"... ขอให้สนใจให้มาก ให้รู้ทันเบญจขันธ์นะ ... ต้องเดินมรรคให้ถูกนะ.. ... ท่านอาจารย์ใหญ่มั่น ท่านว่า ขึ้นต้นไม้ ... ต้องขึ้นต้นเสียก่อน ขึ้นทางปลายไม่ได้แน่ ... เมื่อขึ้นต้นถูกแล้วทางปลายก็ถูกด้วยนะ ..." ------------------------------------ #หลวงปู่หลุย_จนฺทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย (พ.ศ.๒๔๔๔ - ๒๕๓๒)
#วันมาฆบูชา #วันปลอดนรกการ ...เมื่อวันออกพรรษานอนๆ ภาวนาอยู่ เห็นลุงทั้งสององค์ท่านมา ตามธรรมดา ถ้ามาท่านจะตามไปสำนักงานของท่าน นุ่งผ้าปล่อยชายเป็นสัญลักษณ์ เป็นการแสดงออก เทวดามีมาก พรหมมีมาก ไม่รู้ใครเป็นใคร ท่านก็แสดงเป็นผ้าแทนที่จะเป็นโจงกระเบน ใช่ไหม นุ่งผ้าคล้ายผ้าพื้นแต่ปล่อยชายลง เป็นการแสดงออกว่า ท่านสององค์มา แต่ว่าในวันออกพรรษาท่านไม่ได้นุ่งผ้าปล่อยชาย นุ่งผ้าไหมสวย
ฉันก็เลยถามว่า "ลุง!...วันนี้หนุ่มเหมือนเด็กอายุ ๑๘" ตามธรรมดาเทวดาหรือพรหมเขาไม่แก่
ท่านบอกว่า "วันนี้ผมปลอดภาระนรกการ ครับ" รู้จักนรกการไหม อย่างคนรับราชการ
ท่านบอก "วันนี้หยุดราชการ" ที่นั่นเขาปลอดนรกการ
ถามว่า "ลุงปลอดกี่วันล่ะ?"
ท่านบอก "ปลอด ๓ วัน คือวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ กับแรม ๑ ค่ำ
ก็เลยถามว่า " ปีหนึ่งมีการปลอดกี่ครั้ง ?" ท่านบอก "๔ ครั้ง"
"วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา"
หมายความว่าใน ๔ จุดไม่มีการสอบสวนกัน
ก็ถามท่านว่า "ถ้าลุงไม่มีการสอบสวนก็แสดงว่า ผู้ที่ตายยังเรียกว่าสัตว์นรกไม่ได้นะ เพราะเขายังไม่แน่ว่าผิดหรือไม่ผิด ฉะนั้น ผู้ที่รอการสอบสวน ลุง..เขาปล่อยเป็นอิสระใช่ไหม ?"
ท่านบอกว่า "ใช้คำว่าปล่อยน่ะไม่ถูก เพราะทุกคนเขาเป็นอิสระหมด ไม่ถือว่าเป็นนักโทษ แต่ว่าเท่าที่เขาไปรวมอยู่ที่นั่น เขาทราบว่า จะมีคนสักคนหนึ่งคอยช่วยเหลือเขาไม่ให้ลงนรก เขาไปรอการสอบสวน เราไม่สอบสวนเขาก็ไปตามเรื่องของเขา ไปหาญาติๆ"
ก็เลยถามว่า "ในขณะที่เขาออกมาได้อย่างนั้น และถ้าญาติเขาจะบำเพ็ญกุศลให้จะได้ไหม?"
ท่านก็บอกว่า " ถ้าญาติฉลาดทุกคนได้หมด และก็ไม่ต้องลงนรก"
ถามว่า "ทำยังไง"
ท่านบอกว่า "ทำบุญอุทิศเฉพาะออกชื่อตรงคนนั้นเลย แต่มันก็ไม่แน่นัก บางทีบาปหนา บางทีไม่ได้รับ"
ท่านบอกให้ฝากพระยายมว่า "การอุทิศส่วนกุศลคราวนี้ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้รับ ขอฝากพระยายมไว้ด้วย ถ้าพบคนนี้เมื่อไร ขอบอกให้เขาโมทนาทันที"
อันนี้ถ้าเขาผ่านสำนักผม ผมจะบอกให้เขาโมทนาทันที ________________________ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (วัดท่าซุง) ที่มา : ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๖๕ หน้า ๙
การทำโรงทาน หลวงพ่อก็ได้ยินหลาย ๆ คน กิจการงานมันฝืดมันติดขัด มีอุปสรรคนานานัปการ ไม่คล่องในการทำมาค้าขาย จากนั้นก็มาเสียสละตั้งโรงทาน แจกทานทำบุญทำทาน กลับไปกิจการงานรู้สึกว่าไหลลื่น ราบรื่น ด้วยอานิสงส์ในการทำบุญทำทาน ได้ยินมาก็มากต่อมากเหมือนกัน
หลวงพ่อมาพิจารณา เอ๊ ทำไม บางทีก็มาจากโคราช มาจากกรุงเทพ มาจากที่ไหน ๆ ไกล ๆ มาตั้งโรงทาน ทำไมจึงมาตั้งโรงทาน เสียสละทั้งทรัพย์สมบัติด้วย เสียสละทั้งเวลาด้วย ทำไมจึงเสียสละตั้งโรงทานอย่างนี้ เขาคิดยังไง ถ้าคิดแบบชาวต่างชาติ ต่างภาษา ต่างประเทศ เขาก็ว่ามันแปลก ทำไมมาให้ได้กินฟรีทั้งหมด ผู้ที่มาทำโรงทาน พอทำเสร็จแล้วจิตใจก็เบิกบาน จิตใจมีความสุขในการทำบุญทำทาน ยิ้มแย้มแจ่มใส เผลอ ๆ กิจการงานของเราก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเพราะว่าเราทำบุญทำทาน ทานะ คำนี้ทำให้จิตใจของเราเบิกบานกว้างขวาง จิตใจไม่ขี้ตระหนี่ถี่เหนียว เป็นการเสียสละ เราก็ไม่เดือดร้อน ถ้าเราทำเข้าไปแล้วเราเดือดร้อน อย่าทำนะลูกหลาน ทำไปแล้วทุกข์ใจอันนั้นไม่ดี ถ้าทำไปแล้วสบายอกสบายใจ ทำไปแล้วไม่เสียหาย มีความสุขใจอีกต่างหาก อันนั้นควรจะทำ เป็นการเสียสละในการทำทาน
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก จากพระธรรมเทศนา “กฐินสามัคคีวัดถ้ำกลองเพล” แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๗
...วันมาฆบูชา จึงเป็นการบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ที่รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย ซึ่งเมื่อเรียกโดยระบุชื่อแล้ว ดูเหมือนจะเป็นคนละอย่างต่างกัน แต่ว่าโดยสารัตถะ หรือความหมายที่แท้จริงแล้ว พระรัตนตรัยนั้นก็รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ พระธรรม ความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และพระสงฆ์ได้ทรงรักษาไว้และปฏิบัติสืบต่อกันมานั้นเอง และพระธรรม ความจริงที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน ที่เรียกรวมว่า พระพุทธศาสนานั้น ก็สรุปลงเป็นหลักสำคัญดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในโอวาทปาติโมกข์ 3 ข้อ คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์
ฉะนั้น ผู้ที่ระลึกถึงพระพุทธโอวาทนี้อยู่เสมอ จึงเท่ากับระลึกถึงพระรัตนตรัยอยู่เสมอ ผู้ที่มีพระธรรมคำสอน ทั้ง 3 ประการนี้อยู่ในใจ ก็เท่ากับมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจ ผู้ที่น้อมนำเอาพระธรรมคำสอนทั้ง 3 ประการนี้ มาปฏิบัติเป็นปกติประจำวัน ก็ได้ชื่อว่าได้ปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัย พร้อมทั้งได้ปฏิบัตินับถือพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง.. . --- บางส่วนจากพระคติธรรม วันมาฆบูชา ปี 2555 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
#จิตนี้แหละนำทุกข์นำสุขมาให้
"...จิตฃองเราทั้งหลายก็ดี มันเกลือกกลั้วอยู่กับอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง มันเอาอารมณ์เข้ามาห้อมล้อมมัน จิตมันจึงเศร้าหมอง แต่แสงมันก็มีอยู่นั่นแหละ อาศัยมาชำระมัน เราฝึกมาชำระจิตนั่นแหละทุกวัน ให้มันผ่องใส
จิตเราต้องชำระให้มันบริสุทธิ์ไม่มีอะไรมาปะปนมันแล้ว อันนั้นละจิตบริสุทธิ์จิตผุดผ่อง ผ่องใส จิตตัง ทันตะ สุขาวหัง ครั้นผู้อบรมฟอกจิตของตน สั่งสอนจิตของตน มีสติสัมปชัญญะ ระวังจิตอยู่ทุกเมื่อ ประคองจิตให้อยู่ในความดี หมั่นขยันทำความเพียรชำระจิต ยกบาปทั้งหลายเหล่านี้ออกจากดวงจิตอยู่ทุกวัน
ครั้นละออกแล้ว ก็เหมือนฝนทั่งให้เป็นเข็มเท่านั้น ฝนไปฝนไป อาศัยวิริยะความพากเพียร อาศัยฉันทะ ความพอใจจะเพียรฝึกฝนจิตของเราให้เลื่อมประภัสสร ฝนไปฝนไป ผลที่สุดก็เป็นจิตบริสุทธิ์หมดมลทิน มีแต่ธาตุรู้อันบริสุทธิ์ เป็นธาตุอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง
จิตบริสุทธิ์แล้ว จะไปทางไหนก็ได้ไม่มีความเดือดร้อน เพราะเป็นแก้วอันบริสุทธิ์แล้ว บ่มีอันหยังมาเกิดแล้ว จิตแหละเป็นตัวนำทุกข์มาให้ ครั้นฝึกฝนดีแล้วนำความสุขมาให้ อยู่ในโลกนี้ก็มีสุข ความทุกข์ไม่มี อันนี้มันเป็นธรรมดาของอัตภาพของสภาวะ มันเป็นเองของมัน..."
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู
#พุทธศาสนาสอนให้เราเข้าถึงใจ
"...พุทธศาสนาสอนให้เราเข้าถึงใจ อย่างเดียวกับคนทั้งหลายเข้าใจเหมือนกัน แต่คนทั้งหลายทำไม่ถูกหนทาง จึงได้แต่พูดแต่ทำไม่ถูก เช่นเขาพูดกันว่า กลุ้มใจ ทุกข์หัวใจ เจ็บใจ มันแสบเข้าถึงหัวใจ ดังนี้เป็นต้น แต่ไม่ทราบว่าใจที่แท้จริงนั้นคืออะไร ถ้าทราบใจที่แท้จริงแล้ว เมื่อทุกข์ใจ กลุ้มใจ เจ็บใจ ก็เอาใจนั้นออกจากเรื่องนั้นเสีย มันก็หมดเรื่อง
เพราะคนเราไม่สามารถจะทำความสงบของใจได้จึงไม่รู้จักใจที่แท้จริง เห็นแต่ผู้นึก ผู้คิด ก็เข้าใจเองว่านั่นแหละคือใจ จึงปล่อยตามอาการของใจ อาการของใจมันต้องการอะไรก็ทำตามมันทุกอย่าง มันได้นี่แล้วก็อยากได้โน่นอีกต่อไป หาที่สิ้นสุดไม่ได้ แล้วมันก็จะไม่มองดูข้างหลังว่า ได้อะไรมาบ้างแล้ว มีแต่ต้องการร่ำไป..."
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
#กองมูตรกองคูถ
... " อะไรก็ช่าง ถ้าหากว่าไม่ระวังใจ ไม่ระวังตัว สิ่งนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นอันตราย เป็นข้าศึก เป็นเครื่องผูกเครื่องมัดได้ทั้งนั้น
... เมื่อวานมีคนพูด มีความยินดีกับอะไร ก็มีความสุขกับสิ่งที่มีความยินดีนั้น ก็เลยพูดต่อให้เขา ' หนอนมันมีความยินดีอยู่กับกองมูตร กองคูถ มันก็มีความสุขอยู่กับกองมูตรกองคูถเหมือนกัน หนอนมันจะลุกลงไปในกองมูตร โผล่ขึ้นมาในกองมูตร มันก็มีความสุขในกองมูตรกองคูถนั้น '
... อะไรก็ช่าง ถ้าหากว่าใจของเราไปติดอยู่ ก็เหมือนกับพอใจในกองมูตรกองคูถ ไม่ผิดอะไรกับหนอน เหม็นทั้งนั้น
... พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอนให้ปลดเปลื้อง สอนให้สลัดให้หลุด ไม่ให้มีอะไรมาผูกมามัด ไม่ให้เอาใจไปติดไปข้อง เอาใจไปติดไปข้องก็เหมือนยื่นคอไปให้เขาผูก ไม่ยอมถอนตัวออก ไม่ยอมถอนจิตถอนใจออก มันก็เหมือนกับหนอนสนุกสนานอยู่ในกองมูตรกองคูถไม่ผิดกัน " ____________________________________________ พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร ) วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
"..เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาก็รู้จักว่ามันทุกข์ ทุกข์นี่มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร มันจะเห็นอะไรไหม ถ้าเราเห็นตามธรรมดา มันก็ไม่ทุกข์ เช่นว่าเราอยู่อย่างนี้ เราก็สบาย อีกวาระหนึ่งเราอยากได้กระโถนใบนี้ เรายกมันขึ้นมา ต่างแล้ว ต่างกว่าแต่ก่อนที่ยังไม่ได้ยกกระโถน ถ้าไปยกกระโถนขึ้นมา มีความรู้สึกว่ามันหนักเพิ่มขึ้นมา มันมีเหตุ หนักมันจะเกิดเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะเราไปยกมัน ถ้าเราไม่ยกมัน มันก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่ยกมันก็เบา อะไรเป็นเหตุผล ดูเท่านี้ก็รู้แล้ว ไม่ต้องไปเรียนที่ไหน ถ้าเราไปยึดอะไร อันนั้นแหละเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ถ้าเรา ปล่อย มันก็ไม่ทุกข์.."
สุภทฺโทวาท พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี (พ.ศ.๒๔๖๑–๒๕๓๕)
"..สมเด็จพระบรมศาสดาทรงประกาศหัวใจพระพุทธศาสนาให้ปรากฏประจักษ์ ก็เพื่อผู้มีปัญญารักพระพุทธศาสนา ดังเช่นรักชีวิตของตัวเอง จะได้รู้ว่าหัวใจพระพุทธศาสนานั้น แม้รักษาไว้ให้ดีเพียงไร ก็จะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่ได้ดีเพียงนั้น
ในทางตรงกันข้าม แม้ไม่รักษาหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ให้ดีจริง ก็จะไม่สามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ไม่มีพระพุทธศาสนาแน่นอน แม้ไม่รักษาหัวใจพระพุทธศาสนาให้อยู่อย่างงดงาม.."
พระนิพนธ์ 'แสงส่องใจ มาฆบูชา ๒๕๔๙' สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ ............................. วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา เรียกว่าวันมาฆบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เพราะว่าพระสงฆ์มารวมกันจำนวนมาก พระองค์ก็แสดงเป็นหลักเป็นฐาน ให้เป็นแนวทางของพระภิกษุว่าจะต้องดำเนินชีวิตอยู่อย่างไร ถือว่าเป็นหลักสำคัญ เป็นหลักหัวใจในพุทธศาสนา
พระองค์ได้ตรัสท่ามกลางหมู่พระสงฆ์ว่า
… ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา แปลว่า ขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง
เราต้องฝึกความเป็นผู้มีขันติความอดทน อย่างโยมถ้าไม่อดทนเป็นอย่างไร? นั่งอยู่ตรงนี้ปวดขาขึ้นมาทำอย่างไร? เหยียดขา ไม่ทน ง่วงก็นอน แต่เพราะความอดทนก็ดูว่าสงบเสงี่ยม เป็นความงดงาม พระภิกษุก็เหมือนกันท่านมีความอดทนอดกลั้น ก็ดูงามใช่ไหม ไม่ต้องแต่งเนื้อแต่งตัวอะไรมาก ท่านมีความอดทน ขันติคือความอดทน โสรัจจะความสงบเสงี่ยม ก็ดูงามแล้ว
พระองค์ตรัสว่า
… นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา ผู้รู้ทั้งหลายหรือพระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเลิศเท่ากับนิพพาน
ทรัพย์สินเงินทองข้าวของโยมมีมากมายเท่าไรก็ไม่ได้ดับทุกข์ให้ได้ จริงไหม มียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งขนาดไหนก็ดับทุกข์ไม่ได้ ยังกลุ้ม ยังวุ่นวาย บางคนก็ไปทำร้ายชีวิตตัวเอง ไปทำร้ายชีวิตผู้อื่นก็มี
แต่ว่านิพพานถ้าบุคคลใดได้ถึงก็ดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ฉะนั้นถือว่าเป็นธรรมอันยอดเยี่ยม เรียกว่าเป็นเป้าหมายของพุทธศาสนา ที่เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ เข้าถึงพระนิพพาน เป้าหมายทุกชีวิตต้องเดินไปสู่พระนิพพาน
… นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
การมาเป็นบรรพชิต เป็นผู้ที่สละเพศจากฆราวาสมาเป็นบรรพชิต เป็นนักบวช มันต้องวางได้ ถึงแม้ยังละกิเลสไม่ได้ แต่ก็ต้องดำเนินชีวิตอยู่ในความสำรวม ไม่ทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นใครก็ตาม
แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ความเป็นพระเป็นผู้ประเสริฐนั้นยอมได้ ถึงจะถูกกล่าวร้าย จะถูกกระทำ การเป็นผู้ยอมก็คือเป็นผู้ชนะ
ชนะคนอื่นมากมายก็สู้ชนะกิเลสในใจตัวเองไม่ได้ ชนะคนอื่นก็อาจจะมีการโต้ตอบ แค้น ทำร้ายกลับไปกลับมากันอยู่ เหมือนอย่างที่ประเทศหนึ่งไปทำร้ายประเทศหนึ่ง ประเทศนั้นก็ตอบโต้ ไม่จบสิ้นถ้าหากว่ามีการทำร้ายกันไปทำร้ายกันมา แต่ถ้ารู้จักให้อภัยรู้จักยอมถึงจะสันติความสงบ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าความเป็นบรรพชิตต้องไม่ทำร้ายผู้อื่น ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
… สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
คือถ้าเราฟังคำสอน เราก็จำไว้เป็นการเตือนตัวเอง เป็นพระบางครั้งจะประมาทพลาดพลั้งไป เบียดเบียนผู้อื่น เราก็จะได้ละอายแก่ใจว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไรความเป็นสมณะ ถ้าเราเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
… อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต การไม่พูดร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑
… ปาติโมกเข จะ สังวะโร การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑
ก็คือข้อสิกขาบทต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ความเป็นพระภิกษุต้องรักษาต้องประพฤติตามสิกขาบท ไม่ล่วงสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้
เป็นภิกษุณีก็ต้องรักษาสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าบัญญัติของภิกษุณี
เป็นอุบาสกอุบาสิกาเป็นผู้ถือศีล ๘ ก็ต้องรักษาศีล ๘ ไว้
เป็นสามเณรรักษาศีล ๑๐ ก็ไม่ล่วงสิกขาบทศีล ๑๐ รักษาสิกขาบทไว้ ความเป็นสมณะ
… มัตตัญญุตา จะ ภัสตัสมิง การรู้จักประมาณในการบริโภคในอาหาร
ก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าจะต้องพอเหมาะพอควร รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ถ้าเราทานมากมันก็อึดอัด เป็นไปเพื่อกามอีก เป็นไปเพื่อความง่วงเหงาหาวนอน อึดอัด แต่ถ้าไม่ทานเลยมันก็ไม่ได้ ชีวิตมันก็อยู่ไม่ได้ แต่ก็ทานให้มันรู้จักพอเหมาะพอควร ท่านให้พิจารณาเรื่องนี้
… ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง การนอนการนั่งในที่อันสงัด
นี่ก็เป็นคำสอนพระพุทธเจ้าว่า ความเป็นบรรพชิตเป็นสมณะจะต้องเป็นผู้ที่รู้จักปลีกหลีกเร้นตัวเอง ถึงแม้จะรวมกันเป็นบางครั้งบางคราว แต่เราก็ต้องมีเวลาที่จะอยู่ตามลำพัง อยู่คนเดียว นั่งนอนในที่อันสงัด เพราะว่ามันจะทำให้เราได้เข้าถึงการพิจารณาธรรม วิเวก สงบ กายวิเวกก็นำมาซึ่งจิตตวิเวก ความสงบสงัดทางกายเข้าถึงสงบสงัดทางจิต อุปธิวิเวกความสงบสงัดจากกิเลส
ตรัสว่า … อะธิจิตเต จะ อาโยโค การหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
ธรรม ๖ อย่าง การไม่พูดร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑ การรู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ๑ การนอนการนั่งในที่อันสงัด ๑ การหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง ๑ ธรรม ๖ อย่างนี้
… เอตัง พุทธานะ สาสะนันติ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
นี่พระพุทธเจ้าตรัส พระพุทธเจ้าทุกองค์ก็จะตรัสอย่างนี้เหมือนกันหมด พระพุทธเจ้าก็วางหลักไว้ให้พระจะต้องดำเนินชีวิตตัวเอง ให้อยู่ในธรรมในข้อ ๖ ประการนี้ ไม่พูดร้าย ไม่ทำร้ายผู้อื่น สำรวมในปาฏิโมกข์ รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร การนั่งการนอนในที่อันสงัด การหมั่นประกอบทำจิตให้ยิ่ง ก็คือการต้องฝึกจิตให้ยิ่งขึ้นไป ในเรื่องมีสติให้ยิ่งขึ้น สมาธิให้ยิ่งขึ้น ปัญญาให้ยิ่งขึ้น ไม่ใช่อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น หมดเวลาไป ชีวิตหมดไปไม่ได้เข้าถึงธรรมะ
เพราะฉะนั้นต้องใช้ชีวิตต้องหมั่นฝึกตัวเอง รู้ทางหนทางแล้วก็หมั่นฝึก ไม่ใช่รู้แล้วมันจะบรรลุได้เลย มันต้องฝึกตัวเอง พากเพียรภาวนา เดินจงกรม นั่งภาวนา ให้ศีลสมาธิปัญญาให้ยิ่งขึ้น
ซึ่งเป็นหลักหรือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ที่เราจะต้องปฏิบัติใช้ชีวิตอยู่ในหลักนี้ ๓ ประการ ทั้งญาติโยมทุกคนต้องอยู่ในหลักธรรม ๓ ประการนี้ไว้
๑. สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง
ต้องเว้นบาปทั้งปวง ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องบาป มันจะบาปมากบาปน้อยก็ไม่ดีทั้งหมด นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งหมด
พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับภิกษุว่า พึงมีปกติเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อย คืออาบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เห็นโทษของมันหมด
ยิ่งเราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีความผิดในพระธรรมวินัยแม้เล็ก ๆ น้อย ๆ มันก็เป็นเครื่องขวางใจเรา ใจเราก็เกิดวิปฏิสารเดือดเนื้อร้อนใจ การปฏิบัติมันก็ไม่สงบถ้ามีปกติเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อย
ญาติโยมก็ต้องเหมือนกัน อะไรที่มันผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ให้ความสำคัญ ยุงตัวเล็ก ๆ ก็มีชีวิต ทำแล้วทำมากไปก็กลายเป็นโทษใหญ่ได้ ต้องเว้นบาปทั้งปวง
๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา การสั่งสมบุญให้ถึงพร้อม การบำเพ็ญบุญให้ถึงพร้อม ทำกุศลให้ถึงพร้อม
บุญอันใดที่มันยังกระท่อนกระแท่น ยังไม่ดี ก็ทำให้มันเพิ่ม ให้มันดี ให้มันมาก ให้มันสมบูรณ์ ทาน ศีล ภาวนา
๓. สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ หรือให้มันผ่องแผ้ว ให้มันบริสุทธิ์ขึ้น
#ถ้าเพียงแค่บำเพ็ญบุญทำบุญทำกุศล #เว้นบาป #มันก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ #เพียงแต่ว่าบุญกุศลความดีมันก็ยังเกิดในที่ดี #เกิดในสุคติภพเป็นมนุษย์เทวดา #แต่มันก็ยังเวียนว่ายตายเกิดเกิดแก่เจ็บตาย #บางชาติขาดธรรมะ #ไม่ได้สดับตรับฟังธรรม #หลงผิดทำชั่ว #ลงนรกได้อีก
#ต้องเข้าถึงการชำระจิตให้บริสุทธิ์ #เพราะถ้าจิตเราบริสุทธิ์หลุดพ้นจากอาสวกิเลสแล้ว #มันก็จะตัดเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิด #ชีวิตที่ประกอบด้วยขันธ์๕ #รูป #เวทนา #สัญญา #สังขาร #วิญญาณ #ก็จะไม่สืบต่ออีกต่อไป
ดีไหมไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด? ดี แสดงว่าเราก็มีสัมมาทิฏฐิ เห็นทุกข์เห็นโทษ
เห็นความเกิดเป็นทุกข์ เกิดมาแล้วมันก็ต้องมีแก่ แก่ก็เป็นทุกข์
เกิดมาแล้วก็ต้องเจ็บใช่ไหม เจ็บป่วย มีอะไรก็ป่วยตรงนั้น มีอวัยวะส่วนไหนก็เจ็บป่วยตรงนั้น
เกิดมาแล้วก็ต้องตาย ทุกข์อีก
พลัดพรากอีก ผิดหวังอีก เจอกับทุกข์เจอกับปัญหาภัยต่าง ๆ เดี๋ยวภัยจากโรคภัย บางทีก็มีอัคคีภัย (ไฟไหม้) วาตภัย (ลม) ธรณีภัย (แผ่นดินไหว) อุทกภัย (น้ำท่วม) โจรภัย ภัยมันมีต่าง ๆ รอบด้าน ถ้ายังเกิดมันต้องเจอภัยเหล่านี้
แล้วก็ต้องพลัดพรากต้องสูญเสีย ต้องมีแน่นอน มีสิ่งใดบ้างบุคคลใดบ้างที่อยู่กันยั่งยืนไม่มีการพลัดพราก มีไหม? มีพ่อมีแม่ มีพี่มีน้อง มีสามีมีภรรยา มีลูก ต้องพลัดพรากจากกันทั้งหมด รวมทั้งสังขารร่างกายที่ว่าเป็นตัวเราต้องพลัดพรากไหม? ต้องทอดทิ้งสังขารนี้ไหม? ไม่ได้ยั่งยืน ไม่ได้จีรัง
ฉะนั้นถ้าชีวิตมันยังมีภัยอย่างนี้ เกิดแก่เจ็บตาย เป็นทุกข์ ที่จะให้มันไปเกิดแล้วก็อยู่สุขสบายตลอดไปมันไม่มี มันไม่มีที่สังขารที่มันจะเที่ยงแท้ถาวร มันไม่มี ถ้ามันมี มันก็ทำกุศลอยู่อย่างนั้นแล้วก็ไม่ต้องตาย มันไม่มี มันมีแต่ว่าพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเสียถึงจะหมดปัญหา หรือว่าเข้าถึงนิพพานหรือถึงอมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย ก็คือมันไม่มีการเวียนว่าย ไม่มีการเกิด มันก็ไม่มีการตาย
นิพพานถึงได้ในขณะมีชีวิตอยู่ได้ไหม? หรือต้องตายก่อน? … ถึงได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่
การเจริญสติปัฏฐาน เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนเห็นสภาวะรูปนามตามความเป็นจริง ว่ามันเปลี่ยนแปลงตลอด มันแตกดับ เป็นทุกข์ตลอด มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวเราของเรา เห็นแจ้งแทงตลอด ละ ชำระกิเลสในใจของตนเองแค่ระดับชั้นต้นโสดาบันก็รู้จักนิพพานแล้ว เข้ากระแสนิพพานแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดกิเลส กิเลสตัดได้บางส่วน
สกทาคามีอริยบุคคลที่ ๒ ก็จะมาสู่โลกนี้อีกครั้งหนึ่งก็ปรินิพพาน
ระดับที่ ๓ อนาคามีก็ไม่มาสู่โลกนี้แล้ว สู่พรหมโลก ปรินิพพานในพรหมโลก เป็นพระอรหันต์ที่นั่น ปรินิพพานที่นั่น
แต่ถ้าสูงสุดเป็นพระอรหันต์ก็เป็นอันว่าสิ้นสุด ไม่มีการต้องเวียนว่ายตายเกิด
อย่างพระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ ท่านก็ไม่มีทุกข์ทางใจ เพราะกิเลสหมดไปแล้ว ใจไม่มีความเศร้าหมองเร่าร้อน ก็เหลือแต่ทุกข์ทางกายซึ่งมีขันธ์ ๕ ที่ยังเป็นวิบากเก่าอยู่ ได้ขันธ์ ๕ ที่เป็นวิบากที่เป็นผลของกรรม เกิดมาแล้วก็ยังต้องแก่ ต้องเจ็บป่วยทางร่างกาย แต่ไม่มีทุกข์ไม่มีเศร้าหมองทางจิตใจ
ไม่เหมือนกับปุถุชนเราที่ไม่ได้สดับ ทุกข์กายแล้วก็ทุกข์ใจ ใจทุกข์บางทีก็ส่งไปถึงกายทุกข์อีก
คนที่เศร้าหมอง คนที่ฟุ้งซ่าน คนที่มีแต่ความเศร้าโศก มีแต่ฟุ้งซ่าน คิดมาก ระบบร่างกายสมองอวัยวะต่าง ๆ ก็เดือดร้อนไปด้วย มันตีกลับไปกลับมา เป็นเหตุเป็นผล เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน
ฉะนั้นเป้าหมายที่จะต้องเดินไปให้ถึงก็คือต้องชำระจิตของตนเองให้บริสุทธิ์ คำสอนในหลักพุทธศาสนาจึงไม่ใช่ว่าจะอยู่แค่บำเพ็ญบุญกุศลอย่างอื่นไปเท่านั้น บุญกุศลต่าง ๆ ก็ต้องบำเพ็ญ แต่ว่าต้องเข้าถึงการชำระจิต ฝึกจิตให้มีสติ สมาธิ ปัญญา ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม
ดวงตาเห็นธรรมเป็นอย่างไร? สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็มีความดับไปโดยธรรมดา อิทัปปัจจยตา กฎธรรมดาของธรรมชาติ มันเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวข้องกันอยู่ ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นเช่นนั้นเอง ตถตาเป็นอย่างนั้นเอง
เข้าไปรู้เห็นธรรมชาติอย่างนี้เรียกว่าเห็นความจริง ว่าสังขารมันเปลี่ยนแปลง มันแตกดับ มันบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน
สิ่งที่จะให้รู้ให้เห็นมีอยู่กับตัวเองอยู่แล้ว ขันธ์ ๕ ก็อยู่กับตัว เพียงใส่ใจ เพียงระลึก เพียงพิจารณาสังเกต ทำแล้ว ทำให้มากแล้ว ก็จะมีโอกาสได้เห็นธรรมรู้ธรรม หรืออย่างน้อยก็เบาใจได้ ใจเบา คลี่คลาย จะได้ดำเนินชีวิตได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้น
ธรรม ๓ ประการอันนี้ ๑. เว้นบาปทั้งปวง ๒. ทำกุศลให้ถึงพร้อม ๓. ชำระจิตของตนเองให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลส เอตัง พุทธานะ สาสะนันติ
ธรรม ๓ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็สอนอย่างนี้ทั้งหมด เป็นหลักธรรมที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงกับภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์ในวันมาฆบูชา
ธรรมมาฆบูชา ลานอมตธรรม ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ............................. ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
"สวดมนต์ให้ลูกประสบความสำเร็จ ต้องทำแบบไหน หลวงตาแนะนำว่า เวลาสวดไม่ใช่สวดให้ลูกน่ะ แต่เราสวดให้ภพภูมิ ญาติเรานี่แหละ หรือไม่ก็ภพภูมิที่ลูกเราอยู่ ที่มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน อัดไปบริเวณพื้นที่นั้นๆ บอกกล่าวให้ดูแลลูกเราหน่อย แล้วเอาบุญไปแล้วดูแลลูกเรา เราสวดทุกครั้งมาเอาบุญที่เรา สวดทุกครั้งเราก็น้อมไปในสิ่งที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับเรา แฟนเรา ลูกเรา ญาติเรา มันกำหนดได้ เราสวดไปเรื่อยๆ ก็กำหนดไป สิ่งที่เกี่ยวข้องกับลูกเรา สถานที่เกี่ยวข้องกับลูกเราภพภูมินั้น วิญญาณแถวนั้น สวดจักรพรรดิ เวลาเราสวดจิตเราก็เป็นจักรพรรดิแล้ว ใครจะมาทำอันตรายเราได้ จักรพรรดิคือ พุทธะ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันถ้าท่านไม่บวช ท่านก็เป็นจักรพรรดิ สมบัติท่านก็ขึ้นภายใน 7 วัน เราสวดทุกวันจิตเราก็ทรงเครื่อง เราทรงเครื่องแล้วอะไรจะมาทำอันตรายเรา ไม่มีนะ คนที่ทำอันตรายเราเกี่ยวกับพวกนี้ อยู่ไม่ได้นะ มันจะสะท้อนกลับ"
(พระเดชพระคุณหลวงตาม้า)
|