"..คำว่า ธรรมเจริญนั้น เจริญที่ใจของผู้ประพฤติธรรม ใจมี หิริโอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาปกรรมอันลามก ไม่ชินชา ไม่สนิทติดใจในบาปว่าจะพาให้ดีวิเศษวิโสใดๆ ความประพฤติการกระทำมีขอบเขตเหตุผลในสิ่งที่ควรหรือไม่ควร จิตใจมีความเมตตาสงสารเพื่อนมนุษย์และสัตว์ด้วยกัน ไม่ดูถูกเหยียดหยาม ไม่กดขี่ข่มเหง ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่คดโกงรีดไถ รู้ใจท่านใจเรา สมบัติท่านสมบัติเรา ไม่ล่วงล้ำกล้ำกรายสมบัติและจิตใจของกันและกัน การงานเพื่อตนและส่วนรวมก็สะอาดสุจริต ผลเกิดขึ้นก็สมบูรณ์ไม่รั่วไหลแตกซึม ปฏิบัติได้เพียงที่กล่าวมาก็เรียกว่าธรรมเจริญในหมู่ชน สังคมย่อมสงบเย็นทั้งส่วนใหญ่ส่วนย่อย เมื่อต่างคนต่างสนใจบำรุงรักษาปฏิบัติธรรมขึ้นที่ใจ ไม่ปล่อยปละละเลยดังที่เป็นและเห็นๆ กันอยู่.."
โอวาทธรรมโดย หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (พ.ศ.๒๔๓๑-๒๕๒๖)
นี้นานละที่ไม่เคยเห็นอย่างนี้ นานมาก นาน ๆ ได้เห็นทีหนึ่ง (เกิดปรากฏการณ์หมอกฝน)
ไม่ควรจะยินดีกับมัน ไม่ควรจะยินร้ายกับมัน ไม่ควรจะ ไม่ควรสักอย่าง ไม่ควรสักอย่างเดียว ยินดี ก็ผิดธรรม เขาไม่มาเกี่ยวอะไรด้วยจะยินดีทำไม ยินร้ายก็ผิด เขาไม่มาอะไรด้วย จะยินร้ายทำไม กระเทือนใจตัวเองทุกอย่าง …
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาอย่างนี้ ไม่ได้มีความหมายกับผู้ใด เพื่อผู้ใด ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น เกิดดับก็ดับไป ไม่เคยกลัวใคร ไม่มีความหมายกับอะไร ดับไปธรรมดา ๆ เฉย ๆ
เนี่ยความหมายท่าน คือ ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ๆ ความดับไปเป็นธรรมดา ไม่เกี่ยวอะไรทั้งนั้นแหละ ไม่เกี่ยวกับผู้หนึ่งผู้ใด สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่เกี่ยวเลย เธอไม่รู้เอง เธอก็ไปเกี่ยวกับเขา เธอก็ยินดี เธอก็ยินร้าย กระเทือนหัวใจตัวเองทั้งนั้น เขาไม่ได้มาทำอะไรให้เลย เรื่องเกิดเพราะตัว ไม่ได้เกิดเพราะเขา จะเกิดเรื่องมากเรื่องน้อย อยู่ที่ตัวทั้งนั้น เขาไม่เกี่ยวด้วยเลย
ดูสิ่งนี้ ดูสิ่งอื่น ดูให้มันรอบ ดูตัวเอง เหมือนกันไหม ท่านถึงว่า เหมือนกันทุกอย่าง ทุกอย่างมีความเกิดเป็นธรรมดา ทุกอย่างมีความดับเป็นธรรมดา ทุกอย่างจริง ๆ ถึงได้สิ้นสงสัย
ความสงสัยมี่มาปิดบังหัวใจอยู่ ใจไขว่คว้าโน้นคว้านี้ ดิ้นรนแบบโน้นแบบนี้ เมื่อทุกอย่างเป็นแบบนี้แล้ว มันจะหยุดดิ้นหยุดรนเลย เป็นไปเพื่อความดับทุกข์อย่างเดียว
โอวาทธรรม
#พระอาจารย์วันชัย วิจิตฺโต วันสังโฆญาณวิสุทธิโสภณ (วัดภูสังโฆ) อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗
อย่าอิจฉาริษยากัน อย่าใส่ร้ายป้ายสีกัน ยุยงให้เกิดความแตกแยก
ถ้าใครที่รู้ตัวว่าเป็นอย่างนั้น ให้เปลี่ยนตัวเองน่ะ เพราะผู้ที่ทำอย่างนี้ หนีไม่พ้นที่จะได้อยู่ในที่มีภัยสงคราม ถูกกับระเบิด ถูกปืนที่เขายิง ระเบิดที่เขาทิ้ง จะเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส จะเป็นคนที่ทนทุกข์ทรมาน น่าเวทนาที่สุด นี่แหละผลของกรรม...
โอวาทธรรม #หลวงปู่ทุย ฉนฺทกโร
"..บุคคลผู้มีสติปัญญาดี เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังพระสัจธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เขาย่อมเป็นผู้มีจิตแสนฉลาด รู้ความหมายมีศรัทธาเลื่อมใส เข้าใจในอรรถในธรรม เขาทำแต่กรรมดี ละกายทุจริต ดังจิตเจตนา เว้นห่างจากบาป เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมยเอาข้าวของของผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดมิจฉาทางกาม ไม่พูดความเท็จ พูดแต่ความจริง ไม่พูดส่อเสียดให้เกิดความทะเลาะแตกความสามัคคีต่อกันไม่พูดคำหยาบ ไม่แสลงหู ทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจดี ไม่มีภัยในคำพูด พูดมั่นคงมีหลักฐาน ไม่เป็นคำเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้ประโยชน์ เป็นวาจาสะอาด นักปราชญ์นิยมชมชอบ.."
ภูริทตฺตวาท พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
"...การตั้งจิตแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ กะคือกันกับเฮาโยนหินลงน้ำนิหล่ะ แฮงคลื่นมันกะค่อยกะเพื่อมออกไปจนสุดฝั่ง
อำนาจแห่งความเมตตากะคือกัน กระแสจิตเฮาฮอดใส เขากะได้ทั่วฮอดนั้น..."
โอวาทธรรม #หลวงปู่ปั่น สมาหิโต (อายุ ๙๘ ปี) สำนักสงฆ์ศรีอุทัย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
…จิตก็เป็นเหมือนเครื่องมือของปัญญา เป็นมีด พอใช้ไปมากๆแล้วก็จะทื่อ ต้องเอาจิตไปลับในสมาธิ ไปพักในสมาธิ
.ตอนนั้น ก็ไม่ต้องกำหนดเรื่องการเกิดแก่เจ็บตาย ตอนนั้นต้องการให้นิ่งอย่างเดียว ไม่ให้คิดปรุงแต่งอะไรเลย
.วิธีไหนที่ถนัดทำจิตให้สงบก็ใช้วิธีนั้น ถ้าถนัดกับพุทโธก็ใช้พุทโธ ถ้าถนัดกับอานาปานสติก็ใช้อานาปานสติ ให้จิตได้พัก
.พอจิตสงบก็ปล่อยให้พักไปตามที่จิตต้องการ พออิ่มแล้วก็จะถอนออกมาจากสมาธิเอง พอถอนออกมา ก็นำเอามาพิจารณา เรื่องความแก่ความเจ็บความตายต่อ
.ทำไปจนกว่าปัญหาความแก่ ความเจ็บ ความตายจะหมดไปจากใจ ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ไม่วิตกกังวล หวาดกลัวเศร้าโศกเสียใจอีกต่อไป
.ถ้าอยากจะรู้ว่าหมดจริงหรือไม่ ก็ต้องไปหาสนามสอบดู สนามที่ท้าทายต่อความเป็นความตายดู ดูว่าจะนิ่งเฉย ไม่หวั่นไหว ไม่หวาดกลัวหรือไม่.
………………………………………… . พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี จุลธรรมนำใจ ๑๙ กัณฑ์ที่ ๔๐๔ วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๒
#ปุพเพกตปุญญตา "..บุคคลทุกคนซึ่งได้เกิดมาเป็นมนุษย์ประกอบด้วยความสุขของมนุษย์ น้อยหรือมากและได้พบพุทธศาสนาอันแสดงสัจจะธรรมธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริง จงทำให้ได้ทราบข้อปฏิบัติต่าง ๆ สำหรับที่จะได้เพิ่มพูนบารมีคือความดี อันได้กระทำไว้แล้ว ซึ่งเรียกว่า "ปุพเพกตปุญญตา" ความเป็นผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้วในกาลก่อนมาอุปถัมภ์ ตั้งต้นแต่ให้บังเกิดเป็นมนุษย์ และให้เจริญมาตามควรแก่ฐานะนั้น ๆโดยลำดับจนถึงปัจจุบันของทุกคน
อันความดีที่เป็นบารมีนี้ก็ตรงกับความชั่วที่เป็นอาสวะ อันคำว่าอาสวะและบารมีนี้คู่กัน ดังจะพึงกล่าวเป็นคำไทยง่าย ๆ ว่า
บารมี นั้นคือเก็บดี อาสวะ คือเก็บชั่ว
กรรมที่ทุกคนกระทำอยู่ เป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม ทางกาย ทางวาจา ทางใจ
เมื่อกระทำแล้วคราวหนึ่ง ๆ กิริยาที่ทำนั้นก็ล่วงไป เสร็จไป แล้วไป แต่ว่ายังเก็บความดีความชั่วอันเนื่องมาจากกรรมที่กระทำนั้นไว้อยู่
ถ้าเป็นส่วนชั่วก็เป็นอาสวะ เก็บชั่วเอาไว้ ถ้าเป็นความดีก็เป็นบารมี คือเก็บดีเอาไว้
หากประกอบกรรมที่ชั่วอยู่บ่อย ๆ ก็เก็บชั่วเอาไว้มาก เพิ่มพูนขึ้น ถ้ากระทำกรรมที่ดีไว้บ่อย ๆ ไว้มาก ก็เก็บดีเอาไว้มาก ก็เป็นบารมีเพิ่มพูนขึ้น เพราะฉะนั้น อาสวะและบารมีนี้จึงเป็นส่วนที่ยังเหลืออยู่ไม่เสร็จไป ๆ เหมือนดังกิริยาที่กระทำที่เสร็จไปแล้วไปเลิกไป เป็นคราว ๆ
และคำว่าบารมีหรืออาสวะนี้ ที่เป็นเก็บดีหรือเก็บชั่วดังกล่าว ก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากรรมได้เหมือนกัน เพราะกิริยานั้นทำคราวหนึ่ง ๆ ก็แล้วไปเสร็จไป เลิกไป แต่ว่ากรรมที่เป็นส่วนดีส่วนชั่วนั้น ยังติดอยู่ยังเหลืออยู่
เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่า
สัตว์ที่จะต้องตายถือเอาบาปบุญที่กระทำไว้แล้ว..ไป อันบาปบุญที่กล่าวนี้ก็หมายถึงกรรมนั้นเอง กรรมที่เป็นบาปเป็นบุญที่ได้กระทำไว้แล้ว..ไป
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ากรรมได้อีกชื่อหนึ่งซึ่งเป็นคำที่เรียกกันทั่ว ๆไป และอาจจะแยกส่วนดีเป็น บารมี ส่วนชั่วเป็น อาสวะ.."
พระโอวาทธรรมคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ อ้างอิงที่มาของบทความคัดลอกบางตอนจาก "วิมุตติจิต"
|