พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อาทิตย์ 15 ก.ย. 2024 5:11 am
"นักปฏิบัติสมัยนี้ ไม่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเอาแต่ปัญญา ๆ ท่านอัญญาโกณทัญญะ ท่านฟังธรรม บรรลุธรรม ก็เพราะท่านมีทุนเดิมคือ ศีล สมาธิ ที่มากพอแล้ว ไม่ใช่ไม่มี หรือไม่ต้องใช้"
หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร
"..อย่าพากันประมาทนอนใจว่ากิเลสคือเชื้อแห่งภพความเกิดตายไม่มีทางสิ้นสุด เป็นของเล็กน้อยไม่เป็นภัยแก่ตน แล้วไม่กระตือรือร้นเพื่อแก้ไขถอดถอนเสียแต่กาลที่ยังควรอยู่ เมื่อถึงกาลที่สุดวิสัยแล้ว จะทำอะไรกับกิเลสเหล่านี้ไม่ได้นะ จะว่าไม่บอกไม่เตือน คนและสัตว์ทุกข์ทรมานมาประจำโลก อย่าเข้าใจว่าเป็นมาจากอะไร แต่เป็นมาจากกิเลสตัณหาที่เห็นว่าไม่สำคัญและไม่เป็นภัยนั่นแล ผมค้นดูทางมาของการเกิดตาย และการมาของกองทุกข์มากน้อยจนเต็มความสามารถของสติปัญญาที่มีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเป็นตัวเหตุชักจูงจิตใจให้มาหาที่เกิดตายและรับความทุกข์ทรมานมากน้อยเลย มีแต่กิเลสตัวที่สัตว์โลกเห็นว่าไม่สำคัญและมองข้ามไปมาอยู่นี้ทั้งสิ้นเป็นตัวการสำคัญ.."
ภูริทตฺตธมฺโมวาท
พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร
(พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒) อ้างอิงจากหนังสือชีวประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
... " เมื่อเราปราบยักษ์ ปราบเปรต ปราบผี ปราบมารหัวขนภายในใจ ให้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าขึ้นมา นี่เป็นการพัฒนายกสภาพจิตของเรา นี่เป็นการพัฒนาประเทศชาติ เป็นการพัฒนาโลก
... โลกจะร่มเย็นเป็นสุข เพราะไม่มีเปรตมีผีในหัวใจ ไม่มีความโลภโมโทสัน กิเลสตัณหาได้ปราบไปแล้ว เป็นการพัฒนาโลก เป็นการพัฒนาพระศาสนา เป็นการพัฒนาสังคม มีแต่จะสูงส่งขึ้น สร้างสรรค์ทั้งนั้น
... ถ้าหากว่าจะแข่งขันกันในลักษณะที่เรียกว่า มุ่งแต่จะตะเกียกตะกาย เหมือนไก่คุ้ยกองขี้วัวขี้ควาย หาเพียงแมลงกิน เพชรพลอยมีค่าไม่สนใจ พัฒนายังไงก็ช่างเถอะ ยิ่งพัฒนายิ่งตกต่ำ "
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร )
วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
.โอวาทธรรมคำสอน
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
... " การดูกิเลสและแสวงธรรม
ท่านทั้งหลายอย่ามองข้ามใจ
ซึ่งเป็นที่อยู่ของกิเลส
และเป็นที่สถิตอยู่แห่งธรรมทั้งหลาย
กิเลสก็ดี ธรรมก็ดี
ไม่ได้อยู่กับกาลสถานที่ใดๆทั้งสิ้น
แต่อยู่ที่ใจ คือเกิดขึ้นที่ใจ เจริญขึ้นที่ใจ
และดับลงที่ใจดวงรู้ๆ นี้เท่านั้น "
จากประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
"พระพุทธศาสนาบอกว่า
โกรธเขา คือ "เกิด"
รักเขา คือ “เกิด”
อิจฉาเขาก็ คือ “เกิด”
หลายคนบอกว่าไม่อยากเกิดอีกแล้ว
แต่ยังพอใจจะไปโกรธคนนั้น
อิจฉาคนนี้
มันขัดกันอยู่ในตัว
ฉะนั้นต้องเบื่อที่จะไปอิจฉาเขา
เบื่อที่จะไปโกรธเขา
เบื่อที่จะไปอยากได้ อยากมี
เกิดก็ คือ ความเกิดของกิเลส
ถ้าเราไม่อยาก “เกิด”
ก็อย่าให้กิเลสเกิด"
โอวาทธรรม
พระอาจารย์ ฌอน ชยสาโร
พระพรหมพัชรญาณมุนี
การทำบุญ ใครทำบุญเท่าไรก็เป็นของแต่ละท่านของแต่ละคน ถ้าเจ้าภาพทำบุญน้อยมันก็สู้บริวารไม่ได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าเจ้าภาพเป็นผู้มีศรัทธาอย่างเต็มล้น เจ้าภาพก็ต้องได้บุญกุศลมากตามขั้นตอน เพราะฉะนั้นการบุญการกุศลจุดนี้ มันเป็นของใครของเรา เราอย่าไปคิดว่าคนนี้เป็นใหญ่ ผู้นี้เป็นผู้น้อย
อย่างทุคตะไปทำบุญกับพระพุทธเจ้ามีเข็มกับด้ายเท่านั้น ไปทำบุญก็ได้อานิสงส์มากมายมหาศาล เพราะการทำบุญทำด้วยจิตศรัทธา ถ้าหากว่าผู้ไม่มีจิตศรัทธาทำแล้วทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่คิดว่าจะได้บุญ ทำไปไม่คิดว่าจะได้บุญหรอก เห็นเขาทำก็ทำไปอย่างนั้นล่ะ เพราะเขาขอมา อันนั้นอานิสงส์ก็ไม่มาก เพราะไม่มีศรัทธาในจิตในใจ
แต่ถ้าเรามีศรัทธาในจิตในใจ เอาเถอะเราถึงจะยากจนเราก็ทำด้วยความเคารพนับถือเลื่อมใส การสร้างบุญสร้างกุศลคราวนี้ ข้าพเจ้าจะไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ข้าพเจ้าจะทำบุญด้วยจิตศรัทธาเต็มล้นด้วยใจของข้าพเจ้า อันนั้นล่ะอานิสงส์ในการทำบุญในจุดนั้น คือศรัทธาในจุดนั้นก็เป็นบุญเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่เหมือนกันนะลูกหลานนะ
เพราะฉะนั้น การทำบุญเราจะว่ามากว่าน้อย เอาศรัทธาเป็นเครื่องวัดทางด้านจิตใจ
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา “ศาสนสมบัติในพระพุทธศาสนา”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖
..เมื่อมาพบมาเจอกันที่วัด ก็เป็นญาติธรรมด้วยกัน พูดจาปราศรัยกัน และคุยกันเรื่องการทำคุณงามความดี การปฏิบัติตนจะทำอย่างไร ให้เป็นผู้ที่มีศีลมีธรรมเกิดขึ้น จะรักษาศีลอย่างไร จะภาวนาอย่างไร จะฝึกหัดอบรมจิตใจ ทำอย่างไรจิตใจถึงจะสงบ ท่านให้คุยกันเรื่องอย่างนี้ ไม่ให้คุยเรื่องปรัมปรา เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ ควรจดจำไว้แล้วนำไปปฏิบัติ เพื่อให้มันเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะฟังเทศน์ฟังธรรมกับครูบาอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ ก็คุยกันในเรื่องที่มันเป็นประโยชน์ คุยกันในสิ่งที่มันเป็นความสุขเกิดขึ้น คุยกันไปในทางที่ถูกที่ต้องที่ควร การพูดจาปราศรัยเป็นสัมมาวาจา เรียกว่าเจรจาชอบ ประกอบให้เกิดคุณงามความดีเกิดขึ้น..
..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..
วัดอรัญญวิเวก ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
“…ใจที่คิดตำหนิผู้อื่น จนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรม ไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน…”
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
”ถ้ามีสติ ใจกับกายต้องไปคู่กัน“
ธรรมที่จะทำให้จิตสงบก็คือสติ คือการดึงจิตไว้ให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้จิตลอยไปลอยมา ถ้าจิตเป็นเรือก็ต้องมีสมอไว้ทอด มีเชือกไว้ผูกกับท่าเรือ ถ้าไม่มีเชือกผูกไว้กับท่าเรือ พอน้ำไหลมาแรงๆ เรือก็จะลอยไปตามกระแสน้ำ จะไม่จอดที่ท่าเพื่อขนถ่ายสินค้าหรือให้คนขึ้นลงได้ ต้องมีเชือกผูกเอาไว้กับท่าเรือ หรือต้องทอดสมอเรือไว้ เชือกหรือสมอเรือนี้ก็คือสตินี้เอง สติคือเชือก ส่วนกรรมฐานคือเสาหรือตัวสมอ ต้องมีทั้ง ๒ อย่าง ถ้าเชือกไม่แข็งแรง เป็นเชือกเส้นเล็กๆก็จะขาดได้ เวลาเริ่มเจริญสติใหม่ๆจะเป็นเชือกเส้นเล็กๆ พอกระแสน้ำไหลมาก็จะขาด
ถ้าหมั่นเจริญสติอยู่เรื่อยๆ สติก็จะแก่กล้าขึ้น จะมีกำลังมากขึ้น จะสามารถดึงใจให้อยู่ในปัจจุบันได้ ถ้าจะให้ใจอยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ ถ้าให้อยู่กับอานาปานสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็จะอยู่กับลมหายใจเข้าออก พออยู่กับลมหายใจหรืออยู่กับพุทโธ โดยไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ใจก็จะดิ่งเข้าสู่ความสงบ เวลารวมลงจะวูบลงไป ถ้ามีสติดีนั่งไม่นาน ๕ นาที ๑๐ นาทีก็จะรวมลง ปัญหาที่นั่งกันเป็นชั่วโมงแล้วไม่สามารถทำใจให้สงบได้ ก็เพราะไม่มีสตินี่เอง ไม่สามารถบังคับใจให้อยู่กับกรรมฐานได้อย่างต่อเนื่อง อยู่ได้เพียงไม่กี่วินาทีก็แวบไปแล้ว เรื่องนั้นเรื่องนี้สอดเข้ามาแล้ว แทรกเข้ามาแล้ว ไปสนทนากับเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว
นั่งไปก็มีแต่อาการของการนั่ง แต่อาการของการปฏิบัติไม่มี จึงไม่ได้ผล ไม่มีเหตุ ผลก็ไม่เกิด เหตุก็คือสติอยู่กับกรรมฐาน เช่นอานาปานสติ อานาปานะแปลว่าลมเข้าลมออก เป็นกรรมฐาน สติเป็นเชือกที่จะผูกจิตให้อยู่กับกรรมฐาน จึงต้องฝึกตั้งสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำกิจกรรมอะไร เราเจริญสติได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย พอลุกขึ้นมาก็ต้องมีสติให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ปล่อยให้ร่างกายเดินไปเข้าห้องน้ำ ไปล้างหน้าล้างตาแปรงฟัน แต่ใจไปที่ทำงานแล้ว ไปเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ
ถ้ามีสติใจกับกายต้องไปคู่กัน เป็นเหมือนคู่รัก สามีภรรยา กายอยู่ที่ไหนใจก็อยู่ที่นั่น อย่างนี้ถึงจะมีสติ พอมีสติแล้วจะบอกให้ใจอยู่กับพุทโธ ก็จะอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจก็จะอยู่กับลมหายใจ ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้ จะพบกับความสุข จะไม่หิวกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่อยากออกไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จะชอบอยู่บ้านหรืออยู่วัด อยู่ที่มีความสงบ หาความสุขทางใจทางธรรมะดีกว่า แต่ความสุขที่ได้จากความสงบนี้ยังไม่ถาวรไม่ต่อเนื่อง สงบเฉพาะเวลาที่จิตรวมลง พอถอนออกมาจากความสงบกิเลสก็จะออกมาด้วย กิเลสจะเริ่มปรุงแต่ง สร้างความอยากสร้างความโลภสร้างความโกรธ ก็ต้องใช้ธรรมะอีกขั้นหนึ่ง คือปัญญาหรือวิปัสสนา เข้ามาระงับความโลภความโกรธ เพราะความโลภความโกรธเกิดจากความหลง คือไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่วิเศษ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมาจากการผสมปรุงแต่งของธาตุทั้ง ๔ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุหมด จึงเรียกโลกนี้ว่าโลกธาตุ โลกของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ศาลาหลังนี้ก็เป็นธาตุ ร่างกายของพวกเราก็เป็นธาตุ ข้าวของต่างๆที่เราใช้กันก็เป็นธาตุ ๔ ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าจะมีธาตุส่วนไหนมากน้อยกว่ากัน บางอย่างก็มีธาตุน้ำมาก บางอย่างก็มีธาตุดินมาก บางอย่างก็มีธาตุไฟมาก บางอย่างก็มีธาตุลมมาก เช่นน้ำอัดลมนี้ก็มีทั้งธาตุน้ำมีทั้งธาตุลม ส่วนขวดก็เป็นธาตุดิน ธาตุไฟมีน้อย เพราะน้ำแข็งขับไล่ธาตุไฟออกไป ถ้าพิจารณาก็จะเห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ร่างกายเราเป็นเหมือนไอศกรีม ถ้าเอาออกมาจากตู้เย็นวางไว้สักพักหนึ่งก็จะละลายไปหมด ร่างกายของพวกเราก็ถูกเวลาละลายไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย เดี๋ยวก็กลายเป็นดิน กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป ร่างกายของทุกคนเป็นอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่เราควรจะพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ต่อไปจะไม่อยากได้อะไร
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๒๐ กัณฑ์ที่ ๔๐๗
วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๒
"...สิ่งสำคัญที่สุดคือ...มีสติ สติทำหน้าที่อะไร...สติ
ทำหน้าที่ระลึกรู้กายระลึกรู้ใจ รู้ไปเพื่ออะไร...เพื่อ
ให้เห็นความจริงว่า กายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ไม่ใช่ตัวเรา เห็นความจริงเพื่ออะไร...เพื่อจะละ
ความเห็นผิดว่ากายกับใจเป็นตัวเรา
ผู้ที่ละความเห็นผิดได้เป็นพระโสดาบัน
พระโสดาบันก็ต้องฝึกรู้ฝึกดูต่อไปอีกนะ
รู้ไปเพื่ออะไร...เพื่อให้เห็นความจริงยิ่งขึ้นไปอีก
เราจะเห็นเลยว่า ถ้าจิตเข้าไปยึดอารมณ์ จิตจะเป็น
ทุกข์ ถ้าจิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ นี่ปัญญาขั้นกลางนะ
ปัญญาขั้นต้นเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับไป
ปัญญาขั้นกลางจะเห็นว่า ถ้าจิตเกิดความอยาก
จิตเกิดความยึด จิตจะทุกข์ ถ้าจิตไม่มีความอยาก
จิตไม่มีความยึด จิตจะไม่ทุกข์นะ มีปัญญาขั้นกลาง
แล้วจิตจะตั้งมั่น ทรงตัว เด่นดวง โดยไม่ต้องรักษา
แล้ว มันไม่แส่ส่ายออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
อีกต่อไปแล้วนะ จะหาแต่ความสงบทางใจ เพราะ
รู้สึกว่าถ้าสงบอยู่ที่จิตใจ อยู่ที่ผู้รู้นี่ไม่มีความทุกข์
ถ้าหลุดออกไปจากผู้รู้ ออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น
กาย จะมีความทุกข์ นี่พอปัญญาระดับนี้เกิด
จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ เรียกว่าสมาธิบริบูรณ์
ผู้ที่มีศีลบริบูรณ์ สมาธิบริบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง
นี่คือพระอนาคามี..."
#โอวาทธรรม หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๙
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.