มาทำบุญให้แม่ (ถวายผ้า) ผ้านี้เป็นของแม่หรือเปล่า ถ้าเป็นของเรา เราก็ได้บุญ แม่ได้แต่อนุโมทนา ถ้าอยากจะทำบุญให้เขา ต้องสละทรัพย์นั้น ตัดให้ขาดว่าทรัพย์นี้ยกให้คุณแม่ ยกให้คุณพ่อ แล้วก็ไปซื้อของสังฆทาน ซื้อผ้า หรืออะไรก็ตาม อย่างนี้แหละ เขาถึงจะได้ ต้องยกทรัพย์นั้นให้เขา ต้องรู้จักทำบุญ
#พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต ๒ มีนาคม ๒๕๖๗ วัดบุญญาวาส จ.ชลบุรี
"..ผมก็เคยปฏิบัติมานานพอสมควรได้ ๔๐-๕๐ ปีกว่าแล้ว กลัวก็เคยกลัว กล้าก็เคยกล้า รักก็เคยรัก ชังก็เคยชัง เกลียดก็เคยเกลียด โกรธก็เคยโกรธ เพราะหัวใจมี มิใช่คนตายพระตาย แต่ก็พยายามทรมานตนเต็มความสามารถไม่ท้อถอยตลอดมา สิ่งเหล่านี้ที่เคยมีอำนาจก็ทลายลงด้วยอำนาจความเพียรของผู้กล้าตาย ไม่มีอะไรมาแอบซ่อนอยู่ในใจได้ อยู่ที่ไหนก็สบายหายกังวล ไม่มีอะไรมาก่อกวนให้หลงกลัวหลงกล้า หลงรักหลงชัง หลงเกลียดหลงโกรธ อันเป็นเรื่องไฟกิเลสทั้งกองเผาใจดังที่เคยเป็น ที่กล่าวมานี้ จะเพราะเหตุอะไรถ้าไม่ใช่เพราะการฝึกทรมานใจให้อยู่ใต้อำนาจแห่งเหตุผลคืออรรถธรรม.."
ภูริทตฺตธมฺโมวาท พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร (พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒) อ้างอิงหนังสือปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
"...ทุกข์ คือ ขันธ์ ๕ คือ กายกับใจ หน้าที่ต่อทุกข์ คือ การรู้ ที่รู้ไม่ได้ก็เพราะว่า กามสุขัลลิกานุโยค หลงตามกิเลสจนลืมตนเอง และเพราะอัตตกิลมถา นุโยค คือ การบังคับกาย บังคับใจ ทำให้รู้ไม่ได้ ถ้าไม่สุดโต่งไปสองข้างนั้น กายเคลื่อนไหวมันก็ รู้สึก จิตเคลื่อนไหวมันก็รู้สึก อย่าไปหลงอยู่ในโลก ของความคิดเท่านั้นเอง ง่ายๆ นะ ธรรมะง่ายสุดๆ เลย นี่พวกเราส่วนใหญ่ไปหลงในโลกของความคิด วันๆ นั่งคิดกันทั้งวันเลย ขณะใดหลงไปอยู่ในความ คิด ขณะนั้นไม่ได้อยู่กับการรู้กายรู้ใจ..."
#โอวาทธรรม หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
#ธรรมทานสะสมเป็นเสบียงบุญ คำถาม : นอกจากการทำบุญให้จิตใจสบายแล้วอย่างอื่นที่ชาวพุทธควรทำคืออะไรครับ ?
คำตอบ : อาตมาคิดว่าการทำบุญไม่ควรทำเพียงแต่ให้ทานอย่างเดียว ควรทำอย่างอื่นด้วย เช่น ควรรักษาศีล มีความกตัญญูกตเวที ขยันหมั่นเพียร มีสัมมาคารวะ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งทำสมาธิ เจริญปัญญา เจริญวิปัสสนา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ให้เห็นว่าสภาวธรรมต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจของเรานั้น ล้วนเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วต้องดับไป มีการมาและมีการไปเป็นธรรมดา
แม้กระทั่งร่างกายของเรา ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน มีการเกิดขึ้น ก็ต้องมีการแก่ มีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีการตายไปในที่สุด แต่ใจผู้รู้เรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องไปตกใจ เพราะใจเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ส่วนกายก็ประกอบขึ้นจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มารวมตัวกัน ในที่สุดก็ต้องแยกสลายจากกัน....
คำสอนพระอาจารย์ สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวราราม จ. ชลบุรี
#มีแต่ใจอันเดียว_มีแต่ใจอันเดียวเท่านี้ #ถ้าหากว่าใจอันนี้ไม่มี_ไม่มีอะไรสักอย่างในโลก
ในโลกจะเต็มไปด้วยอะไรก็ช่าง แต่ก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่มีใจ
ถ้าหากจะหาความรู้เพื่อไปหาใจ เอาความรู้ไปหาจิต หาไม่เห็นดอก เหมือนกับเจ้าของแล่นหาเจ้าของ แล่นยังไงก็ไม่เจอ หยุดแล่นเสียนี่ แล้วเจ้าของก็อยู่ในเจ้าของนั้นล่ะ ถ้าหากจะแล่นหาเจ้าของ แล่นหาเจ้าของไม่เจอดอก หยุดแล่นเสีย นั่งลง แล้วเจ้าของก็อยู่ตรงนั้นล่ะ ใจก็เช่นเดียวกัน ไปหาใจ หาไม่เห็น หยุดหา แล้วใจก็อยู่ตรงนั้น "
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่แบน ธนากโร) วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
"คนเรานี้เมื่อไม่รู้จักชีวิตของตนเองก็ปฏิบัติต่อชีวิตผิด พอปฏิบัติต่อชีวิตผิดก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายรอบๆ ตัวผิดด้วย
เพราะเราเข้าใจสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ไม่เข้าใจความจริงของชีวิต ก็จึงเที่ยวไปยึดถือผิดๆ หรือยึดถือในทางที่เป็นไปไม่ได้ต่อสิ่งต่างๆ แล้วก็ทำการไปตามอำนาจ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
อย่างน้อยพอเรารู้เท่าทันความจริงของชีวิตว่า ชีวิตของเราก็เท่านี้แหละ คือมีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความตายในที่สุด ในที่สุดก็ต้องจากโลกนี้ไป จะโลภโมห์โทสันไปทำไม มีแต่จะก่อทุกข์ก่อการเบียดเบียนกันไปเท่านั้นเอง
ทางที่ดีควรจะใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ ทำสิ่งที่ดีงาม แล้วก็ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใสด้วยความรู้เท่าทัน การระลึกถึงความตายในฐานะเป็นความจริงของชีวิตทำให้เกิดประโยชน์...ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางปัญญาที่สำคัญ"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ "นึกถึงความตายก็ต้องทำใจให้ถูก"
เปรียบน้ำฝน มันเป็นน้ำที่สะอาด มันจะมีความใสที่สะอาดปกติดี ถ้าหากเราเอาสีเขียว สีเหลืองใส่เข้าไป น้ำมันก็เป็นสีเหลือง สีเขียว
จิตใจเรานี้เช่นกัน ฉันนั้น เมื่อมันถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจมันก็สบาย ถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ใจมันก็ไม่สบาย
เหมือนกับใบไม้ ที่มันถูกลม มันก็กวัดแกว่ง เอาแน่นอนไม่ได้ ดอกไม้ ผลไม้ มันก็ถูกลมเหมือนกัน ถูกลมมาพัด มันก็ตกไปเลย ไม่มีสุก
จิตใจมนุษย์เรานี้ก็เหมือนกัน ถูกอารมณ์มาพัดไป ถูกอารมณ์มาฉุดไป มาดึงไป ตกไป ก็เหมือนกันกับผลไม้
โอวาทธรรมหลวงปู่ชา สุภัทโท
ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ ............................. #ในกรณีที่เรานับถือพระรัตนตรัย #แล้วเราไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์รูปเคารพของศาสนาอื่น #อย่างเช่นพระพรหมหรือพระพิฆเนศ #อันนี้เราผิดไหม?
#อยู่ที่ว่าเราไปกราบไปไหว้เรามีเจตนาอย่างไร #เรากราบด้วยใจแบบไหน
คิดว่าจะเอาเป็นที่พึ่งอันสูงสุดไหม ว่าจะต้องอย่างนี้ ๆ ถึงจะพ้นทุกข์ มันก็จะเขวไป
แต่ถ้าเรากราบด้วยความเคารพ #ไหว้เพราะว่าท่านมีคุณธรรมความดี เราก็ไหว้บูชาคนดี มนุษย์ด้วยกันที่เป็นคนดี เราไหว้ได้ไหม #เจอคนดีเรายังไหว้เลย #แล้วเทวดา #อินทร์ #พรหม #ยม #ยักษ์ที่เขาเป็นคนดีเขามีความดี เราไหว้ได้ไหม #เราไหว้ในความดีของเขา #แต่ว่าเราไม่ได้คิดว่าจะต้องมาเป็นสรณะที่พึ่งเพื่อความพ้นทุกข์
#สรณะที่พึ่งของเราก็คือพระรัตนตรัย ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะต้องเพียรภาวนา รู้จักทุกข์ ละเหตุให้เกิดทุกข์ เข้าไปแจ้งความดับทุกข์ เจริญอริยมรรค อันนี้คือที่พึ่งของเราคืออย่างนี้ทางดับทุกข์
ส่วนอันนั้นเราก็เคารพกราบไหว้ได้ #มนุษย์เราก็ไหว้ #เทวดาเราก็ไหว้ ก็เป็นบุญ #เคารพกราบไหว้ก็ถือว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง #การบูชาก็เป็นบุญ
ส่วนคำถามสุดท้ายว่า #จะพึ่งพระรัตนตรัยอย่างไร? เราจะเข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะได้อย่างไร? ก็คือว่าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า การถึงพระรัตนตรัยถึงพระธรรมก็คือเราเอาธรรมะมาปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าสอนว่า ถ้าเราพึ่งพระรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แล้วเห็นอริยสัจทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ นั่นเป็นที่พึ่งอันเกษม นั่นเป็นที่พึ่งอันสูงสุด อาศัยสรณะนี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้
เราพึ่งพระรัตนตรัยก็คือเราต้องเข้าถึงอริยสัจ ก็คือต้องรู้แจ้งในทุกข์ เราก็ต้องเจริญภาวนา เจริญสติปัฏฐาน ๔ เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือที่เรียกว่าเจริญวิปัสสนาก็ตาม ให้กำหนดดูทุกข์ ดูรูปดูนามขันธ์ ๕ นี่แหละ ดูไปพิจารณาไปจนกระทั่งเห็นแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เกิดการละสละวาง ละเหตุให้เกิดทุกข์ ก็จะเข้าถึงความดับทุกข์ อันนี้เราก็จะได้ที่พึ่งที่แท้จริง เพราะว่าที่พึ่งก็คือทำให้เราสามารถดับทุกข์ได้
ส่วนอื่น ๆ นั้นก็ไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม ไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด อย่างในสูตรหนึ่งมีกล่าวว่า มนุษย์เป็นอันมากเมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็จะไปถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อาราม รุกขเจดีย์บ้างเอามาเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษมเลย นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้นแล้วย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจคือความจริงอันประเสริฐ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ นี่เป็นสรณะอันเกษม นี่เป็นสรณะอันสูงสุด อาศัยสรณะนี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ก็คือเรากราบไหว้บูชาคนดี เทวดาที่เขาดีได้ แต่เราไม่ได้ปฏิบัติคำสอนของเขา คำสอนที่จะดับทุกข์เราต้องพึ่งพระรัตนตรัย แต่เราไหว้ในฐานะเขาเป็นคนดี เขาเป็นเทวดา เขามีคุณธรรมความดี เราก็ไหว้ในฐานะอย่างนั้น
เหมือนมนุษย์ด้วยกันเราก็ไหว้ คนนี้เขาชาติตระกูลสูง เป็นพระราชามหากษัตริย์ เราก็ต้องกราบไหว้ คนนี้เขาวัยวุฒิเป็นคนอายุมากกว่าเรา เราก็กราบไหว้ คนนี้มีคุณธรรม แม้จะอายุน้อยกว่าเรา แต่เขามีศีลมีธรรม เช่น เป็นพระเป็นเณร มีศีลมาก เราก็เคารพกราบไหว้ คือเราไหว้โดยการที่ในความดีของท่าน อย่างนี้ไหว้ได้ เทวดาอารักษ์เราก็ไหว้ด้วยความที่ว่าในความดีของเขา
ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ในอนุสติ ๑๐ จึงมีเทวตานุสติ การระลึกถึงเทวดา อย่าว่าแต่ไหว้ ยังให้ระลึกด้วยซ้ำ ระลึกถึงคุณของเทวดา แล้วทำให้เรามีสมาธิได้ เพราะอะไร? เพราะว่าเรานึกว่าเทวดาเหล่านี้เขาต้องมีความดี เช่น รู้จักละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป จึงไปเป็นเทวดา
ย้อนมาตัวเรา มีไหม เออ เราก็มีเหมือนกัน เราก็รู้จักละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป มีศีลมีธรรม มันก็จะเกิดความปลื้มใจ ปลื้มใจเกิดปราโมทย์ ปราโมทย์แล้วเกิดปีติ เกิดปีติแล้วก็เกิดปัสสัทธิความสงบ พอเกิดความสงบก็จะเกิดสมาธิ เข้าถึงสมาธิได้
ฉะนั้นเราเคารพแบบระลึกให้ถูก สรุปแล้วก็คือเราระลึกถึงความดีของเขา บูชาในความดีของท่าน
ส่งอารมณ์ ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ คอร์สอบรมกรรมฐานระยะสั้น ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ลานอมตธรรม วัดมเหยงคณ์ ............................. ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
ขอให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า จะได้ไม่ท้อใจ เพราะถ้าเราไม่มีตัวอย่าง เราก็จะท้อใจว่า ได้บำเพ็ญธรรมะข้อนี้ไปแล้วก็ยังไม่เห็นผลอะไร เลยท้อใจคิดว่าจะเลิก อย่าทำดีกว่า คนอื่นเขาไม่เห็นต้องลำบากอย่างนี้ บางคนทำไม่ดีกลับได้ผล ก็ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติก้าวหน้าไปได้
แต่ถ้านึกถึงพระพุทธเจ้าและมองไปตามพระประวัติของพระองค์ ได้คิดว่าบางครั้งพระองค์ทำความดีแล้วต้องประสบความทุกข์ ถูกคนอื่นข่มเหงรังแกเดือดร้อนมากมาย แต่พระองค์ก็ไม่เคยยอมท้อถอยเลย ประวัติของพระพุทธเจ้าครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นแบบนี้มาก แต่พระองค์ก็ยืนหยัดในความดีนั้น จนประสบความสำเร็จจากการทำความดีของตนเอง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
“ อยากได้แต่บุญ อยากได้แต่บุญ แต่ไม่รู้จักทำบุญ มันจะได้ยังไง บุญมันเกิดขึ้น ที่การปฏิบัติ ที่การงดเว้น ที่การทำบุญให้ทาน ที่การรักษาศีล ที่การปฏิบัติภาวนา มีแต่อยากได้บุญ แต่บ่ฮู้จักเฮ็ดจักทำ “
โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ วัดผาเทพนิมิต อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร
#เวลาดูจิตจะมีทั้งสมถะและวิปัสสนา
"เวลาเราดูจิต ๆ มันมีทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา บางคนเข้าใจผิด เห็นหลวงพ่อพูดว่าดูจิตๆ นึกว่าจะเป็นวิปัสสนาเสมอไป ไม่เป็นหรอก ส่วนใหญ่จะเป็นสมถะด้วยซ้ำไป อย่างความสุขเกิด เราไปดูที่ความสุข จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือจิตรู้ความสุข อันนี้สมถะ
หรือเราเดินปัญญา เห็นความสุขเกิดแล้วดับ ความทุกข์เกิดแล้วดับ กุศล อกุศล ทุกอย่างเกิดแล้วดับ เห็นอยู่แป๊บหนึ่ง จิตก็รวมเข้ามา มันรวมของมันเอง มันจะหยุดการเดินปัญญาของมันเอง ลงไปนิ่งๆ ว่างๆ อยู่ ตรงนั้นจิตพลิกจากการทำวิปัสสนามาเป็นสมถะแล้ว มันพลิกกลับข้างมาแล้ว
ถ้าเราไม่ละเอียดพอ เราก็คิดว่าดูจิตเป็นวิปัสสนาตลอด #ไม่มีหรอกวิปัสสนาตลอดเวลา #จิตมันจะพลิกเข้ามาทำสมถะเป็นระยะๆไป ค่อยสังเกต ค่อยรู้ค่อยดู ถ้าดูไม่ออก ดูกายไว้ กายเป็นบ้านของจิต บอกแล้ว หาเจ้าของบ้านไม่เจอ มาเฝ้าบ้านมันไว้ เดี๋ยวก็เจอ เจ้าของมันต้องกลับมาจนได้"
หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม , 5 พฤษภาคม 2567
|