Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

บุญคืออาหารของใจ

เสาร์ 19 ส.ค. 2023 5:59 am

"..คนไม่ฉลาดย่อมทำกรรมเป็นการทุจริต ด้วยกาย วาจา จิต เป็นอกุศลธรรม คือ อกุศล อันเป็นที่มาจากจิตที่ประกอบกับกิเลส มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลชวนให้ทำบาป อปุญญาภิสังขารเป็นปัจจัย อาศัยมาจากอวิชชา เป็นนายช่างผู้ปรุง ชวนจิตของคนผู้ไม่ฉลาดให้ทำกรรมที่เป็นบาปอกุศลให้ผลเป็นโทษ ได้รับความเสวยทุกข์ทรมานกายและจิตใจ อาศัยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์จึงได้ทรงชี้แจง
แสดงพร่ำสั่งสอนชาวเราผู้ยังโง่ ยังไม่ฉลาดทั้งหลายเหล่านี้ว่า "สัพพปาปัสสะอะกรณัง เอตังพุทธานะสาสะนัง"อย่าทำกรรมอันเป็นบาปน้อยใหญ่ด้วยทั้งกาย วาจา ใจทั้งปวง นี่เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เราเรียกว่าพระศาสดาดังนี้.."

ภูริทตฺตวาท
พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร







#บุญคืออาหารของใจ#
"การปฏิบัติธรรมเป็นของสำคัญต่อจิตใจของเรา อย่ายุ่งตั้งแต่ภายนอกซึ่งเป็นอาหารของร่างกาย
เป็นที่อาศัยของร่างกาย ส่วนจิตใจนี้เรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเจ้าของอยู่ตลอดเวลาทั่วหน้ากัน เพราะจิตใจเดือดร้อนมาก
อะไรจะมีก็ตาม แต่จิตใจเดือดร้อน

เพราะจิตใจไม่มีสิ่งบรรเทา
ไม่มีสิ่งรักษา ไม่มีสิ่งบำรุง คือศีล คือธรรม
คือบุญ คือกุศล คือ สมาธิปัญญา
ใจจึงมีแต่ความเดือดร้อนขุ่นมัวตามๆ กัน".

โอวาทธรรม
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน








"..ภาวนาสำคัญที่ สติ มีสติเป็นความเพียร.."

ให้ภาวนาให้เข้มแข็งเสียก่อน..ยืน เดิน นั่ง นอนได้คือกัน ภาวนาพุทโธ พุทโธเนี่ย เรียกว่าสมถะกรรมฐาน นั่งก็ได้ ยืนก็ได้ ยืนเดิน ได้หมดทุกอริยบท ทุกสิ่งอย่างสำคัญที่จิตรวมเท่านั้นแหละ

พุท-โธ ดูลมหายใจเข้าออก จิตก็จะรวมลง_รวมก็ให้มันรวม ให้เฮารู้อยู่_ตั้งสติให้ดี_สติความระลึกได้ ว่าจิตเฮาเป็นแบบไหน ธรรมดาเป็นอย่างหนึ่ง_พอรวมลงก็เป็นอีกอย่างหนึ่งเด้..

ให้รู้จักสมาธิมีอยู่ 3 อย่าง

ขนิกสมาธิ สมาธินิดๆ หน่อยๆ
ขยับเข้าไปก็อุปการะสมาธิ
ภาวนาเข้าไปอีกเรียกว่าอัปปนาสมาธิ

อัปปนาสมาธินี่รวมลงถึงที่แล้ว_เสียงภายนอกดับ บ่ได้ยิน รวมลงหมดแล้วนั่นแหละ

วิปัสสนากรรมฐานสลับกันไป ได้สมถะแล้วก็วิปัสสนา คือ ม้างเลย ม้างตัวออกด้วยตาใจเด้..เห็นหมดพิจารณาด้วยตาใจ..ตับไต..ไส้..พุง เห็นด้วยตาใจ..ตาเนื้อนี่หลับไว้_เห็นด้วยการพิจารณา รู้จักพิจารณาเอาอยู่อย่างนั้น..บ่เซา..อยู่อย่างนั้นแหละทุกวันทุกเวลา..

เพราะฉะนั้น พวกเฮาให้ฝึกหัด มันบ่เป็น_กะซ่างมัน..ฝึกหัดอยู่อย่างนี้ล่ะ_มี พุทโธ พุทโธ อย่าให้ไปทางอื่น ถ้ามันไปคือขาดสติ ความระลึกได้นี้จิตออกไปไม่รู้_เรียกว่าขาดสติ เพราะฉะนั้นเอาคืนมา พยายามเดินสมถะกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าวิปัสสนาเมื่อยก็เอาพุทโธ พักในสมถะ จิตรวมพัก_มันเมื่อยทำงานเมื่อยแล้วเด้_ม้างร่างกายมันเมื่อยเอาจนเมื่อยพู้น!!!ละ..

ตั้งใจเด้!! ยืน_เดิน_นั่ง_นอน ให้มันเป็นบุญเป็นกุศล จิตรวมได้ นั่น_อดทนเอาสา..

สำคัญ..สำคัญ คือ มีสติเป็นความเพียร พยายามเอาสมถะวิปัสสนานี่แหละตั้งใจ..รู้จักใจ..นั่งก็รู้ นอนก็รู้ ยืนเดินนั่งนอนได้ทุกอิริยาบถ_

การภาวนาตั้งใจเริ่มแต่มื่อนี้ละไป๋..ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธคำของพระพุทธเจ้า ปฏิยัติธรรม คือ ศึกษาเพื่อนำมาปฏิบัติ ผล คือ ปฏิเวธติธรรม_ทำแล้วจึงมีผลให้เห็นให้รู้ เอามรณานุสติก็ได้_พุทโธก็ได้นั่น อนุสติ 10 อย่าง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ก็ได้

ให้ง่าย_ระลึกเอาแต่ พุทโธ เด้...จะง่าย..มีสติภาวนาอยู่กับลมหายใจ_เข้าออก ให้ภาวนา..ตั้งใจ... ปฏิยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า..เอาละเนาะ.."

…………………

เทศนาธรรมในศาลา
พระครูปทุมมงคลญาณ
หลวงปู่บุญมา สุชีโว
วัดสามัคคีสิริมงคล(วัดป่าสุขเกษม)
อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
13/7/65
เทสนาธรรมในศาลาค่ำวันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำเดือน 8
เวลา 21.05 น.







เช้าวันหนึ่ง ผมกำลังกวาดใบไม้ ที่ลานวัด
อารมณ์ไม่ดี รู้สึกหงุดหงิด ขัดเคือง และรู้สึกว่า
ตั้งแต่มาอยู่ที่วัดป่าพงเจอแต่ทุกข์

พอดีหลวงพ่อเดินตรงมายังผม ท่านยิ้มให้
พร้อมกับพูดว่า “ วัดป่าพงทุกข์มาก! “
แล้วท่านก็เดินกลับไป

ผมสงสัยว่า ทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้ กลับไปกุฏิ
พิจารณาได้สติว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดจากวัดป่าพง
แต่เกิดจากจิตใจเราเอง

พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงปู่โรเบิร์ต สุเมโธ)







ถ้าจิตฟุ้งซ่านระหว่างเจริญสมาธิ การพยายามห้ามจิตให้หยุดคิดแทบจะไม่ช่วยอะไร ยังมีวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าวอีกหลายวิธีที่ให้ผลดีกว่า ดังเช่น แทนที่จะดิ้นรนชักลากจิตให้กลับไปยังอารมณ์กรรมฐาน เราอาจจะแค่ลองลดความเร็วของกระแสความคิดลง ปล่อยให้ความคิดดำเนินไปตามเรื่องของมัน แต่มีข้อแม้อย่างเดียวว่าต้องคิดช้าๆ ทีละความคิด เจตนาที่จะทำให้กระแสความคิดช้าลงจัดเป็นความเพียรชอบ ไม่ช้าไม่นาน จิตก็จะเบื่อกระแสความคิดเหล่านี้ไปเองและยินดีจะปล่อยวางด้วยความเต็มอกเต็มใจ ลองทำวิธีนี้ซ้ำอีกเมื่อจำเป็น

หากความฟุ้งซ่านเป็นปัญหาระยะยาวในการภาวนา สาเหตุส่วนใหญ่มักจะมาจากท่าทีที่เราปฏิบัติกับจิตในเวลาที่ไม่ได้ภาวนา โดยเฉพาะการเปิดรับข้อมูลจนล้นเกินพิกัด

ในกรณีเช่นนี้ เราควรเมตตาสมองของเราบ้าง พึงมีสติ ระมัดระวังสิ่งที่เราปล่อยให้จิตรับรู้ทางอายตนะทั้งหลาย โดยเฉพาะทางตาและทางหู

ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ
ตอบกระทู้