#ออกพรรษาที่เป็นมงคล
" ออกพรรษา ออกด้วยความองอาจ กล้าหาญ ออกด้วยความราบรื่น และปลอดภัย จึงเป็นการออกพรรษาที่เป็นมงคล
ออกพรรษา อะไรก็สับสนอะไรก็วุ่นวาย อะไรก็รกรุงรัง อะไรก็มีแต่ของเหม็นของเน่าเต็มอยู่ในบ้านในเรือน หาความเป็นมงคลแก่ชีวิตไม่ได้ เพราะบ้านเรือนก็คือ หัวใจ ของเรานี้ล่ะ เป็นบ้านเป็นเรือน เต็มไปด้วยของสกปรกรกรุงรัง แล้วจะเป็นมงคลได้อย่างไร
ต้องการมงคล ไปขอมงคลจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ไม่ให้ จะเทใส่น้ำอบน้ำหอมของดีมีค่าขนาดไหน มันก็ไม่เข้าถึงหัวใจ มันแปรสภาพไปหมด
ความเป็นมงคล ความเป็นอัปมงคล ขึ้นอยู่กับการกระทำ ไม่ใช่จะขึ้นอยู่กับใครที่จะหยิบยื่นให้เรา ใครยังหย่อนยาน ใครยังมีความพยายามไม่เต็มที่ ยังประมาทเลินเล่ออยู่ แก้ไขเจ้าของเสีย " ____________________________________________ พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร ) วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
#รู้เรา_เห็นเรา_เตือนเรา '
... " รู้เรา เห็นเรา เตือนเราอยู่เสมอ เป็นความถูกต้องอย่างยิ่ง
... มองไปข้างนอก ๆ มองแต่คนอื่น มันอดที่จะไปคิดในทางความดีของคนอื่น ความไม่ดีของคนอื่น ความไม่ดีก็ชอบไปตำหนิความไม่ดี ความดีก็ชอบไปชื่นชมและติดเป็นความดีไป
... ถ้าหากจะชื่นชม ก็ให้ชื่นชมความดีของเรา จะมีการตำหนิก็ให้ติความไม่ดีของเรา
... จึงว่า มองเราอยู่เสมอ เป็นความถูกต้องอย่างยิ่ง
... ถ้าหากไม่สนใจในการมองเรา แล้วไปใส่ใจมองคนอื่น อดจะมีการติการชม อดจะมีการขัดแย้ง แตกแยก เป็นก๊กเป็นพวก สารพัดที่มันจะตามมา เพราะตัวกิเลสตัวเดียวเท่านั้น มันเป็นตัวสร้างได้ทุกอย่าง
... จึงว่า ให้พากันตั้งอกตั้งใจ ไม่มีอะไรที่จะเป็นข้าศึกแก่เรา มีแต่กิเลสของเราเองเท่านั้น เป็นข้าศึกแก่เรา ให้พากันเข้าใจอย่างนี้ "
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร ) วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
"..ผู้ที่ยังไม่รู้หัวข้อธรรมอะไรเลย เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจัง มักจะได้ผลเร็ว เมื่อเขาปฏิบัติจนเข้าใจจิต หมดสงสัยเรื่องจิตแล้ว หันมาศึกษาตริตรองข้อธรรมในภายหลัง จึงจะรู้แจ้งแทงตลอด แตกฉานน่าอัศจรรย์ ส่วนผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน แล้วจึงหันมาปฏิบัติต่อภายหลัง จิตจะสงบเป็นสมาธิยากกว่า เพราะชอบใช้วิตกวิจารมาก เมื่อวิตกวิจารมาก วิจิกิจฉาก็มาก จึงยากที่จะประสบผลสำเร็จ.."
โอวาทธรรมโดย พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ (พ.ศ.๒๔๓๑–๒๕๒๖)
#สติเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
"...สติตัวเดียวเท่านั้น ที่ทำให้เราได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อสติเข้มแข็ง จิตมั่นคง คือสมาธิ เพราะฉะนั้น เราปฏิบัติ ใครจะได้สมาธิขั้นใดตอนใดก็ช่าง แต่ผลลัพธ์ครั้งสุดท้ายคือสติตัวเดียว
โพชฌงโค สติสังขาโต สติเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เมื่อสติกำหนดจดจ้องดูสิ่งที่เกิดดับกับจิตตลอด เวลา ธัมมานัง วิจะโยตะถา เป็นการสอดส่องธรรม วิริยัมปีติปัสสัทธิ เกิดความเพียร เกิดปีติ เกิดความ สงบ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เกิดความเป็นกลาง มันจะไปของมันตามลำดับอย่างนี้
เพราะฉะนั้น พอนั่งปั๊บลงไป จิตสงบนิดหน่อย จิตมันผุดขึ้น ผุดขึ้นๆ มันแสดงว่าเราจะได้ผลเลิศ ในทางปฏิบัติแล้ว ถ้าพอพุทโธๆ รู้สึกวูบๆ ละเอียด เข้าไปแล้ว บางทีมันจะช้าหน่อย แต่ถ้าพอสงบปั๊บ ลงไปแล้ว มันเกิดความรู้ผุดขึ้นๆ นี่เร็วเพราะจิตมัน สามารถหาอารมณ์มาป้อนให้ตัวเองได้ แบบสงบลง ไปปุ๊บ ลงไปนิ่ง ว่าง สว่าง สบาย เรื่อยไป นี่มันเข้า ฌานสมาบัติ
สมาธิในฌานสมาบัติ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ เป็นเพียงที่พักจิต สร้างพลังจิต สร้างฤทธิ์อิทธิพล สร้างอำนาจ..."
#ที่มา หนังสือ สงบ พระราชสังวรญาณ ( หลวงพ่อพุธ ฐานิโย )
”แก้ไขเรื่องของเราดีกว่า“
สำคัญอยู่ที่ว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าจริงก็ควรขอบคุณเขา เพื่อเราจะได้แก้ไข บางทีเรามองไม่เห็นส่วนที่บกพร่องของเรา เขาเป็นเหมือนกระจกเงาให้เราดูหน้าตาเรา ก่อนจะออกจากบ้านเราต้องดูกระจกก่อน ว่าเรียบร้อยหรือไม่ สะอาดหรือไม่ ถ้าไม่มีกระจกดูจะไม่รู้ว่ายังมีขี้ตาขี้มูกติดอยู่หรือเปล่า ถ้าเขาบอกว่ามีขี้มูกขี้ตาติดอยู่ ไปโกรธเขาทำไม ถ้าเป็นความจริง ต้องขอบใจเขา ถ้าไม่เป็นความจริงก็แสดงว่าเขาหูหนวกตาบอด พูดไม่ตรงกับความจริง ปล่อยเขาพูดไป ห้ามเขาไม่ได้
เราอยู่ในโลกของนินทาสรรเสริญ มีนินทามีสรรเสริญเป็นธรรมดา มีเจริญลาภเสื่อมลาภเป็นธรรมดา มีเจริญยศเสื่อมยศเป็นธรรมดา มีสุขมีทุกข์เป็นธรรมดา คือโลกธรรม ๘ เราต้องรู้ทันโลกธรรม ๘ ถ้ารู้ทันก็จะปล่อยวาง เวลาชมก็ไม่ดีใจ เวลาตำหนิก็ไม่เสียใจ เวลาได้ก็ไม่ดีใจเวลาเสียก็ไม่เสียใจ เวลาสุขก็ไม่ดีใจ เวลาทุกข์ก็ไม่เสียใจ เพราะเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับเวลาร้อนก็ไม่เดือดร้อน เวลาหนาวก็ไม่เดือดร้อน อยู่กับมันไป ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา ถ้าไม่รู้ทันก็จะหลง ถ้าชอบก็จะดีใจ ไม่ชอบก็จะเสียใจ เราไปบังคับลมพัด บังคับเสียงจักจั่นได้หรือไม่ เขาเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คนที่ด่าเราก็มีเหตุมีปัจจัยทำให้เขาด่า คนที่ชมก็มีเหตุมีปัจจัยทำให้เขาชม ก็เท่านั้น ชมแล้วก็ผ่านไป ด่าแล้วก็ผ่านไป เป็นเพียงเสียง ไม่เป็นปัญหาถ้าฟังด้วยธรรม ฟังด้วยเหตุด้วยผล ฟังด้วยปัญญา เป็นไตรลักษณ์หมด มีเกิดมีดับ อนัตตาไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา มีสิ่งเดียวที่ควบคุมได้เรากลับไม่ควบคุม ก็คือใจของเราอารมณ์ของเรา เราควบคุมได้ระงับได้ ระงับความโกรธได้ ระงับความโลภได้ ระงับความหลงได้ ด้วยทานด้วยศีลด้วยภาวนา จะรักษาใจให้เป็นปกติได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ใจจะเป็นอุเบกขา จะสบายตลอดเวลา จะช่างมันได้ตลอดเวลา ช่างมันๆ อะไรจะเกิดก็เกิด ช่างมันๆ เราไม่ได้เดือดร้อน นี่คือการปฏิบัติเพื่อควบคุมใจ ไม่ให้ไปควบคุมสิ่งอื่น สิ่งอื่นเราควบคุมไม่ได้ มีเกิดมีดับตามเหตุปัจจัย เวลาไม่อยากให้เขาเกิด เขาเกิดขึ้นมาเราก็เดือดร้อน เวลาไม่อยากให้เขาดับ เขาดับเราก็เดือดร้อน ถ้าปล่อยให้เขาเกิดให้เขาดับเราก็ไม่เดือดร้อน ที่ปฏิบัติทั้งหมดนี้ก็เพื่อควบคุมใจ รักษาใจให้เป็นปกติ ไม่ให้ขึ้นไม่ให้ลง ไม่ให้แกว่งเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา แกว่งไปทางโลภแล้วก็แกว่งมาทางโกรธ ถ้ามันรักมากก็จะโกรธมาก ถ้ารักน้อยก็จะโกรธน้อย
สังเกตดูคนที่อยู่ใกล้ตัวเราจะโกรธมากที่สุด คนที่เรารักมากจะโกรธมาก คนที่เราไม่รักจะไม่โกรธ เขาจะเป็นอะไรจะทำอะไร เราจะไม่รู้สึกอะไร เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ถ้าแกว่งไปทางหนึ่งมาก มันก็จะแกว่งกลับมาอีกทางมาก ถ้าอยู่ตรงกลางจะไม่แกว่ง จะเฉยๆ ถ้าไม่โลภไม่โกรธก็จะเฉยๆ ตอนนี้เสียงก็หยุดแล้ว เราไม่ต้องไปทำอะไรถึงเวลาเขาก็หยุดเอง เวทนาก็แบบเดียวกัน จะเจ็บอย่างไร ถึงเวลาก็จะหยุดเอง สำคัญที่ทำใจให้นิ่ง อย่าไปอยากให้เขาหยุด ถ้าเขาอยู่ก็ให้เขาอยู่ไป เวลาเขาไปก็อย่าไปเสียดาย จะเสียใจ นี่ก็มีเสียงใหม่มาแทนที่แล้ว แต่เราไม่ได้เดือดร้อน มาก็มา ไปก็ไป พยายามทำอย่างนี้เถิดแล้วจะมีความสุข ไม่สำคัญว่าจะมีมากมีน้อย ใจไม่มีอะไรก็มีความสุขได้ สิ่งที่ต้องมีก็เพื่อร่างกาย หรือเพื่อกิเลส ถ้ามีเพื่อกิเลสก็จะมีความทุกข์มากขึ้น ถ้ามีเพื่อร่างกายก็จะทำให้ร่างกายสบาย แต่อย่าไปมีเพื่อกิเลส เวลาอยากได้อะไรที่ไม่จำเป็นจะเป็นกิเลส มีเสื้อผ้ามีรองเท้าอยู่เต็มตู้แล้วยังอยากจะได้ใหม่ อย่างนี้เป็นการส่งเสริมกิเลส ให้มาเหยียบย่ำทำลายจิตใจให้ทุกข์ให้วุ่นวาย เราต้องแก้ไข ไม่ใช่ไปแก้เรื่องของคนอื่น แก้ไขเรื่องของเราดีกว่า ได้ประโยชน์ ไปแก้คนอื่นทำไม ไม่ได้อะไร นอกจากเขามาขอร้องให้เราช่วยแก้ เช่นลูกศิษย์ลูกหาไปหาครูบาอาจารย์ให้ช่วยแก้ปัญหาให้ ครูบาอาจารย์ก็แนะแนวทางให้ เป็นการทำบุญให้ทาน ให้วิทยาทาน ให้ธรรมทาน ถ้าเขาไม่ขอร้องก็อย่าไปยุ่งกับเขา อย่าไปเสนอตัว แก้ปัญหาของเราดีกว่า ยังมีอยู่อีกมากมาย แก้ได้แล้วเราได้ประโยชน์ แก้ได้เท่าไหร่ก็เป็นของเราทั้งหมด แก้ให้คนอื่นเราไม่ได้อะไร ได้อย่างมากก็คือความพอใจความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือเขา
เพราะฉะนั้นพยายามปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วมารักษาใจมาแก้ใจ มาควบคุมใจ บังคับใจให้อยู่อย่างสงบ เป็นอุเบกขา ให้ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ อยู่ตรงนี้ อยู่ที่การระงับความโลภความโกรธความหลง เพราะความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ เป็นเหตุที่ทำให้ใจไม่สงบ พอใจไม่สงบก็ยิ่งโลภยิ่งอยากมากขึ้น พอใจสงบความโลภความอยากก็จะหายไป ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ใจไม่สงบ ที่เกิดจากความโลภความอยากความโกรธความหลง ต้องใช้ธรรมะคือทานศีลภาวนาเป็นเครื่องมือ ศัตรูของเราก็คือกิเลสตัณหานี้เอง คือความโลภความอยากความโกรธความหลง อาวุธหรือเครื่องมือของพวกเราก็คือทานศีลภาวนา ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาก็เป็นเครื่องมือ ศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญาก็เป็นเครื่องมือ มรรค ๘ ก็เป็นเครื่องมือ เพื่อรักษาใจให้อยู่อย่างปกติสุข ปล่อยวางทุกอย่างได้ ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากมีอะไร ไม่อยากเป็นอะไร.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๒๑ กัณฑ์ที่ ๔๑๐ วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๓
|