“บางคนอยู่นำครูบาอาจารย์แท้ ๆ กะบ่ฮู้จักภาวนาดอกเนาะ จอบอยากได้แต่ของขลัง เลยบ่รู้เนาะว่าจิตที่มั่นคง ขลังกว่าพระกว่าคาถา อยู่ใกล้เกลืออย่าพากันกินด่างเด้อ”
โอวาทธรรม หลวงปู่จื่อ พันธมุตฺโต
วันนี้ขอฝากข้อคิดในเรื่อง #โยนิโสมนสิการ
ในการแปลเรามักจะแปลกันว่า“ความคิดแยบคาย” จริงๆ ก็ยังมีอีกความหมายหนึ่งที่อาจจะมองข้าม คือนอกจากจะแปลว่าความคิดแล้ว
โยนิโสมนสิการยังหมายถึง“กรอบความคิด” อีกด้วย เราต้องจัดกรอบความคิดให้ดี เพราะกรอบความคิดจะเป็นตัวกำหนดความคิดอีกที
ยกตัวอย่างคนสองคน หนึ่งคนมองตัวเองแต่ขาดโยนิโสมนสิการว่า " เราเป็นคนไม่เก่ง..เราเป็นคนไม่ดี..ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ สู้เขาไม่ได้ ทุกครั้งที่ทำอะไรก็ต้องมีอะไรเป็นไปทุกครั้ง"
อย่างนี้ก็จะเป็นการสร้างกรอบด้วยความคิดผิด สร้างกรอบโดยการมองตัวเองในแง่ร้าย
อีกคนหนึ่งก็มองว่า " เราเป็นชาวพุทธ ต้องอดทน มีใจสู้ อุปสรรคก็คือสิ่งท้าทาย สิ่งทดสอบสติปัญญา เราจะเรียนรู้ใช้กำไรจากปัญญาจากการเอาชนะอุปสรรค" นี่ก็ใส่กรอบ.. กรอบความคิด
ที่นี้เมื่อมีอุปสรรคเกิดขึ้นกับสองคน อุปสรรคอันเดียวกัน คนแรกก็จะทุกข์ไปเลย กำลังใจหมดไปเลย " เอาอีกแล้ว ใช่.. ทุกครั้งที่เราตั้งอกตั้งใจจะทำอะไร ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ ทำอะไรไม่เป็น ทำอะไรไม่เก่ง" สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเครื่องพิสูจน์เครื่องยืนยันว่า "ใช่เลย..เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ "
ส่วนคนที่มีโยนิโสมนสิการเป็นกรอบ เมื่อเจอปัญหา " เนี่ย..สิ่งท้าทายมาอีกแล้ว ต้องสู้ ต้องสู้ ต้องชนะให้ได้ " แทนที่จะหดหู่ใจ จะหมดกำลังใจ ตรงกันข้าม กลับเหมือนมีอะไรมาทดสอบ มีอะไรมาท้าทาย
โยนิโสมนสิการไม่ใช่ความคิดในเวลาที่มีอะไรเกิดขึ้น อยู่ที่การใช้ความคิดในการสร้างกรอบที่เป็นกุศลและเป็นอกุศล ที่สร้างสรรค์หรือที่จะบั่นทอนกำลังใจ
เราต้องรู้จักคิด รู้จักวางกรอบความคิดให้ดี
โยนิโสมนสิการสำคัญที่เป็นการพิสูจน์ปัญญา โยนิโสมนสิการใช้ความคิด แต่ในที่สุดก็จะนำไปสู่การใช้ปัญญาที่ไม่ต้องใช้ความคิด แต่จะข้ามไปเลย จะกระโดดไปเลยสู่ปัญญาวิปัสสนา โดยไม่ต้องใช้ความคิด โดยไม่ฝึก ไม่พัฒนาความคิดเสียก่อน เป็นไปยาก
ในชีวิตประจำวัน เราก็ทำตัวเป็นนักศึกษา หลวงปู่มั่นก็เคยสอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวนึ้สอนธรรมะทั้งนั้น ทุกหย่อมหญ้าสอนอนิจจังทุกขังอนัตตา สอนธรรมะเราตลอดเวลา
ปัญหาก็คือเราไม่รู้จักลืมหูลืมตา ไม่รู้จักรับรู้ต่อสิ่งที่กำลังสอนอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น การมองตัวเองแบบโยนิโสมนสิการว่าเราเป็นนักศึกษา เราเป็นนักสิกขา และเราเป็นผู้ฝึกตน เป็นผู้ที่ต้องการกำไรจากประสบการณ์ทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ น่าปรารถนา ไม่น่าปรารถนา เราต้องพร้อม
พร้อมที่จะรับมือกับมันในทางที่ถูกต้อง และความพร้อมที่จะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตทุกประการนั้นแหละคือความไม่ประมาท
เราต้องฝึกให้ไม่ประมาท เราจะบังคับบัญชา จะควบคุมสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามใจเรา มันก็เป็นไปไม่ได้ มันเหลือวิสัย
ถ้าเราคิดว่าความปลอดภัย อยู่ที่การควบคุมสิ่งแวดล้อม และคนรอบข้าง จะเครียดตลอดเวลา ทุกข์เปล่าๆ
แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็น.. ทำอย่างไรแล้วจึงจะพร้อม? ทำอย่างไรเราจึงจะมีคุณสมบัติอยู่ในจิตใจของเราที่จะเป็นฐานให้เราทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง พูดแต่สิ่งที่ถูกต้อง คิดแต่สิ่งที่ถูกต้องได้ นี้คือแนวทางปฏิบัติ
ในคัมภีร์ เถรเถรีคาถา มีพระอรหันต์หลายท่านที่บรรลุ ไม่ได้บรรลุตอนนั่งสมาธิ แต่บรรลุหลังจากที่นั่งสมาธิไปแล้ว เดินถือเทียนกลางลม ลมดับเทียน จิตหลุดพ้น เป็นต้น เพราะอะไร ?
เพราะจิตที่ผ่านสมาธิไปแล้ว เป็นจิตที่พร้อมจะรับรู้ พร้อมที่จะสำนึกสำเหนียกพอที่จะเข้าใจในหลักธรรม
เครื่องพิสูจน์ว่าการทำสมาธิของเราถูกทางหรือไม่ถูกทางก็อยู่ตรงนี้ มันเกิดอาการกัมมนีโย (อาการพร้อมที่จะทำงาน) พร้อมที่จะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม ต่อประสบการณ์ทุกประการ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ เราออกจากสมาธิแล้ว จิตจะมีอาการที่ดูเหมือนจะขัดกัน แต่ไม่ใช่ มันเป็นสองหน้าของสิ่งเดียวกัน
คือหนึ่งจิตไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่ชวนให้ยินดียินร้าย เรียกว่ามั่นคงหนักแน่นไม่หวั่นไหว แต่ไหวต่ออนิจจัง ไหวต่อทุกขัง ไหวต่ออนัตตา
เพราะ..ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่ชวนน่ายินดียินร้าย ที่มาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้นแหละคือเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตใจของเราพร้อมที่จะเข้าใจในเรื่องอนิจจัง พร้อมจะเข้าใจในเรื่องทุกขัง พร้อมที่จะเข้าใจในเรื่องอนัตตา เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วตลอดเวลาไม่ใช่ของปรุงแต่ง
พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ว่า “ตถาคตจะเกิดขึ้นในโลกนี้ก็ตาม จะไม่บังเกิดขึ้นในโลกนี้ก็ตาม สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา”
การปฏิบัติของเราคือการเตรียมพร้อมศีลสมาธิปัญญา เพื่อให้จิตเตรียมพร้อม พร้อมที่จะรับรู้ พร้อมที่จะเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติตลอดเวลา
ผมก็ขอฝากข้อคิดเล็กน้อย เป็นที่ระลึกในการมาเยี่ยมเยียนวันนี้ ขอให้ท่านทุกท่านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีแต่ความสุขความเจริญ ในการละบาป บำเพ็ญกุศล เจริญในศีลสมาธิปัญญายิ่งยิ่งขึ้นไป ตลอดกาลเทอญ
#พระพรหมพัชรญาณมุนี (ฌอน ชยสาโร) มาเยี่ยมให้โอวาทและกำลังใจ ที่วัดป่าบุญล้อม ณ วันที่ ๒๗ กันยายน พศ. ๒๕๖๗
"... ให้เราพิจารณาดู ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราไม่หนีมัน มันก็หนีเรา
... คนก็เหมือนกัน เราไม่จากเขา เขาก็ จากเรา มันอยู่ที่ใครไปก่อนใคร เท่านั้นเอง
... บางทีวัตถุก็ไปก่อนเรา บางทีเราก็ไป ก่อนวัตถุ บางทีคนใกล้ชิดเรา เขาก็ไปก่อน บางทีเราไปก่อนเขา
... มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ของกรรม ..." __________________ #หลวงปู่ชา_สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
ผู้ใดมีความกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ และรู้จักตอบแทนคุณท่านผู้ให้กำเนิด ที่เลี้ยงเรามา ผู้นั้นเป็นผู้เจริญ และเป็นบุคคลที่หาได้ยาก ยิ่งได้มาบวชปฏิบัติรักษาศีลภาวนา พ่อแม่จะได้รับอานิสงค์มากกว่าทำอย่างอื่น.
โอวาทธรรม หลวงปู่อ้ม สุขกาโม วัดป่าภูผาผึ้ง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร
” ทำบุญไม่ขาดทุน ทำไปเถิด “
เวลาทำบุญก็จะสร้างกำลังของบุญให้มากขึ้น เวลาทำบาป ก็จะสร้างกำลังของบาปให้มากขึ้น บุญกับบาปจะต่อสู้กัน ถ้าบุญมีกำลังมากกว่า ก็จะสร้างสวรรค์ ถ้าบาปมีกำลังมากกว่าก็จะสร้างนรก พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป จะไม่สร้างบาปจะสร้างแต่บุญอย่างเดียว กำลังบุญจึงมีมากกว่า ทำให้จิตของท่านสูงขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงพระนิพพาน พอถึงพระนิพพานแล้ว บุญก็จะไม่เสื่อมหมดกำลัง ถ้าสร้างบุญในระดับทานศีลสมาธิจะเสื่อมได้ ถ้าสร้างบุญในระดับปัญญาจะไม่เสื่อม ได้บุญขั้นไหนแล้วก็จะไม่เสื่อมลงมา ถ้าได้บุญระดับโสดาบัน ก็จะอยู่ในระดับโสดาบันไป ไม่มีวันเสื่อมลงมาเป็นปุถุชน ถ้าได้ขั้นอนาคามี ก็จะอยู่ในขั้นของพระอนาคามี ถ้าได้ขั้นของพระอรหันต์ ก็จะอยู่ในขั้นของพระอรหันต์ บาปเก่าๆจะไม่มีกำลังพอที่จะผลิตผลให้เกิดขึ้นในใจได้ เพราะบุญมีกำลังมากกว่า การต่อสู้ระหว่างบุญกับบาปมีอยู่ภายในใจตลอดเวลา หลวงตาท่านว่ากิเลสกับธรรมเป็นคู่ต่อสู้กัน ถ้าสร้างพลังธรรมให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อไปกิเลสจะไม่สามารถผลิตผลบาปให้กับเราได้ จะผลิตแต่บุญอย่างเดียว อย่างพระโพธิสัตว์ ทุกภพทุกชาติที่ท่านกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ จะมาทำบุญเสมอ แล้วก็จะกลับไปเกิดเป็นเทพ แล้วก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์มาสร้างบารมีใหม่ เช่นพระเวสสันดร ท่านกลับมาเกิดเป็นมนุษย์สร้างทานบารมีอย่างเต็มที่ พอตายไปท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ พอลงมาจากสวรรค์ ก็มาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ มาสร้างบุญใหม่อีก สร้างอย่างเต็มที่เลย จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ทำบุญไปเรื่อยๆ ไม่ขาดทุน ทำไปเถิด ทานศีลภาวนา ทำได้เท่าไรเป็นของเราหมดเลย บุญจะผลิตแต่สวรรค์ ผลิตแต่ความสุข จะไม่ไปเกิดในอบาย เพราะกำลังของบุญจะมีกำลังมากกว่าบาป เหมือนชักเย่อกัน ถ้าข้างหนึ่งมีคนเดียว อีกข้างหนึ่งมี ๕ คน จะไปทางไหน ถ้าไม่ไปทาง ๕ คน ถ้าทำบุญ ๕ ครั้ง ทำบาปครั้งเดียว บุญก็ต้องมีกำลังมากกว่า ถ้าทำบาป ๕ ครั้ง ทำบุญครั้งเดียว บาปก็จะมีกำลังมากกว่า พวกเราชอบทำบุญ ชอบรักษาศีล ชอบภาวนากันอยู่แล้ว ต้องไปสู่สุคติอย่างแน่นอน.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๒๗ กัณฑ์ที่ ๔๒๙ วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๔
#สติปัฏฐาน ๔ สติ รู้ ในปัจจุบัน รู้แจ้งในกาย ในใจ ของตนนี้ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
" คำว่าสติ...ก็รู้ ในปัจจุบัน สัมปชัญญะรู้ ในปัจจุบัน รู้...ในตน รู้...ในใจ เรานี่แหละ รู้...ในปัจจุบัน รู้...ละความโกรธ ความโลภ ความหลง ราคะ กิเลส ตัณหาเหล่านี้ ละ ออกให้หมด ละ ออกจากใจ ละอยู่...ตรงนี้แหละ
สติ... ถ้าได้กำลังใจแล้ว มันก็สว่าง ตั้งจิต ตั้งใจ กำหนดเบื้องต้น คือ... การกำหนดจิต หรือกำหนดศีล คือ... กาย ก็บริสุทธิ์ วาจา ก็บริสุทธิ์ ใจ ก็บริสุทธิ์
กำหนด นำความผิดออกจาก กาย วาจา ใจ ของตน เมื่อ... กาย วาจา ใจ บริสุทธิ์ สมาธิ ก็บังเกิดขึ้น รู้...แจ่มแจ้ง ไปหาจิต หาใจ กายนี้ ก็รู้แจ้ง รู้...แจ้งในกาย ในใจ ของตนนี้
สติปัฏฐาน ๔. สติ มีเพียงตัวเดียว นอกนั้น... ท่านจัดไปตามอาการ แต่ทั้ง ๔ มารวมอยู่จุดเดียว คือ เมื่อสติกำหนดรู้กายแล้ว นอกนั้นคือ...เวทนา จิต ธรรม ก็รู้ไปด้วยกัน เพราะ... มีอาการเป็นอย่างเดียวกัน."
-หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง.
|