พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อาทิตย์ 24 พ.ย. 2024 10:21 am
"#การสวดมนต์ถ้าเราทำเป็นถึงพระนิพพานได้
อันดับแรกก็คือสมาธิขั้นต้นต้องได้แน่นอน
ถ้าสมาธิไม่ทรงตัวเราจะสวดผิด
อันดับที่สองถ้าตั้งใจที่จะทรงฌาน
ใช้คำสวดทั้งหมดเป็นคำภาวนา
เท่ากับว่าเราภาวนาโดยใช้คาถาทั้งบท
แต่เป็นคำภาวนาที่ยาวหน่อย
จนกระทั่งสมาธิสามารถทรงตัวได้ตามที่ต้องการ
อันดับต่อไปถ้าจะทำทิพจักขุญาณ
เวลาสวดมนต์ให้นึกถึงคำสวดมาเป็นคำ ๆ
ถ้าเห็นตัวหนังสือได้ชัดเท่าไร
เราก็จะเห็นผีเห็นเทวดาได้ชัดเท่านั้น
ท้ายสุดถ้ายกจิตขึ้นพระนิพพานได้
ให้ยกจิตขึ้นไปสวดถวายพระพุทธเจ้าข้างบนเลย
ตายตอนนั้นก็อยู่บนพระนิพพานเลย
เพราะฉะนั้น..อย่าไปคิดว่าแค่สวดมนต์
สำคัญว่าเราทำได้แค่ไหน
ถ้าเราทำเป็น ประยุกต์ใช้เป็น
แค่สวดมนต์ไปพระนิพพานได้สบาย"
เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๖
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
#ผู้มีบุญเก่าจึงดูดดื่มในคำสอนพระพุทธเจ้า
"..ถ้าผู้มีบุญเก่าติดตัวมาน่ะ คนเรามันต้องมีบุญเก่านะ เป็นทุนน่ะ มันจึงดูดดื่มในคำสอนของพระพุทธเจ้า คนที่ไม่ได้ทำบุญกุศลพอสมควรมาแต่ชาติก่อนแล้วอย่างนี้ จะมาฟังคำสอนพระพุทธเจ้านี่ไม่ค่อยดูดดื่มหรอก ฟังไปก็เฉยๆเรื่อยๆ ไปอย่างนั้นแหละ ไม่ค่อยสะดุดใจ ผู้ที่มีบุญกุศลที่ตนได้สั่งสมมาแต่ก่อนแล้วมันคล้ายๆ กับแม่เหล็กนี่แหละ มันดูดกันเข้าไป
ตรงกันข้ามผู้ที่เคยสั่งสมบาปมา อบรมนิสัยเป็นคนใจดำอำมหิตมาเช่นนี้นะ พอเกิดมาในชาตินี้มันก็เป็นคนใจดำอำมหิต พอเกิดเหตุไม่ดีมามันก็ลุกเป็นไฟขึ้น โทสะพยาบาทอันนั้น นี่มันดูดกันนะ ความชั่วก็ดี เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นคนเรานี่จึงว่ามีความเป็นอยู่แตกต่างกัน เรื่องความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี่มันก็เป็นเครื่องส่อแสดงถึงชาติหนหลังนู่น ถึงแม้ใครจะระลึกชาติหนหลังไม่ได้ก็ตาม แต่กิริยาอาการที่แสดงออกในปัจจุบันนี้แหละหากเป็นเครื่องชี้บอกในอดีตชาติหนหลังว่า ผู้นั้นได้ฝึกฝนอบรมตนมาอย่างไรในอดีตหนหลังนั่น นั่นแหละความประพฤติความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้จะเป็นเครื่องชี้บอกให้ได้เลย มันเป็นอย่างนั้น.."
#พระธรรมคำสอน
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
"ให้รู้ธรรมะและอาการของธรรมถึงขั้นละเอียดแล้วก็จะรู้เองเห็นเอง"
ธรรมชาติของรูปเป็นอย่างไร รูปก็คือรูปกายนี้บ้าง รูปภายนอก เช่น ต้นไม้ ใบหญ้าบ้าง ธรรมชาติของรูปเป็นอย่างไร ธรรมชาติของรูปล้วนไม่เที่ยง ใบไม้ก็ไม่เที่ยง ต้องเหลืองต้องหล่นผุพังเน่าเปื่อยลง หาแก่นสารไม่ได้ธรรมชาติของกายก็ไม่เที่ยง ต้องแก่ต้องเฒ่า หนังเหี่ยวย่น อวัยวะภายนอกภายในก็เสื่อมทรุดลงทุกวัน ธรรมชาติภายในก็คืออารมณ์ต่างๆ เรียนรู้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่ามันก็ไม่ต่างจากธรรมชาติภายนอก คือล้วนไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทนอยู่ไม่ได้ต้องเสื่อมต้องดับ เป็นทุกขัง ดับแล้วก็หาตัวตนแก่นสารอันใดไม่ได้ เรียกว่าเป็นอนัตตา อาการของธรรมะก็คืออาการที่มันปรุงแต่งแล้วไม่เที่ยงนั่นเอง อาการของจิตหรือใจที่ปรุงแต่งเป็นจิตสังขารต่างๆ หรืออารมณ์ต่างๆให้เห็นอาการเหล่านั้น หรือจะเรียกว่าให้เรียนรู้กิริยาจิตก็ได้ อาการกับกิริยา มันก็อันเดียวกัน ให้รู้อาการถึงขั้นละเอียด หมายถึงรู้ถึงอาการที่มันดับไป ไม่เหลืออะไร เห็นการเสื่อมดับของอาการของจิตเหล่านั้น เมื่อถึงขั้นละเอียด "จิตก็หมดอาการ" หรือ "หมดกิริยาของจิต" ตรงนี้ อุปมาเหมือนคนแสดงท่าทางต่างๆ ไม่เคยหยุด ออกอาการโน่นนี่นั่น พอหยุดอาการ หยุดการแสดงกิริยาต่างๆ มันก็จะนิ่งขึ้นมา จิตก็เหมือนกัน พอรู้ถึงอาการอันละเอียด คือเห็นการเสื่อมดับจนไม่เหลืออะไร มันก็เห็นแล้วว่าอาการของจิตมันไม่มีอะไร จิตก็หมดอาการ ตั้งมั่นเกิดสัมมาสมาธิขึ้นมาตรงนั้น
หลวงปู่มั่นจึงบอกว่า แล้วจะรู้เห็นเอง ก็คือรู้เห็นธรรม ที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่าคิดเท่าไรก็ไม่รู้ จะรู้เมื่อหยุดคิดก็คืออันเดียวกัน คิดเป็นอาการของจิต พอหยุดคิด ก็หยุดอาการของจิตเสียได้ ก็จะรู้ธรรมเห็นธรรมขึ้นมา นี่คือนัยแห่งธรรมที่หลวงปู่มั่นสอน และหลวงปู่หลุยบันทึกเอาไว้ ซึ่งตอนเห็นคำถาม พอกำหนดลงไป มันก็ไหลออกมาแบบนี้แหละ ไม่รู้เหมือนกันว่ามาได้อย่างไร การปฏิบัติก็เพื่อไปสู่การหยุดคิดหยุดปรุงแต่ง จิตจะรู้ธรรมก็ตรงนั้น เห็นคิดว่ามันสักแต่จิตปรุงแต่งขึ้นมา พอมันเสื่อมดับให้เห็น ก็จะเห็นว่าแท้จริงคิดมันไม่มีอะไร คือเห็นความละเอียดของคิดของสังขารแล้วว่ามันไม่มีอะไร จิตก็จะปล่อยคิด ไม่ยึดคิด และหยุดคิด ตัวจิตนั่นหยุดคิด แต่คิดที่เป็นสังขารยังทำงานอยู่ หลวงปู่ดูลย์จึงบอกว่า แต่ทั้งนี้ ต้องอาศัยคิดจึงจะรู้ถ้าไม่มีคิด ก็ไม่มีอะไรจะให้รู้ ไม่มีคิดเหลือก็พวกภาวนาแล้วรวมลงไปแช่แน่นิ่ง ไม่เหลือคิด ไม่เหลืออะไร เลยไม่รู้อะไร ออกมาก็โง่เหมือนเดิม เรื่องนี้ก็เขียนไว้หมดแล้วในหนังสือเช่นกัน ที่ว่าต้องอาศัยคิดจึงจะรู้ ก็หมายความว่า จะรู้ว่าคิดนั่นไม่ใช่เราของเรา คิดเป็นสังขารต่างหากจากจิต เป็นเพียงอาการหรือกิริยาของจิตอย่างหนึ่ง จะถือเป็นเราของเราไม่ได้ แต่จะรู้อย่างนี้ได้ ต้องแยกจิตออกจากคิดได้เด็ดขาดก่อน คือจะต้องเจริญสติจนจิตแยกออกจากคิดมาตั้งมั่นให้ได้ก่อน ถ้าเราเห็นคิดเป็นเพียงสักแต่ว่าอาการของจิตอยู่เนืองๆ วันหนึ่งพอมันละเอียดลงไป จิตก็จะผละออกมาตั้งมั่นให้เห็น เรียกว่าให้รู้เห็นธรรม
ขอขอบคุณที่มา:หนังสือ "โอวาทธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต" บันทึกโดย หลวงปู่หลุย จันทสาโร ขยายความโดย ทรงกรด มั่นสิงห์
ถาม: ท่านอาจารย์มีความเห็นเกี่ยวกับวิธีฝึกปฏิบัติ (วิธีภาวนา) วิธีอื่นๆ อย่างไรครับ ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าจะมีอาจารย์มากมาย และมีแนวทางการทำวิปัสสนาหลายแบบจนทำให้สับสน
ตอบ : มันก็เหมือนกันกับการเข้าไปในเมือง บางคนอาจจะเข้าเมืองทางทิศเหนือ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฯลฯ ทางถนนหลายสาย โดยมากแล้วแนวทางการภาวนาก็แตกต่างกันเพียงรูปแบบเท่านั้น ไม่ว่าท่านจะเดินทางสายหนึ่งสายใด เดินช้าเดินเร็ว ถ้าท่านมีสติอยู่เสมอ มันก็เหมือนกันทั้งนั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือ "แนวทางภาวนาที่ดีและถูกต้องนำไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ลงท้ายแล้วก็ต้องปล่อยวาง"
แนวทางภาวนาทุกรูปแบบด้วย ผู้ปฏิบัติต้องไม่ยึดมั่นแม้ในตัวอาจารย์ แนวทางใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง สู่การไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เป็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง
ท่านอาจจะอยากเดินทางเพื่อศึกษากับอาจารย์ท่านอื่น และลองปฏิบัติตามแนวทางอื่นบ้างก็ได้ พวกท่านบางคนก็ทำเช่นนั้น นี่เป็นความต้องการตามธรรมชาติ ท่านจะรู้ว่า แม้ได้ถามปัญหานับพันคำถามก็แล้ว และมีความรู้เรื่องแนวทางปฏิบัติอื่นๆ ก็แล้ว ก็ไม่อาจจะนำท่านเข้าถึงสัจธรรมได้ ในที่สุดท่านก็จะรู้สึกเบื่อหน่าย ท่านจะรู้ว่าเพียงแต่หยุด และสำรวจตรวจสอบดูจิตของท่านเองเท่านั้น ท่านก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนอะไร
"ไม่มีประโยชน์ที่จะแสวงหาออกไปนอกตัวเอง ผลที่สุดท่านต้องหันกลับมาเผชิญหน้ากับสภาวะที่แท้จริงของตัวท่านเองตรงนี้แหละที่ท่านจะเข้าใจธรรมะได้"
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
"..เราจะพึ่งคนอื่นไม่ได้ ตายเราก็ตายคนเดียว ไม่มีใครมาช่วยตายด้วยเลย...
มีแต่ตัวเองเท่านั้นแหละที่ช่วยประคองจิตใจตัวเอง ให้ตั้งมั่นอยู่ไม่ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย
ไปเกาะ ไปข้อง อยู่ที่ต่างๆ ในโลกนี้
ไม่เศร้าโศก ไม่เสียใจ ปล่อยวางความอาลัย ความเกี่ยวข้องทั้งหมดลงไป นี่เรียกว่า จะต้องฝึกตายเสียตั้งแต่ก่อนตาย.."
#พระธรรมคำสอน
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
"อะไรที่เราว่าเป็นนั้นเป็นนี้
นั้นไม่เป็นอยู่ได้ตลอดไป เพราะว่าเกิดมาแล้ว
มีความเจริญขึ้น เมื่อเจริญแล้วก็เสื่อมไป
เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอยู่อย่างนี้
ตลอดกัปตลอดกัลป์
จิตใจของผู้มีความลุ่มหลงมัวเมา
ไม่ตั้งมั่นอยู่ในธรรมะปฏิบัติ
มีแต่ความไหวหวั่นพรั่นพรึง
ก็หวังแต่ส่วนที่ดีในโลกธรรมนั้น
ก็มีส่วนดีอยู่ครึ่งหนึ่ง ส่วนที่ไม่ดีอยู่ครึ่งหนึ่ง
ต้องรู้เท่าทัน ใจก็เป็นกลาง ไม่ทุกข์ร้อนกับสิ่งทั้งหลาย"
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.