"..ผู้จะพาให้ผิดพลาดและพาให้ฉลาดแหลมคมก็มีอยู่กับใจดวงเดียวจะเป็นผู้ผลิต ไม่มีอยู่ในที่ใด ๆ จึงไม่ควรตั้งความหวังไว้กับที่ใด ๆ ที่มิได้สนใจดูตัวเอง ตัวจักรเครื่องทำงาน คือกายวาจาใจที่กำลังหมุนตัวกับงานทุกประเภทอยู่ทุกขณะ ว่าผลิตอะไรออกมาบ้าง ผลิตยาถอนพิษคือธรรมเพื่อแก้ความไม่เบื่อหน่ายและอิ่มพอในความเกิดตาย หรือผลิตยาบำรุงส่งเสริมความมัวเมาเหมาทุกข์ ให้มีกำลังขยายวัฏวนให้ยืดยาวกว้างขวางออกไปไม่มีสิ้นสุด หรือผลิตอะไรออกมาบ้าง ควรตรวจตราดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นจะเจอแต่ความฉิบหายล่มจม ไม่มีวันโผล่ตัวขึ้นจากทุกข์ที่โลกทั้งหลายกลัว ๆ กันได้เลย.."
ภูริทตฺโตธมฺโมวาท พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร (พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)
"..อย่าปล่อยให้ตัวมานะ เข้าไปยื้อแย่งครอบครองศีลธรรมภายในใจได้ จะกลายเป็นผู้มีเขี้ยวมีเขาแฝงขึ้นมาในศีลธรรมอันเป็นธรรมชาติเยือกเย็นมาดั้งเดิม การฝึกหัดทรมานตนให้เป็นเหมือนผ้าเช็ดเท้าจนเคยชิน โดยไม่ยอมให้ตัวทิฏฐิมานะโผล่ขึ้นมา ว่าตัวมีราคาค่างวดนี้ เป็นทางก้าวหน้าของธรรมภายในใจโดยสม่ำเสมอ จนกลายเป็นใจธรรมชาติ ไม่หวั่นไหวเหมือนแผ่นดิน ใครจะทำอะไร ๆ ก็ไม่สะเทือน จิตที่ปราศจากทิฏฐิมานะทุกประเภทโดยประการทั้งปวงแล้ว ย่อมเป็นจิตที่คงที่ต่อเหตุการณ์ดีชั่วทั้งมวล.."
ภูริทตฺตโมวาท พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร (พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)
"..การปฏิบัติต่อร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ ก็ต้องได้รับการอบรมสั่งสอน การปฏิบัติต่อจิตใจก็ต้องได้รับการอบรมสั่งสอน ถ้าไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาเท่าที่ควร ก็ต้องทำผิดจริง ๆ ด้วย โดยไม่เลือกเพศวัยและชาติชั้นวรรณะใด ๆ เลย เพราะสามัญมนุษย์เราเป็นเหมือนเด็ก ซึ่งต้องได้รับการดูแลและอบรมสั่งสอนจากผู้ใหญ่อยู่ทุกขณะจึงจะปลอดภัยและเจริญเติบโตได้ คนเราใหญ่แต่กาย ใหญ่แต่ชาติ ใหญ่แต่ชื่อ ใหญ่แต่ยศ ใหญ่แต่ความสำคัญตน แต่ความรู้ความฉลาดที่จะทำตนให้ร่มเย็นเป็นสุขทั้งทางกายและทางใจโดยถูกทาง ตลอดผู้อื่นได้รับความร่มเย็นเป็นสุขด้วย นั่นไม่ค่อยเจริญเติบโตด้วยและไม่สนใจบำรุงให้ใหญ่โตอีกด้วย จึงเกิดความเดือดร้อนกันอยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยไม่เลือกเพศวัยและชาติชั้นวรรณะอะไรเลย.."
ภูริทตฺโตธมฺโมวาท พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร (พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)
สิ่งที่มนุษย์หรือพุทธบริษัทควรจะได้จริงๆ ให้มีค่าสมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ . …. “ ถ้าจะให้มีค่าสมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้กันให้ถึงที่สุดจริงๆ เมื่อสติปัญญาของเราไม่พอเราก็อาศัย“สติปัญญาของพระพุทธเจ้า” ซึ่งเพียงพอที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ คือ“ความไม่ทุกข์โดยประการทั้งปวง” หมายความว่า ไม่มีความทุกข์ด้วยกันทุกคน ทั้งตนและผู้อื่น และความไม่ทุกข์นั้นเป็นความไม่ทุกข์ชั้นสูงสุดจริงๆ คือไม่ทุกข์กันจริงๆ เราจึงถือว่าธรรมะหรือพระพุทธศาสนามีบุญคุณแก่โลกทั้งหมด มีบุญคุณแก่โลกเป็นส่วนรวม เราจึงได้พร้อมใจกันเสียสละทุกอย่างทุกประการเพื่อจะสืบอายุพระศาสนาไว้. . …. พุทธบริษัทที่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องจะมองเห็นความจริงข้อนี้ และพยายามสืบอายุพระศาสนาก็เพราะเหตุผลอย่างนี้ #ไม่ใช่ทำบุญทำทานไปอย่างละเมอเพ้อฝันหวังเอาบุญอะไรที่ไหนก็ไม่รู้ หรือจะหวังเอาข้างหน้าชาติหน้า แต่มันก็ยังไม่รู้อยู่นั่นเองว่าจะได้อย่างไร จึงได้แต่หวังๆกันไปตามธรรมเนียมตามประเพณี นี้ก็น่าสงสารเหมือนกัน. . …. ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น ถ้าว่ากันโดยแท้จริงแล้วไม่ได้มีไว้สำหรับให้คนหวังอะไรลมๆแล้งๆ เช่นนั้น แต่มีไว้สำหรับให้คนเอาชนะความทุกข์กันที่นี่ เดี๋ยวนี้ ที่เราเรียกกันว่า “ในชาติทันตาเห็นด้วยตนเอง” นี้ ว่าเราเอาชนะความทุกข์หรือสิ่งที่ไม่น่าปรารถนานั้นได้อย่างไร ในลักษณะเช่นไร มากน้อยเท่าไร เป็นลำดับไปอย่างไร ดังนี้เป็นต้น. . …. ธรรมะต้องรู้โดยไม่ต้องเชื่อตามคนอื่นว่า หรือไม่ต้องเชื่อตามที่คัมภีร์ว่า คือเชื่อได้ด้วยความรู้สึกของตนเองที่รู้สึกด้วยใจของตนเองโดยแท้จริงว่า ความทุกข์ได้เบาบางไปอย่างนี้จริง จิตใจได้เปลี่ยนไปในทางที่มีความสดชื่น สงบ เย็น หรือ มีความสะอาด สว่าง สงบ เพิ่มขึ้น โดยประจักษ์แก่ตนจริงๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้จริงๆ อย่างนี้ต่างหาก. . …. ไม่ได้หวังว่าจะได้อะไรต่อเมื่อตายไปแล้ว และแม้จะได้อะไรต่อเมื่อตายไปแล้วมันก็ได้อย่างเดียวกับที่แล้วมา คือได้ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่เป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆ อีกนั่นเอง เพราะว่าถ้าในชาตินี้ ในชีวิตนี้ ไม่เข้าใจเรื่องนี้แล้วจะให้ไปเข้าใจต่อเมื่อชาติหน้านั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ มันต้องทำให้รู้ให้เข้าใจกันเสียแต่บัดนี้ทีเดียว. . …. สำหรับธรรมะนี้ เมื่อเข้าใจแล้วมันก็เป็นการปฏิบัติอยู่ในตัว และเป็นการได้ผลของการปฏิบัติอยู่ในตัว เพราะว่า“การ เข้าใจธรรมะ” นั้น เราหมายถึง..รู้จักความทุกข์ รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ และรู้จักสภาวะที่ไม่มีความทุกข์อย่างถูกต้อง และพร้อมกันนั้นเราก็รู้จัก..วิธีปฏิบัติให้ความทุกข์นั้นสิ้นไป ให้ความดับทุกข์เกิดขึ้นเสียก่อนเราจึงจะเรียกว่ารู้วิธีปฏิบัติเพื่อจะดับทุกข์. เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ธรรมะก็หมายถึงรู้ความที่ทุกข์ดับไปแล้วตามสัดส่วนของความรู้และการปฏิบัติ นั่นเอง” . พุทธทาสภิกขุ ที่มา : วิสาขบูชาเทศนา หัวข้อเรื่อง “สัมมาทิฏฐิปูรณกถา” เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๐๕ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “วิสาขบูชาเทศนา เล่ม ๑”
"ทุกๆ คน ทำกรรมใดไว้ กรรมนั้น ย่อมให้ผลในปัจจุบันบ้าง ในภายหน้าบ้าง ในเวลาต่อๆ ไปบ้าง
ตามแต่กรรมนั้นๆ จะหนักเบาอย่างไร ท่านเปรียบเหมือนอย่างยืนอยู่บนที่สูง และโยนสิ่งต่างๆ มีก้อนหิน ก้อนดิน กิ่งไม้ ใบหญ้าลงมา
ของที่มีน้ำหนักมาก ย่อมตกลงสู่พื้นดินก่อน ส่วนกรรมที่หนักน้อยกว่า หรือเบากว่า จะให้ผลตามหลัง"
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
|