Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ความโกรธ

พฤหัสฯ. 21 พ.ย. 2024 4:51 am

“ นิมิต ”

ถาม : เผอิญมีโยมที่มาปฏิบัติเขามีปัญหาอยู่หน่อย คือในการปฏิบัติของเขาขณะนี้ก้าวหน้าขึ้น แต่ว่าเกิดนิมิตขึ้นมากมาย แล้วเขารู้สึกพอใจในนิมิตมาก เพราะเป็นนิมิตในทางดีด้วยค่ะ

พระอาจารย์ : นิมิตก็เหมือนกับดูหนังดูละคร ดูแล้วมันก็ติด ไม่ก้าวหน้า ไม่เป็นวิปัสสนา ไม่ทำให้เกิดปัญญา ไม่ปล่อยวาง เวลาจิตไปเผชิญกับความทุกข์ จะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เพราะไม่มีปัญญา

ถาม : เขาสงสัยว่านิมิตที่เกิดขึ้นเมื่อจิตรวมลงแล้ว เป็นสิ่งที่เขาเคยผ่านมาใช่หรือเปล่า เช่นเห็นพระพุทธเจ้าบ้าง หรืออะไรอย่างนี้ค่ะตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกับเขา

พระอาจารย์ : มันดีแต่ไม่เป็นประโยชน์แก่การตัดภพตัดชาติ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตก็ได้ แต่ไม่ได้ทำให้อนาคตของเราดีขึ้น คุณแม่แก้วก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน คุณแม่แก้วนับถือหลวงตาเป็นอาจารย์ ท่านพยายามสอนคุณแม่แก้วให้ละนิมิต เพราะคุณแม่แก้วจะชอบไปรับรู้เรื่องต่างๆ

ถาม : จะบอกให้เขาละนิมิตโดยวิธีใดคะ ไม่สนใจมัน

พระอาจารย์ : พิจารณาด้วยปัญญาว่าไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าต้องการพัฒนาจิตใจไปสู่อริยภูมิ สู่มรรคผลนิพพาน ก็ต้องปล่อยไปก่อน ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหายไป มันอยู่กับเรา เมื่อได้บรรลุถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็จะมาปรากฏให้เห็นเหมือนเดิม ตอนนั้นจะมีความรู้ความสามารถที่จะวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง สามารถเอาไปใช้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ได้ แต่ตอนนี้ถ้าไปยุ่งเกี่ยวแล้ว จะไม่ทำงานที่ต้องทำ คือทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจ เหมือนกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แทนที่จะเรียนหนังสือ กลับไปทำกิจกรรม การเรียนก็เลยไม่ดี ไม่ได้ขึ้นชั้น เรียนไม่จบ นิมิตพวกนี้ก็เป็นเหมือนกิจกรรม ไม่ใช่วิชาหลัก ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ไปสนใจ รู้ไปก็เท่านั้น ไม่ได้ทำให้กิเลส คือความโลภความโกรธความหลง เบาบางหรือหมดไปได้ หลวงตาจึงต้องใช้ไม้เด็ดกับคุณแม่แก้ว บอกว่าถ้าไม่เลิกก็ไม่ต้องเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นลูกศิษย์กัน คุณแม่แก้วก็เลยเลิกยุ่งกับนิมิต ไปทำงานด้านวิปัสสนาทันที พิจารณากาย พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พิจารณาอวิชชาจนหลุดพ้น ทีนี้จะมีนิมิตมากน้อยก็ไม่เป็นปัญหา คนที่ยังไม่หลุดพ้นก็เหมือนกับคนที่ติดอยู่ในคุก ไปดีใจกับการดูโทรทัศน์ทำไม รอไปดูข้างนอกไม่ดีกว่าหรือ เพราะจะไปทำอย่างอื่นก็ทำได้ อยู่ในคุกก็ได้แต่ดูโทรทัศน์ จะไปเที่ยวที่นั้นที่นี่ก็ไปไม่ได้ ก็ต้องเลือกเอา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี

จุลธรรมนำใจ ๘ กัณฑ์ที่ ๒๙๗
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐








ใครจะว่าเราดีเราชั่วนั้น
ไม่ใช่อยู่ที่คนพูด
แต่อยู่ที่การกระทำของเรา
ถ้าหากเขาว่าเราดี
แต่เราไม่ดีจริง
ก็ไม่มีความหมาย

#หลวงพ่อเกษม เขมโก








ปล่อยวางในอายตนะ

อายตนะคืออะไร คือมีตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต มีอยู่อย่างเก่า

หูก็จะรับเสียง ฟังเสียง
จมูกก็มีหน้าที่รู้จักกลิ่นเหม็น หอม
รส...ลิ้นก็รู้จักรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม
โผฏฐัพพะก็รู้จักเย็น ร้อน อ่อน แข็ง
จิตก็รู้จัก ธรรมารมณ์ที่บังเกิดขึ้นกับจิตอยู่อย่างเก่า

เขาจะทํางานอยู่อย่างเก่า อย่างเดิม ที่เรียกว่าหูเคยได้ยินนี่ มันไม่ได้ยิน จมูกเคยได้กลิ่น มันก็ไม่มีกลิ่น ลิ้นเคยมีรส มันก็ไม่มีรส ร่างกายถูกต้องโผฏฐัพพะ เคยมีแล้วมันไม่มีอย่างนั้น อันนี้มันอยู่เสมอเก่ามัน แต่ว่าความรู้สึกน่ะ มันจะสักแต่ว่า ไม่มีความสําคัญมั่นหมายในอายตนะต่าง ๆ เหล่านั้น ปล่อยมันรู้ว่ามันปล่อย รู้ในธรรมะที่แท้จริง รู้แล้วมันปล่อย รู้แล้วมันวาง รู้แล้วมันปล่อย รู้แล้วมันวาง ไม่ใช่รู้แล้วมันยึด...มันถือ รู้แล้วทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น "ความรู้ในธรรมะที่แท้จริงน่ะ...มันรู้ปล่อยรู้วาง" รู้แล้วมันก็ปล่อยมันวางลงไป ก็เรียกว่ามันไม่ลูบคลํานั่นเอง ไม่ลูบคลําในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อหากว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต มันรู้อารมณ์ขึ้นมาเช่นนี้ ไอ้การที่เข้าไปช่วยมัน...ซ้ำเติมมัน...ไม่มี ไม่มี...เมื่อมันกระทบกันแล้ว...มันก็ปล่อยไป มันจะวางของมันไป คือหมายความว่า ถ้ามันรัก มันจะมีอาการรักแต่ไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ถ้ามันเกลียด ก็เป็นสักแต่ว่าเกลียด ไม่มีตัวประธานมั่นหมาย คือมันรู้ปล่อย...รู้วาง ทําไมมันได้ปล่อย...ได้วาง เพราะมันเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นโทษ

เห็นแล้วมันก็เฉย ๆ ได้ยินแล้วมันก็เฉยๆ ไม่เข้าข้างโน้น ไม่เข้าข้างนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต ก็เหมือนกัน คิดขึ้นมาแล้วก็เฉย ๆ ปล่อยวาง มันปล่อยวาง เห็นว่าไอ้นั่นดี แต่ว่ามันก็ไม่มีอุปาทานมั่นหมาย เป็นอาการของจิตเท่านั้น อันนี้ท่านเรียกว่าสักแต่ว่า อายตนะมีอยู่...อายตนะนั้นมีอยู่ แต่ว่าไม่มีอาการไปอาการมา เหมือนไปจากบ้านนี้ไปบ้านโน้น...มาจากบ้านโน้นสู่บ้านนี้...ไม่ใช่อย่างนั้น แต่อายตนะนั้นมีอยู่ แต่ว่าไม่เข้าข้างโน้น ไม่เข้าข้างนี้ รู้การปล่อยวาง รู้แล้วก็ปล่อยวาง แล้วเสร็จแล้ว...รู้ในการปล่อยวาง เช่นนี้แหละ ทุกแง่ทุกมุม มันจะเป็นของมันอยู่อย่างนี้

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)









"..คำว่าเราอันเป็นหลักใหญ่ในตัวคนก็คือใจ ใจเป็นของไม่ตาย และไม่เคยตายมาแต่กาลไหน ๆ นอกจากระเหเร่ร่อนไปเกิดในกำเนิดดี-ชั่วต่าง ๆ ตามอำนาจของวิบากกรรมดี-ชั่วที่ตนทำไว้พาให้เป็นไปเท่านั้น ยิ่งคำว่าตายแล้วสูญ นั่นไม่มีในใจดวงใด ๆ เลยทั้งใจสัตว์ใจบุคคล แม้ใจพระพุทธเจ้าและใจพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลสตัวพาให้เกิด-ตายแล้วก็ไม่สูญ แต่ไม่เที่ยวแสวงหาที่เกิดต่อไปเหมือนใจที่มีกิเลสเป็นเชื้อพาให้เกิด-ตายเท่านั้น เพราะใจนั้นเป็นใจ อนุปาทิเสสนิพพานของผู้สิ้นกิเลสโดยสมบูรณ์แล้ว.."

#พระธรรมคำสอน
หลวงปู่มัน ภูริทตฺโต
#อ้างอิงหนังสือประวัติหลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
(พ.ศ.๒๔๓๑–๒๕๒๖)







"..เมื่อเราเข้าวัดตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็ยังมีบุคคลบางคน
ล้อเลียนว่า "เป็นคนแก่ เจ้าธัมมะธัมโม" ก็เลยละอาย
ไม่อยากไปอีก จะไปอายมันทำไม เข้าวัดปฏิบัติธรรมมันผิดอะไร
พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องความละอายความกลัวไว้
แต่ท่านมิได้สอนให้อายอย่างนี้ ท่านสอนให้ละอายต่อความชั่ว
ความผิดอันจะนำชีวิตไปสู่ความเดือดร้อนเสียหาย
ให้กลัวผลของความชั่วความผิดที่จะตามมาให้โทษ ทุกข์
เวรภัยแก่ตนเอง ท่านให้ละอาย ให้กลัวอย่างนี้
การกระทำความดีมีประโยชน์ การเข้าวัด การปฏิบัติธรรม
มันเป็นความดีไม่ใช่เรื่องที่น่าละอาย
เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ ดีใจ สบายใจ จึงจะถูก.."

#พระธรรมคำสอน
พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี









"ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ไม่มีการสูญเสียใดๆ
ที่น่าเสียใจเท่ากับการเสียเวลา
เสียเวลาเพียงหนึ่งวินาที
ก็เท่ากับสูญเสียส่วนหนึ่งของชีวิต
อายุที่เราได้นั้นคือชีวิตที่เราสูญเสียไป"

หลวงปู่จันทร์ กุสโล






“อย่าเข้าใจว่าโกรธทีหนึ่งแล้ว ก็แล้วไปนะ
โกรธทุกที จะเพิ่มอนุสัยแห่งความโกรธ
คือ ความเคยชินแห่งความโกรธให้เข้มข้นทุกที
เราจะโกรธง่ายขึ้นทุกที”

ท่านพุทธทาสภิกขุ
ตอบกระทู้