"..เมื่อมีวัตต์ก็ชื่อว่ามีศีล ศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ ต้นดี ปลายก็ดี ครั้นผิดมาแต่ต้น ปลายก็ไม่ดี ดังคำว่า "ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี" อุปมารูปเปรียบเหมือนอย่างว่า การทำนา เมื่อบำรุงรักษาลำต้นข้าวดีแล้ว ย่อมหวังได้แน่ซึ่งผล ดังนี้.."
ภูริทตฺตธมฺโมวาท พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร (พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)
"..เมื่อเรามาเห็นโอกาสและเวลา เหมาะสมแก่เรื่องราวของเราเช่นนั้น ก็ควรจะพากันรีบถ่อ รีบแจว รีบพาย รีบขวนขวายพยายาม อย่างภาษิตเขาว่า “รีบถ่อรีบพาย ตลาดมันจะวาย สายบัวมันจะเน่า” คือ ยายแก่พายเรือไปเก็บสายบัว จะไปขายที่ตลาด มัวแต่ช้าเมินเฉยอยู่ ตลาดเขาเลิกหมด บัวมันก็จะต้องเน่า นี่ท่านจึงสอนว่า “รีบถ่อรีบพาย ตะวันมันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวมันจะบูด” เราก็เหมือนกัน เมื่อมีศรัทธาก็รีบเร่ง บากบั่นพยายาม ตลาดคือได้แก่การที่พวกเราทั้งหลายได้มาฟังเทศน์ สวดมนต์ อบรมจิตใจ ถ้าโอกาสและเวลาเช่นนั้นหมดไป เราก็จะไม่ได้ทำ ที่เขาเรียกว่าสายบัวคืออะไร คือชีวิตไม่รีบเร่งขวนขวายเข้าไปมันจะตาย ไม่มีนิมิตเครื่องหมายว่าลมหายใจมันจะขาดเมื่อไร แจวเข้าไป คือ ความพากความเพียรบากบั่นพยายาม รีบไปเก็บเครื่องที่จะให้เกิดบุญเกิดกุศลแก่ตน รวบรวมไปขายในตลาด ใส่บาตรใส่พก บำเพ็ญคุณงามความดี นอกจากนั้นทีนี้ สายบัวมันก็จะต้องเน่า เมื่อหมดลมก็ตาย ตลาดจะต้องวาย พระสงฆ์ก็เป็นของไม่แน่ บางทีก็ตาย บางทีก็สึก บางทีก็หนี บางทีวัดมันร้าง ไม่ร้างบางทีคนชั่วมาอยู่ นี่ตลาดมันวาย ก็พอดีและตลาดก็วาย สายบัวคือลมหายใจมันก็ขาด เราก็ไม่สามารถไปขวนขวายพยายาม หาพัสดุข้าวของมาถวายทานการกุศลได้ เมื่อโอกาสเหมาะสมแก่เรื่องราว ภาวะและชีวิตของเรา ก็ควรจะต้องทำ ไม่ประมาท พยายามรีบเร่งขวนขวาย พยายามเสียโดยเร็ว นี่เป็นอย่างนี้"
ธมฺมธโรวาท พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ (พ.ศ.๒๔๔๙-๒๕๐๔ )
#จิตเรานี่เองผู้ก่อกรรมก่อเวร "..พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ทางไปนรก ทางไปสวรรค์ ทางไปพรหมโลก ทางไปพระนิพพาน พระองค์ก็บอกไว้แล้ว "ให้วางกายให้เป็นสุจริต วาจาให้บริสุทธิ์ ใจให้บริสุทธิ์" นี้ทางไปสวรรค์ ทางมามนุษย์ ทางไปพระนิพพานให้บริสุทธิ์อย่างนี้
ทางไปนรกนั่น "เรียกว่าทุจริตนั้น ทางกาย ทางวาจา ทางใจ" อันนี้ทางไปนรก เราจะเว้นเสีย ไม่ไปละ รู้จักแล้ว เราจะไปแต่ทางที่ราบรื่น ทางสบาย การเดินก็ทางกาย วาจา ใจ เท่านั้นและ
ผู้ที่จะเที่ยวเอาภพ เอาชาติ นับกัปป์ นับกัลป์ไม่ได้ ตั้งแต่โลกเป็นโลกมา "คือดวงจิตของเรานี่เอง"
"ดวงจิตของเรานี่เองเป็นผู้ก่อกรรมก่อเวรแล้วก่อเล่า ไม่เบื่อสักที ก็แม่นดวงจิตของเรานี่แหละ.."
#พระธรรมคำสอน หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
ละทิ้งความคิดทั้งหมด
นักปริยัติชอบสงสัย เช่น เวลานั่งสมาธิ ถ้าจิตสงบปั๊บ เอ มันเป็นปฐมฌานละกระมัง ชอบคิดอย่างนี้ พอนึกอย่างนี้จิตถอนเลย ถอนหมดเลย เดี๋ยวก็นึกว่าเป็นทุติยฌานแล้วกระมัง อย่าเอามาคิดพวกนี้มันไม่มีป้ายบอก มันคนละอย่าง ไม่มีป้ายบอกว่า “นี่ทางเข้าวัดหนองป่าพง” มิได้อ่านอย่างนั้น มันไม่บอก มีแต่พวกเกจิอาจารย์มาเขียนไว้ว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มาเขียนไว้ทางนอก ถ้าจิตเราเข้าไปสงบถึงนั้นแล้ว ไม่รู้จักหรอก รู้อยู่แต่ว่ามันไม่เหมือนปริยัติที่เราเรียน ถ้าผู้เรียนปริยัติแล้วชอบกําเข้าไปด้วย ชอบนั่งคอยสังเกตว่า เอ เป็นอย่างไร มันเป็นปฐมฌานแล้วหรือยัง นี่มันถอนออกหมดแล้ว ไม่ได้ความ ทําไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะมันอยาก พอตัณหาเกิด มันจะมีอะไร มันก็ถอนออกพร้อมกันนี่แหละ เราทั้งหลายต้องทิ้งความคิดความสงสัยให้หมด ให้เอาจิตกับกายวาจาล้วนๆ เข้าปฏิบัติดูอาการของจิตอย่าแบกคัมภีร์เข้าไปด้วย ไม่มีคัมภีร์ในนั้น ขืนแบกเข้าไป มันเสียหมด เพราะในคัมภีร์ไม่มีสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
ผู้ที่เรียนมากๆ รู้มากๆ จึงไม่ค่อยสําเร็จเพราะมาติดตรงนี้ความจริงแล้วเรื่องจิตใจอย่าไปวัดออกมาทางนอก มันจะสงบก็ให้มันสงบไป ความสงบถึงที่สุดมันมีอยู่ ปริยัติของอาตมามันน้อย เคยเล่าให้มหาอมรฟัง เมื่อคราวปฏิบัติในพรรษาที่ ๓ นั้น มีความสงสัยอยู่ว่าสมาธิเป็นอย่างไรหนอ คิดหาไปนั่งสมาธิไป จิตยิ่งฟุู้งยิ่งคิดมาก เวลาไม่นั่งค่อยยังชั่ว แหมมันยากจริงๆ ถึงยากก็ทําไม่หยุด ทําอยู่อย่างนั้น ถ้าอยู่เฉยๆ แล้วสบาย เมื่อตั้งใจว่าจะทําให้จิตเป็นหนึ่งยิ่งเอาใหญ่ มันยังไงกัน ทําไมจึงเป็นอย่างนี้
ต่อมาจึงคิดได้ว่า มันคงเหมือนลมหายใจเรานี้กระมัง ถ้าว่าจะตั้งให้หายใจน้อยหายใจใหญ่ หรือให้มันพอดีดูมันยากมาก แต่เวลาเดินอยู่ ไม่รู้ว่าหายใจเข้าออกตอนไหน ในเวลานั้นดูมันสบายแท้จึงรู้เรื่องว่า อ้ออาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เวลาเราเดินไปตามปกติมิได้กําหนดลมหายใจ มีใครเคยเป็นทุกข์ถึงลมหายใจไหม? ไม่เคยมันสบายจริงๆ ถ้าจะไปนั่งตั้งใจเอาให้มันสงบ มันก็เลยเป็นอุปาทานยึดใส่ตั้งใส่ หายใจสั้นๆ ยาวๆ เลยไม่เป็นอันกําหนดจิต เกิดมีทุกข์ยิ่งกว่าเก่า เพราะอะไร? เพราะความตั้งใจของเรากลายเป็นอุปาทานเข้าไปยึดเลยไม่รู้เรื่อง มันลําบากเพราะเราเอาความอยากเข้าไปด้วย
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
"..ทาน คือเครื่องแสดงน้ำใจมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง ผู้มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ผู้อาภัพ ด้วยการให้การเสียสละแบ่งปันมากน้อย ตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทานแขนงต่าง ๆ ก็ตาม ที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิได้หวังค่าตอบแทนใด ๆ นอกจากกุศลคือความดีที่เกิดจากทานนั้น ซึ่งจะเป็นสิ่งตอบแทนให้เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น ตลอดอภัยทานที่ควรให้แก่กันในเวลาอีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกิน คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทาน ย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชนโดยไม่นิยมรูปร่างลักษณะ ผู้เช่นนี้มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาที่มองไม่เห็นก็เคารพรัก จะตกทิศใดแดนใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลน หากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์.."
ภูริทตฺตธมฺโมวาท พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร (พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)
"จำเอาไว้นะ ไม่ว่าจะเป็นวันอะไร วัน เดือน ปี ก็เป็นกาลเวลา ไม่มีผลต่อความเป็นอยู่ ความเจริญรุ่งเรืองของเรา แต่การกระทำของเราต่างหาก ที่จะมีผลต่อตัวเราเอง"
หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต
|