…พวกเราฟังธรรมกันมากน้อยเพียงไร หรือรับประทานอาหารมากกว่า ฟังเทศน์ฟังธรรม
.ควรจะทำเท่าๆกัน ให้อาหารกายแล้วก็ต้องให้อาหารใจด้วย นี่มีแต่ให้อาหารกายกับให้อาหารกิเลส เดี๋ยวก็เคี้ยวไอ้นั่น เดี๋ยวก็ดื่มไอ้นี่ ให้อาหารกิเลสนี้ไม่มีเวลา
.อยากเมื่อไหร่ก็ให้เมื่อนั้นเลย กิเลสจึงมีกำลังมาก ธรรมะจึงมีกำลังน้อย เพราะไม่ให้ธรรมะกับใจ
.พวกเราต้องปฏิวัติการดำเนินชีวิต ต้องเอาธรรมะเข้าสู่ใจให้มากขึ้น ให้อาหารกิเลสให้น้อยลง. ………………………………………… พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี จุลธรรมนำใจ ๒๑ กัณฑ์ที่ ๔๑๐ วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๓
พระธรรมเทศนา เรื่อง “๔๐ บุญ”
ญาติโยมทั้งหลาย วันนี้จะพูดเรื่อง..."บุญ"
"...ผู้ที่ทำบุญคือผู้มีบุญ ผู้มีบุญจึงจะได้ทำบุญ บุญ ทำให้เกิดความสุข บุญ ทำให้เกิดความสบายกาย บุญ ทำให้เกิดความสบายใจ ผู้มีบุญ จึงเป็นผู้มีความสุข ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ผู้มีบุญ จึงทำให้เกิดบุญขึ้นมา ผู้ไม่มีบุญ จึงไม่ค่อยได้ทำบุญ เมื่อไม่ได้ทำบุญ ก็ไม่ได้เกิดบุญ ผู้แสวงหาบุญ ก็จะได้บุญและพบบุญ ได้เป็นผู้มีบุญ ผู้มีบุญ จึงอิ่มเอมในบุญ เพราะบุญเกิดที่ใจ ใจจึงเย็น ใจจึงเป็นบุญ ผู้ไม่มีบุญ ไม่คิดอยากจะทำบุญ และไม่ค่อยคิดหาบุญ ก็ไม่ได้ทำบุญ บุญ ทำให้เกิดความสุข ความร่ำรวยได้ ผู้ที่คิดอยากทำบุญ และได้ทำบุญ จึงเกิดความร่ำรวย และเป็นผู้มีบุญขึ้นมา ผู้มีบุญ จึงเป็นผู้มีความสุขใจ และสุขกาย ดังนั้น ผู้ไม่มีความสุข จึงเป็นผู้ไม่มีบุญ และบุญยังไม่เกิด ผู้มีทาน ผู้รักษาศีล ผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนา เป็นผู้ต้องการบุญ บุญ จึงเกิดกับผู้ได้กระทำบุญ ผู้มีบุญ จึงเกิดความสุข จึงขอให้ญาติโยมทุกคนจงได้พากันทำบุญ คิดหาบุญ เพื่อให้เกิดความสุข แก่ตนทุกท่านทุกคนเทอญ.."
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร แสดงธรรมไว้ ณ วัดป่าดอนหายโศก อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๘
"..เมื่อพากันได้ยินได้ฟังแล้ว ต้องปฏิบัติตาม จักได้เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเรา ถ้าไม่ปฏิบัติก็พึ่งอะไรไม่ได้ จักเป็นคนอนาถาหาที่พึ่งไม่มี มีแต่ภัยแต่เวร ทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน จะพึ่งพาอาศัยอะไรก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ฝึกหัดปฏิบัติไว้ให้ได้เป็นสมบัติตัวของเราเอง เมื่อเราได้มาฝึกหัดปฏิบัติ เพื่อให้จิตใจเรามีความฉลาด เกิดมีสติปัญญา ศรัทธาเลื่อมใส เคารพนับถือ เชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ แล้วกราบไหว้บูชาทุกวันทุกเวลา อย่างนี้เราก็พึ่งได้ เพราะที่พึ่งของเรามีแล้ว เราทำบุญให้ทาน การกุศลใด ๆ ย่อมได้ผลอานิสงส์มาก เราอยู่ในชาติใด ภพใด เราได้อาศัยซึ่งบุญกุศลที่ตนได้ทำไว้แล้ว เป็นที่พึ่งอาศัย บำรุงตกแต่ง คุ้มครองรักษากาย วาจา ใจ ให้พ้นภัยอันตราย มีแต่ความสุขกายสบายใจ เราจะปรารถนาสิ่งใด ก็ย่อมได้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จ เพราะมีผู้ได้รับความสำเร็จมากต่อมากนับจำนวนไม่ได้ ทั้งในอดีตและปัจจุบันมาแล้ว อย่างนี้พวกเราต้องการไม่ใช่หรือ เมื่อเราต้องการแต่เราไม่ทำ เราจะได้หรือ ไม่ได้ – ถ้าเราไม่ทำ ได้จำเพาะผู้ที่ได้ทำไว้แล้วเท่านั้น ข้อนี้ควรจำไว้ให้ดี.."
พระครูวินัยธร(หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนครอบรมชาวบ้านม่วงไข่ หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ได้บันทึกไว้
"..สมบัติในโลกเราแสวงหามาเป็นความสุขก็พอหาได้ จะแสวงหามาเป็นไฟก็ทำให้ฉิบหายได้ จริงๆข้อนี้ขึ้นอยุ่กับความฉลาดและความโง่เขลา ของผู้แสวงหาแต่ละราย ท่านผู้พ้นทุกข์ไปด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน จนกลายเป็นสรณะของพวกเรา จะเข้าใจว่าท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทอง เครื่องหวงแหนอย่างนั้นหรือ เข้าใจว่าเป็นคนร่ำรวยสวยงามเฉพาะสมัยพวกเราเท่านั้นหรือ จึงพากันรักพากันหวงพากันห่วงจนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย บ้านเมืองเราสมัยนี้ไม่มีป่าช้าสำหรับเผาหรือฝังคนตายอย่างนั้นหรือจึงสำคัญว่าตนจะไม่ตาย และพากันประมาทจนลืมเนื้อลืมตัว กลัวแต่จะไม่ได้กิน ไม่ได้นอนกลัวแต่จะไม่ได้เพลิดไม่ได้เพลิน ประหนึ่งโลกจะดับสูญไปเดี๋ยวนี้ จึงรีบพากันตักตวงเอาความไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว อันสิ่งเหล่านี้ แม้แต่สัตว์เขามีได้เหมือนมนุษย์เรา อย่าสำคัญว่าตนเก่งกาจสามารถฉลาดรู้ยิ่งกว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตามาทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์ ใครจะไปทราบได้ถ้าไม่เตรียมทราบไว้ตั้งแต่บัดนี้.."
ภูริทตฺตธมฺโมวาท พระครูวินัยธร(หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
"การละกิเลสยากมาก เพราะเหตุใดหรือ แม้พิจารณาให้ดี ย่อมได้รับความเข้าใจ พอสมควรว่าการละกิเลสยากมาก เพราะ พากันไปมุ่งละกิเลสผู้อื่น ไม่มุ่งละกิเลสตนเอง กิเลสจึงท่วมบ้านท่วมเมืองอยู่ทุกวันนี้"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
"ปัญญาทางพุทธศาสนา ไม่ได้หมายถึงว่า เป็นคนไอคิวสูง เป็นคนเฉลียวฉลาดทางโลก แต่หมายถึงว่า เป็นผู้ฉลาดทางธรรม ความฉลาดทางธรรม มีความหมายว่า เรามีอุบายที่จะระงับทุกข์ได้ แก้ปัญหาในชีวิตได้ จนถึงระดับไม่มีปัญหา"
พระอาจารย์ญาณธัมโม
|