ในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ”
ในโอวาทนี้ พระพุทธองค์สรุปหลักสำคัญๆ ของพระพุทธศาสนาให้พระอรหันต์กลุ่ม ๑,๒๕๐ รูปฟัง เพื่อท่านเหล่านั้นจะได้เอาไปใช้เป็นคู่มือระหว่างการจาริกเผยแผ่พระธรรมวินัยของพระองค์
อีกตอนหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเริ่มดัวยหลัก
“การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย”
ซึ่งเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า การไม่เบียดเบียน ไม่ว่าด้วยกาย หรือวาจา คือเอกลักษณ์และเครื่องสังเกตของนักบวชในพระพุทธศาสนา แม้แต่ฆราวาสก็ควรถือกันว่า ชาวพุทธใช้ความรุนแรงเพื่อชนะการถกเถียงกันในเรื่องศาสนาเมื่อไหร่ เป็นผู้หันหลังให้พระพุทธเจ้าอย่างน่าละอายเมื่อนั้น
ความรุนแรงไม่ใช่เครื่องหมายแห่งความจริงใจ ความรุนแรงคือเครื่องหมายของกิเลส
การแสดงออกด้วยอารมณ์ง่ายมาก ใครทำได้ พาลทำได้ แต่พระพุทธศาสนาไม่สอนให้เราเป็นพาล ตรงกันข้ามธรรมะสอนวิถีของบัณฑิต ผู้พ้นจากความเป็นพาล ผู้ที่กำลังฝึกตนตามหลักของพระพุทธศาสนา จึงพยายามแสดงออกด้วยจิตที่ไม่ลำเอียง มีสติ ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา มีความหวังดีต่อทุกฝ่าย อดทน หนักแน่นในเวลาควรหนักแน่น อ่อนโยนในเวลาสมควรอ่อนโยน ฝึกอย่างนี้ยากมาก แต่ควรฝึกอย่างยิ่ง
พระอาจารย์ชยสาโร
"จิตของเรานี้ เป็นใหญ่ อยู่ในตัวของเรา เป็นสิ่งสำคัญ เป็นหัวหน้า
คนเรานี้ ถ้าใจดี กายวาจาก็จะพลอยดีไปตามกัน ถ้าจิตใจไม่ดี กายวาจาก็พลอยไม่ดีไปด้วย
จงจำไว้ว่า ใจเป็นสิ่งสำคัญ ศีล สมาธิ ปัญญา จะตั้งอยู่มั่น ก็ต้องอาศัยมูลฐานอันสำคัญ คือ จิต"
ครูบาเจ้าพรหมา พรมจักรโก
เรียนรู้~ ที่จะเชื่อมั่นในรู้ ซึ่งเราไม่สามารถ สร้างขึ้นมาได้
หลวงพ่อ สุเมโธ
ตัวตายแต่ใจเราไม่ได้ตาย..
ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ"อุปสมานุสสติกรรมฐาน" หมายถึงอะไรคะ ถ้าเรานึกถึงนิพพานอยู่ตลอดเวลาเสมอ ตายแล้วจะไปนิพพานได้ไหมคะ..?
หลวงพ่อ : ถ้าจิตนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรียกว่า "อุปสมานุสสติกรรมฐาน" คือ ถ้าทำเป็นฌานเป็นเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์อันเดียว และเวลาที่เราตายนะ ตัวมันตายแต่ใจเราไม่ได้ตาย ใจมันก็หาที่ไป
ฉะนั้นเมื่อมีชีวิตอยู่ใจเราก็นึกถึงแต่พระนิพพาน มันก็ไปที่นั่นแหละไม่ชวนไปที่อื่นชวนไปแห่งเดียว
ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ ถ้าเราจับพระนิพพานเป็นอารมณ์นี่นะคะ แล้วเวลาจะตายเราจะมีสติไหมคะ..?
หลวงพ่อ : อ้าว..ถ้าเราจับเป็นอารมณ์ เวลานั้นมีสตินี่ เพราะเวลานั้นอารมณ์มันสูงจัด การจับพระนิพพานนี่ท่านเรียก อุปสมานุสสติกรรมฐานนะ
ถ้าจับเป็นอารมณ์ ถ้าเวลาเริ่มป่วยเอาจิตจับไว้เลยนะ ทีนี้ในช่วงกลางระหว่างป่วยมันจะดิ้นตูมตามอย่างไรก็ตามจิตมันจะไม่ปล่อย มีพระอยู่องค์หนึ่ง ท่านอายุมากแล้ว ท่านใช้อารมณ์แบบนี้นะ แล้วต่อมาท่านเป็นโรคกระเพาะ ท่านดิ้นถึงกับทะลึ่งพรวด ๆก็เข้าไปหาท่านพอจับตัวท่านปั๊ปท่านก็หยุด พอเผลอหน่อยเดียวเอาอีกแล้ว แล้วก็สักครู่หนึ่งท่านก็หยุดดิ้น ไม่ใช่ดิ้นนะ ถึงกับโดดเลยนะ แน่น ตอนนั้นพอโดดแล้วก็เงียบ เงียบรู้สึกสบาย พอสบายสัก ๒๐ นาที ไม่มีอะไรเลยอาการปกติ ท่านก็ลืมตาถามว่าเพลหรือยัง แล้วฉันก็มองดูนาฬิกา บอกว่า ยังเหลืออีก ๒ นาที ก็หลับตาไปอีก ลืมตาแล้วก็หลับลืมตาอีกทีก็ ๕ โมงพอดีนี่ก็หมายความว่า จิตมันมีสภาพจำ
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้จิตจับอยู่จุดใดจุดหนึ่ง จับจุดนั้นแต่อย่างเดียวมันจะไปจำเพาะที่นั่น
ทีนี้เวลาที่ท่านตายไปแล้วก็ตามท่านก็ตามดูว่าไปจุดไหน อันนี้เป็นพยานได้ พระ ๒ องค์ ฆราวาสอีกคนหนึ่ง ฆราวาสก็มีสภาพแบบเดียวกัน ตอนต้นมาฝึกกรรมฐาน บอกว่า อย่าสนใจในรูป ให้สนใจนิพพานอย่างเดียว สวรรค์ก็ดี พรหมก็ดี ไม่มีความหมาย
ถ้าเราตั้งใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าบังเอิญตายแล้วไม่ถึงนิพพานมันจะต่อทันที เพราะอารมณ์เดิมจิตมันไปใช่ไหม จิตมันรัก ทีนี้แกก็มีสภาพแบบนั้นอีกประมาณ ๒๐ นาทีแกจึงสงบ พอสงบประเดี๋ยวยิ้ม ๆ สักครู่หนึ่งก็ตาย พอตายก็ตามไปดูที่นั่นละ ใช่ไหม
ผู้ถาม : ป่วยแบบไม่รู้สึกตัวนะคะ จิตเขาอยู่ที่ไหนคะ..?
หลวงพ่อ : ก็อยู่ที่จิต
ผู้ถาม : ยังอยู่กับร่างกายใช่ไหมคะ..?
หลวงพ่อ : ถ้าหากว่ามันยังไม่ตายมันยังอยู่
ผู้ถาม : มันได้รับความรู้สึกไหมคะ...?
หลวงพ่อ : ไอ้นั่นมันเป็นเรื่องของประสาท ความรู้สึกประสาทมันใช้งานไม่ได้ แต่จิตมันใช้งานได้อยู่ ประสาทมันอยู่เหนืออำนาจ จิต บังคับประสาทไม่ได้ ก็อย่างที่ดิ้นตูม ๆ มันเรื่องของประสาทดิ้น จิตมันไม่ยอมดิ้นด้วย
ทีนี้ประเภทที่ป่วยไม่รู้สึกตัว อย่างภาษาหมอเขาเรียกว่าโคม่า หรือคนโบราณเรียกว่าตรีทูต อันนี้จิตมันยังทำงานอยู่
ผู้ถาม : เวลาพูดกับเขา เขาไม่ได้ยิน
หลวงพ่อ : ไม่ได้ยินเพราะประสาทไม่ทำงาน มันไม่รับเสียง คือประสาทมันใช้งานไม่ได้ แต่จิตมันยังทรงตัว
ผู้ถาม : แต่จิตก็ยังยึดอารมณ์อยู่
หลวงพ่อ : ยังอยู่ จิตนี่ไม่ปล่อย พอเริ่มต้นป่วยใหม่ ๆ ถ้าจิตยึดอะไรอย่างมั่นคง มันจะยึดตลอด ฉันเคยเห็นมาหลายรายการแล้วนะ
ผู้ถาม : ที่หลวงพ่อบอกเอกัคคตารมณ์หมายความว่าอย่างไรคะ...?
หลวงพ่อ : ที่ท่านเรียกว่า "เอกัคคตารมณ์" คือ อารมณ์อันเดียว คือทำอารมณ์ที่เป็นกุศลให้มันเป็นอย่างเดียว
โดยเฉพาะที่เราเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ และจิตมันมีสภาพจำ เพราะจะสังเกตได้จุดหนึ่ง เพราะว่าเราเคยเจริญสมาธิจิต แต่ว่าไม่เคยฝึกกรรมฐานโดยตรง บางครั้งสมัยเด็ก ๆ เราอาจจะลืมไปแล้ว ถ้าจิตมันมีอารมณ์โปร่งสบาย บางทีภาพเดิมมันขึ้นมา บางครั้งมันนี่แหละจิตมันมีสภาพจำ
ฉะนั้นถ้าหากว่าเราให้มันจำในส่วนของกุศล มันก็จำตลอด บางขณะเราอาจจะพูดไม่ดีกับเพื่อนบ้าง ไม่พอใจเพื่อนบ้าง ท่านบอกว่าก็ช่างมัน คือถืออารมณ์เดิม
เช้าน่ะตั้งอารมณ์ให้ดี เพราะช่วงนั้นจิตมันสะอาดตื่นมาตอนเช้า ๑. ได้พักผ่อนดีแล้ว ๒. อารมณ์สบาย ก็ให้ตั้งอารมณ์ไว้เฉพาะกิจ มันจะจำตลอดวัน ถ้าตูมตามขึ้นมามันก็ไปจุดนั้นเลย
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน ให้เราใช้อนุสติ ซึ่งมี ๑๐ แต่สิบนี้ความหมายก็ดีทั้งหมด แต่ที่ดีจริง ๆ ก็คือ "อุปสมานุสสติ คือนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ "
แต่เราอย่าลืมนะว่า คนที่จะนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์จริง ๆ คนประเภทนี้ จะต้องมีนิสัยเป็น "พุทธจริต" พุทธจริตนี่เขาเป็นคนฉลาด ถ้าคนไม่ฉลาดก็ไม่เอาสอนเท่าไหร่ก็ไม่เอา แม้แต่อยู่กับพระพุทธเจ้าก็ยังไม่เอาเลย
นิพพานัง นิพพานะสุขัง ก็ว่ามันไป ตอนเช้ามืดไม่ต้องภาวนาก็ได้ ตั้งจิตไปเลยนึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรม นึกถึงพระอริยสงฆ์ พรหมและเทวดาทั้งหมดตลอดจนท่านผู้มีคุณขอจงเป็นพยานแก่ข้าพระพุทธเจ้า
ข้าพระพุทธเจ้าทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาแล้วทั้งหมด หรือจะทำในการข้างหน้าก็ตาม ไม่ต้องการอย่างอื่นต้องการอย่างเดียวคือ "พระนิพพาน"
จิตจับพระนิพพานเป็นอารมณ์เพียงเท่านี้แหละ
#หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม(ท่าซุง) จ.อุทัยธานี #เพจคำสอนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน Moddam Thammawong พิมพ์ธรรมทานจากหนังสือธรรมปฏิบัติ เล่ม ๒๐หน้า ๒๑-๒๕
. คนฉลาดปกครองตนให้มีความสุขและปลอดภัยไม่จำเป็นต้องเที่ยวแสวงหาทรัพย์มากมาย หรือเที่ยวกอบโกยเงินเป็นล้านๆ มาเป็นเครื่องบำรุง จึงมีความสุข
ผู้มีสมบัติพอประมาณในทางที่ชอบ มีความสุขมากกว่าผู้ได้มาในทางมิชอบเสียอีก เพราะนั่นไม่ใช่สมบัติของตนอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์
แต่กฏความจริง คือ กรรมสาปแช่งไม่เห็นด้วยและให้ผลเป็นทุกข์ไม่สิ้นสุด นักปราชญ์ ท่านจึงกลัวกันหนักหนา แต่คนโง่อย่างพวกผู้ชอบสุกเอาเผากิน และชอบเห็นแก่ตัว ไม่มีวันอิ่มพอ ไม่ประสบผล คือ ความสุขดังใจหมาย
โอวาทธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร
..ข้อว่า พ่อแม่เป็นบูรพาจารย์ พ่อแม่ของเรานี้สอนพวกเราตั้งแต่เล็กๆ เป็นอาจารย์เบื้องต้น สอนตั้งแต่เราเล็กๆน้อยๆ สอนตั้งแต่เราคลาน จนมานั่ง จนมายืน มาเดิน สอนคุณงามความดีมาตลอด กลัวลูกจะเป็นอันตราย จะตกบ้านตกช่อง หรือจะไปจับไฟหรือจับอะไรต่างๆ จะไปจับปลั๊กไฟอย่างโน้นอย่างนี้ จับมีดและของมีคมก็กลัวจะบาดมือ ท่านจะห้ามตลอดเลย ไม่ให้เข้าไปยุ่งเรื่องอย่างนั้น นี้เป็นอาจารย์สอนเบื้องต้น สอนให้เราตั้งอยู่ในคุณงามความดี พ่อกับแม่เป็นผู้สอน เรียกว่าเป็นบูรพาจารย์ สอนลูกเป็นเบื้องต้น ..อาจารย์ที่สอนอยู่โรงเรียนนั้น เขาเรียกว่าอาจารย์ที่สอง สอนให้รู้จักหนังสือ รู้จักอ่านออกเขียนได้ รู้จักสมมุติภาษา เรื่องราวในวิชาความรู้ต่างๆ เพื่อเราจะได้นำวิชาความรู้เหล่านั้นไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองให้มีความสุข นั่นเป็นอาจารย์ที่สอง ..อาจารย์ที่สามก็คือ พระที่บวชอยู่ในวัด สอนให้รู้จักบุญจักบาป ให้ละความชั่วกระทำแต่ความดี เหมือนที่อาตมาสอนให้รู้จักบุญจักคุณของบุคคลที่มีบุญมีคุณแก่ตน ..เหตุฉะนั้น เราทุกคนต้องรู้จักว่าพ่อแม่เป็นบูรพาจารย์ เป็นอาจารย์เบื้องต้น สอนลูกสอนหลานให้รู้จักคุณงามความดี ให้ละความชั่วทำความดีมาแต่เล็กๆ..
..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป.. วัดอรัญญวิเวก ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
"...การปฏิบัติเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ ต้องมีสติ ปัญญาที่เฉียบแหลม วิจัยวิเคราะห์ในเหตุผลให้เข้าใจ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง การพิจารณาทุกข์และ พิจารณาเหตุที่ให้เกิดทุกข์ อุบายที่จะปฏิบัติเพื่อดับ เหตุแห่งความทุกข์ ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจ วางพื้นฐาน แนวทางปฏิบัติไว้ให้ตรง ส่วนนิโรธเป็นผลครั้งสุดท้าย ไม่จำเป็นจะเอามาวิจารณ์ เพราะเป็นธรรมที่เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตน เมื่อถึงจุดที่อิ่มตัวเต็มที่แล้วเมื่อไร นิโรธคือ ธรรมที่ลบล้างกิเลส ก็จะปรากฏแก่นักปฏิบัติเอง
ถึงผู้นั้นไม่เคยศึกษา ไม่เข้าใจในความหมายของนิโรธ มาก่อน ก็ไม่เป็นปัญหา เหมือนกับที่สุดของเส้นทางเป็น อย่างไรเราไม่ต้องกังวล ไม่ต้องคาดหมายว่าเป็นอย่าง นั้นอย่างนี้ เมื่อเราเดินตามทางตรงไปอยู่แล้ว ความสิ้น สุดของเส้นทาง เราจะเป็นผู้รู้เองเห็นเองโดยไม่ต้องถาม ใครว่าความสิ้นสุดของเส้นทางเป็นอย่างไร..."
#ที่มา หนังสือ พ้นกระแสโลก หน้า ๗๖ หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ จังหวัดอุดรธานี
.
|