#บุญที่ยิ่งใหญ่
มีคนจำนวนไม่น้อย ที่รู้อยู่ว่า การดูแลพ่อแม่นั้นเป็นบุญอย่างหนึ่ง
แต่ก็ยังนิยมทำบุญกับพระ มากกว่าที่จะทำบุญกับพ่อแม่
เหตุผลก็เพราะว่า.. การทำบุญกับพระนั้น ทำได้ง่ายกว่า
กล่าวคือ.. เพียงแต่ถวายเงินเท่านั้น และใช้เวลาไม่นาน
ขณะที่การทำบุญกับพ่อแม่นั้น ต้องใช้ทั้งแรงและเวลา เช่น ช่วยทำงานบ้าน ล้างจาน ทำอาหารให้กิน
หากท่านเจ็บป่วย.. ก็ต้องเช็ดตัว ป้อนข้าว บางครั้งก็ต้องอุ้มขึ้นและลงเตียง
คนทุกวันนี้.. ชอบอะไรที่สะดวก ง่าย และเร็ว
การทำบุญกับพระจึงเป็นที่นิยม มากกว่าการทำบุญกับพ่อแม่
มีหลายคนให้เหตุผลว่า.. การไปทำบุญที่วัด หรือการไปปฏิบัติธรรม ก็เป็นการช่วยพ่อแม่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ส่งบุญไปให้ท่าน
บางรายพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเจ็บป่วย แทนที่จะช่วยพยาบาลท่าน กลับเลือกที่จะไปปฏิบัติธรรมนานเป็นเดือน
แล้วใช้วิธีแผ่เมตตา หรือส่งบุญมาให้ท่านเพื่อให้หายป่วยไว ๆ
การทำบุญนั้น.. มีความหมายกว้างขวางกว่าการให้ทาน และการช่วยเหลือผู้คนนั้น เราสามารถทำได้มากกว่าการส่งบุญไปให้เขา
แต่ดูเหมือนว่า.. ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมาก กำลังใช้การทำบุญเป็นข้ออ้าง ในการหลีกเลี่ยงการทำความดีขั้นพื้นฐาน
มิใช่แค่ละเลยการทำดี ต่อผู้ประสบทุกข์ที่เป็นคนแปลกหน้าเท่านั้น หากยังละเลยที่จะกตัญญูต่อบุพการีหรือผู้มีพระคุณ...
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
"เรื่องของใจมันพาให้วุ่นคิดโน่นคิดนี่ ไปคิดไปติดกับคนนั้นคนนี้ มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ดูหัวใจตัวเอง ถ้าดูหัวใจตัวเองแล้ว จะไม่เป็นอย่างนั้น
นี่คิดดูสิ ดีก็อยู่ที่ปากเขา ชั่วก็อยู่ที่ปากเขา เขาติฉินนินทา ก็อยู่ที่ปากเขาโน่น เราไม่เอามาเป็นอารมณ์ ก็ไม่มีอะไรๆ ล่ะ
คนที่มีธรรมเป็นอย่างนั้นนะ มีแต่คนไม่มีธรรมนั่นล่ะ ที่วิ่งวุ่นอยู่ตลอดเวลา หากอบรมแล้ว จิตมันจะลงพรึ่บเลย ได้กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบครูบาอาจารย์เท่านั้น"
หลวงปู่ลี กุสลธโร
“จงคิดอยู่เสมอว่าเรามีเวลา เหลืออยู่แค่วันนี้ หรือชั่วโมงนี้ จะได้รีบกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มิใช่มานั่งโกรธ นั่งเกลียด นั่งคิดริษยากัน เสียเวลาโดยเปล่าประโยขน์”
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
โอวาทที่ท่านอาจารย์มั่นมาเตือนหลวงปู่ขาวในสมาธิภาวนา "ความเป็นอาจารย์คนนั้นสำคัญมาก จึงควรพิจารณาด้วยดี อาจารย์ผิดเพียงคนเดียวอาจพาให้คนอื่นๆ ผิดไปด้วยเป็นจำนวนมากมาย อาจารย์ทำถูกเพียงคนเดียว ก็สามารถนำผู้อื่นให้ถูกด้วยไม่มีประมาณเช่นเดียวกัน ท่านควรพิจารณาเกี่ยวกับความเป็นอาจารย์ของคนจำนวนมากให้รอบคอบ เพื่อคนอื่นจะมีทางเดินโดยสะดวกราบรื่นไม่ผิดพลาด เพราะความยึดเราเป็นอาจารย์สั่งสอน คำว่า“อาจารย์”ก็คือผู้ฝึกสอนหรืออบรมกิริยาความเคลื่อนไหวที่แสดงออก แต่ละอาการควรให้ผู้อาศัยยึดเป็นหลักดำเนินได้ไม่เป็นกิริยาที่แสดงออกจากความผิดพลาด เพราะขาดการพิจารณาไตร่ตรองก่อนแสดงออกมา พระพุทธเจ้าที่ว่าทรงเป็นศาสดาสอนโลกนั้นมิได้เป็นศาสดาเพียงเวลาแสดงธรรมให้พุทธบริษัทฟังเท่านั้น แต่ทรงเป็นศาสดาของโลกอยู่ทุกอิริยาบถ ทรงสีหไสยาสน์คือนอนตะแคงข้างขวาก็ดี ประทับนั่งก็ดี ประทับยืนก็ดี เสด็จไปในที่ต่างๆ แม้ที่สุดเสด็จภายในวัดก็ดี ล้วนเป็นศาสดาประจำพระอาการอยู่ทุกๆ อิริยาบถ พระองค์ไม่ทรงทำให้ผิดพลาดจากความเป็นศาสดาเลย ผู้มีสติปัญญาชอบวินิจฉัยไตร่ตรองอยู่แล้ว ย่อมยึดเป็นคติตัวอย่างเครื่องพร่ำสอนตนได้ทุกๆ พระอาการที่ทรงเคลื่อนไหว"
จากหนังสือชีวประวัติของหลวงปู่ขาว อนาลโย โดยพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
ความเข้าใจ เรื่อง...“ ศีล ” ...สมเด็จพระญาณสังวร...
“ ศีล เป็นตัวปกติภาพของคนโดยแท้ แต่คนโดยมากมักควบคุมตัวเองไว้ไม่ได้ จึงรักษาปกติภาพของตนไว้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีลเป็นขอบเขตของความประพฤติไว้ เพื่อช่วยให้คนรักษาปกติภาพของตนไว้นั่นเอง
ส่วนที่ต้องรับจากพระนั้น ก็เป็นเพียงวิธีชักนำอย่างหนึ่ง เพราะโดยตรงศีลนั้นต้องรับจากใจของตนเอง คือใจของตนเองต้องเกิด " วิรัติ " ทั้ง ๓ ข้อ เมื่อใจมีวิรัติขึ้น แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ก็เกิดเป็นศีลขึ้นทันที
" วิรัติ " ๓ นั้น คือ ความเว้นได้ในท้นทีที่เผชิญหน้ากับวัตถุ ๑, ความเว้นได้ด้วยตั้งใจถือศีลไว้ ๑, และ ความเว้นได้เด็ดขาดทีเดียว ๑
เมื่อจักถือศีลก็ไม่ต้องไปที่ไหนอื่น ถือที่กาย วาจา จิต นี้แหละ วัดก็ดี ป่าก็ดี เป็นอุปกรณ์ที่ให้ความสะดวกแก่การถือเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อหวังจะถือให้สะดวกจึงสมควรไปวัด เข้าป่า หรือสถานที่อันสมควรอื่นๆ
พระพุทธเจ้าทรงแสดงศีลเป็นคำสอน ศีล คือปกติ กาย วาจา และจิต ถ้าปล่อยกาย วาจา จิต ให้ผิดปกติ แม้จะรับสิกขาบท ๕ ข้อ(ศีล ๕)ก็ตาม ถ้าไม่ปฏิบัติตามสิกขาบทก็ถือศีลไม่ได้ #เพราะสิกขาบทหยาบกว่าศีล เมื่อทำดีอย่างหยาบๆยังไม่ได้ แล้วจะทำดีอย่างละเอียดได้อย่างไร
การรับศีลนั้น แม้จะเป็นการรับจากพระภิกษุ แต่ถ้าเป็นการรับเพียงด้วยปาก ใจไม่ได้คิดงดเว้นอะไร ก็ไม่เกิดเป็นศีลได้ ตรงกันข้าม ถึงแม้มิได้รับศีลจากพระภิกษุ แต่มีใจงดเว้น ก็เกิดเป็นศีลได้ ”
#_สมเด็จพระญาณสังวร หมายเหตุ : " วิรัติ " คือ ความเว้น, งดเว้น; เจตนาที่งดเว้นจาก ความชั่ว; วิรัติ ๓ คือ ๑. สัมปัตต วิรัติ เว้นได้ซึ่งสิ่งที่ประจวบเข้า ๒. สมาทาน วิรัติ เว้นด้วยการสมาทาน ๓. สมุจเฉท วิรัติ เว้นได้โดยเด็ดขาด
#ถ้าไม่มีความสัจ_จะเอาอะไรไปสู้กับกิเลส
" นั่งลงไป ตอไม้เป็นอย่างไร ให้ทำอย่างนั้น นั่งลงไป ตอไม้เป็นอย่างไร ให้เป็นเหมือนตอไม้ เคยเห็นตอไม้มันขยับไหม ตอไม้มันโยกมันคลอนไหม นั่งลงไป ดูตอไม้เป็นแบบฉบับ
พระพุทธเจ้าท่านนั่งลงไปไม่ตรัสรู้ไม่ลุกจากที่ เราๆนี่จิตไม่สงบ จิตไม่ปล่อยวางอารมณ์ที่คั่งค้างอยู่ในจิตในใจนี้จะไม่ลุกจากที่ กามฉันท์ ความพอใจในสิ่งที่ใคร่ทั้งหลาย พยาบาท ความไม่พอใจในสิ่งที่ไม่พอใจทั้งหลาย ความง่วง ความมืด ความอ่อน ความเพลีย ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย ถ้ามันยังตกค้างจะไม่ลุกจากที่กี่ชั่วโมงกี่วันไม่พูดมันล่ะ
ตั้งความสัจลงไป เมื่อได้ตั้งความสัจลงไปแล้ว พลังมันเกิด สติมันเป็นพลังขึ้นมา ปัญญามันเป็นพลังขึ้นมา ความเพียรมันเป็นพลังขึ้นมา เพียรในที่นี้คือ เพียรหาช่องทาง เพียรหาอุบาย เพียรศึกษาพิจารณาธรรมที่จะกำจัดอารมณ์ที่คั่งค้างอยู่นั้น ต้องตั้งความสัจลงไป พลังจึงเกิด ถ้าไม่เกิดจะเอาอะไรไปชนะกิเลส..."
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร ) วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
จงทำ “ใจ” ให้เหมือน “แผ่นดิน” เพราะว่าแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้เคยโกรธใครทำอะไรใครเลย
จงทำ “ใจ” เหมือน “น้ำ” เพราะธรรมดาของน้ำย่อมเป็นของสะอาด ชำระของสกปรกได้ทุกเมื่อและเป็นของดื่มกิน เพื่อมีชีวิตช่วยเหลือแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จงทำ “ตน” ให้เหมือน “ผ้าเช็ดเท้า” เพราะธรรมดาของผ้าเช็ดเท้า ย่อมไม่มีความรักความชัง ฉันใด ใจเราก็ทำเหมือนกัน ฉันนั้น...
คำสอนหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู
” ทำไปเถิด ทานศีลภาวนา “
เวลาทำบุญก็จะสร้างกำลังของบุญให้มากขึ้น เวลาทำบาป ก็จะสร้างกำลังของบาปให้มากขึ้น บุญกับบาปจะต่อสู้กัน ถ้าบุญมีกำลังมากกว่า ก็จะสร้างสวรรค์ ถ้าบาปมีกำลังมากกว่าก็จะสร้างนรก พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป จะไม่สร้างบาปจะสร้างแต่บุญอย่างเดียว กำลังบุญจึงมีมากกว่า ทำให้จิตของท่านสูงขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงพระนิพพาน พอถึงพระนิพพานแล้ว บุญก็จะไม่เสื่อมหมดกำลัง ถ้าสร้างบุญในระดับทานศีลสมาธิจะเสื่อมได้ ถ้าสร้างบุญในระดับปัญญาจะไม่เสื่อม ได้บุญขั้นไหนแล้วก็จะไม่เสื่อมลงมา ถ้าได้บุญระดับโสดาบัน ก็จะอยู่ในระดับโสดาบันไป ไม่มีวันเสื่อมลงมาเป็นปุถุชน ถ้าได้ขั้นอนาคามี ก็จะอยู่ในขั้นของพระอนาคามี ถ้าได้ขั้นของพระอรหันต์ ก็จะอยู่ในขั้นของพระอรหันต์ บาปเก่าๆจะไม่มีกำลังพอที่จะผลิตผลให้เกิดขึ้นในใจได้ เพราะบุญมีกำลังมากกว่า การต่อสู้ระหว่างบุญกับบาปมีอยู่ภายในใจตลอดเวลา หลวงตาท่านว่ากิเลสกับธรรมเป็นคู่ต่อสู้กัน ถ้าสร้างพลังธรรมให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อไปกิเลสจะไม่สามารถผลิตผลบาปให้กับเราได้ จะผลิตแต่บุญอย่างเดียว อย่างพระโพธิสัตว์ ทุกภพทุกชาติที่ท่านกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ จะมาทำบุญเสมอ แล้วก็จะกลับไปเกิดเป็นเทพ แล้วก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์มาสร้างบารมีใหม่ เช่นพระเวสสันดร ท่านกลับมาเกิดเป็นมนุษย์สร้างทานบารมีอย่างเต็มที่ พอตายไปท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ พอลงมาจากสวรรค์ ก็มาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ มาสร้างบุญใหม่อีก สร้างอย่างเต็มที่เลย จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ทำบุญไปเรื่อยๆ ไม่ขาดทุน ทำไปเถิด ทานศีลภาวนา ทำได้เท่าไรเป็นของเราหมดเลย บุญจะผลิตแต่สวรรค์ ผลิตแต่ความสุข จะไม่ไปเกิดในอบาย เพราะกำลังของบุญจะมีกำลังมากกว่าบาป เหมือนชักเย่อกัน ถ้าข้างหนึ่งมีคนเดียว อีกข้างหนึ่งมี ๕ คน จะไปทางไหน ถ้าไม่ไปทาง ๕ คน ถ้าทำบุญ ๕ ครั้ง ทำบาปครั้งเดียว บุญก็ต้องมีกำลังมากกว่า ถ้าทำบาป ๕ ครั้ง ทำบุญครั้งเดียว บาปก็จะมีกำลังมากกว่า พวกเราชอบทำบุญ ชอบรักษาศีล ชอบภาวนากันอยู่แล้ว ต้องไปสู่สุคติอย่างแน่นอน.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๒๗ กัณฑ์ที่ ๔๒๙ วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๔
|