พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ศุกร์ 14 เม.ย. 2023 8:52 am
“สงกรานต์ แปลว่า ก้าวหน้าสำหรับคนที่รู้ธรรมะ
ใช้ธรรมะในการดับทุกข์ให้ออกไปเรื่อยๆ
ลดความยึดมั่นถือมั่น ทำงานให้ลุล่วงโดยไม่ประมาท
ถือว่าก้าวหน้า และมีวันสงกรานต์ที่แท้จริง”
ท่านพุทธทาสภิกขุ
.....เปลือก มันก็ผลของแตงโม...เนื้อแดง มันก็ผลของแตงโม...ทั้งเปลือกและเนื้อแดง มันก็เกิดมาเป็นผลของแตงโม พร้อมๆกันนั้นแหละ...เวลาจะรับประทาน เราค่อยแยกส่วนมันออก
.....ศีล สติ สมาธิ ปัญญา มันก็เป็นมรรคและผลอันเดียวกัน มันเกิดพร้อมกัน...เราแค่แยกส่วนให้เข้าใจ ในการทำงานของมัน...../....."ไม่มีสติ ก็ไม่มีสมาธิ"..."สมาธิไม่มี ก็ไม่มีสติ"..."สติ สมาธิ ไม่มี ก็ไม่เกิด ปัญญา"..."ปัญญาไม่มี ก็ไม่มีสติ สมาธิ ที่ถูกทาง"..."สติ สมาธิ ปัญญา ไม่มี ศีลก็ไม่มี ถึงมี ศีลก็ไม่ครบ ไม่บริสุทธิ์"...../.....
.....การภาวนา ...จึงต้องมีครบ ใน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา จึงจะเกิดมรรคและเกิดผลซึ่งกันและกัน นำมาสู่ผลอันเป็นบริสุทธิผลและเป็นวิสุทธิผล สู่ความเป็นวิมุติผล.....
.....หลวงปู่อุดร (พลศีล) โชติปัญโญ
"...สัมมาวายาโม เพียรชอบ เพียรอะไร ก็เพียรละบาป
อะไรเป็นบาป กามวิตก วิหิงสาวิตก พยาบาทวิตก
นี่มันเกิดขึ้นแล้วเพียรละออกไป ด้วยความพอใจ
ด้วยความพยายาม ด้วยปรารภความเพียร ด้วยความ
เป็นผู้มีสติ ประคองตั้งจิตไว้ อย่าให้กามวิตก พยาบาท
วิตก วิหิงสาวิตกเกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นพยายามชำระออก
เพียรระวังบาปที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น อะไรบาป
ก็อันเดียวนั่นแหละ ที่ยังไม่เกิด อย่าให้เกิดขึ้น
ด้วยความพอใจ ด้วยความพยายาม ด้วยความปรารภ
ความเพียร ด้วยเป็นผู้มีสติ ประคองตั้งจิตไว้
เพียรรักษาบุญกุศลคุณงามความดี ศีลสมาธิปัญญา
ที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น เพียรบำเพ็ญคุณงามความดี
ศีล สมาธิ ปัญญา คือความสงบนี่แหละ คือยังไม่บัง
เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วเพียรรักษาไว้ให้เจริญยิ่ง
ไพบูลย์เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมนั้น ด้วยความพอใจ
ด้วยความพยายาม ด้วยความเป็นผู้มีสติ ประคอง
ตั้งจิตไว้..."
#ที่มา หนังสือ กุลเชฏฐาภิวาท หน้า ๑๙๗
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร(ภูทอก)
-นี่แหละ...
บุญอันเลิศ บุญอันประเสริฐ
"ถ้าเราไม่รู้จักอนิจจัง อยากจะบังคับให้ได้ตามใจของเรา
ทุกข์ ก็เกิดเพราะมันไปขวางธรรมะ ไม่รู้เท่าธรรมะ เหมือนกันกับเราไปยืนกลางถนนหลวง ไปขวางทางรถ เห็นรถเขามาก็ว่าแต่รถเขา ว่า
มาใกล้ตัวเอง อยู่...อย่างนั้น
เห็นคนมาก็ว่าคนมาใกล้ เราไม่เห็นว่า...
ตัวเองไปยืนอยู่กลางถนนหลวง ไปว่า แต่คน
แต่รถ
ทางที่ดีเราควรออกจากทางถนนมา
ก็จะสบายฉันใด มีผู้รู้...อนิจจังแล้ว มันก็เลยสบาย ทุกขัง มันก็เกิดไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้...
เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ธรรมชาตินี้ เป็นของว่าง...
ว่าง...จากของเรา
ว่าง...จากเขา
ว่าง...จากสัตว์
ว่าง...จากบุคคล
แต่...เป็นของสมมุติ ว่าเรา ว่าเขาเฉย ๆ
เป็นสมมุติ เท่านั้นเอง
ถ้าเรามารู้เรื่องทั้งหลายเหล่านี้
ตามเป็นจริงแล้ว คือรู้...อริยสัจนี่แหละ
บุญจะเกิด แม้แต่ฆราวาส อยู่...ตามบ้านตามเรือน ได้รู้ได้เห็นอย่างนี้แล้ว...
ชื่อว่า...ขัดความเศร้าหมองออก
ชื่อว่า...ขัดเกลากิเลส
ชื่อว่า...ขัดเกลาความคิดเห็นผิดนั้นออก
ชื่อว่า...ขูดทุจริตนั้น...ออกจากใจของเรา
ใจเรา...
จะมีความรู้สึกสบาย สงบระงับ จาก...
ความไม่ยึดมั่นทั้งหลาย นี่แหละ บุญอันเลิศ
คือบุญอันประเสริฐ นี่คือ บุญชั้นยอด ที่พระศาสดาของเราสั่งสอน ว่า...
จิต นี่แหละเป็นผู้สงบ
จิต นี่แหละเป็นผู้ระงับ
เมื่อมารู้เท่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว...
ก็เลยปล่อย...
ทำไม ? ถึงปล่อยมัน ปล่อย...เพราะมันแต่ง
ไม่ได้ ไม่ใช่ สิ่งที่จะแต่งได้แปลงได้ ถ้าเรา
ไปบังคับมัน ไปเปลี่ยนแปลง เปลี่ยน มันไม่ได้
ก็เลยเป็น...ทุกข์
ถ้ารู้ว่า...
แต่งไม่ได้ ปรุงไม่ได้ ก็ให้รู้จัก ปล่อย...มันซะ
ก็อย่างที่เราไปบังคับ ให้เป็ดเป็นไก่ มันเป็นไม่ได้
เราก็...วางซะ
เป็ด ก็ให้เป็นเป็ด ไก่ ก็ให้เป็นไก่
วัว ก็ให้เป็นวัว ควาย ก็ให้เป็นควาย
หมู ก็ให้เป็นหมู หมา ก็ให้เป็นหมาซะ
ให้เป็นคนละอย่างไปซะ เป็นไปตาม
เรื่องของมัน"
--------------------------------------------------------------------
หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง
ที่มา : ภาวนาคือพิจารณาให้รู้ตามเป็นจริง
“...คนโบราณบางคนเขาว่า
เมื่อมันเจ็บมันไข้ จวบลมหายใจจะขาด
ให้ค่อย ๆ เข้าไปกระซิบใกล้หูคนไข้
ว่า “พุทโธ พุทโธ พุทโธ”
มันจะเอาอะไร “พุทโธ” นั่นนะ
คนที่ใกล้จะนอนในกองไฟ
จะรู้จัก “พุทโธ” อะไร
ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอายุรุ่น ๆ
ทำไมไม่เรียนพุทโธให้มันรู้
หายใจติดบ้างไม่ติดบ้าง
"แม่ ๆ พุทโธ พุทโธ"
ว่าให้มันเหนื่อยทำไม
อย่าไปว่าเลย มันหลายเรื่อง
เอาได้แค่นั้นก็สบายแล้ว
เมื่อมีกำลังเรี่ยวแรง ก็รีบทำจะทำบุญสุนทาน
จะทำอะไรก็รีบจัดทำกัน
แต่ว่าคนเราก็มักจะไปมอบให้แต่คนแก่
จะเข้าวัดศึกษาธรรมะรอให้แก่เสียก่อน
โยมผู้หญิงก็เหมือนกัน โยมผู้ชายก็เหมือนกัน
ให้แก่เสียก่อนเถอะ
ไม่รู้ว่าอะไรกัน คนแก่นี่มันกำลังดีไหม
ลองไปวิ่งแข่งกับคนหนุ่มดูซิ
ทำไมจะต้องไปมอบให้คนแก่
เหมือนไม่รู้จักตาย
พอแก่มาสัก ๕๐ ปี ๖๐ ปี
จวนเข้าวัดอยู่แล้ว
หูตึงเสียแล้ว ความจำก็ไม่ดีเสียแล้ว นั่งก็ไม่ทน
"ยายไปวัดเถอะ.." "โอย..หูฉันไม่ดีแล้ว"
นั่นเห็นไหม
ตอนหูดีเอาไปฟังอะไรอยู่ จังว่า... จังว่า
มันคาแต่ลูกหว้าอยู่นั่นแหละ
จนหูมันหนวกเสียแล้วจึงไปวัด
มันก็ไปได้นั่งฟังท่านเทศน์
เทศน์อะไรไม่รู้เรื่อง
มันหมดแล้วจึงมาทำกัน
ยามหนุ่มสังขารแบกเรา
ยามแก่เราแบกสังขาร..."
หลวงพ่อชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
.รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นแม่เหล็กใหญ่ของโลก จะดึงให้มาเกิดอีก ตัวแก้คือปัญญา อยู่กับโลกแต่ไม่ติดกับสิ่งเหล่านี้
ความไม่สวยงามในร่างกายนี้ ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะรู้ เห็นตามความเป็นจริง ธรรมชาติเดิมของร่างกายแล้ว ไม่มีสิ่งใดเป็นของสวยงาม มีแต่สิ่งสกปรกโสโครก… ความสวยงามนั้นมีอยู่ที่กิเลส สังขาร โมหะ อวิชชา มีความเข้าใจผิด รูปนั้นจึงมีความสวยงาม รูปสวยงามเพราะความรัก รูปสวยงามเพราะความยินดี รูปสวยงามเพราะความใคร่ รูปสวยงามเพราะมีความกำหนัด ถ้าจิตไม่มีความรัก ความใคร่ ความกำหนัดแล้ว รูปนั้นจะไม่มีสิ่งใดเป็นของสวยงามเลย…”
“..ถ้าเรารู้จริงเห็นจริงของสิ่งใด
เราจะละวางเองในของสิ่งนั้น
เหมือนรู้ว่าคนนั้นเป็นโจร
เราก็จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับคนนั้น..”
“..ถ้าตายแล้วก็แล้วกันไป ถ้ายังไม่ตายเมื่อตื่นนอนทุกเช้าก็ทำใจไว้ว่า วันนี้กับวันที่ผ่านมาแล้วแต่ละวันๆ จะไม่เหมือนกัน วันนี้เราจะเจอเหตุการณ์อะไรอีก ไม่มีความแน่นอนอะไรเลย เราต้องเตรียมตัวเอาไว้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด นี่นักปฏิบัติต้องทำอย่างนี้..”
“..การพูดไม่ดีกับคนอื่นอย่างไร
ย่อมพูดได้ แต่อย่าหวังน้ำใจ จากคนอื่น
เมื่อมีความสำคัญได้อย่างนี้
จากนี้ไป ให้ตั้งใจไว้ว่า
เราจะไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียด
หรือเราจะไม่พูด ที่ทำให้คนอื่น
มีความเดือนร้อน เป็นทุกข์
ด้วยคำพูดของเรา นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป..”
“..การเพ่งดูกาย ก็อาศัยสมมติส่วนที่เราเพ่ง และสถานที่ที่เราจะเพ่งนั้นให้มีส่วนจำกัด ให้มีความตั้งใจด้วยสติจดจ่อจี้ลงในจุดนั้นๆ โดยสำนึกว่า มีความสว่างอยู่ในความสำนึกก่อน ถ้าชำนาญแล้วก็จะรู้เห็นในกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติกำหนดที่รู้เอง ถ้าความเคยชินกำหนดรู้เห็นกายส่วนนั้นๆ อยู่ต่อไป เราก็จะกำหนดกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติที่รู้เอง ถ้าความเคยชินรู้เห็นกายส่วนนั้นอยู่ ต่อไปเราจะกำหนดให้เห็นกายส่วนนั้นๆ เน่าเปื่อยไปทั้งตัวก็ได้ หรือกำหนดให้หลุดออกไปให้เห็นโครงกระดูกก็ได้ ต่อไปก็จะเป็นพื้นฐานได้ดี
การกำหนดดูกายเพ่งกาย ก็เพื่อให้กายได้ตั้งอยู่ในกายส่วนนั้นๆ เพื่อให้ใจได้มีหลัก เหมือนนกที่บินอยู่ในอากาศก็จำเป็นต้องหาต้นไม้เป็นที่จับ เพื่อได้พักผ่อนเอากำลังใจก็เหมือนกัน ก็ต้องหากายส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของใจ และมีสติกำหนดรู้ในกายส่วนนั้นๆ ใจก็จะไม่ได้คิดนี้เหมือนกับที่เคยเป็นมา..”
โอวาทธรรม:หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
วัดป่าบ้านค้อ ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.