"มองตัวเอง มองตัวเอง มองตัวเอง มองตัวเองให้มาก จึงจะกลายเป็นคนดีได้ มัวแต่มองผู้อื่นแล้วไซร้ ก็กลายเป็นคนพาลไปไม่รู้ตัว เพราะนิสัยคนพาล ย่อมเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวัตร"
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
"กรรม แปลว่า การกระทำ จะร้ายจะดี จะสุขหรือทุกข์ ย่อมเกิดมาแต่กรรม
ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ข้อสำคัญควรนึกถึง นรกในปัจจุบัน ที่เรียกว่า นรกในใจให้มาก อย่าให้บาปเกิดขึ้นในใจ ให้รักษาใจให้บริสุทธิ์ อย่าให้เศร้าหมอง
ถ้าใจเศร้าหมอง ด้วยบาปอกุศล ก็มีทุคติ คือ อบายเป็นที่ไป บังเกิดเที่ยงแท้แน่นอน ไม่ต้องสงสัย"
ครูบาเจ้าพรหมมา พรหมจักโก
“สิ่งใดเป็นไปเพื่อทุกข์ เป็นไปเพื่อโทษ ก็รีบชำระสะสางให้หมดสิ้นไปจากดวงใจของเรา ให้พึงเข้าใจในสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ มิใช่ว่า เราไม่รู้
คือ ให้รู้ภายในจิตใจของตน อย่าส่งรู้ออกภายนอกจิตใจของตน ให้พากันดู ให้พากันฟัง สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีอยู่ในตัวเราทุกคนครบบริบูรณ์ ขณะนี้เราอยู่ในสมถกรรมฐาน คือ...ความสงบ วางอารมณ์ภายนอกทั้งหมดได้ ไม่กำหนัดรักใคร่ยินดี ใจ ไม่หงุดหงิด ไม่ซึมเซา ไม่ท้อแท้ และไม่งมงาย
เราอยู่ในวิปัสสนากรรมฐาน ก็ตัดหมด ตัดภพ ตัดชาติทั้งหลาย อารมณ์สัญญาที่เป็นไปตามกระแสโลกตัดหมด... ไม่มีเหลือ เป็นเรื่องสมมตินิยมกันเท่านั้น จิต ของเรา เป็นวิมุติ หลุดพ้นไปหมด เรื่องภพ เรื่องชาติ เรื่องทุกข์ เรื่องภัย
ไม่มีอีกแล้ว... นี้แหละเป็นข้อปฏิบัติ.”
อาจาโรวาท หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร (พ.ศ.๒๔๔๒ - ๒๕๒๐)
"พรหมจรรย์เบื้องต้น ของพระพุทธศาสนา คือพระโสดาบัน
๑.ไม่เสียดายอยากถือศาสดาอื่น นอกจากพระพุทธเจ้า และพระธรรมคำสอนของ องค์ท่าน และอริยสาวกขององค์ท่าน อริยสาวก ขององค์ท่าน เบื้องต้นนั้น... ไม่นิยมว่าภิกษุสามเณร และชั้นวรรณะใด ๆ
๒.ไม่เสียดาย อยากล่วงละเมิดศีล ๕
๓.ไม่เสียดาย อยากล่วงอบายมุขทุกประเภท
๔.ไม่เสียดาย อยากจะถือฤกษ์ดี ยามดีพร้อมทั้งไสยศาสตร์ต่าง ๆ เช่น อยู่ยงคงกระพัน เป็นต้น
๕.ไม่เสียดาย อยากค้าขายเครื่องประหาร ค้าขายมนุษย์ ค้าขายสัตว์เป็น และเนื้อสัตว์ที่ตัว ฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ค้าขายน้ำเมา ค้าขายยาพิษ การค้าขาย ๕ อย่างนี้ ไม่เสียดายอยากค้าขายเลย
๖.ไม่เสียดาย อยากจะผูกเวรกับท่านผู้ใด โกรธอยู่แต่ไม่ถึงกับผูกเวร แปลว่า โกรธแบบเบา ถ้าหากว่า มีผู้มาทำให้ผิดใจ จนถึงร้องไห้หรือน้ำตาออกก็ตกลงในใจว่า ถ้าเคยทำเขาแต่ชาติก่อน ผลของกรรมตามมาก็ให้แล้วก้นไปซะ ข้าพเจ้าจะไม่จองเวรเลย ถ้าเขามาก่อใหม่ในชาตินี้ ก็ให้แล้วกันไปซะ จะไม่จองเวรใด ๆ ดังนี้เป็นต้น
เมื่อตกลงใจขนาดนี้ ดังกล่าวมาแล้วแต่ต้น ก็ปิดประตูนรกแล้ว เพราะไม่มีนรกอยู่ในที่ใจ ปิดประตูเปรตอีกด้วย ปิดประตูสัตว์ดิรัจฉานอีกด้วย ก็มีคติเป็น ๒ ในอนาคต คือไม่มนุษย์ ก็สวรรค์เท่านั้น
ซ้ำเข้าไปอีกว่า สิ่งใดไม่เสียดายอยากล่วงละเมิด สิ่งนั้น... ก็ไม่ลำบากหัวใจเลย นี่คือพรหมจรรย์เบื้องต้น ของพระพุทธศาสนา คือพระโสดาบันเราดี ๆ นี้เอง ไม่นิยมชั้นวรรณะ และเพศวัยใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่า เปิดประตูใจถึงพระโสดาบันแล้ว เรียกว่า ดวงตาปัญญาเห็นธรรม เป็นทุนแล้ว เรียกว่า โลกุตตระทุน เป็นทรัพย์ภายใน
ทรัพย์ภายนอก หากดึงดูดไปเอง และก็เปิดประตูสกทาคามีไปเองในตัวด้วย จะเร็วหรือช้าก็ไม่ถอยหลังด้วยดังกล่าวแล้วนั้น." __________________________________________ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต.
"...ถ้าใจสุขแล้วอยู่สถานที่ใดไม่มีทุกข์ ใจทุกข์แล้วอยู่ สถานที่ใดไม่มีสุข ใจร้อนแล้วจะไปอยู่ในห้องแอร์หรือ แช่น้ำแข็งมันก็ไม่มีวันเย็น ใจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่พวก เราท่านไม่ควรมองข้าม ควรละ ควรถอน ควรพินิจ พิจารณาให้เข้าถึงสาระจริงจัง ถ้าเข้าถึงสาระของอรรถ ธรรม สิ่งต่างๆ ที่เราเคยติดข้อง ยึดถือ จะเบาบางปล่อย วางไปตามเรื่องใจที่เห็นธรรม ถ้าใจไม่เห็นธรรม มืดดำ เรื่อยไป นับวันที่จะนำความทุกข์มาให้เพราะใจหลง หลงเท่าไรก็ยิ่งลำบากเท่านั้น การที่จะหายจากความ หลงของใจได้ก็คือ การพินิจพิจารณาธรรมะของพระ พุทธเจ้า เช่น ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวโลกทั่วไปติดข้อง ยึดถือว่าดีชั่ว ต่างๆ เพราะหลงคือ สัญญาไปหมาย ถ้าหากสัญญา ไม่ไปหมาย ค้นคิดพิจารณาเรื่องอรรถธรรมจริงจัง สิ่งเหล่านั้นมันไม่มีความหมายอะไร ตาหน้าที่ของมัน เห็นรูปก็เห็นไป สักแต่ว่าเห็น หูหน้าที่ของมันฟังเสียง มันก็ฟังไป แต่สักแต่ว่าฟัง ไม่ได้ถือ ไม่ได้ยึดในสิ่ง นั้นๆ..."
#ที่มา หนังสือ ประวัติและพระธรรมเทศนา หน้า๘๘-๘๙ หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร
เราควบคุมปากคนอื่นไม่ได้ จะพูดดีก็ได้ จะพูดร้ายก็ได้ แต่สิ่งที่ห้ามได้ คือ “ใจของเรา” ไม่ให้ไปหลงยินดี ไปเสียใจกับคำพูดของเขา
คำสอน พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในวงของผู้ปฏิบัติธรรม หลวงปู่ท่านได้ให้โอวาทเตือนผู้ปฏิบัติไว้ว่า “การมาอยู่ด้วยกัน ปฏิบัติด้วยกันมากเข้า ย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่ ทิฏฐิความเห็นย่อมต่างกัน ขอให้เอาแต่ส่วนดีมาสนับสนุนกัน อย่าเอาเลว มาอวดกัน การปรามาสพระก็ดี การพูดจาจาบจ้วงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือท่านที่มีศีลมีธรรมก็ดี จะเป็นกรรมติดตัวเราและขัดขวางการปฏิบัติธรรมในภายหน้า ดังนั้นหากเห็นใครทำความดี ก็ควรอนุโมทนายินดีด้วย แม้ต่างวัดต่างสำนักหรือแบบปฏิบัติต่างกันก็ตาม”
ไม่มีใครผิดหรอก เพราะจุดมุ่งหมายต่างก็เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เช่นกัน เพียงแต่เราจะทำให้ดี ดียิ่ง ดีที่สุด ขอให้ถามตัวเราเองเสียก่อนว่า.... แล้วเราล่ะถึงที่สุดแล้วหรือยัง
หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปญฺโญ
ชีวิตเหมือนโรงละคร ปวงนิกรเราท่านเกิดมาต่างร่ายรำ ทำทีท่าตามลีลาของบทละคร บางครั้งก็เศร้า บางคราวก็สุข บางทีก็ทุกข์หัวอกสะท้อน มีร้างมีรัก มีจากมีจร จบบทละคร ชีวิตก็ต้องลา ก็เปลี่ยนฉาก
วันนี้ก็ไปแสดงธรรมงานศพมา เปลี่ยนฉากชีวิต อายุ ๕๑ ปี เป็นมะเร็ง มีลูก ๒ คน เขาก็ลูกชายมานิมนต์ ก็ไม่เคยมาบวชมาปฏิบัติอะไร แต่ว่าแม่เขาปรารภไว้ว่า ถ้าเขาหาย เขาจะมาบวชที่วัดมเหยงคณ์ เรียกว่าคนตายปรารภถึงวัดมเหยงคณ์อยู่ พอดีจังหวะอาตมาพอปลีกเวลาไปได้
ก็เปลี่ยนฉากชีวิตไปเท่านั้นแหละ จากชีวิตเป็นคน คนชื่อนี้ มีลูก มีสามีมีภรรยา มีพ่อมีแม่ แล้วก็จากไป แล้วก็ไปเกิด ก็ไปเป็นคนชื่อใหม่ มีครอบครัวใหม่ มีลูกใหม่ มีชื่อใหม่ เปลี่ยนการแสดงไปใหม่
ฉะนั้นเราอย่าไปยึดถืออะไรนักหนา เป็นของชั่วคราว เกิดมาก็เป็นของชั่วคราว มาเหมือนกับเขาให้แสดงฉากนี้บทนี้ จบบทละครก็ต้องลากันไป ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างไป เรามาเจอะคนหลายหลาก แล้วก็จากลากันไป
ถึงเวลาจะไป ก็ไม่มีใครเขาไปด้วยกับเราหรอก ต่างคนต่างมา แล้วก็ต่างคนต่างไป ไปตามที่ไหน? ไปตามกรรมที่ทำไว้ ถ้าเกิดว่าจะตาย บุญส่งผล กรรมดีส่งผล ก็ไปดี ถ้าตอนจะตาย บาปส่งผล จิตเศร้าหมอง ก็ไปอบาย
ตอนจะตาย จะรู้ว่าตอนนั้นแหละไม่มีใครช่วยเราได้จริง ๆ เราลองไปดูคนป่วยหนัก เขาจะต้องทุกข์อยู่คนเดียว เจ็บอยู่คนเดียว ยิ่งขยับตัวไม่ได้ อยู่กับกองทุกข์อยู่อย่างนั้นแหละ ใครจะช่วยอย่างไร ๆ เขาก็ปวดเจ็บอยู่อย่างนั้น จะเป็นจะตายอยู่อย่างนั้น
ตอนนั้นก็จะต้องมีตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นมาช่วยไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะว่าตายแล้วจะไปไหน ไปดีไม่ดี ไม่มีใครช่วยแล้ว ตนต้องเป็นที่พึ่งของตน
ทีนี้ว่ามีตนเป็นที่พึ่งของตนหรือยัง พึ่งตนเองได้ไหม ถ้าตนก็เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ แล้วจะพึ่งใครตอนนั้น จะพึ่งลูกพึ่งหลาน สามีภรรยา พึ่งหมอ ก็สุดวิสัย โดยเฉพาะว่ามันจะตาย ตายแล้วจะไปอย่างไร ใครจะช่วยเราได้
ฉะนั้นถ้าหากบุคคลที่มีตนเป็นเกราะเป็นที่พึ่ง เขาก็จะพึ่งตัวเขาได้ เขาจะไม่หวั่นไหว เวลาจะตาย ถ้าให้ดีที่สุดก็คือเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็น ที่ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่า พวกเธอจงมีตนเป็นเกราะเป็นที่พึ่งเถิด มีธรรมเป็นเกราะเป็นที่พึ่ง ก็คือมีสติปัฏฐาน ๔ ไว้ เจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็น จะเป็นจะตายก็มีที่พึ่ง ............................. ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
"เจ้ากรรมนายเวรมีจริงหรือไม่ เจ้ากรรมนายเวร ก็หมายถึงบุคคลกระทำกรรมนั้นๆ ไว้แล้ว มอบให้เจ้ากรรมนายเวรนั้น เป็นผู้รักษา และประสิทธิ์ประสานให้แก่ผู้กระทำ หรือผู้เป็นกรรมเป็นเวรต่อกันอีกทีหนึ่ง จึงจะเรียกว่าเจ้ากรรมนายเวร
กรรมเวรมันเกิดที่ใจ ของบุคคล บุคคลมีเจตนาไปยึดเอามาปรุงแต่งขึ้นที่กาย วาจา และใจนี้ กรรมเวรจึงค่อยมี คนอื่นนอกจากตัวของเราแล้ว จะไปรู้ได้อย่างไร เราควบคุมใจของตนไว้แต่เบื้องต้น จนไปทำชั่ว แล้วยังจะส่งกรรมเวรนั้น ไปให้คนอื่นรักษาให้ ใครจะยอมรับเล่า
กรรมดีค่อยยังชั่วหน่อย ยังพอจะรับได้บ้าง แต่กรรมชั่วนี่สิ ใครๆ ก็เกลียดจะยอมรับ ไม่ได้
กรรมเวรเกิดขึ้นจากจิต เป็นนามธรรม เมื่อจิตไปสวมเอารูปกาย ซึ่งเป็นวิบากกรรมเป็นตัวตน กรรมจะต้องตามมาใช้กรรมนั้นอีก จิต ผู้สร้างกรรมนั้น ย่อมจะรับผลกรรมนั้นยิ่งทวีคูณ เมื่อกายแตกดับแล้ว จิตจะต้องเป็นผู้รับผลกรรมนั้นแต่ผู้เดียว และยังจะต้องได้รับต่อไปอีกหลายภพหลายชาติอีกด้วย
กรรม และเวร มีลักษณะต่างกัน และให้ผลก็ต่างกัน กรรม ทางพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ ๒ อย่าง กรรมดี หรือบุญ ก็เรียกเป็นกุศลกรรม กรรมชั่ว หรือบาป ก็เรียกเป็นอกุศลกรรม
ส่วนเวรนั้น... เกิดจากเจตนาอันชั่วร้ายเลวทราม ทำกรรมแล้ว จนเป็นเหตุให้ผูกเวรซึ่งกันและกัน กรรมนั้น... มีผลสนองในชาตินี้ คือทำใจให้เศร้าหมองเดือดร้อน คิดแต่จะทำร้ายให้เขาได้รับโทษทุกข์ฝ่ายเดียว เมื่อกายแตกทำลายไปตามสภาพของมันแล้ว ยังเหลือแต่จิต กรรมนั้น... ย่อมติดพันต่อไป เพราะ จิตเป็นผู้สร้างกรรมไว้
เมื่อจิต จิตไปเกิดในภพนั้นๆ หรือคตินั้นๆ กรรมย่อมตามไปสนองอย่างนี้อีก ตลอดเวลายาวนาน จนกว่าจิตนั้น... จะบริสุทธิ์พ้นจากกิเลส จึงสิ้นสุดลงได้
ส่วนเวร... ก็คือ การกระทำกรรมนั่นแหละ แต่กระทำลงไปด้วยเจตนาอันแรงกล้าเฉพาะบุคคล จนผูกอาฆาตมาดร้ายจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกัน กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันแรงกล้ามาก จนกลายเป็นเวร แต่แก้ได้ง่ายกว่ากรรม
เมื่อบุคคลทั้งสอง ต่างก็เห็นโทษซึ่งตนกระทำ ลงไปแล้วในชาติที่เป็นมนุษย์อยู่นี่แหละ เมื่อเผชิญหน้ากันเข้าแล้ว ก็เปิดเผยโทษที่ตนกระทำนั้นให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ แล้วขออโหสิกรรมกันเสีย เวรนั้น...ย่อมระงับ ได้ด้วยประการฉะนี้
แรงของเวรนี้มันร้ายกาจเหลือหลาย หากว่า...คู่เวรทั้งสองมาเห็นโทษของมันแล้ว หันหน้าเข้าหากัน ต่างก็ให้อโหสิกรรมแก่กัน และกัน เวรนั้น...ย่อม สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น
สรุป พึงเข้าใจว่า... กรรม-เวร มิใช่ของมันเกิดเอง เกิดจากจิตของบุคคลผู้คิดพยาบาทอาฆาต จองล้างจองผลาญ ซึ่งกันและกัน กรรม-เวร มิใช่เป็นวัตถุ มันเป็นนามธรรมจะรู้สึกได้ด้วยใจของตนเอง." ___________________________________________ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย.
"จวนวาระสุดท้าย... ก็มีผู้มาทูลถามว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว นานประมาณเท่าไร พระอรหันต์จะสูญสิ้นจากโลก มรรคผล-นิพพาน จะยังมีอยู่ในโลกนานประมาณ เท่าไหร่
พระพุทธเจ้าตรัสว่า... ก็หลักพระธรรมวินัย ตถาคตมิได้แสดงให้ผิดจากเหตุผล อันเป็นฐานที่เกิดขึ้นแห่งมรรคผล-นิพพาน พอผู้ปฏิบัติตามจะผิดหวัง ในกาลที่ล่วงไปแล้วแห่งเรา แต่เราแสดงเพื่อมรรคผล-นิพพาน ทั้งนั้น เหตุใด จึงต้องมาถามอย่างนั้น
ผู้ใดมีความสนใจใคร่ต่อการปฏิบัติธรรม ที่เราแสดงไว้ชอบแล้ว ผู้นั้น... จะได้รับความเป็นธรรมอยู่ตลอดกาล ทั้งที่ตถาคตยังมีชีวิตอยู่ และตถาคตนิพพานไปแล้ว เพราะสวากขาตธรรมไม่นิยมกาล สถานที่ บุคคล แต่เป็นอกาลิโก อยู่...ตลอดกาล
ถ้ายังมีผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม อยู่...ตราบใด พระอรหันต์ จะไม่สูญสิ้นจากโลกอยู่ตราบนั้น ฉะนั้น จึงไม่ควรสงสัย ในสิ่งที่ไม่น่าสงสัย แต่ควรสงสัยในตัวเอง ว่าเวลานี้เรา มีความขยันหมั่นเพียรตามหลัก ธรรมของพระพุทธเจ้าสอน หรือไม่เท่านั้น เป็นสิ่งที่ควรสนใจ ในตัวเอง
ถ้าเป็นผู้เกียจคร้าน หมดศรัทธา ต่อพระสัทธรรม แม้ตถาคต จะยังมีชีวิตอยู่... ผู้นั้น...ก็คือโมฆบุรุษ โมฆสตรี ผู้เปล่าจากประโยชน์ อยู่...นั่นเอง ถึงแม้ว่า... เขาจะจับชายสบง จีวรตถาคตอยู่ ก็หาได้ชื่อว่า...ไปตามตถาคตไม่
แต่ผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม นั่นแล ชื่อว่า ผู้ไปตามเราตถาคต ชื่อว่า ผู้บูชาตถาคต บูชาพระธรรม และ พระสงฆ์ อยู่...ทุกระยะกาล
นี่เป็นพระโอวาท ที่ตรัสกับผู้มาทูลถามจวนวาระสุดท้าย ซึ่งเป็น พระโอวาท ที่ประทับใจของผู้มุ่งต่อธรรมอย่าง ยิ่ง จะได้พยายามบำเพ็ญตนโดยความสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับสมัย ที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และคอยตักเตือน อยู่...ตลอดเวลา โดยธรรมที่ประทานไว้แล้ว
เช่นผู้ปฏิบัติถูก หรือผิด ก็แสดงถึงผลว่า ต้องเป็นความสุข หรือความทุกข์ อยู่...เช่นเคย ไม่มี การเปลี่ยนแปลง พระธรรมที่ประทานไว้ เป็นความคงที่ต่อเหตุผล สมกับธรรมที่ตรัสไว้ ชอบแล้ว
และเป็นธรรมคงเส้นคงวา สำหรับผู้ปฏิบัติตาม ไม่เป็นอย่างอื่น." ___________________________________________ องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน.
สิ่งที่ทำให้เราทุกข์ได้มากที่สุด คือการไปหลงรักและหลงชัง “สติ” คือยาแก้ความหลงขนานเอก มีสติในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน มีสติเพียงอย่างเดียว
❝ มีครบ ศีล สมาธิ ปัญญา ❞
-หลวงตาสินทรัพย์ จรณธัมโม-
#บุญบาปเห็นได้ด้วยตา
..." คำว่า' บุญ ' ก็คือ ความสมบูรณ์นั่นเอง กายของเราก็สมบูรณ์ ใจของเราก็สมบูรณ์ มีความสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกอย่าง ไม่วิปริตไม่บกพร่อง นั่นล่ะคือบุญ
... เราจะเห็นเวลาเราไปเยี่ยมคนพิการ เด็กพิการ คำว่าพิการคือไม่สมบูรณ์ ทำไมเขาเป็นอย่างนั้น เขาปราถนาเหรอ เขาต้องการเหรอ พ่อแม่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้นเหรอ ไม่ แม้จะไม่ปราถนาไม่ต้องการให้ลูกหลานเป็นอย่างนั้น ก็เขาทำมาอย่างนั้น เขาก็ต้องเป็นอย่างนั้น นั่นคือสร้างความไม่สมบูรณ์ สร้างความบกพร่องมา หรือทำบาปมาก็ไม่ผิด
... เราสมบูรณ์ กายก็สมบูรณ์ ใจเราก็สมบูรณ์ มีสติปัญญา มีความเข้มแข็ง สติปัญญา สมอง ล้วนแต่เป็นบุญทั้งนั้น บุญๆ ไม่ใช่สิ่งที่ตามองไม่เห็น , บาป ๆ ก็เป็นสิ่งที่ตาเห็น
... คนทำบุญก็ตาเห็น คนทำบาปก็ตาเห็น ผลของบุญก็ตาเห็น ผลของบาปก็ตาเห็น บุญและบาป ไม่ใช่ของลี้ลับอะไร ถ้าคนรู้จักบุญ รู้จักบาป ก็สามารถเห็นบุญเห็นบาปได้ตลอดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเครื่องหมายของบาป บุญ ทั้งนั้น
... ใครมีบุญวาสนาบารมีแค่ไหนเพียงไร มันแสดงออก มันบอกหมด คนไหนมีความบกพร่อง คนไหนมีบาปลักษณะไหน บาปก็แสดงออกในบุคคลนั้น ไม่ใช่บาปเป็นของลี้ลับมองไม่เห็น "
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร ) วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
|