“การให้ด้วยความเต็มใจนั้น มีอานิสงส์มหาศาล ของที่ให้แม้จะน้อย แต่ให้ด้วยความเต็มใจ ก็มีอานิสงส์มากกว่าเงินจำนวนมาก แต่ให้เพราะ อยากได้หน้า หรือให้แต่เสียดาย เราเหลือกินเหลือใช้ ก็ให้เถอะ เลี้ยงคนไม่ทำให้จนลงหรอก”
หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล
"มีสติรู้ตัว ถอนความยึดถือในตัวตนเสีย มีอะไรบ้างหรือ ที่เราบังคับได้บ้าง
ร่างกายนี้ตั้งแต่เกิดมา มีแต่ความเปลี่ยนแปลง อย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่หยุดยั้ง แล้วก็ต้องตายไป ทำพิธีต่ออายุสืบชะตาอย่างไร ก็ต้องตายทุกคน แล้วจะยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา ได้อย่างไร ตายแล้วไม่เผาไฟ ก็ฝังดินเท่านั้นเอง
มันเป็นเพียงธรรมชาติที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เราเพียงยืมใช้ ได้อาศัยศึกษา รักษาไว้เป็นพาหนะ ให้ทำความดี เพื่อข้ามวัฎสงสารเท่านั้น"
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร
ท่านพ่อลี สอนว่า .....
"บุญกุศลที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรานี้ เหมือนกับหน่อเพชรหรือหน่อทองที่ผุดขึ้นในบ้านเรือนของเรา ใครจะมราขุดมาแย่งชิงเอาของเราไปไม่ได้ กฏหมายก็บังคับอะไรเราไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นในที่สวนที่นาของเราเอง บุญชนิดนี้จัดว่าเป็นบุญที่เลิศกว่าบุญทั้งหลาย"
..#โอวาทธรรมหลวงปู่ลี ธมมฺธโร.. วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ
"จิต กับใจ"
" .. พระพุทธองค์ทรงสอนให้ฝึกหัด สมาธิ ให้เข้าถึงจิตใจของตนเองเสียก่อน "เพราะจิตใจเป็นผู้ก่อภพก่อชาติ" เมื่อยังไม่รู้เรื่องของจิตหมดทุกอย่างเสียก่อนจึงต้องเกิดอีก "จิตกับใจต้องแยกออกจากกันเสียก่อน" จึงจะเห็นจิตกับใจชัด
"จิต เป็นผู้ปรุง ผู้แต่งให้เกิดกิเลสทั้งหลายมีภพชาติเป็นต้น" เมื่อปัญญาเข้าไปรู้เรื่องของจิตทุกแง่ทุกมุมหมดแล้ว จิตก็ถอนออกจากกองกิเลสเหล่านั้นทั้งหมด แล้วเข้ามาอยู่เป็นกลาง ๆ "ไม่มีอาการคิดนึกปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น เฉย ๆ อยู่ รู้แต่ว่าเป็นกลาง ๆ เฉย ๆ นั่นเรียกว่า ใจ"
"จิต กับ ใจ ความจริงก็อันเดียวกันนั่นแหละ" แต่จิตเป็นผู้คิดนึกปรุงแต่งให้เกิดกิเลสสารพัดทั้งปวง "เมื่อปัญญาเข้าไปรู้เท่าเรื่องของจิตทั้งหมดแล้ว จิตก็หยุดนิ่งไม่มีอาการอีก จึงเรียกว่า ใจ" อีกนัยหนึ่งเรียกให้เข้าภาษาชาวบ้านว่า ของกลาง ๆ ก็เรียกว่าใจ .. "
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
"..จำไว้นะบรรดาลูกหลานที่รัก อย่างไรๆ ยิ้มมันตลอดวัน หลับยิ้มเสียได้ก็ยิ่งดี ฝึกยิ้มมันเรื่อยๆ ไป ถ้าปากเรายิ้ม ไม่ช้าใจเราก็ยิ้มตาม ไอ้โมโหโทโสมันก็จะค่อยๆ หายไป นี่คือวิธีดับโมโห
ถ้าใครเขาสรรเสริญก็อย่าเมาตามเขา เขาเห็นว่าเราเป็นเทวดา เราก็ดูตัวเทวดานี่ไม่มีขี้ ไม่มีเยี่ยว ไม่ต้องกินข้าว เรามีขี้ เรามีเยี่ยว เรากินข้าว เราเป็นเทวดาไม่ได้ ใครเขาหาว่าเราเป็นพรหม พรหมท่านมีเนื้อเป็นแก้ว ดูเนื้อของเราเป็นแก้วหรือเปล่า ไม่เป็นแก้วเราก็อย่าเชื่อเขาไม่ได้ อย่ายินดีกับคำสรรเสริญ ที่เขากล่าวสรรเสริญมาให้ถือกฎธรรมดาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสพระพุทธเจ้าให้ดูตามธรรมชาติของคน คนเราจะดีหรือชั่วอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติถ้าเราประพฤติปฏิบัติดี ทำตัวดี ปฏิบัติดี ใครเขาว่าเราเลวขนาดไหนก็ตาม เราก็ไม่เลวไปตามเขา คนที่ว่าเราเลวน่ะเลวหนักยิ่งขึ้น เพราะอะไรรู้ไหม เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ไม่เป็นสุข ตายแล้วลงนรก ลงแน่ ทุกคนที่ได้มโนมยิทธิแล้วคงจะทราบ"
จาก รวมคำสอนธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑๒ หน้า ๒๒ โดยหลวงพ่อฤาษี วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี
มูลเหตุแห่งกฐิน เป็นต้น ถาม : กฐินมีมูลเหตุเท่าไร มีวัตถุเท่าไร มีภูมิเท่าไร ตอบ : กฐินมีมูลเหตุอย่างเดียว คือ สงฆ์ มีวัตถุ ๓ คือ ๑. ผ้าสังฆาฏิ ๒. ผ้าอุตตราสงค์ ๓. ผ้าอันตรวาสก มีภูมิ ๖ คือ
๑. ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ๒. ผ้าทำด้วยฝ้าย ๓. ผ้าทำด้วยไหม ๔. ผ้าทำด้วยขนสัตว์ ๕. ผ้าทำด้วยป่าน ๖. ผ้าทำด้วยสัมภาระเจือกัน
เบื้องต้นแห่งกฐิน ถาม : กฐินมีอะไรเป็นเบื้องต้น มีอะไรเป็นท่ามกลาง มีอะไรเป็นที่สุด ตอบ : กฐินมีบุพพกรณ์เป็นเบื้องต้น มีการกระทำเป็นท่ามกลาง มีการกราน เป็นที่สุด องค์ของภิกษุผู้กรานกฐิน [๔๐๙] ถาม : ภิกษุประกอบด้วยองค์เท่าไรไม่ควรกรานกฐิน ภิกษุประกอบ ด้วยองค์เท่าไรควรกรานกฐิน ตอบ : ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ ไม่ควรกรานกฐิน ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ ควรกรานกฐิน ถาม : ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน ไม่ควรกรานกฐิน ตอบ :
๑. ภิกษุไม่รู้บุพพกรณ์ ๒. ไม่รู้การถอนผ้า ๓. ไม่รู้การอธิษฐาน ๔. ไม่รู้การกราน ๕. ไม่รู้มาติกา ๖. ไม่รู้ปลิโพธ ๗. ไม่รู้การเดาะกฐิน ๘. ไม่รู้อานิสงส์
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ไม่ควรกรานกฐิน
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า :๕๗๙ } ถาม : ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน ควรกรานกฐิน ตอบ :
๑. ภิกษุรู้บุพพกรณ์ ๒. รู้การถอนผ้า ๓. รู้การอธิษฐาน ๔. รู้การกราน ๕. รู้มาติกา ๖. รู้ปลิโพธ ๗. รู้การเดาะกฐิน ๘. รู้อานิสงส์
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ควรกรานกฐิน การกรานกฐิน [๔๑๐] ถาม : ภิกษุพวกไหนกรานกฐินไม่ขึ้น ภิกษุพวกไหนกรานกฐินขึ้น ตอบ : ภิกษุ ๓ พวกกรานกฐินไม่ขึ้น ภิกษุ ๓ พวกกรานกฐินขึ้น ถาม : ภิกษุ ๓ พวกไหนกรานกฐินไม่ขึ้น ตอบ : ๑. ภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนา ๒. เมื่ออนุโมทนากลับไม่เปล่งวาจา ๓. เมื่อเปล่งวาจากลับไม่ยอมให้ผู้อื่นรู้ ภิกษุ ๓ พวกนี้กรานกฐินไม่ขึ้น ถาม : ภิกษุ ๓ พวกไหนกรานกฐินขึ้น ตอบ : ๑. ภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนา ๒. เมื่ออนุโมทนาก็เปล่งวาจา ๓. เมื่อเปล่งวาจาก็ให้ผู้อื่นรู้ ภิกษุ ๓ พวกนี้กรานกฐินขึ้น
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า :๕๘๐ }
ถาม : การกรานกฐินเท่าไรไม่ขึ้น การกรานกฐินเท่าไรขึ้น ตอบ : การกรานกฐิน ๓ อย่าง ไม่ขึ้น การกรานกฐิน ๓ อย่าง ขึ้น ถาม : การกรานกฐิน ๓ อย่างไหน ไม่ขึ้น ตอบ : ๑. ผ้าวิบัติโดยวัตถุ ๒. วิบัติโดยกาล ๓. วิบัติโดยการกระทำ การกรานกฐิน ๓ อย่างนี้ ไม่ขึ้น ถาม : การกรานกฐิน ๓ อย่างไหน ขึ้น ตอบ : ๑. ผ้าถึงพร้อมด้วยวัตถุ ๒. ผ้าถึงพร้อมด้วยกาล ๓. ผ้าถึงพร้อมด้วยการกระทำ การกรานกฐิน ๓ อย่างนี้ ขึ้น ๔. กฐินาทิชานิตัพพวิภาค ว่าด้วยการจำแนกข้อควรรู้มีกฐิน เป็นต้น [๔๑๒] พึงรู้กฐิน พึงรู้การกรานกฐิน พึงรู้เดือนที่กรานกฐิน พึงรู้วิบัติแห่งการ กรานกฐิน พึงรู้สมบัติแห่งการกรานกฐิน พึงรู้การทำนิมิต พึงรู้การพูดเลียบเคียง พึงรู้ผ้าที่ยืมเขามา พึงรู้ผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน พึงรู้ผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ ควรรู้กฐิน เป็นต้น คำว่า พึงรู้กฐิน นั้น คือ การรวบรวม การประชุม ชื่อ การตั้งชื่อ การเรียกชื่อ ภาษา พยัญชนะ การกล่าวธรรมเหล่านั้นแล รวมเรียกว่า กฐิน คำว่า พึงรู้เดือนที่กรานกฐิน นั้น คือ รู้จักเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า :๕๘๑ คำว่า พึงรู้วิบัติแห่งการกรานกฐิน ได้แก่ พึงรู้จักวิบัติแห่งการกรานกฐินด้วย อาการ ๒๔ อย่าง คำว่า พึงรู้สมบัติแห่งการกรานกฐิน ได้แก่ พึงรู้จักสมบัติแห่งการกรานกฐิน ด้วยอาการ ๑๗ อย่าง คำว่า พึงรู้การทำนิมิต คือ ทำนิมิตว่า เราจักกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้ คำว่า พึงรู้การพูดเลียบเคียง คือ ทำการพูดเลียบเคียงด้วยคิดว่า เราจักให้ ผ้ากฐินเกิดด้วยการพูดเลียบเคียงนี้ คำว่า พึงรู้ผ้าที่ยืมเขามา คือ รู้ผ้าที่ไม่ได้ยกให้ คำว่า พึงรู้ผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน คือ พึงรู้ผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ อย่าง คือ ๑. ทำค้างคืน ๒. เก็บไว้ค้างคืน คำว่า พึงรู้ผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ คือ เมื่อภิกษุกำลังตัดเย็บผ้าอยู่ อรุณขึ้นมา คำว่า พึงรู้การกรานกฐิน ความว่า ถ้าผ้ากฐินเกิดขึ้นแก่สงฆ์ สงฆ์ควรปฏิบัติ อย่างไร ภิกษุผู้กรานควรปฏิบัติอย่างไร ภิกษุผู้อนุโมทนาควรปฏิบัติอย่างไร อธิบายการกรานกฐิน [๔๑๓] สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินแก่ภิกษุผู้กรานกฐิน ด้วยญัตติทุติยกรรม ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น ควรซักขยี้ให้สะอาดแล้วกะ ตัด เย็บ ย้อม ทำกัปปะ พินทุ แล้วกรานกฐินในวันนั้นเลย ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าสังฆาฏิ ควรถอน ผ้าสังฆาฏิผืนเก่าเสีย ควรอธิษฐานผ้าสังฆาฏิผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าจะกราน กฐินด้วยผ้าสังฆาฏิผืนนี้ ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าอุตตราสงค์ ควรถอนผ้า อุตตราสงค์ผืนเก่าเสีย ควรอธิษฐานผ้าอุตตราสงค์ผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้า จะกรานกฐินด้วยผ้าอุตตราสงค์ผืนนี้ ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าอันตรวาสก ควรถอน ผ้าอันตรวาสกผืนเก่าเสีย ควรอธิษฐานผ้าอันตรวาสกผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าจะกรานกฐินด้วยผ้าอันตรวาสกผืนนี้
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า :๕๘๒ } ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การกรานกฐิน เป็นธรรม ขอท่านทั้งหลายอนุโมทนาเถิด ภิกษุผู้อนุโมทนาเหล่านั้น ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เรา ทั้งหลายอนุโมทนา ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การ กรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านทั้งหลายอนุโมทนาเถิด ภิกษุผู้อนุโมทนาเหล่านั้น ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เรา ทั้งหลายอนุโมทนา ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การ กรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านอนุโมทนาเถิด ภิกษุผู้อนุโมทนานั้น ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ ว่า ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าอนุโมทนา ๕. ปุคคลัสเสวกฐินัตถาร ว่าด้วยบุคคลกรานกฐินเท่านั้น [๔๑๔] ถาม : สงฆ์กรานกฐิน คณะกรานกฐิน บุคคลกรานกฐิน หรือ ตอบ : สงฆ์หาได้กรานกฐินไม่ คณะหาได้กรานกฐินไม่ แต่บุคคลกรานกฐิน หากสงฆ์หาได้กรานกฐินไม่ คณะหาได้กรานกฐินไม่ แต่บุคคลกรานกฐิน จึงชื่อว่า สงฆ์ไม่ได้กรานกฐิน คณะไม่ได้กรานกฐิน แต่บุคคลกรานกฐิน
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า :๕๘๓ }
หลวงปู่ดูลย์ตอบปัญหาจิตภาวนา
ลูกศิษย์ : ไอ้คำว่าจิตดูจิต หมายความว่า เอาสติดูจิต หรือเปล่า
หลวงปู่ : จิตก็คือผู้รู้ แล้วก็ตั้งสติให้อยู่ในนั้น ให้อยู่กับผู้รู้ สติระลึกอยู่ในนั้น คือจิตกับสตินั่นเอง ตั้งจิตในจิต คือให้เป็นอันเดียว ตั้งจิตอยู่ในจิต จิตกับผู้รู้เป็นของสิ่งเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างกันเลย การแตกต่างทั้งหลาย เกิดขึ้นจากเราคิดผิดทั้งนั้น และนำเราไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิดไม่มีหยุด เนื่องจากเราเข้าใจผิด แล้วก็ไปสร้างกรรมไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าจิตเห็นจิต แล้ว อะไรอะไร มันขาดหมด มันตัดขาดไปหมดแล้ว กิเลสตัณหาอะไรมันหมดแล้ว เวลานั้นมันหมด
ลูกศิษย์ : ผู้ที่จะตัดกิเลสตัณหาอุปทาน หมดคือพระอรหันต์นี่นะครับผม ดวงจิตดวงนั้นยังอยู่ใช่มั้ยครับผม
หลวงปู่ : ก็อยู่สิ ลูกศิษย์ : แต่ไม่มีปรุงแต่งอะไรทั้งนั้น หลวงปู่ : ไม่มีปรุงแต่ง ลูกศิษย์ : แม้แต่ละสังขารไปแล้วจิตของเรา
หลวงปู่ : นั่นเลย นั่นเลย สัจธรรม สัจธรรม ก็คือจิตของเรา สัจธรรม สัจธรรมของเรานั้นไม่ได้หายไปจากเรา แม้ในขณะที่เรากำลังหลงผิดอยู่ในอวิชชา และไม่ได้รับกลับมาในขณะที่เรามีการตรัสรู้ อันเดียวนี่แหละ อวิชชาคือตัวนี้ รู้ขึ้นในตัวนี้ รู้ อันเดียว
หลวงปู่ : จิตมันเป็นธรรมธาตุ ภูตตถตา ลูกศิษย์ : จิตเป็นธรรมธาตุอย่างหนึ่งหรือครับ หลวงปู่ : เป็นธรรมธาตุ ภูตตถตา คือมันมีอยู่อย่างนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น ไอ้สัจจะของเรา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ภูตตถตา
ลูกศิษย์ : ขออภัยครับ ไม่มีทั้งจิต ไม่มีทั้งอวิชชา หลวงปู่ : มีจิต ไม่ได้คิด…หยุดตัวคิดเท่านั้นเอง หมดก็หมดคิดใช่ไหม แต่จิตมันยังอยู่ มันไม่เปลี่ยนแปลงไปไหน ลูกศิษย์ : ครับผม
หลวงปู่ : อวิชชามันก็อยู่ในนั้น แต่จิตมันหลงผิดไปตามอวิชชา มันก็อยู่ในนั้น อยู่ในตัวนั้น ลูกศิษย์ : ครับผม มันยังอยู่อย่างนั้นเอง หลวงปู่ : มันอยู่อย่างนั้นเอง มันไม่เปลี่ยนแปลง
ลูกศิษย์ : ถูกอวิชชาครอบงำ
หลวงปู่ : ไปยึดเงา ไอ้สัจจะ ก็อยู่ในนั้น แต่ว่ามีปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้น จึงได้มีความตรัสรู้ ตัวนี้ ตัวรู้ ตรัสรู้ ตัวนี้เป็นผู้ตรัสรู้ อวิชชามันก็หมดไป
ลูกศิษย์ : กระผมเคยเขียนเรื่องหนึ่ง เรียกว่าจิตครับผม เรียกว่าจิตแท้ และก็จิตรับคือรับอารมณ์ต่างๆเข้ามา ทีนี้คือจิตรู้ จิตรู้พอรู้มากๆ ก็กลายเป็นจิตละ ครับผม เริ่มละไอ้กิเลสตัณหาออก ตอนนี้ก็เป็นจิตหลุดครับ
หลวงปู่ :คือละ เราละยังไง อันนี้ตัวเปรียบสำคัญที่สุดเลย ละไม่ต้นทาง มันก็ไม่ดับ
ลูกศิษย์ : ต้องละจนกว่าจะดับ หลวงปู่ : ต้องละต้นทางมันถึงจะดับ ต้องละต้นทางถึงจะดับ ตามสติปัญญาให้ได้รู้ได้เห็น เอานั้นมาแก้ เอานั้นมาแก้ ไม่ได้ความ ลูกศิษย์ : ครับผม หลวงปู่ : ไม่ดับ ลูกศิษย์ : ครับผม จิตยังส่งออกนอกอยู่ หลวงปู่ : จิตยังส่งออกนอก
ลูกศิษย์ : ที่เรียกว่า ต้องดูจิตข้างในเท่านั้นเอง หลวงปู่ : นั่นล่ะ เห็นจิต ดับหมดแล้ว ให้ตั้งจิตอยู่ในจิต อะไรๆมันขาดหมดแล้ว ดับด้วยปัญญาข้างนอก มันดับไม่สนิท
หลวงปู่ : ภาวะที่แท้ของจิต เป็นสิ่งก่อกำเนิดกรรมทั้งหลายเรียกว่าวิญญาณ เมื่อมีวิญญาณแล้ว ก็เริ่มมีที่แห่งความคิดนึก มีที่แห่งตัณหาเหตุผล ภาวะที่แท้ของจิต ก็คือ อรูป เป็นวิญญาณประเภทต่างๆ เมื่อวิญญาณรับรู้ อารมณ์ทั้งหกเกิดขึ้น ก็จะสำเหนียกรู้ในวัตถุทางอารมณ์ทั้งหกนั้นจากทวารทั้งหก ดังนั้น จิตของธาตุสิบแปดจึงเนื่องมาจากแรงกระตุ้นของภาวะที่แท้ของจิต ไม่ว่าบุคคลนั้นจะปฏิบัติผิดในทางชั่ว หรือปฏิบัติผิดในทางดี แล้วแต่ว่า ภาวะที่แท้ของจิตจะอยู่ในอารมณ์เช่นใด อยู่ในอารมณ์ดี หรืออยู่ในอารมณ์ชั่ว อารมณ์ชั่วก็เป็นลักษณะของสามัญชน อารมณ์ดีก็เป็นลักษณะของพุทธะ เพราะว่า ความรู้สึกที่เป็นของคู่ ประเภทตรงกันข้าม ฝังจิต อยู่ ในนิสัย แห่งภาวะที่แท้ของจิต นั่นเอง
ของคู่คืออะไร ดีชั่วสูงต่ำ อะไรบาป ดำขาวอะไร มีเป็นคู่ๆเท่านั้น เป็นคู่ๆกัน เ ป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด ถ้าแยกคู่นี้ได้แล้วเท่านั้น ตัวนั้นเป็นตัวว่าง
ลูกศิษย์ : ครับ ไม่ซ้ายไม่ขวา หลวงปู่ :ไม่ซ้ายไม่ขวา
ลูกศิษย์ : อยู่ตรงกลาง ไม่มีทั้งบุญทั้งบาป หลวงปู่ : อยู่เหนือบุญเหนือบาป
ลูกศิษย์ : เหนือบุญเหนือบาป หลวงปู่ : เหนือสมมุติเหนือบัญญัติ เหนือ อนิจจัง ทุกขังอนัตตาอีก เหนือเหตุเหนือผล สมมุติบัญญัติ ทุกขังอนิจจังอนัตตา เหตุผล อะไรไม่มีอยู่ในนี้หรอก ไอ้สิ่งเหล่านี้ มันอยู่เหนือเหตุเหนือผล ทั้งหมด เรียกว่าโลกุตระ อยู่เหนือโลก อยู่เหนือโลกทั้งสาม กามภพ รูปภพ อรูปภพ มันอยู่เหนือหมด ..ไอ้ที่ว่างนะ
ลูกศิษย์ : เหนือเหตุเหนือผลทั้งหมด
หลวงปู่ : เหนือเหตุเหนือผลทั้งหมด ถ้ามันมีเหตุผล มันยังเป็นโลก ทั้งหมด
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
"...ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ เรียกว่าตรัสรู้ในที่สุด นั้นคือ ปรมัตถธรรม ธรรมที่อยู่เหนือโลก พระองค์ทรง บรรลุผล จากการปฏิบัติทางจิต จนสามารถขจัดมลทิน ในจิต ที่เรียกว่ากิเลสได้หมด ถึงซึ่งวิมุตติสุข ปราศจาก การแปรเปลี่ยนต่อไป ท่านทรงสอนธรรมตามระดับของ บุคคล บุคคลใดเมื่อพูดถึงเรื่องจิตใจที่ลึกซึ้งไม่รู้เรื่อง ท่านทรงสอนแต่ #ประโยชน์ชาตินี้ ต่อจากนั้นจะให้ขวน ขวาย #ประโยชน์ชาติหน้า เมื่อตายแล้วจะได้มีที่พึ่ง มิใช่ว่าตายแล้วก็แล้วกันไป ส่วนผู้ใดมีปัญญายิ่งกว่านั้น ท่านทรงแนะ #ประโยชน์อย่างยิ่ง โดยทรงสอนให้ ดำเนินตามทางอริยมรรค จากนั้นชีวิตจะพบอมตสุข มีจิตใจแจ่มใส ไร้กังวลเรื่องทุกข์ตลอดกาล..."
#ที่มา หนังสือ พรไตรรัตน์ หน้า ๑๐๙ พระพุทธิสารเถร (หลวงปู่บุญกู้ อนุวฑฺฒโน)
|