มีนิทานธรรมบทเรื่องหนึ่งเล่าถึงหญิงจัณฑาลชื่อ นางปกาตี วันหนึ่งขณะที่นางกำลังตักน้ำอยู่ พระอานนท์เดินผ่านมาและขอบิณฑบาตน้ำดื่ม นางตกใจมาก รีบกราบเรียนว่าบ่อน้ำนี้เป็นของพวกจัณฑาล ถ้าท่านฉันน้ำในบ่อนี้ ตัวท่านจะพลอยมีมลทินไปด้วย พระอานนท์ตอบว่าท่านถามหาน้ำดื่มเท่านั้น ไม่ได้ถามหาวรรณะใดๆ
นางปกาตีตะลึงมองพระอานนท์ฉันนำ้ที่ตนถวาย เมื่อท่านเดินจากไป นางก็เดินตามจนถึงวัดเชตวันซึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ นางปากาตีรวบรวมความกล้าตามพระอานนท์เข้าไปในวัด เฝ้ากราบทูลพระพุทธองค์ขออยู่ใกล้ชิดพระอานนท์ในวัด เพื่อจะได้ปรนนิบัติรับใช้ท่าน นางปกาตีกราบทูลว่านางรักพระอานนท์
พระพุทธองค์ตรัสกับนางปกาตีอย่างนุ่มนวลว่านางเข้าใจผิดแล้ว นางไม่ได้รักตัวพระอานนท์หรอก แต่รักในความกรุณาปรานีจากกิริยาวาจาของพระอานนท์ที่นางไม่คาดว่าจะได้รับต่างหาก พระพุทธองค์ตรัสสอนนางปกาตีว่า นางสามารถเข้าใกล้ความกรุณาปรานีเช่นนั้นได้ทุกเมื่อด้วยการเจริญเมตตาภาวนาทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คนเราจะเป็นผู้ประเสริฐอย่างแท้จริงด้วยการกระทำ ไม่ใช่ด้วยชาติกำเนิด
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ
อาตมาจำประสบการณ์ครั้งหนึ่งได้ ในช่วงปีแรกของการฝึกสมาธิในประเทศไทย ปีนั้นอาตมาอยู่คนเดียวในกุฏิหลังเล็กๆ ในสองสามเดือนแรกนั้นแย่จริงๆ ความรู้สึกนึกคิดทุกอย่างผุดขึ้นมาในดวงจิตของอาตมา ไม่ว่าจะเป็นความลุ่มหลง ความกลัว หรือโทสะ ไม่เคยคิดว่าจะเป็นคนเที่ยวเกลียดคนอื่น แต่ในเวลานั้นดูเหมือนอาตมาเที่ยวเกลียดคนไปหมด ไม่คิดดีกับใครเลย ไม่นึกว่าจะเกลียดชังอะไรมากมายเช่นนั้น มันประดังเข้ามาในอารมณ์
แต่แล้วในบ่ายวันหนึ่ง อาตมามีนิมิตแปลกประหลาด คือเห็นคนเดินออกมาจากหัวสมองของอาตมา เห็นแม่เดินออกมาแล้วหายไปในความว่าง เห็นพ่อและน้องสาวเดิมตามออกมา คิดในใจว่าเราท่าจะเป็นบ้าไปแล้ว แต่มันไม่ใช่ประสบการณ์ที่เลวร้ายอะไรนักหนา รุ่งเช้าพอตื่นนอนมองไปทั่วๆ อะไรๆ ดูมันพราวเพริศไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่ไม่งามเลยแม้แต่น้อยก็ดูสวยสดงดงาม อาตมาตกอยู่ในสภาพขนลุกขนพอง กระท่อมน้อยที่สร้างขึ้นอย่างหยาบๆ ไม่น่าดูเลย แต่อาตมาเห็นมันเป็นประดุจปราสาทราชวัง ป่าเตี้ยซึ่งมีแต่ต้นไม้แคระๆ นอกกระท่อม กลายเป็นป่าใหญ่ที่สวยงามที่สุด แสงแดดทอลอดเข้ามาทางหน้าต่างกระทบกับจานพลาสติกเก่าๆ ใบหนึ่ง จานใบนั้นช่างงามแวววับจับตายิ่งนัก ความรู้สึกเช่นนี้อยู่กับอาตมาถึงหนึ่งสัปดาห์ และเมื่อมาใคร่ครวญดูก็รู้ได้ทันทีว่า มันเป็นของมันอย่างนั้นได้เหมือนกันเมื่อจิตใจเริ่มใสสว่างขึ้นบ้าง
อาตมาเคยแต่มองผ่านกระจกหน้าต่างที่เป็นฝ้าสกปรก เคยชินกับความสกปรกของกระจกหน้าต่างอยู่อย่างนั้น จนไม่รู้ว่ามันสกปรก คิดว่าธรรมดามันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง ถ้าเราเคยชินกับการมองผ่านกระจกหน้าต่างที่สกปรก ทุกสิ่งที่เห็นก็จะดูหมองมัวน่าเกลียดไปด้วย การปฏิบัติจิตภาวนา เป็นการเช็ดกระจกให้หมดจดผ่องใส เป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ยอมให้ทุกสิ่งเข้ามาในความรับรู้อารมณ์ แล้วยอมให้มันผ่านออกไป และด้วยปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราจะเฝ้าสังเกตความเป็นไปของสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ไม่ติดที่ความงาม ไม่ติดที่ความบริสุทธิ์แห่งจิต เพียงแต่กำหนดรู้ไว้เท่านั้น
การพิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติด้วยปัญญาเช่นนี้ จะทำให้เราไม่หลงอีกต่อไปเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย แต่นั่นมันเกี่ยวกับกายของท่าน ไม่ใช่ท่าน ร่างกายจริงๆ แล้วไม่ใช่ของท่าน ไม่ว่าจะมีรูปร่างอย่างไร จะแข็งแรงหรือขี้โรค สวยหรือไม่สวย ดำหรือขาว หรือจะเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ “ตัวเรา” ไม่ใช่ “ของเรา” นี้แหละที่หมายถึงอนัตตา คือร่างกายคนเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เกิดขึ้นมา เติบโต แก่ แล้วก็ตายไป บัดนี้ เราเข้าใจอย่างนั้นตามเหตุผล แต่ตามความรู้สึกหรือตามอารมณ์แล้ว เรายังยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นอยู่กับร่างกาย ในจิตภาวนาเราเริ่มมองเห็นอุปาทานหรือความสำคัญมั่นหมายนี้ เราจะต้องพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าเพียงทำจิตให้บริสุทธิ์แล้วไปติดที่ความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่าจะพยายามกลั่นกรองซักฟอกความรับรู้อารมณ์ให้ประณีตจนสามารถจะสร้างสมาธิชั้นสูงขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะแม้ความรับรู้อารมณ์จะละเอียดบริสุทธิ์สักปานใด มันก็ยังทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก ต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่าง
พระนิพพานไม่ต้องอาศัยสภาวะใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็นสภาวะที่ดีหรือเลว งามหรือไม่งาม หยาบหรือละเอียด มันเกิดขึ้นก็ดับไป ไม่ยุ่งเกี่ยวกับนิพพาน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความสงบระงับแห่งจิตเราไม่หลีกเลี่ยงโลกียสุขด้วยความชิงชัง เพราะถ้าเราจงใจประหัตประหารความรู้สึกเช่นนั้น ก็เท่ากับเรากลับคืนสู่นิสัยเดิมที่พยายามจะกำจัดสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์ออกไป
นี่แหละจึงว่าเราต้องอดทนเป็นอย่างยิ่งชีวิตของคนเรานี้เป็นชีวิตของการทำความสงบ มองให้เห็นว่าเป็นช่วงของการทำความสงบอันยาวนาน มิใช่เพียงแค่สิบวันอย่างนี้ ท่านอาจคิดว่า “ฉันมาปฏิบัติกรรมฐานแค่สิบวันก็เห็นแจ้งแล้ว แต่พอกลับถึงบ้านมันหายไปหมด จะต้องกลับไปทำใหม่ ทำให้นานอีกหน่อย เพื่อจะได้เห็นแจ้งกว่าคราวที่แล้ว ต้องดีแน่ๆ ถ้าได้ทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไปอีก” ว่าที่จริงแล้ว ยิ่งท่านทำให้ละเอียดสักเท่าใด เมื่อท่านกลับไปสู่โลกียสุขของชีวิตในกรุง ก็จะเห็นว่าความเป็นไปในชีวิตประจำวันของท่านกลับยิ่งเลวกว่าเดิม ในเมื่อท่านขึ้นเบื้องสูง ท่านจะมองว่าชีวิตอันเป็นธรรมดาสามัญนี้ไม่น่าปรารถนา
สุเมโธภิกขุ
ไปทำบุญวัดไหนมันก็เป็นบุญเหมือนกัน บุญมันไม่ได้อยู่ที่วัดหรอก มันอยู่ที่จิตของคนนั้นทำ แต่..สถานที่เป็นต้นเหตุเฉยๆ เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ประเทศอินเดีย จริงๆแล้วพระพุทธองค์ตรัสรู้ภายในพระหทัยท่านต่างหาก
โอวาทธรรม หลวงพ่อโสภา สมโณ วัดแสงธรรมวังเขาเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชชสีมา
เกิดมาในชาตินี้ พบพุทธศาสนา แดนแห่งธรรม แดนแห่งบุญ แห่งบาป ที่พอจะรู้ได้ เห็นได้ ละได้ บำเพ็ญได้ ก็ควรจะได้ละ ได้บำเพ็ญ เสียตั้งแต่เวลานี้
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด
. มัชฌิมา ทางกลาง หมายถึงอะไร หมายถึงความพอดี ของพอดีนั้นมีความสำคัญ ถ้าทุกสิ่งทุกอย่าง ขาดความพอดี ใช้ไม่ได้ ไม้ที่จะตัดเป็นบ้านขาดความพอดีก็เป็นบ้านไม่ได้ จีวร เสื้อผ้า ตัดยาวไป สั้นไปก็ใช้ไม่ได้ อาหารมากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้ ความเพียรมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้ มัชฌิมา ทางกลาง คือ ขจัดสิ่งที่ไม่พอดี ให้พอดีนั่นเอง กามสุขลฺลิกานุโยค คือ การปฏิบัติตกไปในทางรัก
อตฺตกิลมถานุโยค คือ ตกไปในทางชัง นี่คือการไม่พอดี ... ทำสมาธิหลงไปในความสุขก็ตกไปในทางรัก
ทำสมาธิไม่ดีในบางคราว เศร้าใจ ตกไปในทางชัง การขจัดเสียซึ่งส่วนทั้งสองนั้น คือการเดินเข้าสู่อริยมรรค การถึงอริยมรรค นั่นคือการถึงต้นบัญญัติ การถึงต้นบัญญัติคือการถึง “พุทธะ” ยาขนานนี้เองเป็นยาขนานแรกที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ส่งให้ข้าพเจ้าฉัน มันช่างเป็นขนานที่หนักเอาการ แต่เป็นธรรมที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด
โอวาทธรรม หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร
|