ผู้มีปัญญาพอประมาณ เตรียมเสบียงสำหรับภพชาติหน้าด้วยการทำทานการกุศล เพื่อได้ชีวิตใหม่ในภพชาติข้างหน้าอย่างไม่ขาดแคลน บางคนก็ทำบุญทำกุศลปรารถนาสวรรค์ บางคนก็ปรารถนาความมั่งมีในภพภูมิของมนุษย์ ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่ถูก เป็นการเชื่อกรรม ว่ากรรมดีจักให้ผลดี จึงเมื่อหวังผลดีก็ทำกรรมดี
ผู้มีปัญญามาก เล็งรู้ว่าความไม่เที่ยงมีอยู่ แม้เกิดดีในภพใหม่ ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้าสมปรารถนา แต่ด้วยความไม่เที่ยงก็ย่อมสามารถพ้นจากฐานะนั้นมาได้ รับผลของกรรมเป็นความทุกข์ยากในภพภูมิอื่นได้ ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงไม่มุ่งปรารถนาความเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม สูงส่งเป็นสุขเพียงใดก็ตาม เพราะมีปัญญาทำให้รู้ว่าความสุขนั้นไม่ยั่งยืน และทำให้รู้ด้วยว่าแม้ปรารถนาความไม่ต้องพ้นจากความสุขไปสู่ความทุกข์ ก็ต้องปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์คือละจากกิเลสให้ไกลจริงเท่านั้น
พระนิพนธ์ แสงส่องใจให้เพียงพรหม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
"..เราควรดัดมือดัดแขนให้รู้จักไหว้กราบพระ ดัดเท้าให้รู้จักเดินไปวัด ดัดหูให้รู้จักฟังธรรม ฟังคำที่เป็นคุณประโยชน์ ดัดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราให้สิ่งที่ไหลเข้าไปล้วนแต่เป็นบุญเป็นกุศล จมูกก็อย่าหายใจเปล่า ให้หายใจเอา พุทโธ เข้าออกเหมือนกับน้ำที่ไหลเข้าไปในร่างกาย ใจของเราก็จะเย็นสบายเป็นสุข ปากก็หมั่นสวดมนต์ภาวนา อย่าด่าแช่งเสียดสีหรือพูดเท็จต่อใคร กล่าวแต่สิ่งที่เป็นธรรมและไม่ดื่มเหล้า เมายาให้เก็บแต่บุญเอาตามตัวของเรา มีมือ เท้า แขน ขา ตา หู จมูก ลิ้น เหล่านี้เป็นต้น.."
พระวิสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์(ท่านพ่อลี ธมฺธโร) วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
ความสุขอันลึกซึ้งซึ่งเกิดจากการปฏิบัติธรรมไม่ได้เกิดง่ายๆ หลวงพ่อชาจึงพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาอยู่เสมอว่าขันติความอดทนนั่นแหละ คือเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง วันหนึ่งท่านอบรมพระภิกษุสามเณรว่า “บางคนต้องการมาปฏิบัติเอาความสุขเฉยๆ สุขมันจะมาจากไหนก่อน อะไรเป็นเหตุมัน? ความสุขทั้งหลายนะ มันต้องมีทุกข์มาก่อนมันจึงจะมีสุข เราทำทุกสิ่งทำงานก่อนจึงจะได้เงินมาซื้อกินมิใช่หรือ ทำนาก่อนจึงจะได้กินข้าว มันต้องผ่านความทุกข์มาก่อนทุกอย่างนั่นแหละ”
พระอาจารย์ชยสาโร
"..ภาวนา พุทโธ คือความรู้แจ้ง รู้เบิกบานตลอด รู้ถึงที่สุด รู้เหนือกว่าจิตของเราอีก รู้เรื่องของจิตทุกอย่าง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้อบรม คือการภาวนา เอาพุทโธนั้นไปบริกรรมให้มันรู้จิต ให้มันรู้เหนือกว่าจิต ให้เห็นแต่จิตนี้ จะคิดดีก็ตามคิดชั่วก็ตาม จนกว่าผู้รู้นั้นว่าจิตนี้สักแต่ว่าจิตเท่านั้น ไม่ใช่บุคคลตัวตนเราเขา.."
"..ตื่นอยู่ทุกกาลเวลา คือ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้แจ้ง ผู้สว่าง ตัวนี้ไม่ได้นอน มันเป็นของมันอยู่.."
- หลวงปู่ชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี จากหนังสือ กตัญญุตา ๑๐๐ ปี พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) หน้า ๒๒๔ - ๒๒๙
"..ธรรมเป็นเครื่องปกครองทรัพย์สมบัติ และปกครองใจ ถ้าใจมีธรรมมากหรือน้อย มีทรัพย์สมบัติมากหรือน้อย ย่อมมีความสุขพอประมาณถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว ลำพังความอยากของใจที่พยายามหาทรัพย์ให้ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอ เพราะนั้นเป็นเพียงเครื่องอาศัยของกายและใจ ถ้าใจไม่ฉลาดด้วยธรรมเพียงอย่างเดียว จะไปอยู่ในโลกใด และมีกองสมบัติเท่าใด ก็เป็นเพียงโลกเศษเดน และกองสมบัติเศษเดนเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใจเลยสักนิดเดียว ความสมบุกสมบัน การได้รับทุกข์ทรมาน ความอดความทน และความทนทานต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่าง ๆ ไม่มีอะไรแข็งแกร่งเท่าใจ ใจถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง ใจจะกลายเป็นของประเสริฐขึ้นมา ให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจ และอิ่มพอต่อเรื่องทั้งหลายทันที.."
โอวาทธรรมพระครูวินัยธร(หลวงปู่มั่นมั่น ภูริทตฺโต)วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร(พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)จากหนังสือ :ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
“ตัวเราคนเดียว ที่เทียวรักเทียวชัง รัก ชัง ทุกข์โทษกับโลก หากตัวเองไม่แก้ไข ใครจะมาแก้ให้
เราไม่แก้เอง เราไม่โทษตัวเรา เราไม่ละความชั่วในตัว เราไม่ทำความดี แล้วตนของตน จะได้อะไร
อย่าไปหาโทษในท่านผู้อื่น ดูตนของตนให้มาก อย่าอยูเฉยๆ ให้รู้จักพิจารณาบ้าง เกิดมาแล้วนี้ อะไรบ้างจะเป็นคุณค่าแก่ตนของตน”
หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ
"บุคคลที่ทนในสิ่งที่คนอื่นทนได้ยาก ทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้ยาก บุคคลนั้นจะเข้าถึงความสำเร็จของชีวิต ความอดทน ความขมขื่น จะเกิดขึ้นในเบื้องต้น ของการทำความดี แต่จะได้รับความชื่นชม ในบั้นปลาย"
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
#ความจริงเป็นธรรมเอกหนึ่งไม่มีสอง
คือต้องเป็นอย่างงั้น เราต้องเรียนรู้ในการยอมรับตามความจริง ความจริงเกิดแบบไหน ใจต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือต้องเรียนรู้ในการยอมรับ เมื่อไหร่ที่มันขัดแย้งอยู่แสดงว่าใจยังไม่ยอมรับ เราต้องมาดูใจเราที่มันขัดแย้งกับความจริงนั่นเอง เมื่อเราเห็นว่าใจเรายังทุกข์อยู่ มันก็ยังไม่พ้น
แต่เมื่อไหร่ที่ใจกับความจริงตรงกันแล้ว ไม่ค้าน ดีก็ไม่ค้าน ชั่วก็ไม่ค้าน ไม่ค้านเลยรู้เอง บังคับให้กันเห็นก็ไม่ได้ เรียกว่าเห็นความจริง เมื่อใจดวงนั่นไม่ค้านกับความจริงแล้ว รู้เองเลยว่าทุกข์มีหรือไม่มี รู้เองเลย
#คนที่จะพ้นได้คือต้องเห็นทุกข์นั่นเอง คือเห็นใจที่มันค้านความจริงนั่นเอง เราถึงบอกว่าถ้าคนจับใจที่มันทุกข์ได้นะ ดูให้ดีเลยนั่นแหละเงื่อน
ปฏิบัติถ้าเริ่มจากตรงนี้นะ เราชกถูกคู่ต่อสู้ สิ่งนี้ทำให้เราปฏิบัติธรรมได้เห็นผลเร็ว เราไม่ได้ทำตามใคร เขาพาทำเราก็ทำตาม ไม่ได้ทำอย่างงั้น เราแค่ ท่านสอนอะไรพูดมาเลย ท่านสอนทางออกจากทุกข์ ทุกข์เป็นยังไงว่ามาเลย
อะไรก็ตามที่เปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ก็ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงนี่ แล้วใจเราล่ะ โอ้ใจเรามันติดอยู่ เพราะมันเชื่อในตัวเองว่าความคิดของเราดี จนเราสำคัญว่าเราดีกว่าคนอื่น อ๋อ พอเห็นใครเขาไม่ดี ทำไมเขาไม่ดี ก็เราไม่เข้าใจความจริงว่าเขาเป็นของเขา เพราะเราอยากจะให้เขาเป็นเหมือนเรา เพราะมันไม่เห็นความจริง เพราะอัตตา เพราะความติดอยู่ในความเชื่อของตนเอง
อ๋อตัวเองเหรอ เราต่อยถูกตัวมัน ก็คือเจอใจที่ทุกข์ แล้วเราก็เอาตัวที่ทุกข์มาดู ดูทุกข์ ก็เลยเห็นเหตุของมัน คือความเห็นผิด เมื่อเห็นความเห็นผิดก็ละความเห็นผิดตัวเอง
เมื่อความจริงปรากฏยังไง ก็เรียนรู้ในการยอมรับกับความจริงนั้นเลย อ๋อทุกข์เหรอ ก็ทุกข์ แล้วก็ยอมรับได้นะ ไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์นะ แต่ว่ายอมรับได้ มันก็เลยไม่ทุกข์มาก
ทีนี้พอมันยอมรับกันแบบหมดจดเลย ไม่มีเราไม่มีเขา ไม่มีนอกไม่มีใน ไม่มีขึ้นไม่มีลงแล้ว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วนี่ มันก็เป็นอย่างงั้นน่ะ ไม่มีอะไรจะพูดกันแล้ว ก็คือมันเป็นอย่างเงี้ย มันว่างเพราะมันจริงอยู่แล้ว เพราะมันไม่มีความเห็น มันก็เลยไม่มีภาษาพูด
ธรรมะเลยไม่มีภาษาพูด มันเป็นเรื่องการทำลายความเห็น คือความติดอยู่ ท่านก็เลยชี้ให้เห็นทุกข์ สอนเรื่องทุกข์ คือใจที่มันบีบคั้น ขัดแย้งกับสิ่งที่เราเผชิญ คนที่เจอสิ่งนั้นก็ดูให้ดี เรียนรู้ในการสลัดคืน เรียนรู้ในการวางลง ในการยอมรับตามความจริง แบบที่เราไม่ต้องไปตัดสินอะไร
“ใจที่ตรงต่อความจริง ใจที่ไม่ขัดแย้งต่อความจริง นั่นแหละใจที่พ้นทุกข์” ………………………………………………… พระอาจารย์ตะวัน ปัญญาวัฒฑโก แสดงธรรมเช้าวันที่ ๑๔ ตุวาคม ๒๕๖๖ ณ สวนธรรมฉัตรรวีวัฒน์
|