Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ใจที่ตรงต่อความจริง

อังคาร 17 ต.ค. 2023 6:06 am

ใครก็ตามมี " สติสัมปชัญญะ "
ควบคุมความรู้สึกนึกคิด
ของตนเองอยู่ตลอดเวลา
ทำความรู้สึกให้สำนึกผิดชอบชั่วดี
อยู่ในจิตใจตลอดเวลา
ผู้นั้นได้มีชื่อว่า " มีพุทธะอยู่ในใจ "

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาละวัน จังหวัดนครราชสีมา





"..ตัวของเรานี้แล อันได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์
ซึ่งเป็นชาติสูงสุด เป็นผู้เลิศตั้งอยู่ในฐานะอัน
เลิศด้วยดี คือมีกายสมบัติ วจีสมบัติ แลมโน
สมบัติบริบูรณ์ จะสร้างสมเอาสมบัติภายนอก
คือ ทรัพย์สินเงินทองอย่างไรก็ได้ จะสร้างสม
เอาสมบัติภายในคือมรรคผลนิพพานธรรมวิเศษ
ก็ได้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย
ก็ทรงบัญญัติแก่มนุษย์เรานี้เอง มิได้ทรงบัญญัติ
แก่ ช้าง ม้า โค กระบือที่ไหนเลย

มนุษย์นี้เองจะเป็นผู้ปฏิบัติถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้
ฉะนั้นจึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนมีบุญวาสนา
น้อย เพราะมนุษย์ทำได้ เมื่อไม่มี ทำให้มีได้ เมื่อมีแล้วทำให้ยิ่งได้สมด้วยเทศนานัยอันมาในเวสสันดรชาดกว่า ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ
เมื่อได้ทำกองการกุศล คือ ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนา ตามคำสอนของพระบรมศาสดาจารย์เจ้า
แล้ว บางพวกทำน้อยก็ต้องไปสู่สวรรค์
บางพวกทำมากและขยันจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมี
แต่หนหลังประกอบกัน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่ต้องสงสัยเลย พวกสัตว์ดิรัจฉานท่านมิได้กล่าวว่าเลิศ เพราะจะมาทำเหมือนพวกมนุษย์ไม่ได้
จึงสมกับคำว่ามนุษย์นี้ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดี
สามารถนำตนเข้าสู่มรรคผล เข้าสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ได้แล.."

โอวาทธรรม พระครูวินัยธร(หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
(๒๔๑๓-๒๔๙๒)





“ผู้หญิงก็เป็นพระได้ คือ ใจเป็นพระ
ใจละกิเลสความโกรธได้ ใจไม่โกรธใคร
ใจวางเฉยได้ ใจไม่โลภอยากได้ของใคร
ยินดีพอใจสันโดษในวัตถุข้าวของของตนเอง
เรียกว่าใจเป็นพระ”

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร





“เมื่อใจไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ดี การงานก็ไม่ดี
ครอบครัวก็ไม่ดี ทำมาหากิน เล่าเรียนอะไรก็ไม่ดี
ชาวบ้านร้านตลาด ประเทศชาติก็ไม่ดี
เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ใช่อื่น ไม่ใช่ฟ้าอากาศไม่ดี
ใจเราไม่ดี”

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร






#ความจริงเป็นธรรมเอกหนึ่งไม่มีสอง

คือต้องเป็นอย่างงั้น เราต้องเรียนรู้ในการยอมรับตามความจริง ความจริงเกิดแบบไหน ใจต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือต้องเรียนรู้ในการยอมรับ เมื่อไหร่ที่มันขัดแย้งอยู่แสดงว่าใจยังไม่ยอมรับ เราต้องมาดูใจเราที่มันขัดแย้งกับความจริงนั่นเอง เมื่อเราเห็นว่าใจเรายังทุกข์อยู่ มันก็ยังไม่พ้น

แต่เมื่อไหร่ที่ใจกับความจริงตรงกันแล้ว ไม่ค้าน ดีก็ไม่ค้าน ชั่วก็ไม่ค้าน ไม่ค้านเลยรู้เอง บังคับให้กันเห็นก็ไม่ได้ เรียกว่าเห็นความจริง เมื่อใจดวงนั่นไม่ค้านกับความจริงแล้ว รู้เองเลยว่าทุกข์มีหรือไม่มี รู้เองเลย

#คนที่จะพ้นได้คือต้องเห็นทุกข์นั่นเอง คือเห็นใจที่มันค้านความจริงนั่นเอง เราถึงบอกว่าถ้าคนจับใจที่มันทุกข์ได้นะ ดูให้ดีเลยนั่นแหละเงื่อน

ปฏิบัติถ้าเริ่มจากตรงนี้นะ เราชกถูกคู่ต่อสู้ สิ่งนี้ทำให้เราปฏิบัติธรรมได้เห็นผลเร็ว เราไม่ได้ทำตามใคร เขาพาทำเราก็ทำตาม ไม่ได้ทำอย่างงั้น เราแค่ ท่านสอนอะไรพูดมาเลย ท่านสอนทางออกจากทุกข์ ทุกข์เป็นยังไงว่ามาเลย

อะไรก็ตามที่เปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ก็ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงนี่ แล้วใจเราล่ะ โอ้ใจเรามันติดอยู่ เพราะมันเชื่อในตัวเองว่าความคิดของเราดี จนเราสำคัญว่าเราดีกว่าคนอื่น อ๋อ พอเห็นใครเขาไม่ดี ทำไมเขาไม่ดี ก็เราไม่เข้าใจความจริงว่าเขาเป็นของเขา เพราะเราอยากจะให้เขาเป็นเหมือนเรา เพราะมันไม่เห็นความจริง เพราะอัตตา เพราะความติดอยู่ในความเชื่อของตนเอง

อ๋อตัวเองเหรอ เราต่อยถูกตัวมัน ก็คือเจอใจที่ทุกข์ แล้วเราก็เอาตัวที่ทุกข์มาดู ดูทุกข์ ก็เลยเห็นเหตุของมัน คือความเห็นผิด เมื่อเห็นความเห็นผิดก็ละความเห็นผิดตัวเอง

เมื่อความจริงปรากฏยังไง ก็เรียนรู้ในการยอมรับกับความจริงนั้นเลย อ๋อทุกข์เหรอ ก็ทุกข์ แล้วก็ยอมรับได้นะ ไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์นะ แต่ว่ายอมรับได้ มันก็เลยไม่ทุกข์มาก

ทีนี้พอมันยอมรับกันแบบหมดจดเลย ไม่มีเราไม่มีเขา ไม่มีนอกไม่มีใน ไม่มีขึ้นไม่มีลงแล้ว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วนี่ มันก็เป็นอย่างงั้นน่ะ ไม่มีอะไรจะพูดกันแล้ว ก็คือมันเป็นอย่างเงี้ย มันว่างเพราะมันจริงอยู่แล้ว เพราะมันไม่มีความเห็น มันก็เลยไม่มีภาษาพูด

ธรรมะเลยไม่มีภาษาพูด มันเป็นเรื่องการทำลายความเห็น คือความติดอยู่ ท่านก็เลยชี้ให้เห็นทุกข์ สอนเรื่องทุกข์ คือใจที่มันบีบคั้น ขัดแย้งกับสิ่งที่เราเผชิญ คนที่เจอสิ่งนั้นก็ดูให้ดี เรียนรู้ในการสลัดคืน เรียนรู้ในการวางลง ในการยอมรับตามความจริง แบบที่เราไม่ต้องไปตัดสินอะไร

“ใจที่ตรงต่อความจริง ใจที่ไม่ขัดแย้งต่อความจริง นั่นแหละใจที่พ้นทุกข์”
…………………………………………………
พระอาจารย์ตะวัน ปัญญาวัฒฑโก
แสดงธรรมเช้าวันที่ ๑๔ ตุวาคม ๒๕๖๖
ณ สวนธรรมฉัตรรวีวัฒน์
ตอบกระทู้