” ไม่นอน “
ถาม : ขอถามเรื่องการอดนอนครับ มีอุบายอะไรที่จะสู้กับความง่วง
พระอาจารย์ : ให้ถือ ๓ อิริยาบถ ยืนเดินนั่ง ไม่นอน ให้หลับอยู่ใน ๓ อิริยาบถนี้ จะได้หลับไม่นาน เวลาง่วงมากๆก็จะนั่งหลับไปสักชั่วโมง ๒ ชั่วโมง แล้วก็จะตื่นขึ้นมา ถ้านอนจะหลับนาน เวลาตื่นจะไม่อยากจะลุกขึ้น พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรมต่อ พอเดินจงกรมเมื่อยก็กลับมานั่งสมาธิต่อ
ถ้าจะหลับก็ให้หลับอยู่ในท่านั่ง จะได้ไม่เสียเวลากับการหลับนอน ขึ้นอยู่กับจริต บางคนชอบ ๓ อิริยาบถ บางคนชอบอดอาหาร บางคนชอบไปอยู่ที่เปลี่ยวๆที่น่ากลัว นักปฏิบัติต้องเดนตาย นอนกับดินกินกับทรายได้ ไม่วิตกกับการอยู่การกินมากจนเกินไป ยอมตาย ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ ให้เอาความตายมากระตุ้นให้ปฏิบัติธรรม ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตาย ขณะที่มีชีวิตอยู่มีโอกาสปฏิบัติ ถ้าไม่รีบปฏิบัติพอถึงเวลาตายก็จะหมดโอกาส พอกลับมาเกิดใหม่ ก็ไม่รู้ว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกหรือไม่ ถ้าปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ถึงแม้จะไม่พบพระพุทธศาสนา ก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจแล้ว.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี จุลธรรมนำใจ ๒๓ กัณฑ์ที่ ๔๑๘ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
“เพิ่นว่าไปส่อยงานครูบาอาจารย์ ไปส่อยอิหยัง? เพิ่นให้ไปส่อยทำวัตร ส่อยสวดมนต์ นั่งสมาธิพุ่นตั่ว บ่แม่นมาส่อยกินแล้วกะนอน หิวกะออกมาหากินอีก ส่อยแนวนี้เพิ่นว่าส่อยล้างส่อยผลาญ บ่เกิดประโยชน์ มาปฏิบัติธรรมกะให้มาเฮ็ดแนวนี้สั้นตั่ว บ่แม่นกินแล้วกะมานั่งสุมหัวคุยกัน ขั้นหลวงปู่ชายังอยู่ หมู่เจ้าบ่ได้อยู่สำบายปานนี้ดอก เพิ่นเคี่ยวเพิ่นเข็ญ เพื่อให้ได้พระที่ดี”
คติธรรมในคราวงานปฏิบัติธรรม โดย หลวงพ่อสาลี ขันติพโล วัดป่าทุ่งศรีอุดม อ.ทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี
"การปฏิบัติเรื่องจิตนี้... ความจริงจิตนี้ไม่เป็นอะไร มันเป็นประภัสสร ของมัน อยู่...อย่างนั้น มันสงบอยู่แล้ว ที่จิตไม่สงบทุกวันนี้ เพราะจิตมันหลงอารณ์
ตัวจิตแท้ๆ นั้น...ไม่มีอะไร เป็นธรรมชาติอยู่เฉยๆ เท่านั้น ที่สงบไม่สงบ ก็เป็นเพราะอารมณ์มาหลอกลวงจิต ที่ไม่ได้ฝึก ก็ไม่มีความฉลาด มันก็โง่ อารมณ์ ก็มาหลอกลวงไปให้เป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ
จิต... ของคนตามธรรมชาติ นั้น... ไม่มีความดีใจ เสียใจ ที่มีความดีใจเสียใจ นั้น...ไม่ใช่ จิต แต่เป็นอารมณ์ ที่มาหลอกลวง จิตก็หลงไปตามอารมณ์โดยไม่รู้ตัว แล้วก็เป็นสุข เป็นทุกข์ไปตามอารมณ์ เพราะยังไม่ได้ฝึก ยังไม่ฉลาด แล้วเราก็นึกว่า... จิต เราเป็นทุกข์ นึกว่า...จิต เราสบาย ความจริงมันหลงอารมณ์
พูดถึงจิตของเรา แล้ว... มันมีความสงบอยู่เฉยๆ มีความสงบยิ่ง เหมือนกับใบไม้ ที่ไม่มีลมมาพัดก็อยู่เฉยๆ ถ้ามีลมมาพัด ก็กวัดแกว่ง เป็นเพราะลมมาพัด และก็เป็นเพราะอารมณ์ มันหลง...อารมณ์
ถ้าจิตไม่หลงอารมณ์ แล้ว... จิต ก็ไม่กวัดแกว่ง ถ้ารู้เท่าอารมณ์แล้ว มันก็เฉย เรียกว่า...ปกติของจิตเป็นอย่างนั้น ที่เรามาปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้... ก็เพื่อ...ให้เห็นจิตเดิม เราคิดว่าจิตเป็นสุข จิต เป็นทุกข์ แต่ความจริง... จิต ไม่ได้สร้างสุขสร้างทุกข์ อารมณ์มาหลอกลวงต่างหาก มันจึงหลง...อารมณ์
ฉะนั้น เราจึงต้องมาฝึกจิตให้ฉลาดขึ้น ให้รู้จัก....อารมณ์ ไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์ จิต ก็สงบ... เรื่องแค่นี้เอง ที่เราต้องมาทำกรรมฐานกัน ยุ่งยาก ทุกวันนี้."
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) เรื่องจิตนี้
" จิตรวม ๒ ครั้ง ครั้งแรก ญาณสัมปยุตต์ คือ...รู้เกิด รวมครั้งที่ ๒ ญาณสัมปยุตต์ เกิดรวม ทวนกระแสแก้อนุสัย สมมุติ เป็นวิมุตติ หรือรวมลง ฐีติจิต
พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย เมื่อพิจารณาร่างกาย อันนี้ ให้ชำนิชำนาญ เจริญให้มาก ทำให้มาก ให้มีสติ... พิจารณาในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ให้มีสติ...รอบคอบในกาย อยู่...เสมอ
พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมา เป็นอนุโลม ปฏิโลม เข้าไปสงบในจิต แล้วถอยออกมา
พิจารณากาย อย่าพิจารณากายอย่างเดียว หรือสงบที่จิต แต่...อย่างเดียว เมื่อชำนาญอย่างยิ่งแล้ว... จิต...จะรวมใหญ๋ รวมพึ่บลงเป็น อันเดียว
ญาณสัมปยุตต์ คือ...รู้ เกิดขึ้นมาพร้อมกัน ชื่อว่า ยถาภูตญาณทัสสนวิปัสสนา คือ...ทั้งเห็น ทั้งรู้...ตามความเป็นจริง ขั้นนี้ เป็นเบื้องต้น ยังไม่ใช่ที่สุด
พระโยคาวจรเจ้า เพื่อความรู้ยิ่งอีก อาศัย...อาการของจิต ของขันธ์ ๕ ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไปปรุงแต่งสำคัญมั่นหมาย ทำให้จิตหลงตามสมมุติ จึงเป็นเหตุให้ก่อภพ ก่อชาติ ด้วยอาการของ...จิต เข้าไปยึด
อาการของจิต นั่นแลไม่เที่ยง สัตว์โลกเขาเที่ยง พิจารณาโดยอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ เป็นเครื่องแก้ อาการของ...จิต
ฐีติภูตํ จิต...ตั้งอยู่เดิม ไม่มี อาการ เป็นผู้...หลุดพ้น
จิต...รวมพึ่บ ลงไปอีกครั้ง ญาณสัมปยุตต์ รวมทวนกระแสแก้อนุสัย สมมุติ เป็นวิมุตติ หรือรวมลง...ฐีติจิต อันเป็นอยู่ มีอยู่อย่างนั้น
ในที่นี้ ไม่ใช่ สมมุติ ไม่ใช่ ของแต่งเอา เดาเอา ไม่ใช่ ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาได้ เป็นของ ที่เกิดเอง เป็นเอง รู้เอง โดยส่วนเดียว เท่านั้น
ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติจะประสบวิมุตติธรรม ไม่ได้เลย ด้วยประการ ฉะนี้."
(หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร วัดป่าสุทธาวาส)
|