พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พุธ 08 ก.พ. 2023 4:50 am
"..ฝากธรรมะไว้ให้พี่น้องทั้งหลาย คนแก่ก็เป็นพ่อเป็นแม่ คนมีอายุเสมอๆ กันก็เป็นเพื่อน คนอายุน้อยๆ ก็เป็นลูกหลาน ทุกๆคน ขอฝากความอาลัยไว้ ณ ที่นี้ ญาติโยมทั้งหลายจงเป็นผู้ขยันขันแข็ง หมั่นในข้อประพฤติปฏิบัติ ไม่มีอะไรแล้วจะยิ่งกว่าธรรมะ ธรรมะนี้เป็นเครื่องค้ำจุนโลกเหลือเกิน ทุกวันนี้เราจะไม่สบายกระสับกระส่ายก็เพราะไม่มีธรรมะ ถ้าเรามีธรรมะก็จะสบาย บางทีพรุ้งนี้อาตมาคงได้จากไป ไปที่ไหนก็ยังไม่ทราบ อย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา มาแล้วก็ต้องไป ไปแล้วก็ต้องมา นับเป็นเรื่องอย่างนี้ ไม่ควรเสียใจ สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข ได้แล้วก็เสียไป เสียไปแล้วก็ได้มา เป็นเรื่องธรรมดา ญาติโยมจงเข้าไปอยู่ในธรรมะจะไม่มีความเดือดร้อน ผลที่สุดนี้ ขอให้ญาติโยมทั้งหลายเป็นคนมีโชคดี โชคอย่างใหญ่หลวงคือ โชคได้รู้จักธรรมะ นั่นแหละเป็นโชคที่สุดแล้ว.."
พระธรรมคำสอนโดย
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
(พ.ศ.๒๔๖๑ - ๒๕๓๕)
จากหนังสือ : อุปลมณี หน้า ๑๐๒
ธรรมะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือคำพูด
คำสอนธรรมะทั้งหลายนั้นมันเป็นคำสมมุติกันขึ้นมาพูด
ตัวธรรมะแท้ๆ นั้นอยู่เหนือคำพูด...
ผู้มีปัญญารู้เห็นธรรมะ…ท่านไม่ต้องการอะไร
ไม่เอาอะไรอีกแล้ว
เพราะถ้าจะเอาความสุข…ความสุขมันก็ดับ
ถ้าจะเอาความทุกข์..ความทุกข์มันก็ดับ
จะเอาวัตถุสมบัติข้าวของอะไรต่างๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันก็จะดับเหมือนกัน
แม้นแต่ร่างกายที่คนหวงแหนกันนี้…..เกิดขึ้นแล้วที่สุดแล้วมันก็ดับ.
หลวงปู่ชา สุภัทโท
(จากอุปลมณี น.496)
#ศีล_สมาธิ_ปัญญา_วิมุตติ
"... ศีล.. เป็นเหตุ สมาธิ.. เป็นผล
สมาธิ.. เป็นเหตุ ปัญญา.. เป็นผล
ปัญญา.. เป็นเหตุ วิมุตติ.. เป็นผล ..."
................................
#หลวงปู่เจี๊ยะ_จุนฺโท
วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
ทำอย่างไรจิตใจถึงจะฟุ้งซ่านหรือคิดปรุงแต่งน้อยลง
ความคิดฟุ้งซ่านและความคิดปรุงแต่งก็ไม่เหมือนกันทีเดียว ความฟุ้งซ่านนี่มักจะมีเหตุปัจจัยจากความไม่สำรวม โดยเฉพาะในปัจจุบันการดูการฟังในโซเชียลมีเดีย เป็นต้น มากเกินไป เหมือนกับเอาขยะเข้ามาใส่ในสมองเยอะ มันจึงชวนให้คิดโน่นคิดนี่ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้ความฟุ้งซ่านน้อยลงก็ควรจะทบทวนว่า ทุกวันนี้เราได้ดู เราได้ฟัง เรื่องอะไรบ้าง เราได้พูดคุยเรื่องอะไรบ้าง สิ่งที่ไร้สาระเราก็ลดน้อยลงได้ไหม ส่วนระหว่างการภาวนา ถ้าจิตฟุ้งซ่าน อย่าไปต่อต้าน อย่าไปบังคับมันมากเกินไป ให้ ‘รู้ รู้’ อยู่ที่มันฟุ้ง ‘รู้ รู้ รู้’ ที่มันฟุ้งแล้วความฟุ้งซ่านมันก็จะค่อยหายไปเอง
ส่วนความปรุงแต่งนั้นมันก็มักจะเกิดจากสิ่งมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ชวนให้คิด ถ้าตั้งสติไม่ทัน จิตก็จะตกร่อง ทีนี้พอตกร่องแล้ว มันดึงออกมายาก ฉะนั้นถ้าเราตั้งสติ พอรู้เท่ารู้ทัน สิ่งมากระทบ แล้วตัด ตัดมันอยู่ตรงนั้น ตั้งแต่มันยังไม่ตกร่อง อันนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ในการปรุงแต่งต่างๆ ถ้าเราสังเกตแพทเทิร์นเราชอบคิดปรุงแต่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะหรือบ่อยๆ ให้เอาเป็นหลักพิจารณาว่า เราคิดผิดอยู่ในเรื่องนี้ ตรงไหน อย่างไร เพราะครูบาอาจารย์ของเราสอนว่า “ทุกข์เพราะคิดผิด” เพราะฉะนั้นการคิดปรุงแต่งโดยเฉพาะในส่วนที่ทำให้จิตหม่นหมอง มันจะเกิดจากความคิดผิดบางอย่าง พยายามจับตรงนี้ แล้วก็จะช่วยให้ลดความคิดปรุงแต่ง
อย่างยกตัวอย่าง สมมติว่ามองตัวเองในแง่ร้าย มองตัวเองว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนไม่เก่ง สู้เขาไม่ได้ พอเจออุปสรรคเกิดความผิดพลาด จิตก็ตกร่อง “เห็นไหมเราก็เป็นอย่างนี้อยู่ทุกครั้งเลย เมื่อคราวที่แล้วก็เป็นอย่างนี้” แล้วก็คิด ...คิดๆๆ ไป ความคิดทั้งหลายนี้ก็เกิดจากความเชื่อว่าตัวเองไม่เก่งหรือตั้งอคติในตัวเราเอง ถ้าเราไม่แก้ตรงนั้น นี่ความปรุงแต่งก็คงไม่หาย
เพราะฉะนั้นในปฐมพยาบาลก็คือ ตั้งสติไม่ให้ตกร่อง แต่ถ้าตกร่องบ่อยๆ แล้วเรื่องดั้งเดิมนี่ พยายามคิดพิจารณาตรงนี้ว่า มีตัณหา มีความคิดผิดตรงไหน แล้วก็ไปแก้ด้วยปัญญาด้วย
พระอาจารย์ชยสาโร
#มองแง่ดีมีแต่ได้ไม่มีเสีย
โลกทั้งโลกคนทุกคนในโลก มีชีวิตอยู่ได้ และมีความสะดวกสบายอยู่ได้ เพราะอาศัย ความรู้ สติปัญญาความสามารถของผู้อื่น อันมีจำนวนมากจนนับไม่หมดไม่ไหว หากไร้ปัจจัยอันสำคัญนี้เสียแล้ว เขาจะต้องตายตั้งแต่ออกจากท้องแม่ใหม่ๆ เพราะไม่มีข้าวจะกิน ไม่มีผ้าจะห่ม ไม่มีบ้านหลังคาจะอาศัย เขาไม่รู้จักหน้าค่าตาของผู้ให้กำเนิด การประกอบยา การทําเครื่องนุ่งห่ม การทำที่อยู่อาศัยและวิชาความรู้ต่าง ๆ แต่เขาก็เป็นหนี้บุญคุณของบุคคลเหล่านั้นมาเสียแล้ว ตั้งแต่อยู่ในท้องของมารดามาเลย คนทุกคนมีความผูกพันในทางหนี้บุญคุณต่อกันและกันจนนับไม่ไหว โดยไม่ต้องกล่าวถึงบิดามารดา ครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นหนี้บุญคุณอยู่เหนือศีรษะโดยตรงเลย แม้การที่คนในสังคมหนึ่ง ได้เป็นหนี้บุญคุณของคนในสังคมอื่นก็เป็นสิ่งที่จะพิจารณาเห็นได้ไม่ยากเลย ความรู้และความยอมรับรู้ในบุญคุณของผู้อื่นที่มีอยู่เหนือตนนี้ เรียกว่า กตัญญุตา การพยายามทำการตอบแทนบุญคุณนั้น ๆ เรียกว่า กตเวทิตา คนผู้รู้บุญคุณท่าน เรียกว่า คนกตัญญู คนที่ทําการตอบแทน เรียกว่ากตเวทิตา กตัญญูกตเวทิตา หมายถึง ความรู้บุญคุณท่านแล้วทําการตอบแทนให้ปรากฏ นี้เป็นธรรมคุ้มครองโลกและประคองโลก ให้เป็นอยู่ได้ และอยู่ด้วยความสุขสงบ
จากหนังสือประวัติ และปฏิปทา #พระเทพวชิรญาณ (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธัมโม) หน้า ๑๓๓
"ให้พากันสร้างความดีงาม
ความดีงามทั้งหลาย ที่เราสร้างนี้แหละ
เก็บเล็กผสมน้อยไปทุกวันเข้าในจิต
ไม่สูญหายไปไหน ก็คือบาป และบุญ
บาปทำลงไป ว่าไม่มีบาป
ก็เป็นบาปตลอดไป
บุญก็เป็นบุญตลอดไป
เพราะฉะนั้น ให้หมุนมาทางบุญ
ตามทางของศาสดาสอนไว้"
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
"มิตรผู้มีปัญญาย่อมสามารถ
ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์
ปราศจากโทษ ส่วนมิตรที่ขาดปัญญา
แม้ปรารถนาดี ก็เหมือนมุ่งร้าย"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
"พ่อแม่เป็นผู้ให้เกิด เป็นผู้เลี้ยงดู เป็นผู้ให้วิชาความรู้
เป็นผู้ให้ทรัพย์สมบัติ เป็นผู้ให้น้ำจิตน้ำใจทุกอย่าง
เพราะฉะนั้น ใครยังมีพ่อแม่อยู่ รีบอุปถัมภ์อุปัฏฐาก
รีบทำบุญกับท่าน อย่าปล่อยให้ท่านลำบาก"
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.