“รักษาใจ”
…แทนที่จะแก้และรักษาใจของเรา ให้สงบ ให้เย็นให้สบาย เรากลับไปสร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายให้กับใจของเรา มากยิ่งขึ้นไปอีก
.เพราะเราไม่เคยเข้าหาธรรมะนั่นเอง ถ้าเข้าหาธรรมะแล้ว ธรรมะจะสอน ให้ย้อนกลับเข้ามาดูที่ใจของเรา ให้กำหนดดูใจของเราให้สงบ ให้รู้ว่าความสุขของใจนั้นเป็นอย่างไร
.เมื่อได้สัมผัสกับความสุขของใจแล้ว เวลาใจไปมีความรู้สึกอะไร กับสิ่งต่างๆ กับบุคคลต่างๆภายนอก ใจจะกระเพื่อมขึ้นมา
.เราจะเห็นชัดเลยว่า เมื่อสักครู่นี้เรานั่งอยู่สบายๆคนเดียว พอไปเห็นสิ่งนั้น เห็นคนนั้นเห็นคนนี้ ได้ยินสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่คนนั้นคนนี้พูด ใจก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา เกิดความรู้สึกต่างๆขึ้นมา .
………………………………………… . พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๔ กัณฑ์ที่ ๒๓๕ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙
"..การบวชเป็นพระตามหลักธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นการทรมานใจ ทรมานสันดานของคนมีกิเลสที่ชอบในสิ่งที่หลักศาสนาไม่ชอบ แต่กลับไม่ชอบในสิ่งที่หลักศาสนาสั่งสอนให้ชอบได้เป็นอย่างดี ความลำบากเพราะการฝืนกิเลสอาตมาก็ทราบ แต่ก็จำต้องเข้ามาบวชเพื่อทรมานหัวใจตัวเอง การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทราบว่าลำบากทุกระยะที่ฝืนทรมาน แต่ก็จำต้องทรมานเพราะอยากดี และอยากหลุดพ้นจากกรรมอันลามก คือกิเลสตัวไม่ยอมลงรอยเหตุผลและอรรถธรรมของพระพุทธเจ้า แม้การมาพักบำเพ็ญประพฤติตัวเป็นคนเหลือเดน ไม่คิดคุณค่าในชีวิตอยู่ในถ้ำเวลานี้ เพราะกลัวบาปกลัวกรรมนั่นแล มิใช่กลัวอะไรที่ไหน.."
ภูริทตฺตธมฺโมวาท พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร (พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)
#กรรมเปรตหิวโหย
การที่บุคคลทำบาปความชั่ว ทำบาป คำว่า เปรตนั้นคืออะไร จึงได้ไปเป็นเปรต คนเราเกิดมาจนมาเป็นมนุษย์แล้วทำไมจึงได้ไปเป็นเปรตได้ เกิดมาเพราอะไรเปรตนี้ เป็นไปด้วยอำนาจของการทำบาปกรรม พวกเราก็จะได้พากันศึกษา คำว่า เปรต นั้นก็คือ ความหิว ความไม่พอ ความไม่มีทางอิ่ม เพราะหิวโหยอยู่ตลอดจึงเรียกว่า เปรต
คำว่าเปรตนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่มันจะแสดงเป็นเรื่องของเปรตนั้นแต่ละระดับเพราะว่า เปรตมีตั้งหลายจำพวก เปรตกินเลือดกินเนื้อของตนเองก็มี กินมูตรกินคูถก็มี กัดตนเอง กินคนอื่น เปรตทั้งหลาย เปรตหิวน้ำก็มี เปรตหิวข้าวหิวอาหารก็มี เปรตเฝ้าสิ่งเฝ้าของทั้งหลาย ยึดมั่นถือมั่นก็ดี หลายชนิดท่านกล่าวไว้ตั้ง ๑๒ จำพวกเปรต จงพวกเรามาพิจารณาอย่างง่ายๆ อันว่า ก็ไม่ใช่ของง่ายแหละควรที่จะกำหนดคิดพินิจพิจารณาตามว่า เราทำบาปความชั่วอะไรถึงได้ไปเป็นเปรตทั้งหลาย
ท่านเปรียบเช่นบุคคลบางบุคคลนั้นเคยเป็นมนุษย์มาแล้วแต่ก็ไปขโมยสิ่งของอยู่ในวัดในวาเหมือนที่เขาขโมยกันทุกวันนี้ ขโมยอาหารการกินก็ดี ขโมยสิ่งของต่างๆ ของในวัดในวา ขโมยพระพุทธรูป หรือทรัพย์สมบัติของสงฆ์ภายในวัดเอาไปซื้อไปขายกันก็เป็นกรรมอย่างนั้น เปรตจำพวกนี้เมื่อตายไปแล้วไปตกนรก คำว่าไปตกนรกนั้นก็คือ อาจจะมาได้ง่ายๆ มาเกิดเป็นเปรต การมาเกิดเป็นเปรตที่จะมาใช้กรรมนั้นก็คือว่า แล้วแต่จะตกมาเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เหมือนคนที่ลักขโมยเอาสิ่งของอาหารการกินของวัดไป ที่ญาติโยมซื้อมาไว้ว่าจะถวายพระสงฆ์ ยังไม่ได้ถวายพระสงฆ์แต่พวกที่นั้นมันมาขโมยเอา โจรขโมยมาเอาไป เมื่อมาล่วงลับดับไปแล้วก็ไปตกนรกกลับมาเป็นสัตว์เดรัจฉานที่มาเฝ้าอยู่ในวัดนี้ก็ได้ มันเป็นอย่างนี้ก็ได้ อันนี้ก็มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าหากเป็นเปรตที่เรื่องอาหารการกิน เรื่องอาหารการกิน เป็นเปรตไม่มีเครื่องนุ่งเครื่องห่ม เป็นเปรตที่หิวโหย เป็นเปรตนั้นมีแต่ร่างกระดูกเดินไปเดินมาพูดจาปราศรัยได้ พูดไปได้แต่มันเป็นแต่ร่างกระดูก เดินไปเดินมา พูดได้ ร้องไห้ได้
เหตุฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มาจากกรรมอะไร เขาก็บอกว่า เขาหิว เขาหิว เขาอยากกินนู้นกินนี้เขาไม่ได้กิน การเป็นเปรตนี้มันแล้วแต่อายุจะยืนเท่าไร สี่ร้อยห้าร้อยปี หรือแปดร้อยหรือพันปีก็แล้วแต่ การที่เขาเป็นเปรตหิวอยู่เพราะเขาไปขโมยกินของคนอื่นหรือของสงฆ์ไปแล้วก็เป็นเปรต หิวโหย แล้วไส้ก็ไม่มี ตับก็ไม่มี ไตก็ไม่มีเป็นท้องที่ว่างๆ ไม่มีอะไรมีแต่ร่างแต่โครงกระดูกแต่มันพูดได้ มันหิว หิวโหยอยู่ จำพวกนี้เองถ้าจะพูดถึง แล้วก็พวกปล้นทรัพย์สมบัติอะไรเอาสิ่งเอาของอะไรก็เป็น “กรรมเพราะความหิวความโลภ” ของเขา
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ “กรรมชั่วนำไปสู่อบายภูมิ"
#หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก จ.เชียงใหม่
ถาม: จิตของชาวเอเชียและชาวตะวันตกแตกต่างกันหรือไม่ครับ
ตอบ: โดยพื้นฐานแล้วไม่แตกต่างกัน ดูจากภายนอกขนบธรรมเนียประเพณีและภาษาที่ใช้อาจดูต่างกัน แต่จิตของมนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติ ซึ่งเหมือนกันหมดไม่ว่าชาติใดภาษาใด ความโลภและความเกลียดก็เหมือนกัน ทั้งในจิตของชาวตะวันออกหรือชาวตะวันตก ความทุกข์และการดับแห่งความทุกข์ก็เหมือนกันในทุก ๆ คน
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
#ทั้งหมดอยู่ที่ความประพฤติ
"..ตลอดชีวิตของหลวงปู่ ท่านไม่เคยยอมรับกับการถือฤกษ์งามยามดีอะไรเลย แม้จะถูกถามหรือถูกขอให้บอกเพียงว่า จะบวชวันไหน จะสึกวันไหนหรือวันเดือนปีไหนดีเสียอย่างไร หลวงปู่ก็ไม่เคยเผลอเอออวยด้วย มักจะพูดว่า วันไหนเดือนไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ คือ ถ้ามีผู้ขอเช่นนั้น ท่านมักให้เขาหาเอาเอง หรือมักบอกว่าวันไหนก็ได้ ถ้าสะดวกดีแล้วเป็นฤกษ์ดีทั้งหมด หลวงปู่สรุปลงว่า
"..ทุกอย่างรวมอยู่ที่ความประพฤติ คือ ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย โชคดี โชคร้าย เรื่องเคราะห์ กรรม บาป บุญ อะไรทั้งหมดนี้ ล้วนออกไปจากความประพฤติของมนุษย์ทั้งนั้น.."
#พระธรรมคำสอน พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ (พ.ศ.๒๔๓๑–๒๕๒๖)
"..การยกโทษผู้อื่นโดยขาดความไตร่ตรองนั้น ไม่มีอะไรดีขึ้นพอได้รับประโยชน์บ้างเลย นอกจากเป็นการสั่งสมโทษและบาปกรรมใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ ไม่มีวันสิ้นสุดเท่านั้น จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน แล้วงดความรู้ความเห็นชนิดเป็นภัยแก่ตนเสีย ก็จะกลายเป็นผู้ดีมีหวังสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ใจที่เคยเหี้ยมโหดโกรธกริ้วก็จะมีวันสงบเย็น เวลาถ่ายภพถ่ายชาติเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ก็มีหวังผลเป็นกำไร คือความสุขเป็นสมบัติ ไม่ล่มจมระงมทุกข์ไปตลอดกาล.."
ภูริทตฺตธมฺโมวาท พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร (พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)
"..เมื่อเรามาเห็นโอกาสและเวลา เหมาะสมแก่เรื่องราวของเราเช่นนั้น ก็ควรจะพากันรีบถ่อ รีบแจว รีบพาย รีบขวนขวายพยายาม อย่างภาษิตเขาว่า “รีบถ่อรีบพาย ตลาดมันจะวาย สายบัวมันจะเน่า” คือ ยายแก่พายเรือไปเก็บสายบัว จะไปขายที่ตลาด มัวแต่ช้าเมินเฉยอยู่ ตลาดเขาเลิกหมด บัวมันก็จะต้องเน่า นี่ท่านจึงสอนว่า “รีบถ่อรีบพาย ตะวันมันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวมันจะบูด” เราก็เหมือนกัน เมื่อมีศรัทธาก็รีบเร่ง บากบั่นพยายาม ตลาดคือได้แก่การที่พวกเราทั้งหลายได้มาฟังเทศน์ สวดมนต์ อบรมจิตใจ ถ้าโอกาสและเวลาเช่นนั้นหมดไป เราก็จะไม่ได้ทำ ที่เขาเรียกว่าสายบัวคืออะไร คือชีวิตไม่รีบเร่งขวนขวายเข้าไปมันจะตาย ไม่มีนิมิตเครื่องหมายว่าลมหายใจมันจะขาดเมื่อไร แจวเข้าไป คือ ความพากความเพียรบากบั่นพยายาม รีบไปเก็บเครื่องที่จะให้เกิดบุญเกิดกุศลแก่ตน รวบรวมไปขายในตลาด ใส่บาตรใส่พก บำเพ็ญคุณงามความดี นอกจากนั้นทีนี้ สายบัวมันก็จะต้องเน่า เมื่อหมดลมก็ตาย ตลาดจะต้องวาย พระสงฆ์ก็เป็นของไม่แน่ บางทีก็ตาย บางทีก็สึก บางทีก็หนี บางทีวัดมันร้าง ไม่ร้างบางทีคนชั่วมาอยู่ นี่ตลาดมันวาย ก็พอดีและตลาดก็วาย สายบัวคือลมหายใจมันก็ขาด เราก็ไม่สามารถไปขวนขวายพยายาม หาพัสดุข้าวของมาถวายทานการกุศลได้ เมื่อโอกาสเหมาะสมแก่เรื่องราว ภาวะและชีวิตของเรา ก็ควรจะต้องทำ ไม่ประมาท พยายามรีบเร่งขวนขวาย พยายามเสียโดยเร็ว นี่เป็นอย่างนี้"
ธมฺมธโรวาท พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ (พ.ศ.๒๔๔๙-๒๕๐๔ )
#โชคลาภอันประเสริฐ
"..พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีโชค ดังมีคำถวายพระนามว่า "ภควา" ที่เรียกกันว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า" คนจึงมักขอโชคลาภจากพระองค์ ก็เช่นไปขอจากพระพุทธปฏิมา ที่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ หรือขอจากสาวกของพระองค์
คนที่เคยไปแหลมมลายู เล่าว่า ค่ำวันหนึ่งได้ไปที่วัดแห่งหนึ่ง มีพระพุทธปฏิมาอยู่มาก ได้เห็นคนไปส่องไฟตามพระพุทธรูปกันหลายคน ถามเจ้าอาวาสวัดนั้น ท่านตอบว่า เขาพากันส่องหาร่องรอยที่จะเป็นลายเลขบอกลาภกันอย่างนี้เสมอ
เขาไม่ประสงค์ธรรมคำสั่งสอน คิดดูแล้วก็น่าสลดใจ ถ้าความเข้าใจในศาสนาเป็นเช่นนั้นโดยมาก ก็จะทำให้ความนับถือปฏิบัติแปรรูปไป อย่างขาวเป็นดำ เพราะโชคในพระพุทธศาสนานั้น ก็คือ "ธรรม" นี้เอง
พระพุทธเจ้าทรงมีโชค ก็คือทรงมีธรรมในองค์บริบูรณ์บริสุทธิ์ นับตั้งแต่ได้ทรงบำเพ็ญความดีนานัปประการอันเรียกว่า พระบารมี มาแล้วเต็มเปี่ยม ได้ทรงประสบธรรมที่เป็นบรมสัจจะ (จริงอย่างยิ่ง) ทรงสิ้นกิเลสทั้งหมด บรรลุถึงความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง
เรียกว่าได้ทรงประสบอุดมโชคแล้ว ได้ทรงแจกความโชคดีคือ “ธรรม” นี้แก่โลก แต่คนโดยมากไม่เห็นธรรมว่าเป็นโชคลาภ มิได้ชอบใจธรรม หากไปชอบใจวัตถุต่างๆ เช่นที่เรียกว่า วัตถุกาม (สิ่งที่น่าใคร่พอใจ)
ทั้งนี้ ท่านว่าเพราะจิตใจของคนเราเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ไว้ถึง ๖ ชนิด คือ งู จระเข้ นก ไก่ สุนัขจิ้งจก วานร เหล่านี้วิ่งพล่านไปหาที่อาศัยของมัน เทียบได้กับความวุ่นวายของคนทางอายตนะทั้ง ๖ ดังนี้
งู วิ่งไปหาจอมปลวก เทียบได้กับ ตาสอดส่ายหารูป
จระเข้ วิ่งไปหาน้ำ เทียบกับ หูสอดส่ายหาเสียง
นก บินโผไปสู่อากาศ เทียบกับ จมูกสูดหากลิ่น
ไก่ บินไปเข้าบ้าน เทียบกับ ลิ้นเลือกหารส
สุนัขจิ้งจอก วิ่งไปป่าช้า เทียบกับ การกระเสือกกระสนหาโผฏฐัพพะ สิ่งที่สัมผัสต้อง
วานร วิ่งขึ้นต้นไม้ เทียบกับ ใจซัดส่ายหาเรื่องคิดต่างๆ
จิตใจของคนจึงเป็นสวนสัตว์ที่ใหญ่โต ต้องเฝ้าแต่หาที่อยู่อาศัย หาอาหารมาเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ไม่เว้นว่าง และสิ่งที่ต้องการที่สุดก็คืออาหารสัตว์ทั้งปวงนั้นเอง
สิ่งที่เข้าใจว่าโชคลาภ หรือแม้จะเรียก ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขอะไร ก็เป็นแค่อาหารสัตว์เท่านั้น จึงไม่เห็นค่าแห่งธรรมที่แท้จริง คือธรรมในพระพุทธศาสนา ดังที่มีแสดงว่า ในพระธรรมวินัยมีรัตนะมากมาย เช่น
รัตนะ คือ สติปัฏฐานสี่ รัตนะ คือ โพชฌงค์เจ็ด รัตนะ คือ มรรคมีองค์แปด เป็นต้น
แต่จะทำอย่างไรได้ เหมือนวานรได้แก้ว ไก่ได้พลอย ไฉนจะเห็นค่าของแก้วของพลอย เช่นไก่ก็ต้องว่าสู้ข้าวเปลือกเม็ดหนึ่งไม่ได้
สัตว์ในใจคนเหล่านี้เป็นอุปมาธรรม หมายถึงกิเลสในใจนี้เอง เมื่อจิตใจยังหนาอยู่ด้วยความโลภ โกรธ หลง ก็ย่อมจะวุ่นวายหาอาหาร กับทั้งที่อยู่อาศัยให้แก่กิเลสเหล่านี้ โชคลาภก็คือการได้อาหารกิเลสมาปรนปรือกิเลสให้มากๆ นั่นเอง
ส่วนผู้ที่ได้สดับคำสอนของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติขัดเกลาจิตใจตนเองอยู่ ย่อมจะกลับเห็นว่า ธรรมเป็นรัตนะที่เลิศล้ำ พระพุทธศาสนาเป็นบ่อรัตนะมหาศาล การได้พบธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นโชคลาภอันประเสริฐ และถ้ายังเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ไว้เต็มจิตใจก็ยากที่จะแลเห็น แม้จะอยู่ใกล้ที่สุด.."
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เคียดไผซังไผ ก็ให้เซาสา.. อีกจักหน่อยมันก็สิตายหนีจากกันแล้ว เขาบ่เซาก็ช่างเขา เฮาหยุดที่โตเฮานี้ดีที่สุด บ่เอาโตเฮาไปผูกกรรมผูกเวรนำไผ
ถ้าเฮาว่าเฮาเป็นคนพุทธ คนวัดคนวา เข้าหาครูบาอาจารย์ก็ไป อย่างน้อยละ เรื่องหยาบๆนี้ ให้มันสลัดออกจากใจ สิบ่พอได้อยู่บ้อ…อย่าฟ้าวไปเว้าเรื่องรักษาศีลภาวนา แก้ของหยาบๆเนี้ยให้มันได้นี้ คันจิตใจ บ่ไปอาฆาตพยาบาทไผ มันก็สบาย
ไผสิเฮ็ดจั่งได๋สิเคียดให้เฮา ก็ช่างหัวปอดมัน เสยไว้โลด ถ้าฝึกใจให้ชนะจากเรื่องนี้ได้ ก็ถือว่าได้สร้างทาน คืออภัยทาน แหนะบุญละเด๊ะนั้น
ถ้ายังเอาชนะตัวนี้บ่ได้อย่าไปเว้าฮอดเรื่องภาวนา มันบ่เป็นตายห่ามันดอก..ฮือ.. เรื่องขี้หมูขี้หมายังทิ้งบ่ได้ อย่าฟ้าวไปเว้าเรื่องละเอียด เข้าใจบ่ละ สมกับว่าเข้าวัดฟังธรรมแน่สั้นตั่วเว้ย… เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา ให้มันมี..หลักการของความเป็นผู้ใหญ่นั้น พรหมวิหาร ๔ อย่าง ต้องมีเข้าใจบ่ ถ้าบ่มีพรหมวิหาร ๔ ในตนเอง มีครอบครัวกะพัง มีพี่น้องก็แตก มีเพื่อนก็แยก มีแขกก็ได้ผิดกัน เพราะใจขาดหลัก ๔ ประการนี้
โอวาทธรรม หลวงพ่อพระวิชัยมุนี วัดป่าด่านเกวียนลั่น อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ
"การละกิเลสยากมากเพราะเหตุใดหรือ แม้พิจารณาให้ดี ย่อมได้รับความเข้าใจพอสมควร ว่าการละกิเลสยากมาก เพราะพากันไปมุ่งละกิเลสผู้อื่น ไม่มุ่งละกิเลสตนเอง กิเลสจึงท่วมบ้านท่วมเมืองอยู่ทุกวันนี้"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
|