Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

อริยสัจ 4

อังคาร 27 ก.พ. 2024 5:17 am

“ ความอยาก ”

…อารมณ์ต่างๆในใจ
ล้วนแต่มีการเกิดดับๆเป็นธรรมดา
ถ้าเราฉลาดรู้ทัน ก็ปล่อยให้เกิดไป ปล่อยไว้สักพักก็ดับไปเอง
ถ้าไม่ฉลาด ก็จะกระโดด
รับความอยากทันที

.เวลาอยากจะไปเที่ยว ก็ต้องออกไปทันที
เวลาอยากจะไปกิน ก็ต้องออกไปทันที
โดยไม่ใช้ปัญญา คือเหตุผล
มาพิจารณาก่อนเลยว่า จำเป็นหรือไม่
ที่จะต้องไปเที่ยว จะต้องไปกิน
ถ้าไม่จำเป็น สู้รู้อยู่เฉยๆดีกว่า

.รู้ว่าความอยาก
ก็สักแต่เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง
เมื่อเกิดขึ้นมาได้
ไม่ช้าก็เร็วก็ดับไปได้เหมือนกัน
ไม่ต้องไปวิ่งตามคำสั่งของความอยาก

.นี่คือวิธีที่จะใช้ต่อสู้กับความอยาก
เป็นการทำลายความอยาก
ให้เบาบางลงไป จนหมดไปในที่สุด

.เมื่อไม่มีความอยากแล้ว
จะมีอะไรมาสร้างความทุกข์ให้กับเรา
จะมีอะไรมาสร้างความหิว
ความกระหายให้กับเรา ..ไม่มี
ใจของเราจะมีความอิ่ม
มีความพอ มีความสุข

.เมื่อมีความสุข
มีความพอแล้ว จะไปหาอะไรอีก
ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปหาอะไรทั้งสิ้น.

…………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี

กำลังใจ ๙ กัณฑ์ที่ ๑๔๕
วันที่๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๕






เรื่องการปฏิบัติธรรมนี้ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วชีวิตจะราบรื่นเป็นมอเตอร์เวย์แปดเลนไปตลอดทาง ไม่ใช่ว่าทำความดีจะเจอแต่สิ่งดีที่ถูกใจเสมอไป โลกธรรมต้องมีอยู่เหมือนเดิม เพราะเป็นของของโลกที่เราอยู่อาศัย

"คนดีเข้าป่ายุงไม่ได้กัดน้อยกว่าคนชั่ว‘"

เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องของโลกให้ชัดเจน โดยเฉพาะโลกธรรม ถ้าเรารู้เท่าทันโลกธรรม มันจะทำให้ใจเราไม่ต้องไปขุ่นมัวกับมัน สัมผัสสิ่งใดอย่างไม่รู้เท่าทัน สิ่งนั้นจะนำทุกข์มาให้ สัมผัสสิ่งใดอย่างรู้เท่าทัน สิ่งนั้นจะนำสุขมาให้

#พระอาจารย์ชยสาโร






"...ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกทั้งปวง สมมติฐานของ
ทุกข์ที่สัตว์มาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารก็คือ
กิเลส เพราะยังไม่เอือมระอาทุกข์พอ...สงสัยในทุกข์
ถ้าไม่สงสัยในทุกข์...ก็ไม่มาอีก คนเราเมื่อสงสัยอันใด
ก็ต้องไปดูอันนั้นเพราะยังสงสัยอยู่ เมื่อไม่สงสัยแล้ว
ก็ไม่อยากไปดู ฉันใดก็ดี...เมื่อบุคคลผู้ไม่สงสัยใน
โลกทั้งปวงว่าเต็มไปด้วยทุกข์ทั้งอดีต ทั้งอนาคต
ทั้งปัจจุบัน เห็นชัดแจ้งด้วยปัญญาแยบคายของ
ตนเองแบบเย็นๆ วิญญาณของผู้นั้นก็ไม่มีปฏิสนธิ
จะไปเหนี่ยวรั้งอยู่ในวัฏฏสงสารอีก ก็น้อมไปโอนไป
ในพระนิพพาน เป็นตัวศีลเป็นตัวสมาธิเป็นตัวปัญญา
ไปในตัว เป็นแว่นส่องทางไปในตัว เป็นธรรมคู่แข่งขัน
กับความหลงของตนไปในตัว เป็นธรรมทิพย์ไปในตัว...
ไม่ใช่โลกทิพย์ โลกทิพย์ก็คือบาปกับบุญอยู่ในวัฏฏ
สงสารอันนี้ บาป...ก็เป็นของทิพย์ทำเวลาไหนก็ได้
เวลานั้น บุญ...ก็เป็นของทิพย์ทำเวลาไหนก็ได้เวลานั้น
เพราะบาปใจบุญใจ เพราะใจเป็นผู้รับผล เมื่อเห็นโลก
ชัดด้วยปัญญาอันแยบคายแล้ว ก็ไม่มีสิ่งที่จะสงสัย
ในโลกต่อไปอีกว่าจะเป็นอย่างอื่นนอกจากทุกข์
เพราะโลกรวมกันอยู่มีรสชาติเป็นทุกข์เท่านั้น..."

#ที่มา หนังสือ ผู้บรรลุแดนเกษม หน้า ๗๙ - ๘๐
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ)






"ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ
ได้สมบัติทั้งปวง​ ไม่ประเสริฐ
เท่าได้ตนเพราะตัวตนเป็นที่เกิด
แห่งสมบัติทั้งปวง.. "

#โอวาทธรรม
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต






..ธรรมะสวัสดีเช้านี้..
..ทุกท่านที่ได้มีความตั้งจิตตั้งใจ เป็นผู้มีศรัทธาตั้งอยู่ในใจเชื่อมั่นในการทำคุณงามความดีของตนเอง การปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนามีทานศีลภาวนาการสร้างสมอบรมตนเอง ก็เรียกว่าพัฒนาตนเอง บุคคลใดที่ยังไม่ดีไม่เข้าใจก็มาพัฒนาตนเองให้รู้จักทำคุณงามความดี อะไรดีและไม่ดี ให้ศึกษาเรื่องอย่างนี้ เพื่อที่จะแก้ไขปรับปรุงพัฒนาตนเอง ให้ถูกต้องทำนองคลองธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา พระศาสนาของเราเป็นศาสนาที่มีอุดมมการณ์ที่ทันสมัย ทุกสิ่งทุกอย่างตกลงในปัจจุบัน คำว่าตกลงในปัจจุบันก็คือ การที่เราทำอะไรในปัจจุบันก็จะพิจารณาว่ามีเหตุเกิดขึ้นต่อมาจะเป็นยังไง เมื่อทำแล้วนี้เรียกว่าปัจจุบัน เมื่อทำแล้วมันเกิดทุกข์เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็แก้ไขในปัจจุบัน เหมือนคนป่วยมีโรคภัยไข้เจ็บไม่สบายในวันนี้ ก็ไปหาแพทย์หาหมอในวันนี้ บุคคลที่ไม่มีเงินก็ต้องหาเงิน ไม่มีเครื่องใช้ไม้สอยขาดตกบกพร่อง ก็แสวงหามาใช้สอย ให้ความสะดวกแก่ตนนี้เรียกว่าทางการกระทำ..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..
วัดอรัญญวิเวก ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่







#อย่ามัวมองคนอื่นว่า.." เขาไม่ดี "

#แต่เรา.." ต้องมองตนเองก่อนว่าดีพอหรือยัง "

โอวาทธรรม..พระเทพวิทยาคม
(คูณ ปริสุทฺโธ)..วัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา
____________________________







ปฏิบัติธรรมแล้วถ้ารู้สึกเบื่อครอบครัวเบื่อโลกเบื่อสงสาร อย่าไปเชื่อความรู้สึกของตัวเอง ถ้ามันเบื่อดูไปจนมันหายเบื่อ แต่ถ้าหากพอปฏิบัติธรรมได้ธรรมเห็นธรรมแล้วนี่ มันทำให้รู้สึกเคารพบูชาพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เมตตาสงสารครอบครัว แล้วความรักระหว่างครอบครัวของเรานี่ ทีแรกเรารักด้วยกิเลสตัณหา แต่มาภายหลังจะเหลือแต่ความเมตตาปราณี แล้วเราจะทอดทิ้งซึ่งกันและกันไม่ได้ ยิ่งปฏิบัติไปเท่าไร ความเมตตาปราณีมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เราจะอยู่ด้วยกันโดยไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับทางเรื่องของกิเลส เราจะมีอะไรต่อกัน หรือไม่มีอะไรต่อกัน เราจะอยู่กันได้อย่างสบายเพราะ ความรักและความเมตตาปราณีนี่เป็นความรักที่บริสุทธิ์สะอาด ถ้าความรู้สึกอันนี้เกิดขึ้นในบรรดาพ่อแม่พี่น้องทั้งหลายแล้ว สันนิษฐานได้ว่าเราปฏิบัติธรรมได้ผล"

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย









ทุกเช้าที่เราลืมตาตื่นขึ้นมา ชีวิตของเรามีเวลาเหลือน้อยลง
ไปทุกที เรื่องราวของเมื่อวานจะดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม
ปล่อยให้เป็นอดีตไป อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรแน่นอน
จะคิดกังวลไปก็ทำให้เสียเวลาเปล่า ผู้มีปัญญานั้น
จะเห็นประโยชน์ของปัจจุบันทุกลมหายใจเข้าออก
ไม่เสียเวลากับเรื่องราวในอดีต และ อนาคต
ไม่เสียเวลาไปยุ่งเรื่องของคนอื่น กรรมของคนอื่น
เห็นโลกตามความเป็นจริงว่า คนก็เป็นเช่นนั้นเอง
แต่เรา จะทำแต่ความดียิ่งๆขึ้นไป ทำแต่สิ่งที่เป็นสาระประโยชน์ให้แก่ตนเอง และ ผู้อื่น เหมือนกับว่าวันนี้
เป็นวันสุดท้ายของชีวิต จะได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง

อมตะธรรม หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ






เมื่อไหร่ที่ใจเป็นบุญ
เมื่อนั้นถือว่า ฤกษ์งามยามดี
จะพบเจอแต่สิ่งดีๆ

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม






“มหัศจรรย์แห่งบุญ”

ความดีเมื่อทำมากๆเข้าก็จะกลายเป็นบุญวาสนาบารมี เมื่อมีบุญวาสนาบารมีมากๆเข้า จะคิดจะทำสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งที่ดี จะสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ทุกประการ ความดีคือบุญ

วันนี้ก็จะได้มาคุยกันถึงเรื่อง "บุญ-วาสนา-บารมี" เราได้ยินคำนี้มาอยู่ตลอดแล้วเราก็คิดว่าใครที่เขามียศฐาบรรดาศักดิ์สูง ร่ำรวยเงินทอง อะไรเหล่านี้ก็ว่าเขามีบุญ วาสนา บารมี

ถ้าหากว่าใคร..ยากๆ จนๆ หรือว่าทำงานก็ไม่ค่อยก้าวหน้า อะไรต่างๆ เหล่านี้เขาเรียกว่าเป็นไม่มีบุญ ไม่มีวาสนา ไม่มีบารมี แล้วก็พูดกันมาเท่านี้เราก็พอเข้าใจ แต่จะเข้าใจให้ละเอียดได้นั้นก็จำเป็นต้องรู้ว่า บุญนี้คืออะไร

อันดับแรก บุญก็คือ "ความดี" ความดีที่เราได้ทำเอาไว้ ในแต่อดีตชาติหรือปัจจุบันชาติ ความดีต่างๆ เหล่านั้นเราจะใช้คำว่า "ทำบุญให้ทาน" เหมือนกันกับเรามีลูกมีหลานบวชก็เรียกว่าบุญ ช่วยเป็นศาสนทายาท หรือมีเงินทองข้าวของก็บริจาคตามอัธยาศัย ตามความสามารถ

หรือว่ามีเรี่ยวมีแรงก็ไปช่วยในการทำสาธารณประโยชน์ หรือว่า มีอำนาจวาสนา เราก็ใช้อำนาจวาสนานั้น ไปทำประโยชน์ในทางที่สร้างบุญกุศลเป็นวัดวาอารามบ้าง เป็นโรงเรียนบ้าง เป็นโรงพยาบาลบ้าง หรือว่าส่วนใดที่จะเป็นประโยชน์นั้นเราก็ทำ อันนี้เรียกว่าเป็น "บุญ"

ทำมากเท่าไรก็เรียกว่า "สะสมบุญ" บุญเหล่านี้แหละเมื่อทำมากเข้าๆมันก็กลายเป็น "วาสนา" ยังไม่มากเท่าไรยังไม่ใช่ชื่อว่าเป็นวาสนาแต่ถ้าหากว่าทำบุญบ่อยๆ ถ้าบุญมากๆหลายภพหลายชาติก็เรียกว่า วาสนา เมื่อเป็นวาสนาแล้ว เมื่อวาสนามากเข้าๆเขาก็เรียกว่าเป็น "บารมี"

บารมีก็เช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี พระองค์ทำทั้ง "บุญ" และทำทั้ง "วาสนา" ในที่สุดก็เป็น "บารมี" เมื่อบารมีเต็มที่ ปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าปรารถนาเมื่อก่อนแต่ที่พระองค์จะมาปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ก็ยังเป็นคนธรรมดา เมื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้วพระองค์ก็สะสมบุญ เมื่อบุญมากเข้าๆ ก็เป็นวาสนา เมื่อวาสนามากเข้าก็กลายเป็นบารมี แล้วก็ทำให้พระองค์สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าที่เราได้พากันกราบไหว้อยู่ในปัจจุบัน

และพวกเราทั้งหลาย ในขณะนี้เรามีพระพุทธศาสนาที่เป็นที่พึ่งทางใจที่เราพากันพึ่งอยู่ในเวลานี้ เราก็จำเป็นที่จะต้องหา "ผลประโยชน์" ในพระพุทธศาสนานี้ให้แก่เรา การที่หาผลประโยชน์นั้น ไม่ใช่ว่าไปคดไปโกง หรือว่าไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบ แต่เราหาผลประโยชน์ด้วยการที่เราสร้างบุญ มีเงินมีทองมีข้าวมีของ มีกำลังสติปัญญา เราแค่ใช้สิ่งเหล่านี้สร้างบุญขึ้นมา เมื่อสร้างบุญขึ้นมาแล้วเนี่ย ถึงแม้ว่าเราจะไม่ปรารถนา หรือเราจะไม่ปรารถนาอะไร แต่ว่าบุญก็จะต้องตามส่งเขาผู้นั้นอยู่ตลอด

Credit: ขอขอบพระคุณที่มาจากการถอดความมาจากพระธรรมเทศนาโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวชิโรดม วิ.
(หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ในหัวข้อ "บุญ วาสนา บารมี" เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ วัดราชธรรมวิริยา






“...พวกเธอจงจำไว้ พระป่านั้น เขามีคติอยู่ว่า ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม และทำงานเพื่องาน พระป่าโดยสายเลือดและวิญญาณเขามุ่งปฏิบัติมาทุกยุคทุกสมัย พระป่าหาใช่เพียงกิน ถ่าย นอน และนั่งหลับตาโดยมิได้ทำอะไรเลย พระป่าอาจโง่ในสายตาของผู้ที่เขาไม่ได้ปฏิบัติ นั่งหลับตาศึกษาสัจธรรม พระป่าในเมืองไทยนี้นับแต่หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น พระบุพพาจารย์เจ้าเหล่านี้ล้วนแต่เรียนรู้คำสั่งสอนของพระศาสดาด้วยการปฏิบัติด้วยกันทั้งสิ้น และท่านก็สามารถรู้แจ้งในสัจธรรม จนสามารถยังประโยชน์ตนและผู้อื่นได้ พวกเธอจงจำไว้...”

หลวงปู่มหาปิ่น ชลิโต
วัดอริยวงศาราม(หนองน้ำขาว) ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี







"ภิกษุสงฆ์ แม้มีพระวินัย เป็นกฎหมายสำหรับตัวอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ก็ยังจะต้องอยู่ในใต้อำนาจแห่งกฎหมายฝ่ายอาณาจักรอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งตราไว้เฉพาะหรือเพื่อคนทั่วไปและยังควรอนุวัตจารีตของบ้านเมือง อันไม่ขัดต่อกฎหมายสองประเภทนั้นอีก"

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส






พูดถึงเรื่องความละเอียดแหลมคม ในวัฏจักรไม่มีอะไรเกินกิเลส ที่นี่เวลาเข้าเทียบกันปั๊บแล้วก็ว่าไม่มีอะไรเกินกิเลส ในวิวัฏจักรไม่มีอะไรเกินธรรม ครอบหัวกิเลสได้

ตรงนี้แหละ ธรรมประเภทนี้ไม่มี ในตำรับตำราก็ไม่มี จะมีบนเวทีของผู้ปฏิบัติธรรมที่รู้ธรรมเห็นธรรม ตามจังหวะที่ต่อยกันระหว่างกิเลสกับธรรม ด้วยภาคปฏิบัตินี้เท่านั้น นอกนั้นไม่มี

เราไม่ได้ประมาทพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกท่านเอามาเฉพาะที่จำเป็น ท่านไม่ได้เอามาแบบซอกแซกซิกแซ็กเหมือนกับกิเลสกับธรรมฟัดกันบนหัวใจผู้ปฏิบัติ อันนั้นพูดไม่ได้เลย

ท่านจะหยิบยกออกมาแต่จุดสำคัญ ๆ เพื่อไม่ให้เหลือเฟือฟั่นเฝือจนเกินไป แล้วจะเหลือกำลังของผู้จดจำมา แล้วก็ท้อถอยน้อยใจ ท่านจึงเอาแต่จุดใหญ่ ๆ มา พระไตรปิฎกท่านแสดงไว้อย่างไรบ้าง นั่นละท่านจะเอาจุดใหญ่ ๆ

เช่นว่า สมาธิ ท่านก็พูดกลาง ๆ ไว้เท่านั้น สมาธิของผู้ปฏิบัติเป็นยังไง นั่นท่านไม่ได้แจง ผู้ปฏิบัตินั้นแลจะรู้เรื่องของสมาธิได้เป็นอย่างดี ซอกแซกซิกแซ็กซึมซาบไปหมด ในรัศมีของสมาธิที่จะแสดงตัวเต็มเหนี่ยวของสมาธิ นี่ในภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้น แล้วคัมภีร์จะไปจดได้ยังไง

ถ้าพูดถึงเรื่องภาคปัญญาฆ่ากิเลส ก็เริ่มต้นตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลานไปทางด้านปัญญา แล้วเรื่อย ๆ จนเหมือนกับว่ารถนี้ออกเส้นทางเรียบร้อยแล้วบึ่งละที่นี่ นั่นละสติปัญญาประเภทนี้ ท่านก็บอกไว้กลาง ๆ ว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ ครอบไว้เท่านั้นเอง

แต่ผู้ขึ้นเวทีแล้วภาวนามยปัญญาเป็นยังไง แตกแขนงออกไปนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่มีในความจริง ความจริงนี้มีสุดส่วนทุกแง่ทุกมุม เหมือนว่าเชื้อไฟอยู่ที่ไหน ๆ เชื้อไฟนั่นเหมือนความจริง ไฟคือธรรม จะลุกลามสอดแทรกรู้เห็นไปหมด ๆ เชื้อไฟหยาบ ละเอียดขนาดไหน สติปัญญาธรรมเหล่านี้จะซึมซาบเข้าไป เผาเข้าไป ไหม้เข้าไปเรื่อย ๆ เป็นอัตโนมัติของตัวเอง นี่ไม่มีในพระไตรปิฎก

เราไม่ได้คุย เราก็ค้นเหมือนกันพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นจึงกล้ามาพูดได้ทั้งสองภาค ภาคพระไตรปิฎกท่านเอาเฉพาะส่วนใหญ่ ๆ ออกมาที่เหมาะสมกับผู้จะปฏิบัติ ไม่ให้เหลือเฟือหรือฟั่นเฝือจนเกินไป จนเกิดความท้อถอยน้อยใจต่อการปฏิบัติธรรม ท่านจึงเอามาจุดใหญ่ ๆ เช่น อริยสัจ ๔ นี่อันสำคัญมากนะ สติปัฏฐาน ๔ นี่รากแก้วของศาสนา รากแก้วของมรรคของผล ของความจริงและธรรมทั้งหลาย ที่จะรู้ความจริงออกจากอริยสัจ ๔ นี้ พอก้าวเข้าไปนี้

ท่านบอกไว้อริยสัจ ๔ เท่านั้นไม่มาก ให้ผู้ปฏิบัติไปแจงเอง จะรู้เองเห็นเองทุกแง่ทุกมุม เพราะให้ต้นทุนมาแล้ว พูดง่าย ๆ เช่น ไม้ท่อนนี้เอามาให้แล้ว ต้องการจะเลื่อยจะแปรรูปให้เป็นยังไงให้ไปแปรเอง ความหมายว่างั้น นี่พระไตรปิฎกท่านยกออกมาก็แบบเดียวกัน ให้พอเหมาะพอดีกับผู้ปฏิบัติแล้วให้ไปแจงเอง ความรู้ความเห็นในตัวเองจะเป็นยังไง จะไม่ต้องถามใคร เพราะต้นใหญ่ได้เอามาแล้ว แปรออกจากต้นใหญ่เป็นไม้เป็นแผ่นกระดานหนาขนาดไหน ๆ กว้างแคบขนาดไหน เป็นเรื่องของนายช่างที่จะต้องทำงานเองจาระไนเอง

น้ำหนักของกิเลสกับธรรม - พระธรรมเทศนาโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน






คอยวัดใจตัวเองไว้

วัดที่ใจของเรานี้
ตาเห็นรูป ใจเราเปลี่ยนแปลง
เราเห็นขณะที่มันเปลี่ยนแปลงไป
นี่ล่ะปัจจุบันอยู่ตรงนี้
ไม่ใช่เมื่อวานจิตเป็นอย่างนี้
วันนี้จิตเป็นอย่างนี้ อันนี้คิดเอา
ไม่ได้เห็นเอา ไม่ใช่ทัสสนะ
ไม่เกิดญาณทัสสนะ แต่เกิดการคิด คิดเอา
เมื่อวานกับวันนี้ไม่เหมือนกัน แสดงว่าไม่เที่ยง
อันนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา
วิปัสสนาต้องใช้ทัสสนะ ใช้การเห็นเอา
เห็นรูปเห็นนามอย่างที่เขาเป็น
เขาเป็นอะไร เขาเป็นไตรลักษณ์
ตาเห็นรูป ใจเรามีความสุข
ใจเราเกิดราคะ เรารู้ทัน
อย่างนี้เรียกว่าเรารู้ปัจจุบันแล้ว
หูได้ยินเสียง ใจเรามีความทุกข์
ใจเราเกิดโทสะ เรารู้ทัน
มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจก็รู้
มีโทสะในใจเกิดขึ้นก็รู้
นี่เรียกเรารู้ปัจจุบันแล้ว

คอยวัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ
ใจเรามีแต่ความเปลี่ยนแปลง
ไม่มีความคงที่ แล้วไม่ต้องไปฝึกให้ใจคงที่
ใจจริงๆ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ก็ไม่ว่ามัน ให้มันเคลื่อนไหวไป
ขอแค่มีสติตามรู้ตามเห็น
แล้วต่อไปปัญญามันเกิด จะรู้เลย
จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ
จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับ
ทีแรกก็เห็นแต่ละอย่างเกิดแล้วดับ
แต่ละอย่างเกิดแล้วดับ
ตอนที่จะได้มรรคได้ผล มีปัญญารวบยอด
จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ
ไม่ใช่จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วดับ
เหมือนที่ตอนที่ฝึกหรอก
มันรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดมันดับทั้งสิ้น
ค่อยๆ ฝึก วัดใจตัวเองให้ออก
แล้วเราจะได้ของดีของวิเศษ
ของดีของวิเศษไปขอใครไม่ได้
ต้องทำเอาเอง

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กุมภาพันธ์ 2567
ตอบกระทู้