาลา" หลวงพ่อท่านก็หันมาหาหลวงตาเลย ท่านว่าเสียงดุ "เฮ้ย ๆ" แล้วมองหลวงตา... จากนั้นก็มีเสียงหลวงพ่อเข้ามาในใจหลวงตาว่า "มึงโมโหอะไร?" หลวงตาบอกว่า "โมโหไอ้นั่น" ท่านถามต่อว่า "ไอ้นั่นคืออะไร?" หลวงตาตอบท่านว่า "ไอ้คนนะครับ"
ท่านก็สอนหลวงตาว่า "มันเป็นรูปทางตาแกไช่ไหม เป็นสัญญาความจำว่าการกระทำแบบนี้เป็นมารยาทที่ไม่ดีไช่ไหม แกก็คิดขึ้นมาว่ามันไม่ควรทำใช่ไหม ไม่ถูกใจแกไช่ไหม แล้วแกก็มีเวทนา ทุกข์ขึ้นมาไช่ไหม นี่มันเรื่องของแกทั้งนั้นเลย"...
สักพักผู้ชายคนนั้นก็เดินลงจากศาลาไป... ท่านสอนต่อว่า "ยังมีอะไรเหลือไหม มันยังอยู่ไหม" หลวงตาตอบท่านว่า "ไม่มีครับ"
ท่านบอกอีกว่า "แล้วแกโมโหความไม่มีหรือ? นั่นล่ะ! แกโมโหขันธ์ห้าตัวเอง โมโหในสัญญาความจำของแกเอง มันใช่หรือ?" สักพักหลวงพ่อก็เมตตาสอนด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า
"ลูกเอ๋ย ถ้าเราเข้าใจขันธ์ห้านี้ เราก็เข้าใจทั้งวัฏสงสาร ...พิจารณาแค่ขันธ์ห้านี้ตัวเดียว ก็จบ..."
พระครูภาวนาพิลาศ หลวงตาวัชรชัย วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์)
.
สมาธิที่ถูกต้อง ย่อมไม่เบื่อโลก ไม่เบื่อสังคม พระพุทธเจ้า มิได้ทรงสอน ให้เราหนีจากโลก
ในฐานะที่เรา ยังพัวพันอยู่กับโลก เราหนีโลกไม่ได้
พระพุทธเจ้า จึงทรงสอนให้เรา ศึกษาให้รู้จัก ... #ความจริงของโลก เพื่อจะได้อยู่กับโลก ด้วยความผาสุก...
โอวาทธรรม หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
กายเราป่วย ใจเราไม่ป่วย เราจะเอาใจเป็นอันเดียวกับกายไม่ได้ เราจะเอาใจเป็นความแก่ความเจ็บไม่ได้ เท่ากับเราขับเครื่องบิน คนขับเครื่องบินต้องบินระดับสูง ระดับ ๓๕,๐๐๐ ฟุตน่ะ มันถึงไม่ชนกับต้นไม้ไม่ชนกับอะไร
ใจของเราเหมือนกัน จิตใจของเราเอาไว้กับเวทนา เอาไว้กับความเจ็บป่วย เอาไว้กับความแก่มันก็จะตกลงไปตาม อาการอย่างนี้มันเป็นอาการของการเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นสัญชาตญาณน่ะ รักสุขเกลียดทุกข์ โตมาก็อยากมีผัวอยากได้เมีย ต้องยกระดับจิตใจเราสู่ธรรมะ สู่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง สู่พรหมจรรย์ หลวงพ่อบอก ... อย่าไปป่วยนะ อย่าไปเจ็บ อย่าไปแก่ไปอะไรน่ะ เพราะว่าอันนี้มันแยกกันได้น่ะ ไปเข้ากรรมฐานหลายวันน่ะ ถ้าไม่เข้าใจทีนี้ก็คางเหลืองนะ ต้องเข้มแข็งต้องสง่างาม เราเป็นนักมวยอย่างนี้ เค้าเรียกว่า ต่อย ถ้าอย่างนั้นให้แต่อวิชชาต่อยเรา ให้แต่ความง่วงเหงาหาวนอนต่อยเรา ให้แต่ลาภยศสรรเสริญต่อยเรา ให้ความแก่ ความเจ็บ ความตายต่อยเรา . . . ไม่ได้ เพราะโอกาสอย่างนี้เค้าเรียกว่าโอกาสที่จะแยกกายแยกจิต โยมจะได้เป็นพระอริยเจ้า หมอน่ะช่วยเราได้นิดหน่อย หมอก็ตายเหมือนกัน...ใช่มั้ย จิตใจต้องสง่างาม อย่าไปจมกับทุกขเวทนา หรืออย่าไปจมกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก เอาใจไปไว้อยู่กับสิ่งไหนก็อยู่ตรงนั้น ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์เฉยๆ เจ้านี้เอาใจไปไว้กับลูก เค้าก็ทุกข์กับลูก ร่างกายเรายังบอกสอนมันไม่ได้เลย จะไปบอกสอนอะไรกับลูก
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม วันเสาร์ที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๑
|