Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ความโลภ ความโกรธ

ศุกร์ 01 ก.ย. 2023 6:49 am

"..พรขอได้ที่ตัวเอง.."

"..คำสอนในพระพุทธศาสนา เน้นสอนเรื่องกรรม ทำกรรมดี ได้ผลดี ทำกรรมชั่วได้ผลชั่ว ดังนั้น ควรทำกรรมดี เช่น การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาผู้ควรบูชานี้เป็นมงคลสูงสุด ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ หากระลึกถึงคติแห่งพร หรือมงคลทางพระพุทธศาสนาดังกล่าว และหันมาขอพรอย่างนี้กันให้มากขึ้น

พรอย่างนี้ไม่ต้องไปขอจากใคร ให้ขอจากตนเอง คือ ขอให้ตนเองเว้นความประพฤติต่างๆ ที่ชั่วร้าย ขอให้ตนเองสร้างคุณความดี ขอให้ตนเองระงับใจจากความโลภโกรธหลง พรเหล่านี้ตนเองเท่านั้นที่จะให้ได้ ใครอื่นจะขอหรือแนะนำตักเตือนสักเท่าไร ถ้าตนเองไม่ทำแล้วก็ไม่สำเร็จประโยชน์

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “จงเตือนตนด้วยตนเอง จงพิจารณาตนด้วยตนเอง ท่านมีสติคุ้มครองตนได้แล้ว เป็นผู้เห็นภัยในโทษ แม้เพียงเล็กน้อย จักอยู่เป็นสุข” นี้คือวิธีขอพรตนเองของพระพุทธเจ้าผู้เลิศล้ำ ขอให้พรนี้ จงสำเร็จแก่ทุกๆ ท่าน.."

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
ที่มา ๑๐๐ เด็จพระสังฆราช







"ถ้าอยู่กับใครที่เราไม่ค่อยชอบ
แต่ไม่มีทางเลือก เทคนิคอย่างหนึ่ง คือ
แผ่เมตตาให้กับตัวเอง ขอให้เป็นผู้ไม่มีเวร
ชื่นชมในความดีของตัวเอง เวลาเรารักตัวเอง
ก็พร้อมที่จะรักคนอื่น ให้อภัยคนอื่น"

พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ






"โลกนี้ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป
จะอยู่ที่โน่น ก็เปลี่ยนแปลง อยู่ที่นี่หรือที่ไหน
ก็เปลี่ยนแปลง เพราะพวกเราทั้งหลายอยู่ได้ด้วย
การเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง
เราก็อยู่ไม่ได้

หายใจออกมาแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นหายใจเข้า
แล้วก็หายใจออก ไม่เช่นนั้น เราก็อยู่ไม่ได้
ลมออกไปหมด ก็อยู่ไม่ได้ ลมเข้ามาแล้วไม่ออก
ก็อยู่ไม่ได้

เราทั้งหลายอยู่ในโลกนี้ ก็เป็นของโลก
มันเป็นของของโลก ไม่ควรทำความน้อยใจ
ไม่ควรทำความเสียใจใดๆ เราต้องเป็น
ผู้มีจิตใจเข้มแข็ง

จะตกไปอยู่ที่ไหน ก็สร้างแต่คุณงามความดี
แม้หมดชีวิต ก็อย่าทิ้งคุณงามความดี"

หลวงปู่ชา สุภทฺโท





“ทุกสิ่งทั้งหลายในโลก ไม่มีอะไรถาวร
จะต้องเสื่อมโดยธรรมชาติธรรมดาทุกอย่าง
ฉะนั้น จึงไม่ควรไปสนใจกับสิ่งที่ไม่ถาวรเหล่านี้

คนจะสวยจะงาม ก็ต้องแก่และตาย
กุหลาบสวย ก็ต้องโรย ดอกบัวงาม ก็ต้องร่วง
มะม่วงสุกหอม ก็ต้องมีแมลงกิน

สิ่งที่ถาวร และไม่ตายนั้น คือ ดวงจิตอย่างเดียว
สิ่งนี้ จึงควรสนใจ และรักษาให้มาก”

ท่านพ่อลี ธัมมธโร
ตอบกระทู้