ธรรมะหลวงปู่ดุลย์ อตุโล สอนเรื่องจิตก่อนตาย
เรื่องจิตก่อนตายนั้น สำคัญมากหากเวลาดับจิต หากจิต"ดี" ก็ได้ไปที่ "ดีๆ"หากจิต “หมอง” จิต “ร้าย” ก็จะไปสู่ “อบายภพ” ที่ร้อนร้ายในทันใด ซึ่งจิตก่อนตายนี้ เป็นของไม่แน่นอน บังคับไม่ได้ แล้วแต่วาระหรือกรรมจะพาให้เป็นไป ด้วยเหตุนี้บางคน แม้เคยทำบุญมามากต่อมากแต่ตายไปกลับไปตกนรกทั้งนี้เป็นเพราะ"จิตหมอง"ก่อนตาย บางคน แม้จะทำบาปทำกรรมมามากมาย แต่ตายไป กลับไปอยู่บนสวรรค์ทั้งนี้เพราะเกิด"จิตใส"ตอนดับจิต
กรณีทั้งสองแบบ ล้วนมีบันทึกไว้ในพระไตรปิฏกมาแล้วทั้งสิ้นแต่สำหรับคนที่เคย"ฝึกจิต"มาก่อนวินาทีที่รู้ตัวว่า อย่างไรเสียจะต้องตายหรือดับจิตลงไปแน่ๆหาก"ทำเป็น" ก็อาจพลิกจิตยกขึ้นสู่ภูมิสูง ไปสู่"สุคติ"หรือ"อริยะ" ไป "สุคติภพ"หรือ"อริยภูมิ" เลยก็ได้สำหรับวิธีตกกระไดพลอยกระโจน (สู่สุคติภพหรืออริยภูมิ)ของพระราชวุฒาจารย์หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม สุรินทร์ ก็คือ
ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันอยู่กับความไม่มีไม่เป็น ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาจิต ไม่มีอะไรเลยไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง
พระอริยเจ้ามีจิตไม่ส่งออกนอกจิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อมมีสติอย่างสมบูรณ์เป็น วิหารธรรมมีสติอย่างสมบูรณ์ เป็นเครื่องอยู่วิธีทำหยุดคิด อย่าส่งจิตออกนอกมีสติอย่างสมบูรณ์เป็นเครื่องอยู่แต่เรื่องของการ"พลิกจิต" ช่วงสุดท้ายนี้ หลวงปู่ดุลย์ท่านว่าบุคคลนั้นๆต้องเคย"ฝึก"มาก่อน จึงจะทำได้จริง พอดี
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
ชอบกินมาก ก็ให้กินน้อย ชอบนอนมาก ก็ให้นอนน้อย ชอบพูดมาก ก็ให้พูดน้อย ถ้าจะเป็นนักปฏิบัติ ก็อย่าตามใจกิเลส
หลวงพ่อไพทูรย์ ขันติโก วัดสุภัททมงคล อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
อย่าลืม “พุทโธ” นะลูกหลาน ค่ำว่าพุทโธนี้แหละสะเทือนไปถึงสามแดนโลกธาตุนะ
ไปที่ไหนก็อย่าลืมพุทโธ ภายในใจให้พุทโธ พุทโธ เสมอไป ใจจะสงบเย็นเป็นสุขอยู่กับตัวตลอดกาลสถานที่
โอวาทธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
โยมบางคน..ไม่มีเงินแม้แต่จะกิน จะเอาที่ไหนไปทำบุญ. "การทำบุญ ไม่ได้ต้องการเงินมาก" แต่ต้องการ จิตที่ตั้งใจ จะทำมากกว่านะโยม ทุกอย่าง...จิตนั้นสำคัญที่สุด
#คติธรรม- #หลวงพ่อจรัญ_ฐิตธมโม
"การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้ หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสงและคำบริกรรม เช่น พุทโธ อรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน เมื่อจิตรวม สงบ แล้วคำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือมี วิมุติ เป็นแก่น มี ปัญญา เป็นยิ่ง"
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
โยม: หลวงปู่เจ้าขา ทำไมศาสนาพุทธถึงมีแต่ให้ทาน เดี๋ยวก็ถวาย เดี๋ยวก็ถวาย นี่อย่างวันนี้ก็ถวายเทียน ถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายผ้าป่า กฐิน มีแต่ถวายเต็มไปหมด แสดงว่าจะได้บุญมา ต้องเสียเงินเสียทองสิเจ้าคะ
หลวงปู่: อือ บุญเป็นชื่อของความสุข ทำแล้วทุกข์ อย่าทำ
โยม: โยมก็ไม่ได้ทุกข์ แค่สงสัยว่า ทำไมศาสนามีแต่การให้ทาน
หลวงปู่: การทำบุญในพระศาสนาน่ะมีหลายแบบ มีหลายระดับ ระดับทาน ระดับศีล ระดับภาวนา คนใจยังไม่สูง ก็มัววุ่นอยู่กับทานอย่างเดียว คนใจสูงมากอีกหน่อย ก็ทำบุญเรื่องศีล เมื่อใจถึงระดับแล้ว เขาจะทำบุญด้วยการภาวนา เพราะทานกำจัดกิเลสอย่างหยาบ ศีลกำจัดกิเลสอย่างกลาง ภาวนากำจัดกิเลสอย่างละเอียด
บางคนทำบุญ แล้วไม่รู้เรื่องบุญ ก็มัวแต่หาว่า มีแต่ทาน แต่ทาน คนบ้าทานก็ทำทานเอาหน้า ทำทานเอาตรา ทำทานเพื่อโฆษณา แท้จริงแล้ว การทานมีจุดประสงค์ เพื่อละตัวเรา เพื่อละของเรา อาศัยสิ่งของ เพื่อละความเห็นแก่ตัว ละความถือตัวถือตน บางคนทำบุญทำทานไม่เป็น ให้แล้ว ยังถือว่าเป็นของเรา เป็นของเรา บางคนทำทานแล้ว ประสงค์นั่น อธิษฐานนี่ วุ่นวายไปหมด อันนี้ให้ทานเอาตัณหา ให้ทานเอาโลภ ให้ทานเอากิเลส ทานที่แท้จริงต้องทานเพื่อละ เพื่อทิ้ง
เอาของมาทานให้หลวงปู่แล้ว มาให้หลวงปู่เสกนั่น เป่านี่ อธิษฐานเอานั่นเอานี่ เหมือนหลวงปู่จะบันดาลให้ได้ คนที่เอาข้าวให้หมากิน เขายังได้อานิสงส์มากกว่าคนพวกนี้ เพราะเขาให้ทานเพื่อละ ให้ทานเพื่อนุเคราะห์สัตว์ตกยาก เขาให้ทานโดยไม่มีความเป็นตัวเป็นตน ไม่อธิษฐานเอานั้นเอานี่จากหมา ไม่ต้องบอกหมาว่าต้องฉันของโยม ของหนู ของฉัน
นั่นคนพวกนั้นเขาทานเพื่อละเพื่อวาง คนที่วางตัววางตน ก็ไม่มีตัว ไม่มีตน คนไม่มีตัว ไม่มีตน มันจะทุกข์มาจากไหน เพราะมีตัว อะไรก็ของตัว ได้ – ตัวก็ได้ เสีย – ตัวก็เสีย กระทบอะไร – ตัวก็กระทบ มันจึงทุกข์จึงยาก แต่ละตัวละตนเสียแล้ว จะทุกข์กับอะไร ถ้าคุณเข้าใจอย่างนี้ หลวงปู่เรียกคนเหล่านั้นว่า เขาทำทานเพื่อพึ่งพา ให้ทานเพื่อละ เพื่อวาง เขาจะไม่ทุกข์กับการให้ทาน เขาเป็นนักทานที่แท้จริง เข้าใจนะ
หลวงปู่หา สุภโร (หลวงปู่ไดโนเสาร์)
ที่มา_หนังสือ “ตามรอยหลวงปู่ภูกุ้มข้าว" ( ฉบับปฐมบท )
” ส่วนใหญ่มักจะแพ้ความขี้เกียจ “
หลวงพ่อพูดธรรมะ : เป็นอย่างไรที่พูดมานี้พอจะเข้าใจไหม ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ตัวเรา ทางดำเนินก็มีอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะมีความขยันมากน้อยเพียงไร ส่วนใหญ่มักจะแพ้ความขี้เกียจ นอนดีกว่า ติดความสุขเล็กๆน้อยๆ แค่การหลับการนอนการกิน เวลาจะภาวนาจึงต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา จะอยู่กินแบบปกติ ก็จะไม่เจริญทางด้านภาวนา อย่างน้อยต้องถือศีล ๘ ไม่รับประทานอาหารเย็น การนอนก็นอนแบบง่ายๆ นอนกับพื้น ไปอยู่วัดที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ก็ไม่ค่อยสะดวก ไม่ค่อยสบายทางด้านการอยู่การกิน แต่ทำให้ไม่ต้องไปพะวักพะวนกับเรื่องกินเรื่องนอนให้มากจนเกินไป ใหม่ๆไม่เคยชินก็จะรู้สึกลำบากหน่อย แต่ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรหรอก เพราะไม่ถนัดเท่านั้นเอง เหมือนกับเคยใช้มือขวาอยู่ประจำ แล้วต้องมาใช้มือซ้าย ใหม่ๆก็รู้สึกว่ายาก ฝึกใช้ไปเรื่อยๆ ต่อไปก็ง่ายขึ้นเอง เวลาเสียมือขวาไป เหลือแต่มือซ้าย ก็ต้องหัดใช้มือซ้ายจนได้ การดำเนินชีวิตของพวกเราก็เหมือนกัน มีทั้งขวามีทั้งซ้าย ถ้าถนัดขวาก็ไม่ชอบซ้าย ถ้าถนัดซ้าย ก็ไม่ชอบขวา แนวทางชีวิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราดำเนิน เป็นทางที่ดี ที่สบายจริงๆไม่มีทุกข์ แต่เราไม่ถนัดกันจึงไม่ชอบ เราชอบอยู่บนกองสุขที่มีความทุกข์ห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลา คิดดูซิ เรามีไฟฟ้าใช้กันตลอดเวลา ถ้าวันไหนไฟฟ้าดับ เราก็เดือดร้อนกัน ตู้เย็นก็ไม่ทำงาน แอร์ก็ไม่ทำงาน พัดลมก็ไม่ทำงาน มีน้ำประปาใช้อยู่ตลอดเวลา ถ้าน้ำประปาไม่ไหล ก็เดือดร้อนกัน เพราะไม่เคยอยู่แบบที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆที่สามารถอยู่ได้ แต่ไม่เคยอยู่กัน เคยทำอะไร ก็มักจะมีความผูกพันติดพัน เคยสะดวกสบายง่ายดาย พอต้องทำอะไรที่ยาก ก็ไม่อยากจะทำ ความจริงมันไม่ยาก เพียงแต่ว่าเราไม่ถนัด ก็เลยรู้สึกว่ายาก จึงไม่อยากทำ ชีวิตของเราจึงไม่ค่อยได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ ถ้าเราพยายามฝึกฝนอบรม ถ้าไม่ได้ทำตลอดเวลา อย่างน้อยก็ทำเป็นพักๆไปก็ยังดี มีเวลาว่างวันหยุด ๓ - ๔ วันก็ไปอยู่วัดกัน ไปวัดที่เงียบๆ มีครูบาอาจารย์ที่ดี แต่วัดของครูบาอาจารย์มักจะมีคนไปกันมาก จึงไม่ค่อยเหมาะกับนักภาวนา ผู้ที่ภาวนาจริงๆ ต้องการความสงบจริงๆ ไปวัดของลูกศิษย์ของท่านก็อาจจะได้ประโยชน์มากกว่า ตอนที่ไปอยู่วัดป่าบ้านตาดใหม่ๆ ไม่ค่อยมีใครไปกัน ส่วนใหญ่จะไปวัดครูบาอาจารย์ ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่กว่าหลวงตาท่าน ที่วัดหลวงตาจึงเป็นวัดที่สงบ ไม่ค่อยมีญาติโยมไปกันเท่าไร วันเสาร์วันอาทิตย์อย่างมากก็มีรถแค่ ๒ - ๓ คันที่ไปจากอุดรเท่านั้นเอง ไปใส่บาตร ไปถวายอาหาร การฉันการทำอะไรก็รวดเร็ว กลับมาจากบิณฑบาตจัดอาหารเพียงไม่กี่นาทีก็ได้ฉันกันแล้ว แต่ตอนนี้รู้สึกว่าคนไปเยอะ กว่าจะได้ฉันกันก็เหนื่อย ฉันเสร็จแล้วต้องมาเก็บ มากวาดมาอะไรกันอีก ใช้เวลามาก เวลาก็จะไม่ค่อยมีสำหรับการภาวนา ถ้าไปวัดเล็กๆ อย่างวัดท่านอาจารย์อินทร์ ก็ยังเงียบ ยังไม่ค่อยมีญาติโยมไปกันเท่าไร ไปอยู่ที่นั่นก็จะมีเวลาภาวนาได้เยอะ ที่ไหนที่มีคนเยอะๆ ก็จะต้องมีปัญหาตามมา ปัญหาส่วนใหญ่ก็อยู่ที่คนนี่แหละ อยู่กันเยอะๆก็อดคุยกันไม่ได้ ยิ่งคุยกันมากก็ยิ่งเสียเวลา ยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งไม่สงบ แต่ถ้าไปอยู่วัดที่ไม่ค่อยมีคน ต่างคนต่างมีที่พักของตนเอง อยู่แบบเงียบๆ อยู่ตามลำพัง โอกาสที่จะภาวนาก็มีเยอะ แต่ต้องภาวนาเป็น ต้องรู้ว่าจะต้องทำอะไร ถ้าไปนอนก่ายหน้าผาก คิดฟุ้งซ่าน ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างน้อยต้องรู้จักวิธีเจริญสติ เดินจงกรมก็ให้มีสติอยู่กับการเดิน นั่งสมาธิก็ให้มีสติอยู่กับการนั่ง อย่าปล่อยให้ใจคิดเพ่นพ่านไปตามยถากรรม ต้องคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเป็นนักโทษ อย่าปล่อยให้ไปทำอะไรตามอำเภอใจ ถ้าปล่อยให้คิดไป เดี๋ยวก็คิดถึงเพื่อนฝูง คิดถึงความสุขเดิมๆ แล้วก็จะทำให้รู้สึกว้าเหว่ เศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมา จะทำให้ทนอยู่ต่อไปไม่ได้ พอคิดถึงเพื่อน คิดถึงบ้าน คิดถึงอะไรต่างๆ ก็อยากจะกลับไป แต่ถ้าพยายามภาวนาอยู่เรื่อยๆ ไม่ปล่อยให้จิตไปคิด เดินก็พุทโธๆๆไปเรื่อยๆ นั่งก็พุทโธๆๆต่อ ภายในจิตไม่ให้มีเรื่องอะไร ให้มีแต่พุทโธๆๆอย่างเดียว ต่อไปจิตก็จะเข้าสู่ความสงบ เมื่อสงบแล้วจิตจะไม่หิว ไม่อยากกับอะไรทั้งนั้น เพราะได้หยุดคิดนั่นเอง เมื่อหยุดแล้วในโลกนี้ก็เหมือนกับไม่มีอะไร อดีตก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี มีแค่ปัจจุบันเท่านั้นเอง ขณะที่มีความสุข ก็ไม่อยากไปหาใคร ถ้าได้เข้าถึงจุดนี้แล้ว ก็อยากจะภาวนาอย่างเดียว ไม่อยากจะอยู่ใกล้ใคร เพราะอยู่ใกล้แล้ว ก็รำคาญ ทำให้จิตต้องกระเพื่อม ต้องคิด ต้องปรุง ต้องแต่ง ต้องมีอารมณ์ตามมา แต่ถ้าอยู่ของเราคนเดียวตามป่าตามเขา อยู่กับเสียงลม อยู่กับต้นไม้ ก็จะมีแต่ความสุขความสบายกับการภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะสลับกันไป การอ่านหนังสือธรรมะทางภาคปฏิบัติของครูบาอาจารย์ เป็นเหมือนการฟังเทศน์ ได้ข้อคิด ได้อุบายต่างๆ เพราะการปฏิบัติของเรายังต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังอยู่เรื่อยๆ เพราะจะมีปัญหา มีอุปสรรคต่างๆ ปรากฏขึ้นกับการภาวนา ถ้าไม่มีแผนที่นำทาง เช่นหนังสือธรรมะหรือเทศน์ของครูบาอาจารย์ไว้ฟังอยู่เรื่อยๆ ก็จะหลงได้ เพราะสิ่งที่ปรากฏในภาวนา มีทั้งมรรคมีทั้งผล มีทั้งที่ไม่ใช่มรรคไม่ใช่ผล ถ้าไม่รู้จักแยกแยะ ก็จะหลงติดอยู่กับพวกโลกียธรรมต่างๆ ที่ไม่พาให้หลุดพ้น แต่จะพาให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด จึงต้องมีธรรมะของครูบาอาจารย์ไว้อ่าน ไว้ฟังบ้าง สลับกับการบำเพ็ญภาวนา เวลาฟังธรรมะของครูบาอาจารย์ จะเกิดกำลังจิตกำลังใจ เวลาเกิดความท้อแท้ ความเบื่อหน่าย การภาวนาไปไม่ถึงไหน พอได้ฟังเทศน์ฟังธรรมของท่าน ฟังท่านเล่าถึงปัญหาที่ท่านประสบมา และวิธีที่ท่านต่อสู้กับมันมา ก็ทำให้เกิดมีกำลังจิตกำลังใจ ที่จะปฏิบัติต่อไป จึงควรเกาะติดครูบาอาจารย์ไว้ให้ดี องค์ไหนที่เรามีความเชื่อมั่นในตัวท่าน ก็พยายามเข้าไปหาท่านอยู่เรื่อยๆ ไปฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ แล้วก็นำไปปฏิบัติ ต้องทำทั้ง ๒ อย่าง ต้องฟังด้วยและต้องปฏิบัติด้วย ถ้าฟังแล้วไม่นำไปปฏิบัติ เดี๋ยวก็ลืม ถ้านำไปปฏิบัติแล้ว ก็จะอยู่ในใจไปตลอด.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๑ กัณฑ์ที่ ๒๒๖ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๘
ทุกข์เพราะกรรมเก่ามาให้ผล ควรทำใจอย่างไร ?
วิสัชนาธรรมโดย...หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ปุจฉา : ขอหลวงปู่เมตตาดิฉันด้วยนะเจ้าคะ ตอนนี้จิตใจดิฉันไม่สงบสุขเลย อันเนื่องมาจากเรื่องราวทุจริตในที่ทำงาน ผลสรุปอาจจะกระทบมาถึงด้วยในแง่ดิฉันควบคุมลูกน้องไม่ดี น่าสงสารสำหรับเด็กคนนั้น เขาไม่น่าเห็นผิดเป็นชอบเลย เพราะเขาได้สร้างบาปให้กับคนอื่นอีกหลายคนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลอยให้ได้รับการลงโทษไปด้วย
ส่วนตัวดิฉันเองเหมือนฝันร้าย ยังไม่รู้ว่าจะได้รับการลงโทษแบบไหน เฉพาะขั้นที่ดูแลควบคุมภายในไม่ดีก็ไม่ขึ้นเงินเดือน แต่ก็ทำให้ลูกเสียใจไปอีกนาน เมื่อคืนขณะไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนก็เผลอร้องไห้ออกมาเอง ต้องปลอบใจตัวเองว่านั่นเป็นวิถีชีวิตของกฎแห่งกรรม ลูกอาจจะสร้างกรรมอะไรมาจากอดีต เศษกรรมมันตามมาทัน ก็ขอให้ใจสบาย จิตสงบ ให้จิตมีความสงบ อย่าทุกข์ และยิ้มรับผลสนองทั้งดีและร้ายเสมอดีกว่า
วิสัชนา : หลวงปู่และคุณหนูมิได้เห็นหน้ากันก็จริง แต่ก็ได้เห็นตาปัญญากันในจดหมายที่เขียนไป เป็นปัญญาจักขุ จักขุคือปัญญา และก็เป็นปัญญาที่ธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นหลักอยู่ เป็นแว่นเป็นบรรทัดเป็นเครื่องวัดเครื่องตวงให้จิตใจคำนึงพึงพอใจ ในการพิจารณาอันไม่เลยเถิดจากธรรมะ หลวงปู่ชอบใจความเห็นและธรรมแผนกนี้เป็นอย่างยิ่ง ผลรายรับตอนสุดท้ายก็มีองอาจกล้าหาญ ไม่บิดพลิ้วต่อกรรมและผลของกรรมนี้ ผู้ที่เชื่อกรรมและผลของกรรมก็ไม่ใช่อื่นไกลเลย ก็คือผู้เชื่อธรรมของพระพุทธศาสนานั่นเอง
กรรมและผลของกรรมนี้ เราจะมองเห็นได้ด้วยตาปัญญาอันชัดบ้างก็แต่เฉพาะปัจจุบันชาติเท่านั้น แม้ชาติก่อนๆ ที่เคยสร้างมาก็ไม่ค่อยรู้จักละเอียดลออเท่าใดนัก หรือไม่รู้เลยก็ว่าได้ เป็นเพียงยอมเชื่อด้วยศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ก็เว้นไว้แต่พระอรหันต์ผู้สำเร็จปุพเพนิวาสานุสสติญาณ แต่ถึงอย่างนั้นแต่ละองค์ๆ ก็มีละเอียดลออกว่ากันตามฐานะที่สร้างมา กรรมและผลของกรรมที่เกี่ยวข้องกับท่านผู้อื่นเป็นตัวเหตุตัวผล บางทีก็เป็นกรรมเก่ามาแต่ภพก่อนบ้าง บางทีเราก็มาก่อใหม่มาเกยมาพาดโดยที่เราไม่ได้นึกฝัน แม้จะเป็นกรรมเก่ากรรมใหม่ก็ตาม เรามีหน้าที่ทางเดียวที่จะปลดเปลื้อง คือจะไม่จองเวรแบบองอาจกล้าหาญและพอใจให้อโหสิกรรมตะพึดไป ปรบมือ มือเดียว มือหนึ่งไม่เอามารับ เสียงดังของการปรบมือก็ไม่เกิดขึ้น การชนะเวรภัยก็ชนะไปในตัวฉันนั้น
อันนี้แหละเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันด้วย เราจะสมประสงค์หรือไม่สมประสงค์ในอามิสก็ตาม เราจะพยายามหัดใจหัดจิตไม่ให้ติดอยู่ในเงื่อนทั้งสองจนเหลิงเจิ้ง เพราะสิ่งทั้งหลายแหล่ในไตรโลกธาตุมีพระอนิจจังกวาดล้างอยู่ ไม่มีกาลไม่มีเวลาไม่จบเกษียณและไม่มีวันอาทิตย์วันเสาร์เลย เรามีหน้าที่ที่จะพยายามสร้างสติปัญญาและใจ ให้สมดุลกันให้สูงขึ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น อันนี้ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
หลวงปู่ย่อมยินดีพอใจเพื่อจะสังสรรค์และต้อนรับผู้ที่สนใจในธรรม เพื่อพ้นทุกข์ในสงสารของพระพุทธศาสนา และเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันไปในตัว กับทั้งได้ปล่อยมานะความถือตัวไปในตัวด้วย
สุดท้ายด้วยเดช พุทธ ธรรม สงฆ์ จงพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงทุกถ้วนหน้าอยู่ทุกเมื่อนั่นเถิด คัดมาจาก...หนังสือ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐, เดือนกันยายน ๒๕๕๓
|