#ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ "..ทรัพย์ภายใน "คือศรัทธาและศีลธรรมที่มีในใจของเรานี้ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้" โจรผู้ร้ายก็แย่งชิงเอาไปไม่ได้ "เพราะมันอยู่ในดวงจิตของเรา" เมื่อเราจะจากโลกนี้ไป คือ "หมายความว่า เราตาย ก่อนที่จะตายนั้น ภาคปฏิบัติคือการรักษาศีลที่เราได้รักษา" ศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี เป็นครั้งเป็นคราวหรือรักษาเป็นนิจศีล
เวลาจะตายจิตนั้นจะต้องคำนึงถึงว่า "เราเคยได้ให้ทาน เคยรักษาศีล เคยฟังพระธรรมเทศนา เคยภาวนาอบรมจิตใจของตน" ให้ปราศจากมลทินโทษทั้งหลายนั้น ย่อมมาปรากฏในดวงจิตของเรานึกอยู่ "ถ้าในขณะนั้นจิตออกจากร่างของเรา ในเวลาที่จิตนึกถึงส่วนบุญ ส่วนกุศล" ที่ทุก ๆ คนได้บำเพ็ญไว้จะน้อยหรือมากก็ตามที จิตจะต้องไปยึดอยู่ในอารมณ์อันนั้น
"เมื่อไปก่อภพก่อชาติ ในชาติหน้านั้น บางทีถ้าจิตคิดแต่ในบุญกุศล ก็ได้กลับมาเกิดเป็นคน คือ เป็นมนุษย์อีกแต่เป็นมนุษย์ที่บริสุทธิ์" และมีทรัพย์สมบัติมาก ในฐานะที่ดีด้วยบุญกุศลอันนั้นที่ได้ตามสนับสนุน ดังนั้น "ท่านทั้งหลายได้หาทรัพย์ภายในไว้เช่นนี้ ก็เรียกว่าเป็นกำไรของชีวิตที่เราเกิดมาในชาติหนึ่ง ๆ" เท่ากับว่าเรามาค้าขาย เราได้ต้นทุนมาจากมารดา บิดา ครบบริบูรณ์แล้ว
จากนั้น "เราก็มาสร้างสมอบรมเพิ่มเติมต่อไปอีก" บุญนั้นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นและตัวของเราจะเป็นผู้ที่ยึดถือบุญนั้นไว้ "ทำให้จิตใจเบิกบานหรรษา มีความสงบเยือกเย็น" ไม่คิดไปในทางที่ชั่วและตั้งใจจะทำแต่ความดีเรื่อยไป.."
โอวาทคำสอน พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมืองอุดรธานี
ธรรมชาตินี่มันมีทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งผิดทั้งถูกนะ มันวนไปทางถูกก็ได้ วนไปทางผิด ก็ได้ ต้นไม้ธรรมดาถ้าเราปลูกติดๆ กัน แล้วก็ต้นหนึ่งมันโตก่อน ต้นที่มันโตทีหลัง ชอบแอบๆ ไปข้างนอก โอนออกไป ทําไมมันเป็นอย่างนั้น ใครไปบอกมันไหม ใครไปแต่งมันไหม นั่นคือธรรมชาติ มันเป็นธรรมะ
อย่างตัณหาคือความอยากนําเราไปสู่ทุกข์อย่างนี้ ถ้าเราพิจารณาแล้วนะ มันจะโอนออกไปจากตัณหา มันพิจารณาตัณหา มันจะเขย่าตัณหานั้นให้หมด ให้เบา ให้บางไปเอง เหมือนกับธรรมชาติต้นไม้ต่างๆ นั่นแหละ ใครไปบอกมัน ใครไปสะกิดมันไหม มันก็พูดไม่ได้ มันก็ทําไม่ได้ แต่ว่ามันออกไปได้ ตรงนี้มันคับแคบมันไม่เกิดอะไร มันก็โอนออกไปข้างนอก ดูอย่างนี้ก็เป็นธรรมะแล้ว ไม่ต้องไปดูอะไรมากมายหรอก
ผู้ที่มีปัญญานะ เท่านี้ก็รู้จักว่ามันเป็นธรรมะสัญชาตญาณของต้นไม้ มันไม่รู้จักอะไร แต่มันมีความรู้อยู่ในมันนั่นแหละ ทําให้วิ่งออกจากอันตรายได้ เลือกที่เหมาะสมของมันได้ ผู้มีปัญญาเราก็เหมือนกันนั่นแหละ
พระธรรมเทศนา พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
"ทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นทีหลัง จึงจักไม่เป็นบัณฑิตสกปรก สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ"
หลวงปู่ชา สุภัทโท
”เรื่องความเพียรมันเกิดขึ้นเอง ไม่ได้ไปบังคับมันให้ยุ่งยากเลย เพียงแต่ครั้งแรกต้องบังคับมัน เหมือนที่เขาฝึกควาย ฝึกวัว ถ้าฝึกมันจนเป็นงานแล้ว เขาจะขี่ล้อขี่เกวียนก็ได้ จะนอนไปก็ได้ นี่ก็เหมือนกับจิตของเรา เมื่อฝึกมันเข้าไป มันจะเป็นของมันไปเอง”
หลวงปู่ลี กุสลธโร
“การทรมาน ไม่ได้อยู่ที่ทุกขเวทนา มันอยู่ที่การไม่อยากมีทุกขเวทนา การไม่ยอมรับสิ่งที่เราแก้ไม่ได้ คือ สิ่งที่ทรมานเรา”
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
|