นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 18 ม.ค. 2025 4:46 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 28 ก.ย. 2023 5:08 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4806
"ทำงานอย่าเอาแต่ใจตัวเอง
เราทำอะไร เราก็ว่าเราถูก
แต่มันอาจจะไม่ถูกคนอื่นเขา
อย่ามัวแต่ว่าคนนั้นทำผิด คนนี้ทำผิด
ให้กลับมาดูความผิดของตัวเอง
อย่างเดียวดีกว่า"

ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก





"การเตือนผู้อื่นไม่ให้หลงผิดนั้น เป็นสิ่งดี
แต่การเตือนตนให้ได้นั้น ย่อมดีกว่า"

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ






ถ้าเรามีความจริง คือ "ธรรมะ" เป็นทรัพย์ของเราแล้ว ถึงจะมีเงินก็ไม่ทุกข์ ไม่มีก็ไม่ทุกข์

ท่านพ่อลี ธัมมธโร





เรื่องของพระนิพพานเป็นของง่าย
เพราะเป็นสิ่งที่ยืนตัว คงที่อยู่เสมอ
ไม่มีอาการเปลี่ยนแปลง
ส่วนเรื่องของโลกนั่นแหละเป็นของยาก
เพราะแปรตัวได้ไม่แน่นอนอะไร
วันนี้เป็นอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ทำแล้วก็ต้องรักษาไว้ให้ดี
ส่วนนิพพานไม่ต้องมีการเก็บ ไม่ต้องมีการรักษา
ทำแล้วก็ละ ทำแล้วก็ทิ้ง ทำไปละไป ทำไปทิ้งไป...
หมายความว่าทำความดีทั้งหลายแล้ว
ไม่ยึดว่าเป็นของตน
ผู้ที่ทำความดีแล้วก็คายความดี
ไม่ยึดความดีว่าเป็นของของตน
นั่นแหละเป็น วิราคธรรม

ท่านพ่อลี ธัมมธโร







อำนาจของความดีและความชั่วนี้
เปรียบเหมือนกับแม่เหล็กหรือแร่ธาตุ
ที่จะดูดดึงดวงจิตของคนให้ทำความดีความชั่ว
และไปเกิดในที่ดีเลวได้ตามอำนาจความแรงของมัน
.
เราทำความดีหรือความชั่วไว้
มันก็เป็นแม่เหล็กตกอยู่ในโลก
แล้วแม่เหล็กนั้นก็ดูดดึงตัวเรา จิตเรา
ให้ไปสู่สถานที่ของมัน
คนโง่ที่ไม่รู้จักหลบหลีกหรือถอนตนให้พ้น
จากอำนาจของความดีความชั่ว
ก็ย่อมจะถูกดูดดึงไปตามสายแร่ธาตุนั้นๆ
แล้วก็ต้องเวียนว่ายอยู่ในโลกนี้อีก ไม่ไปไหน
.
แต่นักปราชญ์ท่านมองเห็นภัยในสิ่งนี้
ท่านจึงพยายามหาทางตัดสายแร่ธาตุออกเสีย
ให้หลุดลอยตัวเป็นอิสระพ้นจากอำนาจของมัน
คือ ทำดีแล้วก็ตัดสายแร่
ทำชั่วแล้วก็ตัดสายแร่ ไม่ให้ติดต่อ
คือ “การไม่ยึดมั่นถือมั่น”
ในสิ่งที่ตนได้กระทำไปแล้ว
.
จะทำดีหรือทำชั่วก็ตาม
ไม่ยึดถือเอามาเป็นสมบัติของตัว
ทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติของโลก
ไม่เก็บมาลูบคลำเลย อย่างนี้เรียกว่า เป็นผู้มีปัญญา
สามารถตัดสายแร่ของโลกียะเสียได้

ท่านพ่อลี ธัมธโร






ธาตุรู้เป็นผู้อยู่กลางๆ ไม่มีอาการใดๆทั้งหมด
ฉะนั้น ธาตุรู้จึงไม่มีความรู้สึก ดีชั่วอะไร
ธาตุรู้นี้ ต้องมีสัญญา สังขาร อุปาทาน เข้าไปสัมปยุต
จึงจะเกิดอาการต่างๆ ขึ้นมาได้
เช่น สังขารปรุงแต่งดีชั่ว หยาบละเอียดต่างๆ
จึงเกิดขึ้นมา เมื่อสังขารปรุงแต่งแล้ว
ปัญญาเข้าไปตรึกตรองในสิ่งนั้นๆ
จึงถอดเอาความดี ความชั่ว ออกมาตั้งไว้
ให้ปรากฎเห็นชัดว่าอันนี้ดี อันนี้ชั่ว....

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี






. ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์ ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน

จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมก็สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน

โอวาทธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร






#จิตที่ตายแล้ว

" ' ปมาโท มัจจุโน ปทัง ' ผู้ที่ประมาท คือผู้ที่ไม่สนใจรักษา ไม่สนใจดูแลจิตเจ้าของ เป็นผู้ที่ทอดทิ้งจิตนั้นล่ะ เรียกว่าผู้ประมาท ผู้ที่ประมาทก็เป็นคนตาย คนตายก็คือจิตที่ถูกทอดทิ้งนี้เอง เป็นจิตที่ตายแล้ว กุศลธรรม อกุศลธรรม เกิดจากจิต เท่านั้น "

พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร )
วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร





#ใจที่ไม่เห็นใจ

... " ความฉลาดของใจไม่พอ ใจหลงความคิดของตน เรียกว่า หลงสังขาร คิดดี คิดไม่ดี เป็นสังขารทั้งนั้น ถ้าหากว่าหลงแล้ว เกิดปัญหาทั้งนั้น

... คิดดี ก็หลงเรื่องดีๆไป เกิดความพอใจในสิ่งนั้นขึ้นมา เกิดความยินดีขึ้นมา แล้วอะไรต่อมิอะไรก็ตามมา
คิดไม่ดี ก็ไปยึดความคิดที่ไม่ดีนั้น จะไปยึดของไม่ดี ว่าความคิดเป็นเรา

... ทำไมใจจึงไปยึดว่า ความคิดเป็นเรา ก็เพราะใจไม่เห็นใจ ถ้าหากว่าใจเห็นใจแล้ว จะไปยึดความคิดเป็นเรา เป็นไปไม่ได้

... ใจถึงจะมีอยู่เป็นตัวเป็นตน แต่ใจไม่สามารถมองเห็นใจที่เป็นรูปร่างตัวตนได้ คำว่ารูปร่างตัวตนนี้ เป็นรูปร่างตัวตนในส่วนของนามธรรม

... ใจเห็นใจแล้ว ใจจะไปยึดสังขารเป็นตัวเป็นตนไม่มี , ใจเห็นใจแล้วจะไปยึดความคิดเป็นของตัวตนไม่มี, ใจเห็นใจแล้วจะไม่ไปคิดไม่ไปยึดความคิดเป็นตัวเป็นตน แล้วเรื่องของโลกจะวุ่นวายได้อย่างไร

... คำว่า ความวุ่นวายทั้งหมด เกิดจากใจที่ไปยึดความคิดว่า เป็นตัวเป็นตน "

พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร )
วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร






"...ความไม่อยากเกิดในภพที่ไม่ชอบใจนี้เอง จึงเรียกว่า
วิภวตัณหา ถึงจะไม่อยากเกิดในภพดังกล่าว ก็จำเป็นจะ
ต้องได้เกิดเมื่อตัวเองทำกรรมไว้ไม่ดี เมื่อกรรมชั่วส่งผล
ให้ไปเกิดในภพไหนก็ต้องไปตามกรรม ไม่มีสิทธิ์ที่จะ
เรียกร้องเอาตามใจชอบของตน เหมือนคนที่ถูกคุมขัง
ในตะรางจะเรียกร้องเอาอะไรตามชอบใจไม่ได้ ที่อยู่
หลับนอน อาหารการกิน จะไม่เป็นไปตามความอยาก
ของตัวเอง นี้ฉันใด ใจที่ได้รับผลของกรรมชั่วแล้ว
จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นต่อไป จนกว่าจะหมดผล
กรรมที่ทำไว้ นี้เป็นนิสัยของผู้ไม่มีปัญญา ไม่เข้าใจใน
เหตุผล อาศัยความอยากเป็นใหญ่ ต้องการแต่สิ่งที่ดี
และชอบใจ แต่ไม่ประกอบกรรมดีเอาไว้ เมื่อผลร้ายเกิด
ขึ้นก็เกิดความไม่ชอบใจ

ฉะนั้น ขอให้นักปฏิบัติทุกท่านได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้
จิตได้รู้เห็นในเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ เพราะกามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา ทั้งสามนี้จึงเป็นสถานที่ที่มวล
มนุษย์ที่เกิดมาในโลกและสัตว์ดิรัจฉานทุกประเภทได้
หมุนตัวไปตามความอยาก สร้างเหตุให้เกิดความทุกข์
ของภพชาติตลอดไป เหตุปัจจัยที่มีการหมุนเวียนอยู่ใน
ภพทั้งสามก็เนื่องจากตัณหาคือความอยากตัวนี้เป็นเหตุ
ถ้าดับเหตุนี้ได้แล้ว ภพทั้งสามก็หมดปัญหาไป..."

#ที่มา หนังสือ พ้นกระแสโลก หน้า ๘๕ - ๘๖
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี






ให้แล้วให้ "จบ" อย่าไปยึดติด
ผูกพันทางความรู้สึก
แล้วอานิสงส์ถึงขอบฟ้า
จะบริสุทธิ์ทวีคูณ
.
--- คำสอน หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล
วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม​ อ.เชียงของ จ.เชียงราย





กรรมที่บุคคลกระทำทั้งกรรมดีกรรมชั่ว.. ทำกรรมดีก็เป็นคนดีทันที ทำกรรมชั่วก็เป็นคนชั่วขึ้นทันทีเหมือนดังชาวสวนที่ปลูกต้นทุเรียนก็เป็นทุเรียนทันที ปลูกมะม่วงก็เป็นมะม่วงทันที ไม่ใช่ปลูกทุเรียนเป็นมะม่วงตอนออกผล คราวนี้ในการปลูกต้นมะม่วงต้นทุเรียนนั้นจะออกผลก็ต้องใช้เวลานานตามกำหนดสุดแต่ว่าต้นไม้นั้นๆ จะให้ผลเมื่ออายุกี่ปี ตอนที่ต้นมะม่วงต้นทุเรียนให้ผล เมื่อถึงกำหนดเวลาจึงจะปรากฏให้มองเห็นเป็นผลมะม่วงผลทุเรียนนี้เรียกว่า วิบาก แปลง่ายๆ ว่าผล ดังเช่น วิบากรรม หรือ กรรมวิบาก ผลของกรรม
.
แต่คำว่า “วิบาก” นั้น หมายถึง “ผลที่สุกงอมที่จะหล่นจากขั้วได้” เหมือนอย่างผลของมะม่วงผลของทุเรียนนั้นที่ปรากฏเป็นผลออกมา เมื่อยังไม่สุกงอมพอที่จะบริโภคได้ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นวิบาก ต่อเมื่อสุกงอมจนถึงขนาดที่จะหล่นจากขั้วได้ แม้คนไม่ปลดไม่สอย ผลมะม่วงผลทุเรียนนั้นก็จะหล่นลงมาเอง เพราะเป็นผลที่สุกงอม ตอนนี้เรียกว่าวิบากซึ่งจะนำมาบริโภคได้ วิบากรรมก็เช่นนั้น กรรมที่กระทำไว้วันหนึ่งๆ นั้น เมื่อถึงกำหนดที่จะให้ผลคือว่าสุกงอม จึงจะปรากฏเป็นผลที่ทำให้บุคคลได้รับผลที่ปรากฏเป็นความสุขบ้าง เป็นความทุกข์บ้าง เป็นสมบัติบ้าง เป็นวิบัติต่างๆ บ้าง
.
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงว่า กรรมบางอย่างให้ผลในปัจจุบัน คือระยะเวลาที่มองเห็น กรรมบางอย่างให้ผลในภายหน้า กรรมบางอย่างให้ผลในเวลาที่ถัดไปจากภายหน้า
.
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 43 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO