Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

สำรวจจิต

พฤหัสฯ. 24 ส.ค. 2023 5:33 am

"ใครจะคิดชั่วเหลวไหล ให้เป็นเรื่องของเขา
ใจเราไม่ต้องคิด คนใดจะพูดชั่วเหลวไหล
ไม่มีประโยชน์ เป็นเรื่องของเขา
ตัวเราทุกคน สิ่งใดไม่ดี ไม่มีประโยชน์
ไม่พูดเสียเลย เพียรพยายามระวัง
รักษากาย รักษาวาจา รักษาใจ"

หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร







“อะไรเป็นตัวทดสอบ
ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ

ยังไม่ปฏิบัติ
สุขยาก ทุกข์ง่าย

ปฏิบัติแล้ว
สุขง่าย ทุกข์ยาก

พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ







"พญามัจจุราชเตือน และบุกธาตุขันธ์ของสัตว์โลกตามหลักความจริงของเขา เราต้องต้อนรับการเตือน และการบุกของเขาด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรไม่ถอยหลัง และขนสมบัติ คือ มรรค ผล นิพพาน ออกมาอวดเขาซึ่งๆ หน้า ด้วยความกล้าตาย โดยทางความเพียร เขากับเราที่ถือว่าเป็นอริศัตรูกันมานาน จะเป็นมิตรกันโดยความจริงด้วยกัน ไม่มีใครได้ใครเสียเปรียบกันอีกต่อไปตลอดอนันตกาล"

โอวาทธรรมะคำสอน : พระธรรมวิสุทธิมงคล ( หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ) วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี







ความสะอาดอยู่ที่ไหน หาไม่เจอหรอกถ้าเราไม่ขจัดความสกปรก
ขจัดความสกปรกแล้ว ความสะอาดย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ในทำนองเดียวกัน ความบริสุทธิ์อยู่ที่ไหน เราจะรู้ได้ต่อเมื่อเราขจัดความไม่บริสุทธิ์ ความสงบอยู่ที่ไหน หาไม่เจอ นอกจากว่าเราสามารถขจัดสิ่งที่ไม่สงบให้ได้ ผู้ที่ขจัดความสกปรกออกได้แล้ว ย่อมเจอกับความสะอาด

นักปฏิบัติจึงไม่ต้องใจร้อน ไม่ต้องเป็นห่วงว่าความสงบจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ให้เราขยัน ให้เราตั้งอกตั้งใจกับการจัดการกับสิ่งที่ไม่สงบ ในที่สุดความสงบย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

พระอาจารย์ชยสาโร






#วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก

"...ผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์วินัยมาก
มีอุบายมากเป็นปริยายกว้างขวาง
ครั้นมาปฏิบัติทางจิต จิตไม่ค่อยจะรวมง่าย
ฉะนั้น ต้องให้เข้าใจว่า ความรู้ที่ได้ศึกษามาแล้ว
ต้องเก็บใส่ตู้ ใส่หีบไว้เสียก่อน ต้องมาหัดผู้รู้คือจิตนี้
หัดสติให้เป็นมหาสติ หัดปัญญาให้เป็นมหาปัญญา
กำหนดรู้เท่ามหาสมมุติมหานิยม
อันเอาออกไปตั้งไว้ว่า อันนั้นเป็นอันนั้น
เป็นวันคืนเดือนปี เป็นดินฟ้าอากาศกลางหาว
ดาวนักขัตฤกษ์ สารพัดสิ่งทั้งปวง
อันเจ้าสังขารคืออาการจิต
หากออกไปตั้งไว้ บัญญัติไว้ว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้
จนรู้เท่าแล้วเรียกว่า กำหนดรู้ทุกข์ สมุทัย
เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก รู้เท่าเอาทันแล้ว
จิตก็จะรวมลงได้ เมื่อกำหนดอยู่ก็ชื่อว่าเจริญมรรค
หากมรรคพอแล้ว นิโรธก็ไม่ต้องกล่าวถึง
หากจะปรากฏชัดแก่ผู้ปฏิบัติเอง
เพราะศีลก็มีอยู่ สมาธิก็มีอยู่ ปัญญาก็มีอยู่
ในกาย วาจา จิตนี้ ที่เรียกว่า อกาลิโก
ของมีอยู่ทุกเมื่อ โอปนยิโก
เมื่อผู้ปฏิบัติมาพิจารณาของที่มีอยู่ ปจฺจตฺตํ
จึงจะรู้เฉพาะตัว คือมาพิจารณากายอันนี้ให้เป็นของ อสุภะ เปื่อยเน่า แตกพังลง ไปตามสภาพความเจริญของภูตธาตุ ปุพฺเพสุ ภูเตสุ ธมฺเมสุ
ในธรรมอันมีมาแต่เก่าก่อน สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน
ผู้มาปฏิบัติพิจารณาพึงรู้อุปมารูปเปรียบดังนี้
อันบุคคลผู้ทำนาก็ต้องทำลงไปในแผ่นดิน ลุยตมลุยโคลนตากแดดกรำฝน จึงจะเห็นข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสุกมาได้ และได้บริโภคอิ่มสบายก็ล้วนทำมาจากของมีอยู่ทั้งสิ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีอยู่ในกาย วาจา จิต ของทุกคน..."

โอวาทธรรม
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต







“รู้ได้ไงว่าพระพุทธเจ้ามีจริง ?”

ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์มาสอบถามท่านด้วยความสงสัยถึงเรื่อง

“รู้ได้อย่างไรว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่จริง?” ซึ่งหลวงปู่ท่านได้เมตตาตอบข้อสงสัยไว้ดังนี้ …

โยม : หลวงปู่ครับพระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่าครับ ?

หลวงปู่ : มีจริงสิ ทำไมจะไม่มี

โยม : เราจะพิสูจน์ยังไงครับว่าพระพุทธเจ้ามีจริงและคำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฏกเป็นของจริง อาจเป็นพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งเขียนขึ้นมาเองก็ได้

หลวงปู่ : ไดโนเสาร์มีจริงไหมคุณ ?

โยม : มีสิครับผม

หลวงปู่ : อ้าวคุณรู้ได้ไงว่าไดโนเสาร์มีอาจเป็นใครคนใดคนหนึ่ง เอาอะไรมาหล่อเป็นโครงกระดูกแล้วแต่งเรื่องหลอกพวกคุณก็ได้

โยม : ก็มีฟอสซิล มีโครงกระดูก มีนักวิชาการรับรองว่าไดโนเสาร์มีจริงเป็นสัตว์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในโลกนี่ครับ มีการพิสูจน์มีเอกสารรับรอง

หลวงปู่ : ถ้าคุณว่าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงมีจริง พระธาตุหรือกระดูกของพระองค์ยังอยู่ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงก็ยังอยู่ พระอรหันต์พระอริยะเจ้าที่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ก็ยังพ้นทุกข์อยู่ ท่านเหล่านั้นก็ยืนยันว่าพระธรรมของพระองค์ปฏิบัติได้จริงและพิสูจน์แล้วเห็นผลจริง พวกเราผู้เกิดไม่ทันก็อาศัยพระธรรมคำสั่งสอนนั้น ปฏิบัติตามและก็เห็นผลตามนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งแต่งพระไตรปิฏกมาหลวงปู่ก็ถือว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้าเพราะภูมิธรรมในชั้นพระไตรปิฏกเป็นธรรมชั้นพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงแสดงได้ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้เป็นพระอรหันต์พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม ล้วนแต่เคารพในพระพุทธเจ้าและพระธรรมคำสั่งสอนนั้นพระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมปฏิบัติได้จริงเห็นผลจริง พระพุทธเจ้าไม่ได้หลอกเรา พ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็ไม่หลอกเรา เพราะพระไตรปิฏกนั้นก็เป็นเครื่องรับรองความมีอยู่ของพระพุทธเจ้านั้นไงเล่า
________________
โอวาทธรรม :หลวงปู่ไดโนเสาร์ หลวงปู่หา สุภโร วัดสักกะวัน(ภูกุ้มข้าว) อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์






#ผู้ใดไม่สำรวมจิต_ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท

"...คนเรานี่ถ้าอยู่ปราศจากสติสัมปชัญญะแล้ว ท่านถือ
ว่าอยู่โดยความประมาท เพราะคนที่อยู่ปราศจากสติ
สัมปชัญญะนี่ไม่รักษาจิตใจตัวเอง ใจคิดฟุ้งซ่านเลื่อน
ลอยไปอย่างไร ก็ปล่อยไปอย่างนั้น การปล่อยจิตใจ
ให้ไปตามยถากรรมอย่างนี้ ท่านเรียกว่า อยู่ด้วยความ
ประมาท ผู้ไม่ประมาทเมื่อรู้ว่าจิตใจของตนมันมัวหมอง
ด้วยเหตุใด เช่นนี้แล้วพยายามสอนใจของตนให้ละเรื่อง
นั้น เมื่อละเรื่องนั้นได้แล้ว จิตใจก็ผ่องใสคืนมา

เมื่อกิเลสเหล่านั้นมันออกไปจากจิตใจแล้ว จิตใจก็ผ่อง
ใสอยู่ตามเดิม ทำอย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
พยายามชำระตนให้สะอาดผ่องใสอยู่เรื่อยไป นี่เป็นจุด
มุ่งหมายของคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรง
สั่งสอนให้ปรารภความเพียรอยู่บ่อยๆ การปรารภความ
เพียรหมายความว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะระลึกเข้ามา
ดูกาย ดูใจตัวเองอยู่เสมอ เพ่งดูกาย ดูจิตนี้อยู่เสมอ
อย่างนี้แหละจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความเพียร ไม่ประมาท..."

#ที่มา หนังสือ ๑๐๐ ปี ชาตกาล หน้า ๒๓๐
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)







"..อย่าพึงเข้าใจว่าศาสนาเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า และเป็นสมบัติของพระสาวกองค์หนึ่งองค์ใด แต่เป็นสมบัติของผู้รักใคร่สนใจปฏิบัติทุกๆ คน ที่มุ่งประโยชน์จากศาสนา พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายท่าน ไม่ทรงมีส่วนอะไรกับศาสนาที่ประทานไว้สำหรับโลกเลย อย่าไปเข้าใจว่าพระองค์และสาวกทั้งหลาย จะพลอยมีส่วนดีและมัวหมองไปด้วย จะปฏิบัติผิดหรือถูกประการใดก็เป็นเรื่องของเราเป็นรายๆ ไป มิได้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย.."

พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒)






"... เมื่อสังขารไม่มีแล้ว​ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันก็ไม่มี​ ความทุกข์ทั้งหลายมันก็ไม่มี มันจะเอาอะไรมาทุกข์ มันไม่ได้ปรุงได้แต่ง นี้มันก็สุข..."

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร





...เทศนาธรรม...

“ใจอยู่ในใจ รู้อยู่กับรู้”

..การฝึกหัดที่ให้มีความระลึกรู้เต็มที่ ก็มักจะมีอุปสรรคสำหรับการฝึกหัดใหม่ ๆ เดี๋ยวก็มีทุกขเวทนาร้อยอันพันประการ เดี๋ยวก็อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ฟุ้งซ่านรำคาญ อันนั้นเป็นธรรมดาของเขาอยู่แล้ว ซึ่งเคยเป็นจริตนิสัยมาก่อน แต่แล้วเราอย่าไปเกรง อย่าไปกลัว เราอย่าไปสนใจ อย่าไปท้อไปถอย ให้ถือว่าเป็นธรรมดาของเขา เรามีวิธีการอย่างเดียวคือพยายามทำให้อยู่เท่านั้น ทำจิตใจให้อยู่ในอารมณ์อันนี้ จะว่าสติก็ตาม จะว่าสมาธิก็ตาม จะว่าความสงบก็ตาม ว่าอะไร เราก็ไม่ได้สนใจทั้งนั้นหละ เพียงให้มีความระลึกรู้ว่า จิตใจเราอยู่ในธรรมชาติรู้อันนี้ได้ เรียกว่า “ใจอยู่ในใจ รู้อยู่กับรู้” พูดง่าย ๆ “ความรู้อยู่กับความรู้ ใจอยู่กับใจ” นี้จึงเป็นของที่มีผลใหญ่ในการกระทำอะไรทุกอย่าง สิ่งต่าง ๆ ที่เราจะประพฤติปฏิบัติไป จะต้องผ่านจุดนี้ทั้งนั้น นี้ให้เอาเท่านี้ก่อนง่าย ๆ ย่อ ๆ..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง รู้อยู่กับรู้ ใจอยู่กับใจ
ตอบกระทู้