…ผลที่เราต้องการจากการนั่งสมาธิคือ ความสงบนิ่ง ไม่ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ
.บางคนเวลาจิตสงบแล้ว จะไม่นิ่งอยู่กับที่ จะออกไปรับรู้เรื่องต่างๆ เป็นเรื่องภายใน ไม่ใช่เรื่องภายนอก ทางตาหูจมูกลิ้นกาย แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในใจ เป็นนิมิตต่างๆ
.จะเห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เห็นเทพเห็นผี เห็นอะไรต่างๆ ถ้าไปตามรู้ จิตก็จะไม่นิ่ง จิตจะทำงาน ถึงแม้จะมีความสุขเพลิดเพลินกับสิ่งที่เห็น แต่จะไม่เป็นฐานของปัญญา
.ไม่ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับใจ เวลาออกจากสมาธิแบบนี้จะเป็นเหมือนกับไม่ได้นั่งสมาธิ เพราะอารมณ์โลภโกรธหลงไม่ได้ถูกกดเอาไว้
.ไม่เหมือนกับสมาธิที่ไม่ไปรับรู้นิมิตต่างๆ อารมณ์โลภโกรธหลงจะถูกกดเอาไว้ พอออกจากสมาธิแล้วอารมณ์ที่ถูกกดเอาไว้ จะไม่มีกำลังมากพอที่จะมารบกวนใจได้
.ออกจากสมาธิแล้วจิตยังมีความเย็นสบาย เป็นโอกาสที่ดีที่จะเจริญปัญญาต่อไป.
………………………………………… พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี จุลธรรมนำใจ ๒๓ กัณฑ์ที่ ๔๑๗ วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓
"..เมื่อเราทราบอยู่แก่ใจว่า ธรรมเป็นธรรม และเป็นเครื่องนำความเจริญมาสู่ตน และทราบอยู่ว่าโลกที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณเผาอยู่ในดวงใจ เหมือนไฟลุกโพลงอยู่ด้วยเชื้อ คอยแต่จะสังหารทำลายสิ่งต่าง ๆ ให้ย่อยยับดับสูญลงไปทุกเวลานาทีเช่นนี้ จึงควรเร่งบำเพ็ญตนให้พ้นภัยไปเฉพาะหน้า ซึ่งยังควรแก่วิสัยพอจะทำได้ หากกาลอันควรผ่านไปแล้วจะเสียใจภายหลัง เพราะโลกนี้คือโลกอนิจฺจํ และตั้งอยู่บนร่างกายและจิตใจของคนและสัตว์ไม่เลือกหน้า.."
พระครูวินัยธร(หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร(พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)ที่มาหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
"..กิเลสมันไม่ได้อยู่ในกายนะ มันอยู่ในใจนะ มันอยู่กับใจต่างหาก มันไม่ได้อยู่ในธาตุในขันธ์ มันไม่ได้อยู่ในกายนะ...สารถีฝึกม้า ถ้าม้าตัวไหนผาดโผนมาก มันคึกมันคะนองมาก ผาดโผนมาก สารถีเขาจะต้องฝึกอย่างแรงทีเดียว ฝึกอย่างหนัก ไม่ควรให้กินหญ้าไม่ให้มันกิน ไม่ควรให้กินน้ำไม่ให้มันกิน แต่การฝึก ฝึกอย่างหนักแน่นทีเดียว จนกว่าว่าม้านี่ค่อยลดพยศลงไป การฝึกอย่างนั้นเขาก็ค่อยลดลงตามส่วน จนกระทั้งว่าม้านี้ใช้ได้แล้ว ไม่มีพยศอดสูอะไร พอที่จะต้องฝึกอย่างนั้นแล้ว เขาก็ใช้งานใช้การเป็นธรรมดาเท่านั้นแหละ.."
โอวาทธรรมโดย พระครูวินัยธร(หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร(พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)
|