พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อังคาร 03 ธ.ค. 2024 10:59 am
การอยู่ด้วยกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ผู้ใดผู้น้อยก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม เป็นลูกก็ตาม อย่าเอาแต่ใจตัวเอง ไม่ได้นะ พวกเราเป็นพ่อแม่ก็เหมือนกัน ลูกก็เหมือนกัน อย่าเอาแต่ใจตัวเอง ตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก พ่อแม่เอาใจจนพอแรงแล้ว พอใหญ่ขึ้นมาแล้วก็ยังให้พ่อแม่เอาใจอีก ไหวเหรอ พ่อแม่ก็แก่เฒ่าชราไปเรื่อยๆ ตัวเองก็ต้องเอาใจพ่อแม่มันถึงจะถูก
สิ่งเหล่านี้ฝากไว้กับลูกหลานทุกผู้ทุกคน เราอยู่ในชุมชนกลุ่มใด ให้รู้จักการวางตัว อย่าให้คนอื่นหนักใจกับเรา อยู่กับครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน สิ่งไหนที่จะเกิดประโยชน์กับวัดวาศาสนากับครูบาอาจารย์ให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันปรับปรุงแก้ไข ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน สิ่งไหนที่จะเกิดประโยชน์ต่อลูกศิษย์ลูกหา เป็นประโยชน์ต่อวัดวาศาสนา เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ การศึกษา ลูกศิษย์ลูกหาจะได้ยินได้ฟังได้เรียนรู้ หลวงพ่อก็ไม่ได้นิ่งดูดาย พยายามทำสิ่งนั้นให้สมบูรณ์บริบูรณ์
เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนนะ ให้รู้จักสถานะของตัวเอง เราอยู่ในสถานะไหนให้วางตัวให้ถูก ถ้าวางตัวถูกแล้วน่ะอยู่ที่ไหนก็ร่มเย็นเป็นสุขทั้งหมด เป็นหัวหน้าทำตนอย่างไร เป็นลูกน้องทำตนอย่างไร เป็นครูบาอาจารย์ทำตนอย่างไร เป็นลูกศิษย์ทำตนอย่างไร เป็นพ่อแม่ทำตนอย่างไร เป็นลูกทำตนอย่างไร เป็นหลานทำตนอย่างไร มันอยู่ในสถานะของแต่ละคนทั้งหมด ถ้าก้าวก่ายกันเป็นลูกก็อยากจะเป็นแม่ ผู้เป็นแม่ก็อยากจะเป็นลูก เป็นครูบาอาจารย์ก็ทำท่าจะเป็นลูกศิษย์ ลูกศิษย์ทำท่าจะเป็นอาจารย์ มีแต่เรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายทั้งหมด เพราะไม่รู้จักสถานะของตนเอง
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา “ธรรมเนียมคารวะครูบาอาจารย์”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๗
"..บาปมีบุญมีประจำโลก ใครจะมาลบล้างธรรมทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้ ถ้ากรรมอยู่ใต้อำนาจของผู้หนึ่งผู้ใดได้แล้ว ผู้มีอำนาจนั้นจะต้องลบล้างกรรมเหล่านี้ให้สูญไปจากโลกนานแล้ว ไม่สามารถยังเหลือมาถึงพวกเราเลย เท่าที่กรรมดี-ชั่วยังมีอยู่ ก็เพราะกรรมมิได้ขึ้นอยู่กับผู้ใดโดยเฉพาะ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ทำกรรมนั้นๆ เท่านั้น.."
ที่มาหนังสือ : ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เรียบเรียงโดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
" #จิตที่รักษาดีแล้ว
โรคภัยไข้เจ็บอันเกิดจากกิเลสตัณหาไม่มี "
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร )
วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
กราบ กราบ กราบ...โอวาทธรรมคำสอน
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
" นิสัยมนุษย์เรา ชอบเป็นอย่างนี้มาดั้งเดิม ถ้าสิ่งเป็นคุณเป็นประโยชน์ไม่ชอบคิด แต่ที่เสียเวลา และเป็นโทษแล้วชอบคิด แบบถึงไหนถึงกัน "
จากประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
' #ถ้าหากว่าแก้ไขหัวใจเราคนเดียวยังแก้ไม่ได้
แล้วจะไปแก้หัวใจคนอื่นได้ยังไง '
... " ยุคนี้สมัยนี้ รู้สึกว่าจะให้ความสำคัญแก่หัวใจคนอื่น มากกว่าความสำคัญของเจ้าของ ซึ่งมันไม่ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
... ถ้าหากไม่ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้านี่ การสนใจกับใจของคนอื่นไม่สนใจกับใจเจ้าของ ถึงจะสนใจด้วยความหวังดีปราถนาดี แต่ปัญหามีแต่จะเพิ่มขึ้น
... ถ้าหากต่างคนต่างสนใจเจ้าของ ต่างคนต่างมาสนใจจิตใจเจ้าของ ความโลภมีอยู่พยายามละ ความโกรธมีอยู่พยายามละ ความหลงมีอยู่พยายามละ ตลอดจนกิเลสตัณหาตัวน้อยตัวใหญ่ที่มีอยู่พยายามละ ให้ลดน้อยให้เบาบาง แก้ไขเพียงเท่านี้ รู้สึกแก้ไขง่ายกว่ามุ่งแก้ไขหัวใจของคนอื่น
... มีความบกพร่องในหลักของศีลข้อไหน ก็พยายามแก้ไขในข้อบกพร่องนั้นให้ถูกต้อง แก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่ถูกต้องนั้นให้ถูกต้องเสีย แก้ไขเราคนเดียว รู้สึกว่าจะง่ายกว่าแก้ไขคนอื่นหลายๆคน "
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร )
วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
“...เชือกผูกคอ ปอผูกศอก ปลอกสุบ(สวม)ตีน คือความห่วงใยผูกพันกันในภพในชาติ เช่น ห่วงลูก หลาน ผัว เมีย บ้านทรัพย์สิน ไร่นา อื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะลูกและเมีย เปรียบเหมือนเชือกเส้นใหญ่และเหนียวแน่นที่สุด ยกตัวอย่างเพียงแค่ลูกเท่านั้นนะ เพราะความรักลูก เราจึงได้สร้างบาป สร้างกรรมสารพัด อย่างเช่น การหาอยู่หากิน บางคนต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเพื่อมาเลี้ยงลูก เพื่อให้ลูกได้อยู่กินสบาย แต่ว่าคนที่รับบาปก็คือเราผู้เป็นพ่อ จะต้องไปตกนรกหมกไหม้ เราต้องหัดคิด พิจารณา ตรึกตอง ค้นคว้า ขบให้มันแตก ทุบให้แตกละเอียด เหมือนกับเราทุกก้อนหิน แต่ก้อนหินนี่ก็คือ ก้อนชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ฯลฯ คำว่าชาติหรือเกิด ไม่ใช่เฉพาะตอนที่คลอดออกมาจากท้องแม่เท่านั้น แต่การเกิดนี้มีอยู่ตลอดเวลา การตายก็เหมือนกัน คือ โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ อารมณ์เกิด อารมณ์ตาย ความคิดเกิด ความคิดตาย มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ...”
โอวาทธรรมของหลวงปู่วิไลย์ เขมิโย วัดถ้ำพญาช้างเผือก อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
พระครูญาณวราจาร (หลวงปู่วิไลย์ เขมิโย) ณ เมรุถาวร วัดถ้ำพญาช้างเผือก บ้านปากช่อง ตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
"ปัญหาทั้งมวล
เกิดจากกิเลส อย่างเดียวเท่านั้น
เมื่อกิเลส...สิ้นซากไปจากใจแล้ว
อะไร จะมาเป็นปัญหายุ่งยาก ไม่มี
โลกทั้งสามโลกธาตุนี้...
ก็เหมือนไม่มี เพราะไม่มีจิตไปยุ่ง
แม้จิตเอง ก็พอตัวอยู่แล้ว...
จะไปยุ่งกับอะไร แน่ะ !! ฟังสิ มันพอตัว
อยู่...ตลอดเวลา
ไม่ว่ากาล นั้น...
สถานที่นี้ อริยาบถนั้น อริยาบถนี้
กระทบนั้น เป็นอย่างนั้น
กระทบนี้ เป็นอย่างนี้ ๆ...ไม่มี
กระทบอะไร ก็เพียงสัมผัสกันแย็บๆ
แล้ว...ดับไปๆ เท่านั้น
จิต รู้เรื่องของมันอยู่แล้ว...
โดยหลักธรรมชาติ เมื่อไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ เข้าไปยึด ไม่มี อำนาจเข้าไปยึดเสียอย่างเดียว
ขันธ์...ก็เป็นขันธ์ล้วนๆ
แสดงอยู่...อย่างนั้น ตามธรรมชาติของมัน
แม้...ตัวมันเอง
ก็ไม่มี...ความหมายในตัวมันเอง
ใจ รู้...ชัดๆ ว่า...เป็นอย่างนั้น."
-----------------------------------------------------------------------
องค์หลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน
"ถ้าเป็นผู้มีสติ...อยู่
รู้...อยู่
ศึกษาด้วยปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ
ก็จะเห็นธรรม อันแท้จริง
คือ เห็นมนุษย์เรานี้...
เกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น
เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ตั้งอยู่
เมื่อตั้งอยู่แล้ว ก็แปรไปแล้วก็เปลี่ยนไป
สลายไป...
ถึงที่สุดแล้ว...ก็จบทุกคนเป็นอยู่อย่างนี้
ฉะนั้น...
คนทุกคนในสากลโลกนี้ ก็เป็นอันเดียวกัน
ถ้าเราเห็นคน คนเดียวชัดเจนแล้ว...
ก็เหมือนกับเห็นคนทั้งโลก มันก็เป็นของมัน
อยู่...อย่างนั้น
ทุกสิ่งสารพัดนี้...เป็นธรรมะ
สิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตา คือใจ ของเรานี้
เมื่อความคิดเกิดขึ้นมา ความคิดนั้น...
ก็ตั้งอยู่
เมื่อตั้งอยู่แล้ว...ก็แปรไป
เมื่อแปรไปแล้ว ก็ดับสูญไป เท่านั้น
นี้เรียกว่า...นามธรรม
สักแต่ว่า ความรู้สึกเกิดขึ้นมา แล้วมันก็ดับไป
นี่คือ...ความจริงที่มันเป็น อยู่...อย่างนั้น
ล้วนเป็นอริยสัจจธรรม ทั้งนั้น
ถ้าเราไม่มองดูตรงนี้ เรา...ก็ไม่เห็น
ฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา
เราก็จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าอยู่ที่ตรงไหน?
พระพุทธเจ้าอยู่ที่พระธรรม
พระธรรมอยู่ที่ตรงไหน?
พระธรรมอยู่ที่พระพุทธเจ้า
อยู่...ตรงนี้แหละ
พระสงฆ์อยู่ที่ตรงไหน?
พระสงฆ์อยู่ที่พระธรรม
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ก็อยู่...ในใจของเรา แต่เราต้องมองให้ชัดเจน
บางฅน...
เก็บเอาความไปโดยผิวเผิน แล้วอุทาน ว่า...
โอ! พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ อยู่ในใจของฉัน แต่ปฏิปทานั้นไม่เหมาะ ไม่สมควร มันก็ไม่เข้ากันกับการที่จะอุทานเช่นนั้น
เพราะใจ...
ของผู้ที่อุทานเช่นนั้น จะต้องเป็นใจ ที่รู้...ธรรมะ
ถ้าเราตรงไปที่จุดเดียวกันอย่างนี้
ก็จะเห็นว่า ความจริงในโลกนี้ มีอยู่...
นามธรรม คือ...
ความรู้สึก-นึกคิด เป็นของไม่แน่นอน
มีความโกรธเกิดขึ้นมาแล้ว
ความโกรธตั้งอยู่แล้ว ความโกรธ ก็แปรไป
เมื่อความโกรธแปรไปแล้ว ความโกรธ ก็...
สลายไป
เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว
ความสุขนั้น...ก็ตั้งอยู่ เมื่อความสุขตั้งอยู่แล้ว ความสุขก็แปรไป เมื่อความสุขแปรไปแล้ว...
ความสุข มันก็สลายไปหมด
ก็ไม่มี...อะไร
มันเป็นของมัน อยู่...อย่างนี้ ทุกกาลเวลา
ทั้งของภายใน
คือนาม-รูปนี้ ก็เป็นอยู่อย่างนี้
ทั้งของภายนอก
คือต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์เหล่านี้
มันก็เป็นของมัน อยู่...อย่างนี้
นี่เรียกว่า...สัจจธรรม
ถ้าใครเห็นธรรมชาติ ก็เห็นธรรมะ
ถ้าใครเห็นธรรมะ ก็เห็นธรรมชาติ
ถ้าผู้ใดเห็นธรรมชาติ เห็นธรรมะ
ผู้นั้น...
ก็เป็นผู้รู้จักธรรมะ นั่นเอง."
----------------------------------------------------------------------
หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง.
ที่มาส่วนหนึ่งจาก :
ธรรมะกับธรรมชาติหนังสือ หมวด: โพธิญาณ
**บริกรรมภาวนาแล้วจิตไม่สงบ ให้ตามดูความคิด**
สำหรับผู้ที่บริกรรมภาวนาแล้วจิตไม่สงบ บริกรรมอย่างไร จิตก็ไม่สงบ ก็ควรจะเปลี่ยนมาเป็นวิธีนี้ คือ นั่งหลับตาก็ตาม ลืมตาก็ตาม ให้คอยจ้องดูความคิดของเราเองว่ามันคิดอะไรขึ้น พอคิดอะไรขึ้นมาปั๊บ กำหนดรู้ เมื่อเราทำอย่างนี้ มันจะได้ประโยชน์อะไร เพราะเราดูทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจ ด้วยความมีสติ จะทำให้สติของเราเด่นขึ้น มีกำลังขึ้น แล้วเราจะสามารถรู้ทันความคิดของเราเอง เมื่อเรารู้ทันความคิดของเราเอง ต่อไปเราจะคิดอะไร คิดด้วยความรู้เท่าทัน สิ่งที่เราคิดนั้น มันจะไม่สามารถดึงเอาจิตใจของเราให้เกิดทุกข์ทรมาน
ความจริง คำว่า ความรู้ ตามความหมายของคำว่า ”รู้“ ในสมาธิ หรือ สมาธิปัญญานั้น ก็หมายถึงจิตสามารถรู้ทันอารมณ์ต่างๆ ที่เราเคยนึกคิดว่ามันวุ่นวายมาแต่ก่อน โดยปกติที่เรายังไม่มีสมาธิ ไม่มีสติปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ เราดูอะไร เราได้ยินได้ฟังอะไร หรือสัมผัสอะไร ในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่จะพึงเกิดขึ้น ก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ พอใจ ไม่พอใจ นอกจากจะเกิดความพอใจ ไม่พอใจแล้ว มันยังจะต้องปรุงแต่งไปอีก แล้วก็หาเรื่องไปเรื่อยๆ จนตัวเองต้องเกิดทุกข์ เกิดวุ่นวายขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสมาธิ มีสติปัญญา รู้เท่าทัน เรามองดูอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู รู้อะไรทางจมูก รู้รสทางลิ้น สัมผัสทางกาย แม้จะนึกคิดในใจ เรามีสติคอยจ้องดูอยู่ไม่เผลอ ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นจะกลายเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เพราะอาศัยความรู้เท่าทันอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นมันไม่สามารถที่จะดึงใจของเราไปทรมานให้เกิดทุกข์ได้ นี่คือผลที่จะพึงเกิดขึ้น
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นคราาชสึมา
หนังสือฐานิยปูชา ๒๕๖๒
หน้า ๒๕
#หัวใจของพระพุทธศาสนา
จิตดวงเดียวแสดงเป็น 4 ดวง
+ พระโสดามรรคก็จิตดวงเดียวนี้แหละ
+ พระสกทาคามิมรรคก็จิตดวงเดียว
+ พระอนาคามีมรรคก็จิตดวงเดียว
+ พระอรหันตมรรคก็จิตดวงเดียว
ที่ว่าเป็นสี่นี้ ว่าตามธาตุ ตามวิญญาณ
ธาตุก็ 4 วิญญาณก็ 4 ได้ชื่อว่า
จิตตานุปัสสนากับจิต แยกออกจากกันไม่ได้
หูกับจิตออกจากกันไม่ได้
ส่วนตาไม่ใช่จิต เรียกว่าวิญญาณตา
หูก็ไม่ใช่จิต เรียกว่าวิญญาณหู
จมูกก็ไม่ใช่จิต เรียกว่าวิญญาณจมูก
ปากก็ไม่ใช่จิต เรียกว่าวิญญาณปาก
จิตเราจะไปไหน ไปทำบุญหรือทำบาป ก็ต้องอาศัยวิญญาณตา
จะดูรูปก็ต้องอาศัยตา
จะฟังเสียงร้องรำทำเพลงเพื่อให้เพลิดเพลินก็ต้องอาศัยวิญญาณหูเป็นผู้ฟัง ว่าจะเพราะพริ้งเพียงไร
จิตเป็นผู้รู้ จะดมกลิ่นเหม็น กลิ่นหอม "จิตเป็นผู้รู้" จึงใส่ชื่อว่า
"จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานัง"
ตากับจิต ออกจากกันไม่ได้ ตายเมื่อใด พ้นเมื่อนั้น
นี่แหละท่านทั้งหลาย
1 #จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตนั้นก็เป็นพระโสดาจิต สกทาคามีจิตก็เป็น อนาคาจิตก็เป็น อรหันตจิตก็เป็น พระพุทโธ จิตดวงเดียว
2 #จิตไม่ลักทรัพย์ จิตนั้นก็เป็นพระโสดา เป็นพระสกทาคา เป็นพระอนาคา เป็นพระอรหันตา
3 #จิตออกบวชขาดจากผัวจากเมีย จิตนั้นก็เป็นพระโสดา เป็นพระสกิทาคา เป็นพระอนาคา เป็นพระอรหันตา
4 #จิตไม่ขี้ปดไม่กล่าวมุสาวาท จิตนั้นก็เป็นพระโสดา เป็นพระสกทาคา เป็นพระอนาคา เป็นพระอรหันตา
5 #จิตไม่กินเหล้า จิตก็เป็นพระโสดา เป็นพระสกทาคา เป็นพระอนาคา เป็นพระอรหันตา
อันนี้อธิบายเป็นพระสูตร ขอให้นักธรรม นักกรรมฐานทั้งหลายจงดูทุกพระองค์เถิด จะอธิบายเป็นพระปรมัตถ์อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
1 #จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่ใจของเราทุกคนทุกพระองค์
2 #จิตไม่ลักทรัพย์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคนและทุกพระองค์
3 #จิตออกบวชขาดจากผัวจากเมีย จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่ใจทุกคนทุกพระองค์
4 #จิตไม่ขี้ปดมุสาวาท จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจทุกคนทุกพระองค์
5 #จิตไม่กินเหล้า จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจทุกคนทุกพระองค์ ......
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
#อุบายการภาวนาปฏิบัติ
"...ภาวนามีอยู่ ๒ อุบาย
๑. ภาวนาในวิธีห้ามความคิด เป็นวิธีนึกคำบริกรรม
อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้สติระลึกรู้อารมณ์ภายใน
ใจก็ได้ เรียกว่า เป็นอุบายวิธีห้ามความคิด
๒. ภาวนาใช้ความคิดตรึกตรองตามหลักสัจธรรม
เช่น เห็นคนแก่เจ็บตาย ให้โอปนยิโก น้อมเอาเรื่อง
ของการแก่เจ็บตายของคนอื่นเข้ามาหาตนเอง
แล้วใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาไปว่าตัวเราก็จะ
แก่เจ็บตายเหมือนคนทั่วไป เพราะทุกคนได้เกิดมา
จากธาตุที่แก่เจ็บตายมาด้วยกัน เกิดขึ้นมาจะมีชีวิต
อยู่ได้ชั่วขณะแล้วตายไป ถ้ามีความเข้าใจรู้เห็นใน
ลักษณะนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง
ชอบธรรม เรียกว่า ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้วในขั้น
เริ่มต้น แล้วจะมีปัญญารู้เห็นในสัจธรรมหมวดอื่นๆ
ขยายเป็นวงกว้างออกไป ความรู้เห็นภายในใจก็จะ
มีความชัดเจนมากขึ้น เรียกว่า โยนิโสมนสิการ
จะเกิดความแยบคายหายสงสัย ในสิ่งที่เคยหลงผิด
เข้าใจผิด ไปได้โดยประการทั้งปวง ขอทุกท่านจง
เข้าใจตามนี้..."
#ที่มา หนังสือ จุดประกายแห่งปัญญา
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี
"นี่แหละนักธรรม นักกรรมฐาน
จิต...เป็นของไม่ตาย
ตัวตายนั้น คือ...รูป เป็นตัวตาย
ตัวตาย ตัวเวทนา
ตัวตาย ตัวสัญญา
ตัวตายคือ...ตัวสังขาร
ตัวตาย ตัววิญญาณ
ตัวไม่ตาย...
ได้แก่...จิต ที่เป็นนิพพาน
อสังขตธรรม ได้แก่ รูปธรรม เวทนาธรรม
ไม่มีแก่...จิต
อสังขตธาตุ เวทนาธาตุ ไม่มี...แก่จิต
อสังขตปัจจัย...
ใจ พ้นจากรูป
ใจ พ้นจากเวทนา ใจ ไม่มี...เวทนา
ใจ พ้นจากสัญญา ใจ ไม่มี...สัญญา
ใจ ก็พ้นจากสัญญา
ใจ ไม่มี...สังขาร ใจ ก็พ้นจากสังขาร
ใจ ไม่มี...วิญญาณ ใจ ก็พ้นจากวิญญาณ
ใจ...ก็นิพพานนั่นแหละ
เมื่อใจ เป็นนิพพานแล้ว...
ชาติ ความเกิดไม่มีแก่ใจ
ชรา ความแก่ไม่มีแก่ใจ
พยาธิ ความเจ็บไข้ ตัวร้อน ไม่มี แก่ใจ
มรณะ ความตาย ความเกิด ไม่มี แก่ใจ
ใจ ก็เป็นพระนิพพาน
พ้นจาก...ความเกิด ความแก่ ความตาย
ไม่ต้องกลับมาเกิด...
ให้มันทุกข์ มันยากลำบาก ใน...โลกนี้."
_________________________________________
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม.
#ดูที่จิต_พิจารณาที่จิต
"ผู้ทำความเพียรด้วยสติปัญญาจอจ่อ
ต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนกลายเป็นสติปัญญา
อันโนมัติประจำตัว อยู่...ในท่าใด อิริยาบถใด
ย่อม เป็นการเป็นงาน เป็นความเพียร
ในการถอดถอนกิเลสทุกท่า ทุกอิริยาบถ และ
ชื่อว่า...
ตามเสด็จพระพุทธเจ้า ไม่ลดละฝีเท้าการก้าวเดิน
อสุภะ ก็ดี ไตรลักษณ์ ก็ดี
ธาตุ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ในร่างกาย ก็ดี
สิ่งเหล่านี้...
เป็นความจริงอยู่ตามหลักธรรมชาติของตนๆ
ไม่เคยแปรปรวนเป็นอย่างอื่น
การพิจารณาสิ่งเหล่านี้ ให้เห็นตามความเป็นจริงของมันแต่ละอย่าง แต่ละประเภท
จิต...ย่อมจะคลายความถือมั่น สำคัญผิดไปตามกิเลสตัวเสกสรรปั้นยอไปโดยลำดับจนปล่อยวางได้โดยสิ้นเชิง ต้องหัดพิจารณาให้มาก
ให้คล่องแคล่วชำนาญจนพอตัว ของสติปัญญาแล้วจะปล่อยวาง...กองอสุภะ ไตรลักษณ์
ธาตุขันธ์ทั้งสิ้นอย่าง...ไม่มีปัญหาเยื่อใย
สติปัญญา...เป็นอาวุธบุกเบิกเพิกถอน
ความปิดบัง ของกิเลสได้ อย่างทันเหตุการณ์
แต่การพูดคุยกับใครๆ นั้น...พึงสำรวมระวัง
ไม่ควรพูดอย่าพูด ให้รู้เห็นอยู่...จำเพราะตัว
ย่อมเป็นความสงบเย็น ไม่กระะพื่อม ขุ่นมัว
เพราะการพูด ทำลาย...ธรรมภายในใจ
ธรรม อยู่...กับจิต
#จงดู...#ที่จิต #พิจารณาที่จิตมากกว่าอื่นๆ
พิจารณา ให้ละเอียดถี่ถ้วนหลายตลบทบทวน จนเป็นที่แน่ใจ ก่อนจะพูดให้ใครแต่ละคำ
แต่ละประโยค ให้ทำความรอบคอบกับตัวเอง
อยู่เสมอ
นั้นคือ...ผู้ปฏิบัติด้วยความราบรื่นดีงาม ทั้งภาย
นอก และภายใน"
-----------------------------------------------------------------------
องค์หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
“ เรื่องของจิตจึงเป็นเรื่องที่ลึกลับ ”
ถ้าไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติก็จะไม่รู้ เพราะหลงยึดติดกับร่างกาย ที่ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ว่าเป็นตัวเราของเรา ก็เลยว่าจิตเป็นสิ่งที่วิเศษ ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย แต่ถูกความหลงหลอกให้ไปยึดติดกับร่างกาย พอร่างกายเป็นอะไรจิตก็เป็นไปด้วย มีนิทานในสมัยพุทธกาล มีคนเลี้ยงม้าคนหนึ่งขาไม่ดี ขาเป๋ เดินกะเผลกๆ ม้าที่เลี้ยงก็เดินกะเผลกตามคนเลี้ยง ทั้งๆที่ขาม้าไม่ได้เป็นอะไร จิตเราก็เหมือนกัน พอได้ร่างกายมาครอบครอง ก็หลงคิดว่าร่างกายเป็นจิต พอร่างกายเป็นอะไรก็เป็นตามร่างกายไป ร่างกายแก่ก็แก่ตาม ร่างกายเจ็บก็เจ็บตาม เพราะไม่มีปัญญาแยกแยะจิตออกจากร่างกาย ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง ที่เกิดแก่เจ็บตาย ส่วนจิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้ที่มีความรู้สึกนึกคิด ผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ จะลุกขึ้นได้ จิตต้องสั่งก่อน ว่าจะลุกถึงจะลุกได้ จะเดินจิตก็ต้องสั่ง จะมาที่นี่ได้จิตก็ต้องสั่งไว้ก่อน ว่าวันนี้จะมาที่นี่ พอถึงเวลาก็ออกเดินทางมากัน ร่างกายไม่รู้เรื่อง ร่างกายเป็นผู้ทำตามคำสั่งของจิต
พวกเราต้องศึกษาร่างกายกับจิต แยกให้ออกจากกัน อย่าให้เป็นคนเดียวกัน เพราะเป็นคนละคนกัน ใจเป็นเจ้าของร่างกาย ที่เป็นสมบัติชั่วคราว ที่จะต้องหมดสภาพไป ถ้าใจต้องอาศัยร่างกายทำประโยชน์ ก็ต้องรีบทำอย่างเต็มที่ คือปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ เจริญสติให้เต็มที่ พอทำงานนี้เสร็จแล้ว ร่างกายจะเป็นอะไรก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าปฏิบัติไม่เสร็จแล้วร่างกายตายไป ก็ต้องรอให้ได้ร่างกายอันใหม่ ถึงจะปฏิบัติต่อได้ ก็จะเสียเวลาไป จึงควรเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะตายวันนี้ก็ได้ ตายพรุ่งนี้ก็ได้ อีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้าก็ได้ ไม่มีใครรู้ ถ้าจะไม่ประมาท ก็ต้องคิดว่าอาจจะต้องตายในวันนี้ ถ้าคิดอย่างนี้เวลาไม่สบายไปหาหมอ พอหมอบอกว่าเหลืออีก ๓ เดือน ก็จะดีใจ เพราะคิดว่าจะตายวันนี้ แต่หมอให้ตั้ง ๓ เดือน ถ้าไม่คิดอย่างนี้ พอหมอบอกว่าเหลือ ๓ เดือน ก็จะหมดกำลังใจ วันก่อนก็มีผู้หญิงคนหนึ่งมาบอกว่า หมอบอกว่าเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เหลืออีกไม่กี่เดือน จะให้ทำอย่างไร เราก็บอกให้รีบปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด ตอนนี้ไม่ต้องไปคิดถึงความตายแล้ว เพราะรู้อยู่ตลอดเวลา ถ้าไปคิดก็จะไม่มีกำลังใจปฏิบัติ ต้องลืมเรื่องความตาย ให้พุ่งไปที่การปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด เจริญสตินั่งสมาธิเจริญปัญญาให้มากที่สุด
ถ้าไม่เห็นความตายก็จะไม่รีบขวนขวาย จึงต้องอยู่ใกล้เหตุการณ์จริง จะได้กระตือรือร้นปฏิบัติและบรรลุธรรมได้ อย่างพระราชบิดา ก็ทรงบรรลุ ๗ วันก่อนเสด็จสวรรคต เพราะเห็นความจริง เห็นความตาย กิเลสที่อยากจะอยู่ก็จะหายไป เพราะรู้ว่าอยากอย่างไรก็อยู่ไม่ได้ ก็เลยไม่มีกิเลสมาคอยขัดขวาง ไม่ให้ตั้งใจปฏิบัติ ความห่วงใยความกังวล กับเรื่องสมบัติข้าวของเงินทอง กับบุคคลต่างๆ ตอนนั้นไม่สนใจแล้ว สนใจอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ทุกข์กับความตาย ที่จะตามมาในระยะอันใกล้นี้ ถ้ามีคนสอนวิธีให้ทำจิตให้สงบ ก็จะทำได้อย่างรวดเร็ว พอจิตสงบแล้วร่างกายจะเป็นอะไรก็จะไม่เดือดร้อน ต้องไปดูศพไปงานศพอยู่เรื่อยๆ ไปอยู่ในสถานที่ที่ท้าทายกับความเป็นความตาย ก็จะทำให้ไม่ประมาท จะรีบขวนขวาย จะเห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ไม่มีความหมายเลย ช่วยไม่ได้เลยเวลาใกล้เป็นใกล้ตาย สมบัติเงินทองต่างๆช่วยไม่ได้เลย มีแต่การปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยได้ ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา ก็เหมือนมีอาวุธไว้ต่อสู้กับศัตรู ที่จะสร้างความทุกข์ต่างๆให้เกิดขึ้นตอนใกล้ตาย จะไม่หวั่นไหวเดือดร้อน จะปล่อยวางร่างกาย ใจก็จะสงบ.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๒๖ กัณฑ์ที่ ๔๒๗
วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔
*บริกรรมภาวนาจะก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาได้อย่างไร*
ถ้าสมมุติว่าเราจะไม่พิจารณาอะไรแล้ว เป็นแต่เพียงแค่ว่าจะบริกรรมภาวนาให้จิตสงบอย่างเดียวเท่านั้น แล้วจิตของเราสามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาได้หรือไม่ อันนี้ขอตอบว่าสามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาได้
โดยที่ผู้บริกรรมภาวนาทำจิตให้สงบนิ่งลงไป เริ่มต้นตั้งแต่อุปจารสมาธิจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิ ในลักษณะที่จิตนิ่งอยู่ในจุดเดียว ไม่มีสิ่งที่รู้ปรากฎขึ้นในจิต มีอาการสงบนิ่ง มีลักษณะนิ่งแบบสว่างไสวอยู่ภายในความรู้สึกอย่างเดียว ความรู้อื่นไม่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น วิปัสสนากรรมฐานจะเกิดขึ้นได้อย่างไร วิปัสสนากรรมฐานจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อจิตถอนออกจากความเป็นเช่นนั้น แล้วมาเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา ผู้ปฏิบัติที่ฉลาดก็ฉวยโอกาสนั้นกำหนดรู้ความคิดของตนซึ่งเกิดขึ้น จิตคิดอะไรขึ้นมาก็กำหนดรู้ คิดอะไรขึ้นมา ก็กำหนดรู้ เพียงแต่รู้ว่าจิตมีความคิดอย่างเดียวเท่านั้น รู้แล้วก็ไม่ต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือไปช่วยจิตคิดอะไรเพิ่มเติมเป็นแต่เพียงว่า สิ่งใดเกิดขึ้นก็รู้ สิ่งใดเกิดขึ้นก็รู้ รู้ รู้ อยู่อย่างนั้น แล้วสิ่งใดดับไปก็รู้ เกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นอนัตตา อะไรทำนองนั้น ไม่ต้องไปนึกคิดในขณะนั้น ถ้าเรานึกคิดแล้วสมาธิจะถอนขึ้นมาอีก เราจะไม่สามารถควบคุมจิตของเราให้จดจ้องดูความคิดที่เกิดขึ้นนั้นได้
เพราะฉะนั้น ตอนนี้ให้นักปฏิบัติพึงระวังให้ดี เมื่อออกจากสมาธิในขั้นบริกรรมภาวนา ถ้าจิตสงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ อย่าด่วนออกจากที่นั่งสมาธิในทันทีทันใด ให้ตามกำหนดรู้ความคิดของตัวเองเรื่อยไป จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรแล้วจึงค่อยเลิกหรือจึงค่อยออกจากที่นั่งสมาธิ ในเมื่อออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว มิใช่ว่าเราจะหยุดกำหนดรู้จิตหรือรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตในทันทีทันใดก็หาไม่ เราจำเป็นจะต้องกำหนดรู้ ความรู้สึกนึกคิดของเราอยู่ตลอดเวลา แม้จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ก็ให้ตั้งสติกำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวไปมาของกาย วาจา และใจของเราอยู่ตลอดเวลา
การตามรู้ตามเห็นความเคลื่อนไหวกาย หรือการพูด การนึก การคิด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะจดจ้องอยู่ นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมแบบที่เรียกว่า สามารถทำให้จิตเกิดความรู้ความฉลาดขึ้นมาได้
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
หนังสือฐานิยปูชา ๒๕๖๒
หน้า ๒๖-๒๗
"...ถ้านิสัยของเราเป็นคนมักลืมๆ หลงๆ เราก็ต้องเจริญอานาปานสติ ลมหายใจเข้า ออก ถ้าหากว่านิสัยของเราชอบโกรธง่าย อะไรๆ ก็ต้องโกรธง่าย เราก็ต้องแผ่เมตตาตนเสียก่อน ตนไม่ชอบทุกข์ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่ชอบทุกข์ แผ่เมตตาตน อะหัง สุขิโต โหมิ นั่น ขอเราจงเป็นสุข อย่ามีเวรมีภัยกับสิ่งอันใดในไตรโลกธาตุ ทุกข์ก็เหมือนกัน อะไรก็เหมือนกัน เราไม่ชอบ เอาตนเป็นพยานแล้ว ก็แผ่เมตตาไป ทั่วทุกหนทุกแห่ง บอกว่าสัตว์ทั้งหลาย คำว่าทุกข์ๆไม่ชอบ คำว่าสุขๆ ได้ยินว่าสุขๆก็ต้องชอบ มนุษย์ทั้งหลายคำว่าทุกข์ๆ ถึงจะไม่รู้ทุกข์ก็ตาม ถึงจะไม่รู้ว่า เหตุเกิดทุกข์ เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ก็ตาม แต่ก็ชอบสุขเราจึงแผ่เมตตาไป ถ้าเราไม่แผ่เมตตาเอาตนเป็นพยานก่อน มันก็เป็นพายเรือโต้น้ำ มันไม่ค่อยอยากไป ไม่สนิท
ถ้าหากว่าจิตใจของเรารักสวยรักงามเป็นเจ้าของหัวใจ มองไปทางไหนๆ ก็ชอบแต่จะรัก ในรูปในโฉมของเพศตรงข้าม ได้ระวังอยู่เสมอๆ อันนี้เราก็ต้องพิจารณาอสุภะ จะหนีไม่ได้ ในสกลกายของเราที่ไหนมันสกปรกโสมม เราก็ต้องพิจารณาอันนั้นมากกว่าเพื่อน สิ่งอื่นที่ไม่เห็น มันก็เห็นไปเอง ถ้าเห็นอันหนึ่งเป็นปฏิกูลชัดในสกลกายนี่ สิ่งอื่นๆ มันก็เสมอภาคกันไปหมด หรือจะพิจารณาแต่ผมลงมาหาฝ่าเท้า จะพิจารณา แต่ฝ่าเท้าขึ้นไปหาผม ปลายผม ดูลักษณะของมัน มันอยู่ยังไง มันมีกลิ่นยังไง..."
หลวงปู่หล้า เขมปโต
#อานาปานสติ
"...พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาก่อนด้วยอานาปานสติ นี่แลรากฐานสำคัญที่จะให้เกิดความเป็นศาสดาขึ้นมาในเบื้องต้น ท่านทรงกำหนดอานาปานสติ พอกำหนดอานาปานสติคือลมหายใจเข้าลมหายใจออก เรียกว่า อานาปานสติ สติๆ แปลว่าระลึกรู้ตามลมที่เข้าและออก เข้าออกๆ รู้อยู่ ให้ความรู้สืบเนื่องกันอยู่กับลมที่เข้าและออก ไม่ให้ความรู้ส่งไปหากิจการงานใดๆ ทั้งนั้น ให้มีแต่ลมกับความรู้สัมผัสกันในเวลานั้น
เมื่อสืบเนื่องกันอยู่ด้วยความรู้กับลมไม่ขาดวรรคขาดตอน จิตที่เคยฟุ้งซ่านรำคาญไปในที่ต่างๆ ก็สงบตัวเข้ามาๆ ถ้าเทียบแล้วก็เหมือนเราดึงจอมแหที่ตากไว้ จับจอมแหดึงเข้ามา มันจะย่นเข้ามาหดเข้ามาๆ ทุกด้านของตีนแห จนกระทั่งแหทั้งผืนนั้นรวมกันเป็นก้อนหนึ่ง นี่ก้อนแห กระแสของจิตที่ซ่านไปรอบด้านก็เหมือนกับตีนแหที่เราตากเอาไว้ พอจับจอมแห คือหมายความว่าความรู้นั่นเปรียบกับจอมแหนะ ความรู้กับสติจดจ่อกันอยู่ตรงนี้ เรียกว่าจับ จอมแหแล้ว ทีนี้ความรู้ทั้งหลายที่ซ่านอยู่ก็ค่อยๆหดตัวเข้ามาๆ จนกระทั่งถึงจุดสงบ เหมือนกับแหเมื่อจับจอมแหดึงขึ้นมาแล้ว มันก็รวมตัวเข้ามาเป็นก้อนแหกองเอาไว้อย่างนี้
นี่ความรู้ก็เป็นจุด เมื่อรวมตัวเข้ามาแล้วเป็นจุด คือจุดแห่งผู้รู้ และคำว่าจุดแห่งผู้รู้นี้มีกว้างขวางอยู่ไม่น้อยนะ แต่เราจะอธิบายเพียงย่อๆ พอให้เป็นปากเป็นทางของผู้ปฏิบัติ คือจุดที่ว่านี้ เหมือนกับกองแหนี้ เป็นจุดแห่งความรู้ แหไม่มีความรู้เป็นแต่ข้อเปรียบเทียบเฉยๆ อันนี้เป็นความรู้เด่นอยู่ในจุดนั้น เพราะอานาปานสติ กำหนดภาวนา พระพุทธเจ้าของเราท่านทำอย่างนั้น พอปรากฏนี้แล้วจิตสงบ จิตของพระพุทธเจ้าสงบ สมาธิ ปัญญาขึ้นมาในระยะเดียวกันๆ สมเหตุสมผลกับว่าขิปปาภิญญา ที่จะตรัสรู้เร็วในคืนวันนั้น พอบำเพ็ญถูกทางคืนเดียวเท่านั้นก็ไปอย่างรวดเร็ว สมถะคือความสงบ สมาธิ คือความสงบแน่นหนามั่นคงของใจก็เกิดขึ้นในเวลานั้น วิปัสสนาความรู้แจ้งแทงทะลุก็เกิดขึ้นในเวลานั้น เหมือนกับต้นเกิดแล้ว แขนงเกิด กิ่งก้านสาขาเกิด ดอกเกิด ผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
พอปฐมยามจิตก็หยั่งทราบเหตุการณ์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว คือจิตดูร่องรอยที่ผ่านมาของตัวเอง ความรู้ที่เป็นจุดอยู่นี้กระจายกระแสแห่งความรู้ออกไปอย่างละเอียดจนกลายเป็นญาณ ไม่ใช่ปัญญาธรรมดา ปัญญาธรรมดายังหยาบกว่าญาณ พระญาณนี้หยั่งทราบละเอียดทั่วถึง แล้วตามดูร่องรอยที่เคยเป็นมาของจิต คำว่าร่องรอยคือความเป็นมาของจิตว่า ออกจากภพไหนๆ ถึงได้มาเป็นอย่างนี้เรื่อยมา ท่านว่าท่านบรรลุหรือตรัสรู้บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติย้อนหลังได้ ชาติของพระองค์ที่เคยเป็นอะไรๆ ในปฐมยามคือยามแรก ๔ ทุ่ม ตั้งแต่ ๑ ทุ่มถึง ๔ ทุ่มเรียกว่ายามแรก มัชฌิมยามก็ตั้งแต่ ๕ ทุ่มเรื่อยไปถึงตี ๒ ตี ๓ เรื่อยไปถึงตี ๔ เป็นปัจฉิมยาม
นี่ละในปฐมยามนี้ทรงหยั่งทราบ คือตามรอยของพระองค์ ตามรอยของเจ้าของนั่นแหละ ไปเกิดยังไง ไปยังไงมายังไงจิตดวงนี้ในปัจจุบันนี้จึงเป็นอย่างนี้ ตามไปๆ รู้ไปเห็นไปหมด เคยตกนรกหมกไหม้ที่ตรงไหนๆ หลุมไหนต่อหลุมไหน เกิดเป็นเปรตเป็นผีเป็นสัตว์นรกเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นอินทร์เป็นพรหม เกิดไปตรงไหนๆ ตามรู้หมดร่องรอยของจิตดวงนี้ นี่ท่านเรียกว่าบรรลุบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติย้อนหลังได้ กี่ภพกี่ชาติได้ทั้งนั้น นี่ละผลของการภาวนาอานาปานสติของพระพุทธเจ้าเรา..."
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
จากธรรมเทศนา อานาปานสติ
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๑
ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
#กรรมเป็นผู้จำแนกสัตว์
"...สมบัติของเรา คือ กาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่ได้
ด้วยยาก เพราะคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ต้อง
ประพฤติศีล ๕ มีกรรมบถ ๑๐ จึงจะเล็ดลอดมา
เกิดเป็นมนุษย์ได้ ทีนี้เรามาพิจารณาดูสิ การจะ
มาปฏิบัติศีล ๕ หรือมาปฏิบัติกรรมบถ ๑๐ นี่มัน
ยากง่ายเพียงใด แค่ไหน ถ้าเราคิดว่าการรักษา
ศีล ๕ เป็นของยาก การรักษากรรมบถ ๑๐ เป็น
ของยาก เราก็จะรู้ว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์นี้
เป็นของยาก
การได้ความเป็นมนุษย์มาก็ได้มาด้วยกฎของ
กรรม คนเราทุกๆ คนอยากจะไปเกิดในสถานที่ดีๆ
ที่สมบูรณ์พูนสุข แต่เราก็เลือกเกิดเองไม่ได้
ทั้งนี้เพราะกฏของกรรมมันจำแนก กัมมัง สัตเต
วิภะชะติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เป็นต่างๆ กัน
บางคนถูกกรรมจำแนกให้เกิดในตระกูลต่ำ
บางคนถูกกรรมจำแนกให้เกิดในตระกูลปานกลาง
บางคนถูกกรรมจำแนกให้เกิดในตระกูลสูง
บางคนก็ถูกจำแนกให้เกิดมาแล้วเป็นผู้มีสุขภาพ
ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะกฎของกรรมและอำนาจ
ของกรรมเป็นผู้จำแนก
ใครจะเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม คนเรามีความ
สามารถพอๆ กันเกือบทุกคนนั่นแหละ สมมุติว่า
ใครก็ตามที่เรียนจบปริญญามาด้วยกัน มาทำงาน
ร่วมกัน ในสถาบันเดียวกัน คนหนึ่งมีความก้าวหน้า
ก้าวหน้าทั้งยศถาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สมบัติ
อีกคนหนึ่งก้าวไปไม่ได้ถึงไหน ยังแถมยากจนด้วย
เงินเดือนก็ไม่พอใช้ ทั้งที่คน ๒ คนนี้มีความรู้เท่ากัน
มีกำลังกายร่างกายแข็งแรงเท่ากัน แต่ทำไมจึง
ประสบผลสำเร็จไม่เหมือนกัน ก็เพราะผลของกรรม
นั่นเอง
ดังนั้น หลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรง
รู้แจ้งเห็นจริง คนที่ทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว
พระองค์จึงสอนให้ทำแต่กรรมดี..."
#ที่มา หนังสือ สดใส
พระราชสังวรญาณ ( หลวงพ่อพุธ ฐานิโย )
“..โทษคนอื่นเท่าภูเขา โทษตัวเราไม่เห็นเลย
ให้เข้าวัดบ่อยๆ
วัดจิตวัดใจตัวเองนี่หละ
ไม่ใช่วัดวาอารามที่ไหนหรอก
ตรวจดูจิตดูใจตัวเอง
ไม่ต้องไปอยากรู้ใจคนอื่นหรอก
รู้ใจตัวเองก็พอ.."
----------------------------------------------------------------------------
โอวาทธรรม : หลวงปู่จื่อ พันฺธมุตฺโต
วัดเขาตาเงาะอุดมพร
จ.ชัยภูมิ
"....ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอนคอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานเปล่าๆโดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียว ซึ่งเป็นสมบัติของพระะพุทธเจ้า มาเป็นสมบัติของตน ด้วยความเข้าใจผิด ว่าตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว
ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ มิได้ลดน้อยลงบ้างเลย
จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า
ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย"
....นี่คือคำสอนที่องค์หลวงปู่มั่น เคยพูดอยู่เสมอๆ
* เรียบเรียงจาก คำชี้แจงในการจัดพิมพ์หนังสือ โดย พระอริยคุณาธาร (ปุสฺโส เส็ง) ผู้เรียบเรียงเนื้อหาหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2493 โดยใช้ข้อมูลฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 2 โดย ชมรมพุทธศาสตร์ กฟผ. จัดพิมพ์ พ.ศ. 2527
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.