นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 08 ก.ย. 2024 8:11 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: มีคุณภาพ
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 05 ก.ค. 2024 4:55 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4675
“ให้รู้อยู่ตรงนั้น”

..หลักของสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ
ให้มีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของ
กาย เวทนา จิต ธรรม

.การพิจารณาธรรมในแง่ต่างๆ เช่น
พิจารณาขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา
เรียกว่ามีสติอยู่กับธรรม

.ถ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย
เดินยืนนั่งนอน ด้วยสติไม่ส่งจิตไปที่อื่น
เรียกว่ามีสติอยู่กับกาย

.ส่วนใหญ่เราจะทำหลายอย่างควบกันไป
เวลาจะลุกก็เพียงคิดว่าจะลุก
แล้วก็คิดเรื่องอื่นต่อ ในขณะที่กำลังลุก

.กำลังเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน
แต่ในขณะเดียวกัน ก็คิดเรื่องอื่นไปด้วย
อย่างนี้ไม่ใช่สติปัฏฐาน

.ถ้าสติปัฏฐานแล้วต้องอยู่กับ
การยืน การเดิน การนั่ง การนอนอย่างเดียว
“ให้รู้อยู่ตรงนั้น”.

…………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี

จุลธรรมนำใจ ๘ กัณฑ์ที่ ๒๙๘
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐






"การเจ็บปวดเมื่อนั่งสมาธิ พระพุทธเจ้าว่า...
ให้สู้กับมัน มันจึงจะเห็นทุกขเวทนา นั่งสมาธิมันเจ็บให้ดูมัน มันเกิดมาจากไหน
เวทนา มันก็เวทนาต่างหาก ไม่มีตัว
เราก็พิจารณาให้ รู้...เท่านั้นแหละ

ของไม่มีตน มีตัว มันเกิดขึ้น ก็เกิดจากร่างกายเนื้ออย่างหนึ่ง แล้วก็มันรู้สึกถึงจิต
รู้ถึงกัน จิต...ก็ไปยึด ยึดมันก็เจ็บ หนักเข้า
ก็ไม่สู้มัน ต้องสู้...มัน มันจะเห็น

พระพุทธเจ้าว่า...กำหนดให้รู้ทุกข์
ทุกข์ มาจากไหน ทุกข์ มาจากเหตุ
คืออยากเป็น อยากมี ความอยากเป็นอยากมี ความอยาก...มันเกิดมาแต่เหตุ
เหตุมันเกิดมาจากไหน เหตุมาจาก...ความไม่รู้ ไม่รู้...เท่ากาย จนกระทั่งความคิดทั้งหลาย
เข้ามา มันก็ไม่รู้ทั้งนั้น...คือ มันโง่เรียกว่าอวิชชา เป็นเหตุให้สัตว์ผู้ไม่รู้เท่า เกิดความยินดียินร้าย เกิดความพอใจ ไม่พอใจ เกิดความอยากเป็นอยากมี เป็นเหตุให้วนเวียนเรียกว่า...สังสารจักร์วัฏฏกา เวียนอยู่อย่างนั้น...
เป็นเหตุให้เราเวียนเกิดเวียนตายอยู่ ในภพน้อยภพใหญ่

กรรมดี เหมือนพวกคุณหมอก็ดี ไม่เจอะทุกข์ปานใด เกิดมาไม่เสียชาติเกิดเป็นมนุษย์ มิหนำได้เกิดมาพบโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า...
เกิดมาในปฏิรูปประเทศ ประเทศอันสมควร คือประเทศมีพระพุทธศาสนา ประเทศมีนักปราชญ์อาจารย์เพื่อนแนะนำสั่งสอน
ประเทศอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านว่า...เป็นมงคล

พวกท่านทั้งหลาย ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท
อตฺตสมฺนา ปณิธิ ผู้ตั้งตนไว้ในที่ชอบ อาชีพเลี้ยงชีพภายนอกดีโดยชอบธรรม โอวาทคำสั่งสอน ก็ไม่ประมาททุกสิ่งทุกอย่าง มีการจำแนกแจกทาน มีการสดับรับฟัง แล้วก็ปฏิบัติตามดำเนินตามโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ธรรมทั้งหลายมีกาย กับใจเท่านั้นแหละ
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า ใจ ที่มันรู้เท่า
แล้วก็ มีความหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง...
ทางความชั่ว มันก็รู้เท่า แล้วมันก็เอาอยู่นั่นแหละ ไปยึดภพน้อยภพใหญ่ อยู่นั่นแหละ

พวกเรายังนับว่าไม่เสียที
แม้ยังไม่มีความเบื่อหน่าย ก็ยังเป็นผู้ฉลาด เป็น
ผู้เอาทรัพย์สมบัติ คืออริยทรัพย์ให้ได้ให้เกิดให้มีอยู่ในหมู่ของตน อยู่ในสันดานของตนสะสมไว้

อัตภาพร่างกายเป็นของไม่มีสาระแก่นสาร ทรัพย์ภายนอก ก็ไม่มีสาระแก่นสาร
ชีวิต...ของพวกเรา ความเป็นอยู่ ก็ไม่มีสาระ
แก่นสาร เรามาพิจารณารู้อย่างนี้แล้ว...
เราเป็นผู้ไม่ประมาท รีบเร่งทำคุณงามความดีประกอบขึ้น รีบเร่งสะสมอริยทรัพย์...
ศีล ของเราก็บริบูรณ์ไม่มีด่างพร้อย ตามภาวะของตน ศีล ๕ ศีล ๘

เดี๋ยวนี้พวกท่านกำลังอบรมสมาธิ...
กำลังจะเอาทรัพย์อันนี้ เรียกว่า...อริยทรัพย์
ศีล ก็เป็นอริยทรัพย์อันหนึ่ง
สมาธิ ก็เป็นอริยทรัพย์
หมั่นอบรมจิตใจ ปัญญา ก็เป็นอริยทรัพย์
หมั่นอบรมจิตใจ เวลาเราเข้าสมาธิ
จงให้สติ ประจำใจ กำหนดสติ ให้แม่นยำ
รักษาจิตใจของเราให้อยู่...กับที่ และให้จิตใจปล่อยวาง...ทุกสิ่งทุกอย่าง

กิจการงานของเราเคยทำมาอย่างไร ก็ดี
เวลาเข้าที่ ให้ปล่อยวาง...ให้หมด
ความรัก ความชัง อดีต อนาคต วาง...
ปล่อยวาง...ไม่ให้เอาใจใส่เรื่องนั้นๆ
ให้มีสติประจำ ไม่ให้มันไปตามอารมณ์เหล่านั้น

ครั้นควบคุมสติได้แล้ว...
จิต มันอยู่คงที่แล้ว อยู่กับกายของตนแล้ว
ให้มันเห็นกายของตนนั่นแหละ
สิ่งอื่น...อย่าให้มันมาเป็นอารมณ์ของใจ

ครั้น...จะเพ่งเอาอารมณ์ ก็ต้องเพ่งเอาอัตภาพสกนธ์กายของตนนี้ ให้มันเห็น มันกรรมฐาน ๕ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พระพุทธเจ้าแจกไว้
หมดแล้ว ไม่ใช่คน ไม่ใช่คน แต่ไปยึดถือมัน
ผม ไม่ใช่คน ขน ไม่ใช่คน เล็บ ไม่ใช่คน
เราจะมาถือว่า...ตัวว่าตนอย่างไรล่ะ?
ฟัน ก็ไม่ใช่คน ฟัน มันต้องเจ็บต้องคลอน ต้องโยก ต้องหลุด อันนี้...มันไม่ใช่ของใคร

สิ่งเหล่านี้...เป็นของกลางสำหรับให้เราใช้
เราต้องหมายเอาใจไว้เสียก่อน แท้ที่จริง ก็ไม่
ใช่ของเราอีกนั่นแหละ...ถ้าใจ เป็นของเราแล้ว เราบอกว่า...เราบังคับคงจะได้ อันนี้!ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร แล้วแต่มันจะไป....
ถึงคราว...มันจะเป็นมันถือกำเนิดขึ้น มันยังไง
มันก็ไม่ฟัง จะตีมัน...ก็ไม่ฟังอีกแหละ

เพราะเหตุนั้น...
มันจึงไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เราต้องรู้...เท่ามัน
เวลาเราภาวนา...
อย่าให้มันอะไรเข้ามาเป็นอารมณ์ นอกจากสังขารตัวนี้ มันก็ให้เห็นเป็นอนิจจัง ให้เห็นไตรลักษณ์ ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน กระดูก
เห็นเป็นไตรลักษณ์...
แล้วก็ให้เห็นเป็นปฏิกูลสัญญา ของโสโครก
น่าเกลียด ให้เห็นมันเป็นอนัตตา ไม่ใช่...เรา

แล้วก็ไม่ใช่จริงๆ ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน กระดูก ไต หัวใจ ตับ ม้าม พังผืด อาหารใหม่ อาหารเก่า มันไม่ใช่เรา ทั้งนั้น...
ถ้าแจกออกไป ไม่ต้องไปยึดถือนะ ไม่ใช่นะ พระพุทธเจ้าว่า...เรายังไม่ยึดถือว่าผมของเรา ขนของเรา เล็บของเรา ฟันของเรา อันนั้นแหละห้าม

บางที...
จิต ของเรา ใจ ของเรา ถูกกับอันหนึ่งอันใด
ก็เอาอันเดียว เท่านั้นแหละพระพุทธเจ้าแจกไว้ แต่ว่า...จริตของคน นิสัยของคน มันถูกอันไหน ก็เอาอันนั้นแหละ...

จิต...มันหยุด จิต...มันสงบกับพุทโธ
จิตใจ กับพุทโธ มันก็อยู่...กับพุทโธ
อาตมา มันถูกกับพุทโธ ตั้งใจเอาไว้ ปล่อย...
ทุกสิ่ง ทุกอย่าง กำหนดเอาสติรักษาใจไว้
เอาพุทโธ ไม่เผลอสติ...
ให้เห็นพุทโธ ตั้งอยู่...กลางใจนี้
ไม่สบายเลยหาย อาตมา นิสัยถูกกับพุทโธ
บริกรรมอัฐิกระดูก บางทีมัน ก็ถูก ถูกมัน
ก็ปรากฏ เห็นกระดูกหมดทั้งสกนธ์กาย

พระพุทธเจ้าต้องการ ให้จิต...มันเห็นจิต
มันไม่เห็น ให้บริกรรม...ให้เห็น ต้องการให้
มันเบื่อหน่าย ให้มันเห็นว่า...ไม่ใช่ตน สิ่งเหล่านี้ ธาตุทั้ง ๑๘ ก็ดี ล้วนตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งนั้น อายตนะ ก็ดี ตกอยู่ในไตรลักษณ์หมดทั้งนั้น
เรามาสำคัญว่าหู ว่าจมูก ว่าตา ว่าลิ้น ว่ากาย ว่าใจ...เป็นของเรา เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น
นั่ง...ก็ให้มีความเจ็บ
เจ็บบั้นเอว ปวดหลัง ปวดเอว ปวดขาอะไรนั้น

สมาธิ ก็ต้องออก ท่านจึงให้สู้...มัน
ไม่ต้องหลบมัน เราจะสู้...ข้าศึก ก็ต้องอย่างนั้นแหละ ต้องมีขันติความอดทน ทนสู้...กับความเจ็บปวดทุกขเวทนา ดู...มัน
จิต มันถูกอันใด อันหนึ่ง เมื่อเราสกัดกั้น ไม่ให้มันแส่ส่ายไปตามอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น เรียกว่า...กามคุณ ๕

ไม่ให้ไปจดจ่อ อยู่...กับสิ่งเหล่านั้น
แล้วมันจะอยู่ ที่มัน ก็ว่าง...อารมณ์ ไม่มี...
อารมณ์ เข้ามาคลุกคลีดวงจิตแล้ว
จิตตั้งมั่นเรียกว่า...จิตว่าง ไม่มี...อะไรมาพลุกพล่าน เหมือนกันกับน้ำในขัน หรือน้ำ
อยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อมันไม่กระเพื่อมแล้ว...
มันนิ่ง...ก็เห็นสิ่งทั้งปวง อยู่...ในก้นขัน

ต้องเห็น เห็น...อันนี้ เห็นแล้ว...เราต้องสละ
ปล่อยวาง...
มันจะเห็นโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ เรามี เราจะ
ได้พยายามละถอนสิ่งเหล่านี้ออก
ปล่อยจิตว่าง...แล้วจิตสบาย เพราะจิตเป็นหนึ่ง ไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มี...อารมณ์มาฉาบทาดวงจิต

แล้ว...ดวงจิตใส ดวงจิตขาว
จิต...ก็เย็น มีแต่...ความสบาย มีความสุข...
รู้...เท่าสังขาร รู้...เท่าสิ่งทั้งปวง

รู้เท่าความเป็นจริงแล้ว...เกิดอันใดอันหนึ่ง ก็ดี หรือไม่ก็ครบรอบก็ดี เมื่อพิจารณาอันใดอันหนึ่งแล้ว...จิต ของเรา
ไม่มี...ความหวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวง ถึงมรณะ
จะมาถึง ก็ตาม ทุกขเวทนา เจ็บปวดมาถึง ก็ตาม
ไม่มี...ความหวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้น...

เมื่อรู้เท่าความเป็นจริงแล้ว...
ความติฉินนินทา ก็ตาม ไม่มี...ความหวั่นไหว
ต่อสิ่งเหล่านั้น...
เสื่อมลาภ ก็ตาม เสื่อมยศ ก็ตาม เสื่อมสรรเสริญรักชอบ ก็ตาม ไม่เอาใจใส่
เอามาเป็นอารมณ์ มันก็มีความสุข เท่านั้น
จะหาความสุขใส่ตน ก็มีแต่...ฝึกฝนทรมาน
ตนนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าท่านว่า...
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ
ให้ทรมานจิต ฟอกฝนจิตของเรา
ฝนจิตให้มัน ว่าง...ให้มันรู้เท่าความเป็นจริง
ไม่ยึดมั่นถือมั่น

จิตนั่นแหละ จะทำประโยชน์มาให้ในชาตินี้
คือนำความสุข คือนิพพานมาให้ หรือจิตเรา
ยังไม่พ้น ก็จะนำสวรรค์มาให้...
นำเอาความสุขมาให้ตราบเท่าตลอดเวลา
ตราบเท่าชีวิต แล้วมี...สติคติโลกสวรรค์เป็น
ที่ไป."

หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล








สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต)

#ถ้ายิ้มไม่ได้เลยตลอดวัน
#ก่อนนอนต้องหาทางยิ้มให้ได้สักครั้งหนึ่ง
วันหนึ่ง ๆ เพียงทำใจให้เบิกบานผ่องใสได้

ก็เป็น “การปฏิบัติธรรม” แล้ว
.

“ ในวันหนึ่ง ๆ นี้มีบ้างไหม
ที่จิตใจของเรามีความชุ่มชื่นฉ่ำเย็น
เป็นใจที่สบาย ร่าเริง ผ่องใส ปลอดโปร่ง
หรือมีแต่ความเร่าร้อน กลุ้มกังวลใจ

ถ้าหากว่าเวลาแต่ละวันผ่านไป
มีแต่ความกลัดกลุ้ม เดือดร้อน กังวลใจ
ก็แสดงว่าเราเสียแล้ว ไม่ใช่ได้

เพราะใจเราเสื่อม

เราจะต้องแก้ไขปรับปรุงจิตใจเสียใหม่

ที่ว่า.. “แต่ละวันต้องให้ได้อะไรบ้างไม่มากก็น้อย” นั้น

จะต้องได้ความสุขใจ ความร่าเริง
เบิกบาน ผ่องใส ให้แก่ชีวิตนี้บ้าง
.
ทางพระพุทธศาสนาถือว่า
ความร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส
เป็นลักษณะของจิตใจที่เจริญงอกงาม

การทำจิตใจได้อย่างนี้
ก็เรียกว่าเป็น “การปฏิบัติธรรม” แล้ว

ไม่ต้องทำอะไรมาก
เพียงทำใจให้เบิกบานผ่องใสได้
ก็เป็น"การปฏิบัติธรรม"

ทางพระท่านใช้คำว่า...
.
๑. มีปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานใจ
.
๒. มีปีติ อิ่มใจปลื้มใจ
.
๓. มีปัสสัทธิ ผ่อนคลายกายใจ
.
บางคนมีแต่ความเครียดทั้งวัน
ความเครียดเป็นความเสียสุขภาพจิต
เป็นทางเสื่อมของจิตใจ

สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ ปัสสัทธิ
ความผ่อนคลายกายใจ
.
๔. มีความสุข สะดวกใจ คล่องใจ
ไม่มีอะไรมาบีบคั้นจิตใจ

แล้วก็
.
๕. มีสมาธิ มีใจตั้งมั่น สงบ แน่วแน่
อยู่กับสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์
ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน
ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย….

…...เรามาสำรวจดูว่า
ใจของเรานี้มีคุณภาพดีขึ้นไหม

สมรรถภาพจิตใจของเราดี ขึ้นไหม
และสุขภาพจิตเช่นความสุขเบิกบานผ่องใส
อย่างที่ว่ามาแล้วเรามีบ้างหรือเปล่า

อย่างน้อยให้ได้ยิ้มบ้าง

ถ้ายิ้มไม่ได้เลยตลอดวัน

ก่อนนอนต้องหาทางยิ้มให้ได้สักครั้งหนึ่ง

ออกไปยิ้มกับแม่บ้าน
หรือออกไปยิ้มกับพ่อบ้าน

ออกไปยิ้มกับลูกหรือกับใครสักคนหนึ่ง

คิดว่าวันนี้ก่อนวันจะหมดไป
เราจะนอนหลับแล้ว ขอให้เราได้ทางใจบ้าง

ให้ยิ้มออกสักครั้งก็ยังดี

ถ้าทำได้อย่างนี้ แม้ไม่ได้อะไรอื่น

ท่านก็ถึอว่าได้แล้ว

นี่แหละเป็นความหมายของคำสอนที่ว่า
ไม่มากก็น้อย ต้องให้ได้อะไรบ้าง”

#สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์






"คำว่ากรรม คือการกระทำของมนุษย์
ที่พร้อมไปด้วยเจตนา คือ ความตั้งใจว่าจะทำ
จะพูด จะคิด ทีนี้ ในเมื่อทำลงไปแล้ว
จิตเขาบันทึกผลงานเอาไว้โดยธรรมชาติ
บางทีเราเผลอทำความไม่ดีลงไป
ภายหลังเรานึกว่ามันเป็นบาป เราจะกลับมา
เปลี่ยนความคิดว่าฉันทำเล่นๆ ฉันไม่ต้องการ
ผลตอบแทน มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้"

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย





"ถ้าเรากำลังมีปัญหา ก็อย่าไปท้อใจหดหู่ใจ
แต่ให้ปลอบใจตัวเองว่า ถ้าเราอดทน ถ้าเราไม่ท้อถอย
ในที่สุดเราก็ต้องผ่านอุปสรรคนี้ได้ เพราะ
พระพุทธองค์ทรงยืนยันได้ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
อันนี้เป็นกฏตายตัวของธรรมชาติ

พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ





“…ขอให้ทุกท่าน จงเห็นว่าความคิดที่แตกต่างกัน
เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงาน ถ้าหากว่าทุกท่านหวังดีต่อองค์กรแล้ว ความแตกต่างทางความคิดย่อมไม่ใช่ภัยอันตราย เพียงแต่ต้องปรับความเข้าใจกันด้วยความอดทน และด้วยความเมตตา

อย่างไรก็ตาม ขอให้ระมัดระวังการวิวาทบาดหมาง จนถึงขั้นผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้าย นั่นจัดเป็นภัยใหญ่หลวง
ที่จะทำลายทั้งตนเองและส่วนรวม ให้ย่อยยับไปได้ในที่สุด

ถ้าท่านทั้งหลายมีสติระลึก รู้อยู่ในความสามัคคีเสมอ
อาตมภาพก็ขอรับประกัน ด้วยธรรมะของพระพุทธองค์
ว่าภัยร้ายหรือความเสื่อม จะไม่มีวันบังเกิดขึ้นกับหมู่คณะ
ท่านจะประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป… ”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชฯ






"ทุกข์ในการหาอาหารเลี้ยงชีพนั้นอย่างหนึ่ง
ทุกข์ด้วยจิตใจอย่างหนึ่ง คนรวยทุกข์กว่าคนจน
ก็มีถมเถไป ไม่ใช่ว่าคนรวยจะสุขเลยทีเดียว

เหตุนั้น.. พุทธศาสนาจึงสอนทุกชั้นทุกหมู่
ทั้งคนจนคนมีให้มีที่พึ่งทางใจ คือหัดทำความสงบ
อบรมใจ ให้มีเวลาพักผ่อน

ถ้าทุกข์กลุ้มใจอย่างเดียว ก็ไม่มีหนทาง
จะพ้นจากทุกข์ได้ คนถือพุทธศาสนา
ถึงแม้จะทุกข์กาย แต่เขายังเบิกบานใจอยู่
เพราะเขามีที่พึ่งทางใจ"

หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี





“เรื่องความตาย เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะฉะนั้นพวกเราท่านทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่อย่าลุ่มหลง เลินเล่อ มัวเมา จนเกินไป ควรประกอบคุณงามความดี สั่งสมบุญกุศลเอาไว้ชีวิตของเรามันไม่รู้จะวันไหนล่ะ อย่าตั้งอยู่ในความประมาท ควรประกอบคุณงามความดีไปเรื่อยๆ ถึงคราวตายแล้ว จะทำยังไงได้ เกิดมาแล้วก็ต้องตาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา

แต่ว่าถ้าเราไม่เตรียมกาย เตรียมใจไว้ ถึงเราจะพูดว่าธรรมดา ธรรมดา ขนาดไหนก็เถอะ เวลาจะตายมาไม่ใช่ธรรมดานะ มันว้าเหว่ อ้างวาง เงียบเหงา เป็นทุกข์ใจไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ถึงคราวมรณะภัยมาถึง เพราะฉะนั้นขอให้พวกเรา ให้เตรียมพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ ดีกว่า คิดไว้ ทำไว้ ทดลองตัวเองตายไว้ มองที่ไหนก็คิดว่าตาย ไม่เป็นอย่างอื่น

แต่ว่าก่อนที่จะตายนี้ เราควรจะทำคุณงามความดีอันไหนไว้บ้าง ไม่ใช่ว่าจะตายแบบ ห่วงคนนั้น ห่วงคนนี้ ห่วงทรัพย์สมบัติห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงญาติพี่น้อง ห่วงพ่อห่วงแม่ เรื่องเหล่านั้นมันเป็นเรื่องกิเลสทั้งหมด ถึงจะห่วงขนาดไหนก็ห่วงเถอะ เอาไปด้วยไม่ได้หรอก ถ้าว่าตาย ก็ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างไป ไปของใครของเรา เราต้องตัดความห่วงไว้ในใจ มันต้องฝึกหัดในใจของเราลึกๆ อย่างนั้น เราต้องตัดอย่างนั้น กรรมของข้าทำมา ทำดีหรือทำชั่ว ถ้าเราทำกรรมดีไว้แล้ว เราจะต้องไปดี ถ้าเราทำกรรมชั่ว เราก็ต้องไปชั่ว เพราะฉะนั้นเราต้องพยายาม สั่งสมแต่คุณงามความดี แต่กรรมดี ถ้าคนที่มีกรรมดีแล้ว มีแต่ความสบายใจ มีความสุขใจในที่สุดนะ”

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO