นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 18 เม.ย. 2025 9:48 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: พระนิพพาน
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 21 พ.ค. 2024 8:08 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4893
สังขารเป็นของไม่สะอาด
ให้พิจารณาว่ามันเป็นของปฏิกูล
เป็นของไม่งาม เป็นของไม่สะอาด
เต็มไปด้วยอวัยวะต่าง ๆ ต่อกันอยู่ประกอบกันอยู่
มีสภาพเสื่อมทรุดเสื่อมสลาย
พร้อมที่จะแตกย่อยยับ ผุพังเน่าเปื่อยตลอดเวลา
ชีวิตเป็นสภาพที่ไม่ยั่งยืนไม่เที่ยงแท้ถาวร

พิจารณาให้เห็นร่างกายนี้มีอวัยวะต่าง ๆ
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
มองเพียงผิวหนังเผิน ๆ ดูไกล ๆ
ดูเผิน ๆ เราก็ว่ามีความงาม
แต่ถ้าดูลึกซึ้งเข้าไปถึงหนัง ขยายดู
หนังมันก็ขรุขระ เป็นรู ๆ ขรุขระ
มีขนขึ้น มีสิ่งไหลออกซึมออกมา
ถ้าเราไม่ได้อาบน้ำก็ส่งกลิ่นเหม็น
ในท้องมันมีของเน่าที่เราทานเข้าไปไปเป็นอุจจาระ
ระเหยออกมาทางผิวหนังบ้าง
สวนขึ้นไปทางปากทำให้ปากมักมีกลิ่น

สภาพจริง ๆ ของสังขาร
ถ้ามองทะลุหนังเข้าไปแล้ว
ถ้าเอาหนังออกไปจะดูไม่ได้เลย
ถ้าไม่มีหนังหุ้มจะต้องคอยเอาไม้ไล่สัตว์
แมลงวันตอม นกกาจะมารุมกิน
นอกจากนี้ก็ยังมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยอยู่ในร่างกายนี้
มีพยาธิในลำไส้ในผิวหนัง
ตามซอกก็มีสัตว์เล็กสัตว์น้อยอาศัย

สภาพสังขารนี้จึงถูกเบียดเบียน โรคภัยไข้เจ็บ
มันมีแต่จะป่วยจะเจ็บตามสภาพ
สังขารก็เสื่อมทรุดไปเรื่อย ๆ
มันก็มีความชรา มีความปวด มีความป่วย มีความเจ็บ
ให้มึนให้เมื่อยให้เจ็บให้เหนื่อยไปทั่วสรรพางค์กาย
อวัยวะส่วนไหนมันก็เป็นทุกข์ส่วนนั้น
เพราะว่ามันเสื่อม มันไม่เที่ยง
เดี๋ยวก็หายใจไม่สะดวก อึดอัด
เดี๋ยวก็แน่น เดี๋ยวก็มืดหน้าตาลายวิงเวียน
เดี๋ยวก็ปวดแน่นเสียดในท้อง
เดี๋ยวก็ปวดท้อง ปวดหัว ปวดหลัง ปวดขา
มันเป็นรังแห่งโรค

พิจารณาให้เห็นสังขารร่างกายนี้
มันเป็นทุกข์ มันเป็นของไม่ยั่งยืน
มันเป็นของไม่งาม เป็นของปฏิกูล เป็นของไม่สะอาด
จิตใจจะได้เบื่อหน่าย เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความสังเวช
พิจารณาแล้วจะเกิดความสังเวชเกิดความสลดใจ

สังขารมันเป็นอย่างนี้
มันไม่มีอะไรดี มันเต็มไปด้วยกองทุกข์
เป็นรังแห่งโรค เป็นของปฏิกูล เป็นของไม่สะอาด
เป็นทุกข์แท้ ๆ เป็นก้อนทุกข์
แล้วจิตวิญญาณก็ต้องมาอาศัย
เสวยอาศัยความสุขความทุกข์อยู่อย่างนี้
เมื่อมีจิตวิญญาณครองอยู่มันก็เกิดเวทนา
มีผัสสะมีเวทนาให้ปวดให้เจ็บอยู่อย่างนี้
จะหนีไปไหนก็หนีไม่ได้
นอกจากที่จะต้องฝึกจิตให้ปล่อยให้วาง
……………………
ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา





. พยายามอย่าสนใจการกระทำ การปฎิบัติของคนอื่น ดูตัวเอง สนใจแก้ไขตัวเองนั้นแหละมาก ๆ
เช่น เข้าครัวเห็นเด็กทำอะไรไม่ถูกใจ
แล้วเกิดอารมณ์ร้อนใจ ..

ยังไม่ต้องบอกเขาให้แก้ไขอะไรหรอก รีบแก้ไข ระงับอารมณ์ร้อนใจของตัวเองเสียก่อน
เห็นอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร ก็สักแต่ว่าใจเย็น ๆ ไว้ก่อน ความเห็น ความคิด ความรู้สึกก็ไม่แน่ใจ..

ไม่แน่..อาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้
เราอาจจะเปลี่ยนความเห็นก็ได้
สักแต่ว่า.. สักแต่ว่า.. ใจเย็น ๆ ไว้ก่อน ยังไม่ต้องพูด

ดูใจเราก่อน สอนใจเราก่อน หัดปล่อยวางก่อน เมื่อจิตสงบแล้ว เมื่อจิตปกติแล้ว จึงค่อยพูด จึงค่อยออกความคิดเห็น

พูดด้วยเหตุ ด้วยผล ประกอบด้วยจิตเมตตากรุณา ขณะมีอารมณ์อย่าเพิ่งพูด...ทำให้เสียความรู้สึกของผู้อื่น
ทำให้เสียความรู้สึกของตนเอง
ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
มักจะเสียประโยชน์ด้วยซ้ำไป ....

คำสอนหลวงปู่ชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี






สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน
.
“ สำหรับชาวบ้าน จำไว้ใช้ง่ายๆในทางปฏิบัติว่า สิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามใจของเรา แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราจึงต้องปฏิบัติจัดการมัน ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจและทำให้ตรงเหตุปัจจัยนั้นๆ
.
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปธรรมหรือนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำการทางวัตถุหรือการปฏิบัติทางจิตใจ เมื่อปัจจัยพรั่งพร้อมถึงที่ ผลก็เกิดมีตามปัจจัยนั้น ดังความตามพุทธพจน์ว่า “ภิกษุไม่เจริญโพธิปักขิยธรรม ถึงจะปรารถนาให้จิตหลุดพ้น จิตก็ไม่หลุดพ้นไปได้ แต่เมื่อเธอเจริญโพธิปักขิยธรรม ถึงแม้ไม่ตั้งจิตปรารถนา จิตก็หลุดพ้นไป
.
เหมือนแม่ไก่ไม่ขึ้นกกไม่ฟักไข่ ถึงจะอ้อนวอนปรารถนาขอให้เกิดลูกไก่ออกมาจากไข่ ก็ไม่มีลูกไก่กะเทาะเปลือกไข่ออกมา แต่ถ้าแม่ไก่ขึ้นกกขึ้นฟักไข่ให้พร้อมได้ที่ ถึงจะไม่อ้อนวอนปรารถนาขอให้เกิดลูกไก่ออกมาจากไข่ ก็มีลูกไก่กะเทาะเปลือกไข่ออกมา ( ดูเช่น สํ. ข. ๑๗/๒๖๑/๑๘๕ )
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากหนังสือ “ ดูธรรมกายแท้ของพระพุทธเจ้า เข้าใจอนัตตาให้ตรงตามจริง”







ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสได้บอกสอนพุทธบริษัทเอาไว้ ให้พิจารณาเนือง ๆ ให้คิดบ่อย ๆ ไว้ในใจอยู่เสมอ จะเป็นผู้ไม่ประมาท เรามีความแก่เป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เราจะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง อีกสักวันหนึ่งข้างหน้าแน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่น

เมื่อพลัดพรากไปแล้ว เราจะต้องได้รับผลของกรรมที่ตนได้กระทำไว้ ในเมื่อเป็นมนุษย์เราทำกรรมดีหรือเราทำกรรมชั่ว ถ้าเราทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ดีก็จะตามเกื้อกูลหนุนดวงวิญญาณของพวกเราไปสู่สัมปรายิกภพ ถ้าเราทำสิ่งที่ไม่ดี ทำกรรมชั่ว สิ่งที่มันชั่ว กรรมชั่วจะเข้าไปหนุนเราไปสู่สัมปรายิกภพอีกเหมือนกัน

กรรมดีน่ะมันหนุนไปทางสูงนะ หมุนไปทางที่พึงปรารถนา ไปเกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มั่งมีศรีสุข ร่ำรวยเป็นอย่างน้อย แล้วก็หนุนขึ้นไปอาจจะไปเกิดเป็นเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม จากนั้นถ้าหากว่าภาวนาได้สำเร็จมรรคสำเร็จผล ได้เป็นพระอริยบุคคคล พระโสดา สกทาคา อนาคา อรหันต์ ในที่สุด อันนี้ก็คือกรรมดีหนุนไปสู่ทางสูง

แต่ถ้าหากเราทำกรรมชั่ว ทำสิ่งที่มันไม่ดีไว้ในมนุษย์โลก เมื่อตายไปแล้วกรรมชั่วพาไป ดันลงไปทางต่ำ ไปตกนรกก่อน เพราะทำกรรมชั่ว พ้นจากนรกขึ้นมา เกิดเป็นช้างม้าวัวควายหมูหมาเป็ดไก่ เป็นสัตว์เดรัจฉาน ใช้เวรใช้กรรมอยู่กว่าจะพ้นมาได้ เหมือนกับเราไปติดคุกติดตะรางลักษณะอย่างนั้นแหละ อันนี้ก็คือกรรมดีกับกรรมชั่วมันให้ผลต่างกัน

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา “เมืองคนตายเมืองผี แยกดีแยกชั่ว”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๗






"...สำหรับผู้ที่บริกรรมภาวนา แล้วจิตไม่สงบ
บริกรรมอย่างไรจิตก็ไม่สงบ ก็ควรจะเปลี่ยน
เป็นวิธีนี้ คือนั่งหลับตาก็ตาม ลืมตาก็ตาม
ให้คอยจ้องดูความคิดของเราเองว่า มันคิด
อะไรขึ้น พอคิดอะไรขึ้นมาปั๊บ กำหนดรู้

เมื่อเราทำอย่างนี้มันจะได้ประโยชน์อะไร
เพราะเราดูทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยความตั้งใจ
ด้วยความมีสติ จะทำให้สติของเราเด่นขึ้น
มีกำลังขึ้น แล้วเราจะสามารถรู้ทันความคิด
ของเราเอง เมื่อเรารู้ทันความคิดของเราเอง
ต่อไปเราจะคิดอะไร คิดด้วยความรู้เท่าทัน
สิ่งที่เราคิดนั้น มันจะไม่สามารถดึงเอาจิตใจ
ของเราให้เกิดทุกข์ทรมาน

ความจริงคำว่ารู้ตาม ความหมายของคำว่า
รู้ในสมาธิ หรือ สมาธิปัญญานั้น ก็หมายถึง
จิตรู้ทันอารมณ์ต่างๆ ที่เราเคยนึกคิดว่ามัน
วุ่นวายมาแต่ก่อน โดยปกติที่เรายังไม่มีสมาธิ
ไม่มีสติปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ เราดูอะไร
เราได้ยินได้ฟังอะไรหรือสัมผัสอะไร ในทาง
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่พึงจะเกิดขึ้น มัน
ก็มีอยู่สองอย่าง คือพอใจ ไม่พอใจ นอกจาก
จะเกิดความพอใจไม่พอใจแล้ว มันยังจะต้อง
ปรุงแต่งไปอีก แล้วก็หาเรื่องไปเรื่อยๆ จนตัว
เองต้องเกิดทุกข์ เกิดวุ่นวายขึ้นมา

แต่ถ้าเรามีสมาธิ มีสติปัญญารู้เท่าทัน เรา
มองดูอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู รู้อะไร
ทางจมูก รู้รสทางลิ้น สัมผัสทางกาย แม้จะ
นึกคิดในใจ เรามีสติคอยจ้องดูอยู่ไม่เผลอ
ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้น มันจะกลายเป็น
เครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึก ของสติ
เพราะอาศัยความรู้เท่าทันอารมณ์ที่ผ่านเข้า
มา สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถที่จะ
ดึงใจของเราไปทรมานให้เกิดทุกข์ได้ นี่คือ
ผลที่จะพึงเกิดขึ้น..."

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาละวัน จ.นครราชสีมา






"จะไปสู่ ทุคติ สุคติ หรือ พระนิพพาน
ไปสู่ตั้งแต่ที่ยังมีลมหายใจอยู่"

"...ใจที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เห็นสัจธรรมของจริงนั้น
หลอกลวงเจ้าของ สร้างกองฟืนกองไฟเผาเจ้าของ ตายก็ตายอยู่กับกองฟืนกองไฟ ตายอยู่กับกองฟืนกองไฟเป็นอย่างไรล่ะ นอนตายด้วยความรุ่มร้อนใจของหัวใจ ความพอใจก็เป็นของร้อน ความไม่พอใจก็เป็นของร้อน ความรักก็เป็นของร้อน ความชังก็เป็นของร้อน ความยินดีก็เป็นของร้อน ความยินร้ายก็เป็นของร้อน ตายอยู่กับความรุ่มร้อน การอยู่กับความรุ่มร้อนกลุ้มรุมในใจ ในเมื่อตายอยู่กับความรุ่มร้อนกลุ้มรุมอยู่ในใจแล้ว จะหาความร่มเย็นเป็นสุขไม่มี ในเมื่อในขณะที่จะตายมีแต่ความรุ่มร้อนกระวนกระวาย น่าวิตกในการที่จะไปสู่ทุคติ

ใจที่จะไปสู่ สุคติ ก่อนที่จะตายนี่ ความรุ่มร้อนในจิตในใจไม่มี มีแต่ความสงบเย็น มีแต่ความสบาย มีแต่ความเบิกบานปีติอยู่ในจิตในใจ เรียกว่าใจมีความสุข ใจมีความสุขลมหายใจหมดไป สรีระเป็นไปตามธรรมชาติของสิ่งที่เกิดขึ้น จิตใจเขาก็เป็นไปตามธรรมชาติของจิตใจ จิตใจเมื่อขณะยังมีลมหายใจอยู่เขาอยู่เป็นสุข เมื่อหมดลมหายใจแล้ว สุขอยู่ตรงไหน สุขอยู่ ณ สถานที่ใดเขาก็ไปตามสภาพที่เขามีความสุขนั้น..เรียกว่า สู่สุคติ สู่สุคติสู่ตั้งแต่ยังมีลมหายใจอยู่ จะไปสู่ ทุคติ ก็คือ ใจมีทุคติตั้งแต่ยังมีลมหายใจอยู่ ในเมื่อยังมีลมหายใจอยู่ ทุกข์เกิดขึ้นที่ใจแล้ว นั่นล่ะ ตายแล้วมันก็เป็นไปตามธรรมชาติจิตใจที่เป็นในระหว่างที่มีชีวิตอยู่นั้น

พระพุทธเจ้าดับขันธ์สู่ปรินิพพาน ใจของพระพุทธเจ้า เป็นพระนิพพานแล้ว สรีระร่างกายแตกไปตามธรรมชาติของเกิดมาแล้วจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ใจที่พระพุทธเจ้าเป็นพระนิพพานแล้วก็สู่พระนิพพานโดยธรรมชาติ เพราะเป็นพระนิพพานอยู่แล้ว ตั้งแต่มีชีวิตอยู่ 'อุปาทิเสสนิพพาน' ก็หมายถึง กิเลสทั้งสิ้น กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด หมดสิ้นไป ไม่มีแล้วในดวงจิตดวงใจพระพุทธเจ้านั้น อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึงสรีระร่างกายแตกทำลายไป ธาตุขันธ์แตกทำลายไป ธรรมชาติจิตที่เป็นพระนิพพานนั้น ก็เป็นพระนิพพาน ไม่ได้เสียหายไปไหน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตถาคตนี้ยังมีอยู่ ไม่ได้เสียหาย ใครเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ใครเห็นธรรม คนนั้นเห็นพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นสัจธรรม ท่านผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้าทันที ผู้ใดเข้าถึงธรรม ผู้นั้นเข้าถึงพระพุทธเจ้า ในเมื่อเข้าถึงพระพุทธเจ้าแล้วจะไม่เห็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

จึงว่า พระพุทธเจ้าที่เห็นนั้น ไม่ใช่เห็นรูป ไม่ใช่เห็นเป็นตัวเป็นตน หมายถึงเห็นขึ้นที่จิตที่ใจของผู้เข้าถึงปรินิพพานนั้น แล้วจะเห็นพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ทีเดียว ไม่ได้บกพร่องแม้แต่น้อย..."

โอวาทธรรม หลวงปู่แบน ธนากโร
วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร






#ของเกิดดับทั้งนั้น

"กุศลธรรมเกิดขึ้น อกุศลธรรมเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาก็มีที่เกิดคือ เกิดจากเหตุ เหตุคืออะไร เหตุคือจิต ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากจิตทั้งนั้น กุศลหรืออกุศล เรื่องของอกุศลคือ ใจไม่สงบ ใจวุ่นวาย ใจกระสับกระส่าย ใจฟุ้งซ่านอะไรเหล่านี้ เกิดมาจากจิตทั้งนั้น

ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น อันนั้นจะต้องดับทั้งนั้น จึงอย่าไปยินดีอย่าไปยินร้ายกับมัน มันจะร้ายขนาดไหนก็เป็นของเกิดมาดับ อย่าไปยึดว่าเป็นของเรา ไฟก็เหมือนกัน ไฟจะร้อนขนาดไหนก็ช่าง เราไม่ไปจับมันจะร้อนไหม ใจของเราก็เหมือนกัน มันร้อนรนกระวนกระวายอันนั้น เราไม่ไปสนใจมัน เราหยั่งจิตเข้าไปหาสถานที่มันเกิดนั้น อย่าเอาใจไปจับที่ไฟ มันร้อน ถอนจิตเข้ามาเสีย ถอนจิตเข้ามาดูจิต ถอนจิตเข้ามาอยู่ที่จิต ถอนตัวกลับเข้ามาหาจิต ความร้อนอันนั้นมันก็เป็นเรื่องภายนอกไป มันก็เป็นส่วนหนึ่งต่างหากไป ความร้อนความวุ่นวายเป็นส่วนหนึ่ง จิตก็เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เป็นคนละส่วนกัน

จึงว่าอะไรเกิดขึ้นให้รู้ทันที ให้ทำความรู้ความเห็น อันนี้เป็นของเกิด อันนี้จะเป็นของดับ สิ่งที่เราไม่พอใจไม่ปรารถนาคือความยุ่งยาก ความวุ่นวาย ความฟุ้งซ่าน อันนี้มันก็เป็นของที่เกิดขึ้นต่างหาก แล้วมันก็เป็นของที่ดับไป เราอย่าไปยึด สักแต่ว่าเป็นของที่เกิดขึ้น สักแต่ว่าเป็นของที่ดับไปเท่านั้น จิตของเราเป็นผู้ที่รู้เห็น จิตของเรานี่มันรู้ รู้ว่าใจของเราเร้อน รู้ว่ามจของเราไม่สงบนี่ จึงให้มาอยู่กับจิตอยู่กับความรู้นี้

ถ้าเข้ามาจิตดวงนี้แล้ว ความวุ่นวายความฟุ้งซ่านมันดับไป แต่นีนี้ถ้าหากว่าความุว่นวายฟุ้งซ่านอันนั้นมันดับไปแล้ว จิตมันใส จิตมันสว่างขึ้น ก็ให้รู้ว่าอันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จึงว่าทีแรกกิเลสเอาสิ่งที่เราไม่ชอบใจมาหลอกเราให้ติด ทีนี้เรารู้มันแล้ว

เมื่อเราแก้มันได้แล้ว มันก็เอาสิ่งที่ชอบใจมาล่อเราอีก ให้เราติดอยู่ในความใส ให้เราติดอยู่ในความเย็น

ท่านจึงว่า โอฬาริกํ วา สุขุมํ วา นี่ โอฬาริกํ สุขุมํ หมายถึง ความสว่างไสวกว้างขว้างสุขุมคัมภีรภาพประณีตละเอียดนี่ อันนี้มันเกิดจากจิตของเราทั้งนั้น มันเอาของที่ดีมาล่อเราให้ติด มันเป็นของเกิดมันก็ต้องเป็นของดับนี่

ความสว่างไสว จะสว่างไสวอย่างที่เราไม่เคยรู้เคยเห็น สว่างไสวอัศจรรย์ หรือจะเป็นความสว่างไสวที่เราเคยเห็นมาก่อน มันจะเกิดขึ้นมาจากไหนก็ช่าง อันนั้นล้วนแต่เป็นของเกิดดับเหมือนกันทั้งนั้น

ก็เพราะมันเป็นของเกิด มันต้องเป็นของดับ ความสว่างก็สักแต่ว่าความสว่างเท่านั้น"

...... หลวงปู่แบน ธนากโร








ธรรมะหลวงปู่ดุลย์ อตุโล สอนเรื่องจิตก่อนตาย

เรื่องจิตก่อนตายนั้น สำคัญมากหากเวลาดับจิต หากจิต ดี ก็ได้ไปที่ ดีๆ" หากจิตหมอง "จิตร้าย ก็จะไปสู่ “อบายภพ” ที่ร้อนร้าย ในทันใด..

ซึ่งจิตก่อนตายนี้ เป็นของไม่แน่นอน บังคับไม่ได้ แล้วแต่วาระหรือกรรมจะพาให้เป็นไป ด้วยเหตุนี้บางคน แม้เคยทำบุญมามากต่อมากแต่ตายไปกลับไปตกนรกทั้งนี้เป็นเพราะ "จิตหมอง"ก่อนตาย บางคน แม้จะทำบาปทำกรรมมามากมาย แต่ตายไป กลับไปอยู่บนสวรรค์ทั้งนี้เพราะเกิด"จิตใส"ตอนดับจิต กรณีทั้งสองแบบ ล้วนมีบันทึกไว้ในพระไตรปิฏกมาแล้วทั้งสิ้นแต่สำหรับคนที่เคย"ฝึกจิต"มาก่อนวินาทีที่รู้ตัวว่า อย่างไรเสียจะต้องตายหรือดับจิตลงไปแน่ๆ

หาก"ทำเป็น" ก็อาจพลิกจิตยกขึ้นสู่ภูมิสูง ไปสู่ "สุคติ" หรือ"อริยะ" ไป "สุคติภพ" หรือ "อริยภูมิ" เลยก็ได้

สำหรับวิธีตกกระไดพลอยกระโจน (สู่สุคติภพหรืออริยภูมิ) ของพระราชวุฒาจารย์หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม สุรินทร์ ก็คือ.

ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
อยู่กับความไม่มีไม่เป็น ว่าง สว่าง บริสุทธิ์
หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาจิต
ไม่มีอะไรเลยไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง

พระอริยเจ้ามีจิตไม่ส่งออกนอกจิตไม่หวั่นไหว
จิตไม่กระเพื่อมมีสติอย่างสมบูรณ์เป็น วิหารธรรมมีสติอย่างสมบูรณ์ เป็นเครื่องอยู่วิธีทำ หยุดคิด อย่าส่งจิตออกนอกมีสติอย่างสมบูรณ์เป็นเครื่องอยู่แต่เรื่องของการ "พลิกจิต" ช่วงสุดท้ายนี้ หลวงปู่ดุลย์ท่านว่าบุคคลนั้นๆต้องเคย "ฝึก" มาก่อน จึงจะทำได้จริง พอดี.

โอวาทธรรมหลวงปู่ดุลย์ อตุโล






#กรวดน้ำแบบแห้ง

"มีบางคนเขาบอกว่ากรวดน้ำแบบแห้ง ตายไปชาติหน้า จะแห้งแล้ง เพราะไม่มีน้ำ โบราณพูดอย่างนี้ จะจริงหรือเปล่าคะ..."

เขาพูดได้ยินหรือเปล่า คนที่พูดมา ได้ยินหรือเปล่า คนโบราณพูดอย่างนี้ คนโบราณพูดหรือเปล่า ถ้าได้ยิน แสดงว่า เขาพูดจริง แต่ก็ไม่ได้แห้งแล้งจริง

การอุทิศส่วนกุศลพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใช้น้ำ ฉันใช้วันเดียว วันบวช ว่าไม่ถูกเลย ต้องระวังน้ำหยดอีก ผีก็ไม่ได้กินน้ำ "ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฉันไม่เคยใช้น้ำเลย ก็เห็นผีได้รับ" แต่ชาติหน้าถ้าจะทำอย่างนั้น กินน้ำเกลือเผื่ออยู่ด้วย เผื่อชาติหน้าจะอด

"อ๋อ...มิน่าล่ะ หลวงพ่อถึงให้น้ำเกลือบ่อยๆ"
ใช่ มีทั้งน้ำสะอาด น้ำเกลือ น้ำหวานเผื่อไว้ตลอด รวมความว่า เวลาจะอุทิศส่วนกุศล ให้ใช้ภาษาไทยสั้นๆ อย่างทำบุญสังฆทาน เราก็ตั้งใจว่า

" การบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ผลนี้จะมีแก่ข้าพเจ้าเพียงใด ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่...(บอกชื่อ) ขอให้มาโมทนา รับผลเช่นเดียวกับข้าพเจ้า"

และตอนที่พระสงฆ์ให้พรนี้ ก็ขอให้เจ้าภาพและทุกท่าน ที่บำเพ็ญกุศลแล้ว ตั้งจิตปรารถนาเอาตามประสงค์

สมมุติว่าท่านทั้งหลายตั้งใจเพื่อ พระนิพพาน อันนี้ก็ต้องเผื่อไว้ด้วยว่า หากสมมติว่าตายจากชาตินี้แล้ว ยังไม่ถึงซึ่งพระนิพพานเพียงไร สมมุติว่าเราตาย ถ้าไม่เผื่อไว้ล่ะก็ มันจะขลุกขลัก

ฉะนั้นการอธิษฐานจิต คือตั้งอธิษฐานเขาเรียกว่า อธิษฐานบารมี เจริญกรรมฐานก็ดีถวายสังฆทานก็ดี อธิษฐานว่า

" ขอผลบุญนี้จงเป็นปัจจัย ให้ข้าพเจ้าเข้าถึง พระนิพพาน ในชาติปัจจุบันนี้ แต่ทว่าถ้าหากข้าพเจ้าไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด จะเกิดใหม่ ไปในชาติใดก็ตาม ขอคำว่าไม่มีจงอย่าปรากฏแก่ข้าพเจ้า"

ถ้าเราต้องการอะไร ให้มันมีทุกอย่าง จะไม่รวยมากก็ช่าง เท่านี้ก็พอแล้ว

โดยพระราชพรหมยาณ วัดท่าซุง
จากหนังสือการอุทิศส่วนกุศล หน้า๔-๕










"...#ถ้าเห็นว่าการเกิดเป็นมนุษย์ไม่ดี #เป็นเทวดาไม่ดี #เป็นพรหมไม่ดี เป็นมนุษย์มีทุกข์ เป็นเทวดามีสุข เป็นพรหมมีสุขแต่สุขไม่นาน เราต้องกลับมาเกิดมีทุกข์ใหม่ เราต้องการพระนิพพาน อันนี้พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ตัด ฉันทะ กับ ราคะ ที่มีอยู่ในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลกให้หมดไป นั่นหมายความว่า

#ฉันทะ หมายถึง ความพอใจในการเกิดเป็นมนุษย์ ในการเกิดเป็นเทวดา ในการเกิดเป็นพรหม
#ราคะ หมายความว่า เห็นโลกมนุษย์สวย เทวโลกสวย พรหมโลกสวย อันนี้ไม่มีในจิตของเรา
จิตเรามีความคิดอยู่อย่างเดียวว่า #ต้องการพระนิพพานเพราะเป็นแดนเอกันตบรมสุข เป็นสุขที่หาความทุกข์ไม่ได้ ไม่มีการเคลื่อน

พระนิพพาน เขาเรียกว่า "#แดนอมตะ"
#อมตะ หมายความว่า #ไม่มีการตาย #ไม่มีการไปในทางไหนอีก

#ทีนี้การคิดถึงความตายเป็นอารมณ์ ก็อย่าทำอารมณ์จิตให้เศร้า เพราะว่าคนที่มีจริตไม่เข้าถึง พุทธจริต นี่เศร้า ถ้าพูดถึงความตายก็สิ้นกำลังใจ คิดถึงความตายก็หมดกำลังใจ แต่ว่ากำลังใจของบุคคลที่มีกำลังจิตเข้าถึง พุทธจริต ถ้านึกถึงความตายจะมีความรื่นเริงเป็นปกติ และก็เห็นชีวิตและความตายเป็นของธรรมดา และก็พร้อมที่จะสร้างความดี โดยตั้งใจโดยเฉพาะ มีกำลังจิตโดยเฉพาะว่า ถ้าเราตายคราวนี้ เราจะอยู่ที่ไหน
ถ้าเราเป็นเทวดา เราก็เหยียดมนุษย์ได้ เพราะเทวดามีความสุข ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทิพย์ โรคภัยไข้เจ็บ ความป่วยไข้ไม่สบายไม่มีแก่เทวดา กิจที่ต้องทำมาหากินไม่มีสำหรับเมืองเทวดา เทวดามีความสุขเพราะบุญกุศล
ทีนี้กรรมอันนี้ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนที่นั่งอยู่นี้ ทั้งหมดทำแล้วทุกคน สมบัติอันนี้เป็นของพวกเราแน่ เป็นอย่างต่ำ

#ถ้าหากว่าเราไม่พอใจในความเป็นเทวดา มันยุ่ง เราก็เป็นพรหม เพราะพรหมไม่มีเพศ ไม่มีความรักระหว่างคู่ผัวตัวเมีย ไม่มีผู้หญิง ไม่มีผู้ชาย และก็พรหมอยู่ด้วยกันโดยเฉพาะ เรียกว่าไม่อยู่เป็นคู่สอง วิมานหนึ่งมีพรหมองค์เดียว ที่กล่าวว่ามีพรหมองค์อื่นเป็นบริวารคือต่างคนต่างอยู่ คนละวิมาน และขณะอยู่พรหมก็ทรงอยู่ด้วยกำลังฌานหรือธรรมปิติ มีความสงบสงัดมีจิตเป็นสุข
#นี่ถ้าเราตั้งใจเป็นพรหมก็รักษาจิตให้เป็นฌาน ที่คนที่เขามีจริยาเป็น พุทธจริต มีจิตเป็น พุทธจริต เขาคิดอย่างนี้ เห็นความตายเป็นกีฬาของชีวิต
แต่ว่าไม่ใช่ว่าไปนั่งฆ่าตัวตาย

#คิดไปว่าจะตายเมื่อไหร่ก็เชิญ ก็เกิดมาเพื่อตาย ไอ้การที่จะเชิญให้ตายด้วยจิตสบายเพราะจิตเราพร้อมแล้วที่ทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อความสุขเบื้องหน้า เห็นว่าดีกว่าความเป็นมนุษย์ นี่สำหรับท่านที่มีอารมณ์จิตเป็น พุทธจริต มีอารมณ์จิตอย่างนี้..."

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน






"...เมื่อตัวสมุทัยยังฝังแน่นอยู่ในใจ ก็จะพาให้ใจ
ไปก่อภพก่อชาติในวัฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าทำลายตัวสมุทัย คือ กามตัณหา ภวตัณหา
และวิภวตัณหา ให้หมดไปจากใจได้แล้ว
ความเกิดเป็นภพชาติอีกจะมีมาจากที่ไหน
ถ้าภพชาติไม่มี ความทุกข์ก็หมดสภาพไป
เมื่อใจไม่มีกิเลสตัณหาเป็นเชื้ออยู่
เมื่อนั้นกระแสแห่งพระนิพพานก็จะเปิดรับทันที

คำว่ากระแสแห่งพระนิพพานนั้น
จะมีเฉพาะพระอริยเจ้าเท่านั้นจะเข้าถึงได้
อย่างน้อยเป็นผู้บรรลุอริยธรรมขั้นพระโสดาบัน..."

#ที่มา หนังสือ อัตโนประวัติ
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี
....................................................................


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO