Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

การภาวนาปฏิบัติ

อาทิตย์ 16 ก.พ. 2025 6:35 am

ไม่อยากเกิดให้ภาวนา "พุทโธ"
เป็นที่พึ่งทุกลมหายใจ

-หลวงปู่บุญเพ็ง ขันติโก-








ผู้ถาม : #กรรมเวรที่มีติดตัวมาในชาตินี้ #จะสามารถชดใช้ให้หมดสิ้นในชาติหนึ่งหรือไม่? ถ้าไม่สร้างกรรมเวรใหม่ และมีวิธีใดจะชดใช้ให้หมดสิ้นไปโดยเร็วในชาติหนึ่งๆ

หลวงปู่ : โอ้ ญาติโยม เรื่องกรรมเรื่องเวรเนี่ย ปัญหานี้อาตมาไม่อยากให้คิดจะดีกว่า อยากให้มุ่งสร้างความดีเลยปฏิบัติดีไปเลย กรรมเวรที่สร้างมาทุกภพทุกชาตินี้ มีมากมายก่ายกองอย่าไปคิดถึงมัน ครูบาอาจารย์ทุกองค์เนี่ย อาตมาถามท่าน ถ้าเราว่าจะใช้ให้มันหมดเนี่ย มันเล่นงานเราทีเดียวเลยนะโยม เล่นงานให้เจ็บป่วยเลย มันรุมใส่เลย เหมือนเราปฏิบัติเร่งเดินจงกรม เร่งนั่งภาวนา เร่งปฏิบัติ ขันธ์มารในร่างกาย ก็มีการเจ็บป่วยเป็นหวัดเป็นไอเป็นไข้รบกวน มันไม่อยากให้เราพ้นทุกข์ นี่ก็อย่างหนึ่งมันเป็นมาร ทีนี้ถ้าเรานึกว่ากรรมเวรทั้งหลาย ทุกชาติที่ทำมาขอจะใช้ ให้มันหมดชาตินี้ มันรุมจนโยมลุกไม่ได้แน่ อย่าไปคิดเลยเรื่องอย่างนี้ รีบพากันทำความดีไปเลย กรรมที่ไม่ดีที่มันจองเวรจองผลาญกัน ที่มันผูกเวรผูกพยาบาท หยุดเลยหยุดเลย พระพุทธเจ้าจึงสอน เวรย่อมไม่ระงับด้วยการผูกเวรเอาไว้

ก็เหมือนเราไปผิดกันโกรธกันเนี่ย แล้วก็ไปเข้าหากันเลยคุยกันให้เลิกไม่มีเวรต่อกันไปเลยดีกว่า หรือใครเป็นเวรเป็นกรรมกับพ่อกับแม่ทำไม่ดีกับพ่อกับแม่ ก็รีบเข้าไปหาเลยยอมรับผิด ลูกทำผิดลูกไม่ดี ให้อโหสิกรรมกันตั้งแต่มีชีวิตอยู่ดีที่สุด กับเพื่อนกับฝูงเหมือนกันถ้าเราทำผิดอะไรรีบเข้าไปแก้ไขเลย ให้มันสิ้นในชาตินี้อย่าให้มันผูกต่อไปข้างหน้า มันก็หมดเวรหมดกรรมไป ทีนี้กรรมเวรแต่ชาติอดีต เราทำบุญทำกุศลทำความดีอะไร รักษาศีล ภาวนา เราอุทิศส่วนกุศลให้เขาเพื่อให้เขายอมอโหสิกรรมให้เรา
#จะให้มันสิ้นหมดทุกอย่างนี่ #มันไม่สิ้นนะโยมนะเพราะมันเกิดมาไม่รู้กี่โกฏิกี่ล้านชาติ สร้างทั้งความดีและความชั่ว ถ้าไม่ถึงนิพพานมันไม่หมด ถ้าใครถึงชาตินี้กรรมเวรทั้งหลาย มันก็หมดเรื่องกัน ไม่มีติดตาม เหมือนกับโจรไปปล้นเขาเอาเงินมา ไปงัดร้านทองร้านสิ่งของเขาเอาของเค้าไป แล้วไปขโมยโคกระบือไป แล้วก็ไปฆ่าคนตาย โจรคนเดียวเนี่ยนะ พอตำรวจตามแล้วก็ยิงตาย ก็ไปบอกร้านทอง ก็ไปบอกคนที่เป็นเจ้าของโค คนถูกลักสิ่งของอะไรก็มาดูมันตาย เจ้าโจรมันตายแล้วจะเข้าห้องขังก็ไม่ได้ ก็หมดแล้วกลายเป็นอโหสิกรรมกันไป ท่านเปรียบเทียบผู้ที่พ้นไป จิตทั้งหลายที่นิพพานไปกรรมจึงติดตามไม่ได้ ทำไมจึงติดตามไม่ได้?

ก็มันไม่มีรูปขันธ์นี่สิ เมื่อไม่มีรูปร่างกายแล้วจะเอาอะไรไปใช้กรรม ถ้ารูปร่างกายอยู่กรรมมันจึงตามได้ ในจิตของคนที่พ้นทุกข์แล้วเนี่ย รูปร่างกายนี้ยังไม่แตกดับไป มันก็ใช้อยู่ ยังใช้กรรมอยู่ เห็นไหมหลวงปู่นั้น หลวงปู่นี้ เดี๋ยวก็เจ็บโน่นเจ็บนี่เข้าโรงพยาบาล แท้ที่จริงจิตท่านหลุดแล้ว แต่ร่างกายมันเป็นของที่รองรับกรรมทั้งหลาย อาตมาจึงไปถามหลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ อาตมาก็ศึกษา หลวงปู่เวลาหลวงปู่จะหนีเข้านิพพานกรรมมันว่ากันยังไง? โอ้ยมันรุมกันมากันไม่รู้ทางใต้ทางเหนือ มาทุกรูปแบบจะมารบกวน ก็จะหนีแล้วนี่ใครก็อยากใช้ เหมือนญาติโยมเป็นหนี้เขาซัก 10 คน พอขายที่บ้านในกรุงเทพได้หลายล้าน ให้เจ้าของนี่มีแต่คนจะมาเอา รุมเลย เค้าก็อยากมาเอาค่าหนี้ที่เราติดเค้า ก็เหมือนกับพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านจะเข้านิพพาน ก็เคยคิดนะบางที ว่าเออกรรมอะไรที่มันมีอยู่มาใช้ให้หมดตอนนี้ซะดีกว่า ไข้เลยนะ ไม่ถึงสามวัน เอาเลยมาจริงๆนะ เลยไม่พูดเลยทุกวันนี้

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
วัดอรัญญวิเวก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่







#ความรักที่เจือด้วยความใคร่
#ถ้าจะมีก็ต้องให้มีสติ
#คือต้องรู้ว่าสิ่งที่เรารักมันเป็นของไม่เที่ยง
#เป็นของไม่ยั่งยืน #มันของชั่วคราว

#รักได้ #แต่อย่าหลง
#ให้มีการทำใจไว้ว่าไม่ได้เป็นของเราโดยแท้
#เป็นของชั่วคราว

พอคนเรามันมีความรัก มันก็ไม่ค่อยรู้เหตุผลแล้ว
ทั้ง ๆ ที่ชีวิตตัวเองนั้นมีค่า
บางคนคิดจะทำร้ายตัวเอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ทุลลโภ มนุสสัตตปฏิลาโภ
#การอุบัติบังเกิดขึ้นเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่หาได้โดยยากในโลก
#เราได้สิ่งที่หาได้โดยยากมาแล้ว
#ฉะนั้นพยายามรักษาชีวิตของเราไว้

#แม้มันจะทุกข์ยากมันลำบาก #เจ็บป่วยพิกลพิการอะไร
#ก็รักษาไว้ให้ยังมีลมหายใจ
#เพื่อทำความดีอีกสักครั้งหนึ่ง
#ทำความดีอีกสักขณะหนึ่งก็ยังดี
#มีชีวิตอยู่แม้เพียงราตรีเดียวก็ประเสริฐถ้าเราอยู่ด้วยธรรมะ
#เพราะฉะนั้นให้เห็นคุณค่าของชีวิต

รักอย่างมีสติ
สามเณรปลูกปัญญาธรรม ๒๕๖๔
.............................
ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา








...#บอกหรือสอนให้ใจบังคับใจ...

….ศาสนาสอนให้ละความชั่วคือ ไม่ให้ประพฤติความชั่ว แล้วก็ให้ประกอบคุณงามความดี พูดง่าย ๆ ว่า “ละชั่วทำดี” หลักของศาสนาทุกศาสนามีอย่างนี้ ตามลำพังการที่จะละการทำชั่วทางกายทางวาจานั้นมันทำได้ยากเพราะมีเจ้านายอยู่คนหนึ่งคือ “ใจ” มันเป็นตัวบังคับบัญชาให้กายให้วาจากระทำธุรกิจต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พากันรักษาใจอีกทีหนึ่ง ควบคุมใจให้ได้อีกอย่างหนึ่งจึงจะครบพร้อมมูลบริบูรณ์
#เราจะไปบังคับให้กาย #วาจาละชั่ว
#อย่างเดียวไม่ได้ #เราต้องบอกหรือสอนให้ใจบังคับใจให้อยู่เสียก่อนจึงจะบังคับกายวาจาให้อยู่ในอำนาจได้
อันนี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง )
คุณค่าและประโยชน์ของพระพุทธศาสนา (๑) แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง
๒๐ พ.ค. ๒๕๑๙





"...สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้น มันก็ดับไปเอง
อย่าเข้าไปยึดถือสำคัญมั่นหมาย ว่าเป็นสิ่งนั้น
ว่าเป็นสิ่งนี้ เพ่งอยู่จนหายสงสัย ถ้าหายสงสัย
มันก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเท่านั้นแหละ
การเพ่ง อย่าให้มันออกไปข้างนอก ให้เพ่งเข้า
มาหาใจ ให้เข้าสู่ใจ ให้เข้าสู่ ฐีติ ภูตํ ให้ตั้งอยู่
ในธรรม อันไม่ไปไม่มาไม่เข้า ไม่ออก
เร่งความเพียรไม่หยุดไม่หย่อน
ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
พระอริยเจ้าทั้งหลายไม่ว่าสมัยใด ท่านเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ยืน เดิน นั่ง นอน มีความเพียร
อยู่ทุกอิริยาบถไม่ทอดทิ้ง..."

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ






วัตถุเป็นเครื่องปัจจัยเครื่องอาศัยชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่ธรรมะเป็นเครื่องอาศัยตลอดไป เกิดมาภพไหนชาติไหน เราก็ต้องอาศัยธรรมะ คือศีลธรรม จริยธรรมอันดีงาม คือบุญกุศล เมื่อเราได้สร้างบุญกุศลเข้าสู่จิตเข้าสู่ใจเป็นหลักแล้ว เราต้องอาศัยหลักตัวนี้แหละ อาศัยหลักใจ ไปเกิดในสัมปรายิกภพ ไปภพใดภูมิใด จิตใจของเรามีหลักมีกฎมีเกณฑ์ เมื่อเราสร้างใจของเราให้เป็นกฎเกณฑ์แล้ว

แต่การสร้างใจมันสร้างยาก ยาก ยากกว่าสร้างด้านวัตถุ ในหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านให้เน้นหนักเรื่องสร้างนามธรรม คือสร้างจิตสร้างใจของตัวเองให้เป็นพระอริยบุคคล พระโสดา พระสกทาคา พระอนาคา พระอรหันต์ ให้หมดจดจากกิเลส ให้หมดจดจากอาสวกิเลส ให้พ้นทุกข์ในวัฏสงสาร ไม่ให้มาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้อีกเป็นอนันตกาล อันนี้คือจุดประสงค์ของพุทธศาสนา

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา “สร้างจิตสร้างใจให้เป็นอริยบุคคล”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๗








*********จิตกับวิญญาณเหมือนกันหรือไม่*********

จิต กับ วิญญาณ
วิญญาณอันหนึ่งเป็นวิญญาณในเบญจขันธ์ หมายถึง วิญญาณที่รู้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น ตาเห็นรูป เกิดความรู้สึกขึ้น เรียกว่า จักขุวิญญาณ

วิญญาณอีกอันหนึ่ง เป็นปฐมจิต ปฐมวิญญาณ หรือ มโนธาตุ

มโนธาตุนี่เป็นธาตุรู้อยู่เฉยๆ แต่เมื่อมันออกมารับอารมณ์ เกิดอาการขึ้นมาคือ ความคิดอ่าน ความคิดอ่านท่านเรียกว่า “จิต”

จิตแท้ จิตดั้งเดิม คือ มโนธาตุหรือปฐมวิญญาณซึ่งเป็นธาตุรู้คือรู้อยู่เฉยๆ ไม่มีอาการ แต่เมื่อมาอาศัยเครื่องมือคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มันก็ออกมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าไม่มีอวัยวะ มันก็ได้แต่รู้อยู่เฉยๆ

อันนั้นคือตัวปฏิสนธิวิญญาณ หรือปฐมวิญญาณ วิญญาณตัวที่รู้จักไปผุดไปเกิด

มโนธาตุ ปฐมจิต ปฐมวิญญาณ ถ้าไม่มีอวัยวะก็ออกมารับรู้อารมณ์ภายนอกไม่ได้ เมื่อมีตา มาเห็นทางตา รู้ทางตา ก็เรียกว่า จักขุวิญญาณ

แต่ถ้าร่างกายนี่แตกดับลงไป ยังเหลือแต่จิตวิญญาณอันเดียว มันก็ได้แต่รู้อยู่เฉยๆ แต่บางทีมันอาจจะรู้เห็นอะไรได้ แต่มันคิดมันพูดไม่เป็น

เหตุปัจจัยปรุงแต่ง เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ แต่ถ้าไม่มีอะไรปรุงแต่ง มันก็อยู่เฉยๆ ของมัน แต่ถ้าความนิ่งเฉยของมันไปสู่จุดที่ไม่มีร่างกายตัวตน มันก็ได้แต่เฉยลูกเดียว

ถ้าหากมันออกมาสัมพันธ์กับอวัยวะทั้งหลายแล้ว มันก็มีแต่เฉยอยู่ อันนั้นแสดงว่าอารมณ์หรือสิ่งมากระทบมันไม่สามารถจะปรุงแต่งมันได้ มันก็เป็นอิสระแก่ตัวเอง แต่ส่วนใหญ่นักปราชญ์ ท่านเรียกว่า สิ่งที่เป็นอิสระก็ดี สิ่งที่ปรุงแต่งก็ดี ท่านก็เรียกว่า "จิต" ทั้งนั้น ถ้าไปแยกแยะอย่างที่หลวงพ่อพูดจะสับสน ท่านก็เรียกแต่จิตๆๆ ดวงเดียว

อาการก่อ อาการสั่งสม อันนั้นเป็นเรื่องของจิต แต่จิตจะก่อจะสั่งสมได้ต้องอาศัยเครื่องมือคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในเมื่อร่างกายนี้แตกดับไป ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่มี มันก็หยุดก่อ สั่งสม เพราะมันไม่มีเครื่องมือทำงาน แต่ถ้าเป็นจิตที่หลุดพ้นแล้ว วิญญาณที่หลุดพ้นแล้ว ถึงแม้กายจะยังมีอยู่ ความคิดปรุงแต่งก็มีอยู่ธรรมดา แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถจะทำให้จิตดวงนี้มีอาการเปลี่ยนแปลงได้ คือมันทรงอยู่ในความเป็นปกติไม่หวั่นไหวต่ออาการใดๆ มันรับรู้ แต่สิ่งรู้ไม่สามารถจะปรุงแต่งให้เกิดความยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจได้ อะไรๆ ก็มีแต่เฉยๆๆ ลูกเดียว แต่ไม่ใช่เฉยอย่างไม่เอาไหน รู้สึกเฉยๆ แต่ว่าทำไม่หยุดนั่นแหละมันมีลักษณะอย่างนั้น

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จะ.นครราชสีมา
หนังสือฐานิยปูชา ๒๕๖๐
หน้า ๔๗-๔๘








" #พระพุทธเจ้าและพระสงฆ๋สาวก
แม้ปรินิพพานไปแล้ว
ก็ไม่ได้ขนพระธรรมไปด้วย
พระธรรมยังมีอยู่เต็มโลก
ให้ลูกหลานค้นพระธรรมให้เจอ ให้แจ่มแจ้ง "
_____________________________________________
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร )

เมื่อ 4 มี.ค. 2554
ณ วัดป่าบ้านตาด
จ.อุดรธานี






"คนเรามีสองประเภท คือ ชอบคิด กับไม่ชอบคิด คนไม่ชอบคิด เวลาฝึกสมาธิต้องบังคับให้พิจารณา ถ้าไม่บังคับใจจะติดสมาธิอยู่นั้น เป็นสมาธิหัวตอไม่ยอมไปไหน ส่วนคนชอบคิด กว่าใจะเป็นสมาธิได้ ก็ต้องบังคับให้สงบมากหน่อย แต่พอเป็นแล้ว เรื่องการพิจารณานั้นไม่ต้องบังคับ มีอะไรมากระทบ ใจจะพิจารณาทันที"ฯ

พระครูญาณวิศิษฏ์ ( ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก )
วัดธรรมสถิต จ.ระยอง
หนังสือยาใจ (พิจารณา ๒๕๐) หน้า ๘๑






"...อย่าพากันประมาทนอนใจว่ากิเลสคือเชื้อแห่งภพความเกิดตายไม่มีทางสิ้นสุด เป็นของเล็กน้อยไม่เป็นภัยแก่ตน แล้วไม่กระตือรือร้นเพื่อแก้ไขถอดถอนเสียแต่กาลที่ยังควรอยู่ เมื่อถึงกาลที่สุดวิสัยแล้ว จะทำอะไรกับกิเลสเหล่านี้ไม่ได้นะ จะว่าไม่บอกไม่เตือน คนและสัตว์ทุกข์ทรมานมาประจำโลก อย่าเข้าใจว่าเป็นมาจากอะไร แต่เป็นมาจากกิเลสตัณหาที่เห็นว่าไม่สำคัญและไม่เป็นภัยนั่นแล ผมค้นดูทางมาของการเกิดตาย และการมาของกองทุกข์มากน้อยจนเต็มความสามารถของสติปัญญาที่มีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเป็นตัวเหตุชักจูงจิตใจให้มาหาที่เกิดตายและรับความทุกข์ทรมานมากน้อยเลย มีแต่กิเลสตัวที่สัตว์โลกเห็นว่าไม่สำคัญและมองข้ามไปมาอยู่นี้ทั้งสิ้นเป็นตัวการสำคัญ..."

โอวาทธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร







"ขึ้นต้นให้ดีๆ หลับตา นั่งตัวตรงๆหลังตรงๆ
ให้มีสติอยู่กับตัว ดูลมหายใจเข้า-ออก ดูเฉยๆ
ไม่ต้องคิดอะไรเหมือนกับดูรถวิ่งตามถนน
ดูไป เห็นไป รู้ไป ว่าลมหายใจเดินไปทางไหนก็เห็นรู้ๆ ไม่ต้องไปคิด ดูลมเห็นลม เห็นก็ไว ได้ยินก็ไว เกิดเดี๋ยวนั้น รู้เดี๋ยวนั้น

นั่นเรียกว่าวิญญาณ คือ..
ธรรมชาติรู้
เห็นธรรมดา ได้ยินธรรมดา รู้ธรรมดา เห็นธรรม
รู้ธรรม มันก็หายโง่ซิ

พระเวลาสวดงานศพ กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา
ดีก็ธรรมดา ไม่ดีก็ธรรมดา กลางๆ ก็ธรรมดา
ก็เหมือนฝ่ายวัตถุมีไฟฟ้าบวกไฟฟ้าลบ ไฟฟ้ากลางๆ ทั่วจักรวาลก็เท่านั้นเอง ร่างกาย วัตถุ คิด นึก รู้ มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปทุกศูนย์วินาที
เรียกว่าขันธ์ 5 คือ กายใจทั้งหมด

พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้โลกุตรธรรม
เห็นก็สักแต่เห็น วางไปไม่ยึดถือ
ดับความยึดจึงจะไปรอด..ด้วย"สติ "

ตัวสติแท้ๆ เป็นโลกุตรธรรม เป็นธรรมพ้นโลก

ตัวโลกุตรธรรมเหมือนไฟฟ้าแลบ แปล็บเดียวมันก็เห็นหมด แลบหนเดียวไม่แลบมาก
เจริญสติ หนทางเดียวไปรอด

เห็นได้ยิน ก็สักแต่รู้ ไม่ไปถามไปตอบอะไร
ไม่ได้สมมุติเป็นเราเป็นเขา
พระเจ้าไม่มี เป็น factไม่ใช่ fiction
เสียงถูกหูได้ยินปั๊บนี่เป็น fact
มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆแต่ก็เป็น fact
ก็เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาไม่ต้องไปอยาก

ความคิดทั้งหลายก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปหยุด
วิญญาณดับไปๆ หยุดไม่ได้ มันไวมากนะซิ
ไม่มีเรื่องมันก็สบาย จิตก็สบาย ไม่มีสงสัยแล้ว

เหมือนอย่างกินข้าวอิ่มแล้วจะไปสงสัยทำไม
ว่ากินแล้วหรือยัง กินหรือเปล่า กินกับอะไร
ไม่ต้องไปคิดแล้ว สำเร็จแล้วนี่จะไปสงสัยอะไร

ถ้ายังสงสัยอยู่มันจะพ้นได้อย่างไร

จุดหมายปลายทางคือ
ทำความโง่ (อวิชชา) ให้พ้นไปจากจิตโดยเด็ดขาด ไม่มีเรื่องที่จะมาสงสัยอีกแล้ว

การภาวนาเป็นกุศลสูงสุดเป็นกุศลชั้นเยี่ยม
ฝึกหัดจิตให้เป็นสมาธิ
เป็นบุญชั้นเยี่ยมยิ่งกว่าทานและยิ่งกว่าศีล

พระพุทธเจ้าทรงเรียกอริยทรัพย์
แจกเท่าไหร่ไม่หมด
นึกแผ่ไป send good will to all

ตั้งแต่ยอดพรหมโลก กว้างขวางแค่ไหนไปจนถึงก้นนรก.

องค์หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต







การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องรู้มากเป็นเรื่องที่ "รู้เข้ามาหาจิต" เท่านั้นเอง แล้วก็ "ปล่อยวาง" สิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษ
เหมือนกับกวาดอะไรทิ้งออกไป เหลือแต่จิตสงบ จิตว่าง
หรือจิตเป็นปรกติในลักษณะอย่างเดียวกัน แล้วก็ดูให้ทั่วถึง ดูมัน รู้มัน อยู่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่ต้องไปดูอะไรมาก ถ้าดูมากหลายอย่างแล้วมันจะวุ่น ดูไป รู้ไป แล้วมันจะปล่อยวางออกไปได้

ท่าน ก.เขาสวนหลวง








"..ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้า ชาติหลังหรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง 16 ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติ ทำวิปัสสนาญาณให้แจ้งความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง.."

#เทศนาธรรมคำสอน
พระราชวุฒาจารย์
(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
(พ.ศ.๒๔๓๑–๒๕๒๖)







"วันแห่งความรัก"

" .. ถ้าจะถือว่ามีวันแห่งความรัก ก็ต้องถือวันมาฆบูชา วันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศความรักอันบริสุทธิ์สูงส่ง

วันมาฆบูชา-วันแห่งความรัก

วันที่พระจันทร์เต็มดวง เสวยมาฆฤกษ์ ในเดือนสาม วันแห่งความรัก อันสูงส่งบริสุทธิ์ ในพระพุทธศาสนา ด้วยทรงมีความรักบริสุทธิ์สูงส่ง ไม่มีเสมอเหมือนพระพุทธองค์จึงทรงแผ่พระมหากรุณาได้กว้างใหญ่ไพศาลไม่มีขอบเขต ทั้งแก่พรหมเทพ มนุษย์สัตว์ ปรากฏแจ้งชัดในพระโอวาทปาติโมกข์ ที่ทรงแสดงในวันมาฆบูชา

- พึงไม่ทำบาปทั้งปวง
- พึงทำกุศลให้ถึงพร้อม
- พึงรักษาจิตของตนให้ผ่องใส

บาปย่อมก่อให้เกิดทุกข์โทษภัยแก่ผู้ทำและผู้อื่น
- พระพุทธองค์จึงทรงเตือนไม่ให้ทำ

กุศลย่อมเป็นคุณแก่ผู้ทำและผู้อื่น
- พระพุทธองค์จึงทรงเตือนให้ทำ

จิตผ่องใส่คือจิตที่ไกลได้จากกิเลสโกรธหลง ที่มีอยู่เต็มโลก
ย่อมให้ความสุขสงบอย่างยิ่งจนถึงเป็นบรมสุข
- พระพุทธองค์จึงทรงเตือนให้รักษาจิตของตน

เป็นชาวพุทธพึงซาบซึ้งพึงมั่นใจ ในพระคุณยิ่งใหญ่แห่งความรัก ที่บริสุทธิ์ผ่องใสไพจิตรนัก โลกประจักษ์วันรักนั้นวันมาฆะ "
.
--- พระคติธรรม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร






"...การบริกรรมภาวนาพุทโธ โดยธรรมชาติ
ของการบริกรรมภาวนาแล้ว เมื่อจิตสงบลงไป
เป็นอุปจารสมาธิ เมื่อจิตเป็นอุปจารสมาธิแล้ว
พอเกิดปีติ เกิดความสุขขึ้นมา จิตจะปล่อยคำ
บริกรรมภาวนาทุกครั้งไป ในเมื่อจิตปล่อยคำ
บริกรรมภาวนาแล้ว จิตก็นิ่งเฉยอยู่ ตอนนี้ให้
กำหนดรู้ลงที่จิต ถ้าหากจิตมีลักษณะลอย
เคว้งคว้าง ก็ให้เพ่งไปที่ลมหายใจ ยึดเอาลม
หายใจเข้าออกมาเป็นเครื่องรู้ เรื่องปล่อยวาง
คำภาวนานี้ จิตจะต้องวางของเขาเอง
เราไม่ต้องไปวางให้เขาก็ได้..."

#ที่มา หนังสือ ธรรมปฏิบัติและตอบปัญหา
การปฏิบัติธรรม
พระราชสังวรญาณ ( หลวงพ่อพุธ ฐานิโย )
........................................................







#มงคลที่เป็นไปเพื่อคุณธรรม
#ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ

#การมาภาวนาพุทโธ
นักปราชญ์ท่านบำเพ็ญกันแล้ว
พุทโธเกิดขึ้นที่ใจ ตามกำลังของภาวนา
แค่ไหนเพียงไรแล้ว
มงคลก็เกิดขึ้นตามข้อปฏิบัตินั้น

การบริกรรมพุทโธ
มงคลเกิดขึ้นในใจอย่างไร พระพุทธเจ้า
เป็นบุคคลเป็นธรรมชาติ
ที่จิตประเสริฐที่สุดในโลก คำว่าพระพุทธเจ้าหมายถึงองค์พุทโธๆนี่ล่ะ
เป็นองค์พระพุทธเจ้า
ไม่มีอะไรประเสริฐสุด เท่าองค์พุทโธ

เราภาวนาพุทโธๆ
เหมือนกับหยาดน้ำใส่ภาชนะ
หยาดอยู่มากๆ หยาดอยู่เสมอ
ในเมื่อหยาดมากๆ หยาดอยู่เสมอ
ใจของเราก็สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม
คือพุทโธ ในเมื่อใจเราสมบูรณ์
ด้วยคุณธรรมคือพุทโธแล้ว
ใจของเราก็มีความขลัง
มีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา
ใจที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมขึ้นมา
ความเป็นมงคลก็เกิดขึ้นที่ใจของเรานี้

ใครต้องการความเป็นมงคล
ใครต้องการความเป็นสิริมงคล
ให้ภาวนาพุทโธๆ
การบำเพ็ญจิตภาวนานี้ล่ะ
เป็นการทำจิตทำใจของเรา
ให้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม "
___________________
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร
หลวงปู่แบน ธนากโร
วัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร







อานาปานสติ ๑๖ ขั้น

ในบทนี้จะได้กล่าวถึงบทกรรมฐานที่สำคัญบทหนึ่ง คือ อานาปานสติ ๑๖ ขั้น เพื่อที่จะให้ท่านที่สนใจในการบำเพ็ญภาวนา ได้เข้าใจวิธีปฏิบัติและทราบหลักที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติกรรมฐานโดยทั่วไปไม่ค่อยจะได้ยินได้ฟังกันมากนัก แต่ก็เป็นพระสูตรสำคัญสูตรหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อานาปนสติสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกายอานาปานสติภาวนา หรือ อานาปานสติสมาธิ ที่เราได้ฟังกันโดยทั่วไป เป็นอานาปานสติเพียง ๔ ขั้นแรก ซึ่งอานาปนสติทั้ง ๔ ขั้นนี้ เราจะพบในพระสูตรต่างๆ หลายแห่งเช่น

- อานาปานสติ ในอนุสสติ ๑๐
- อานาปานสติ ในมหาสติปัฏฐานสูตร

พระสูตรดังกล่าวมาล้วนแต่กล่าวถึงอานาปานสติเพียง ๔ ขั้นเท่านั้น แต่อานาปานสติภาวนาใน

อานาปานสตินั้นสมบูรณ์ที่สุด เพราะแสดงหลักฐานทั้งในด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ที่สุด

เกี่ยวกับอานาปานสติเริ่มตั้งแต่ขั้นต้นๆ จนถึงขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา
อานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นนั้นคือ

๑. เมื่อหายใจเข้า-ออกยาว ก็รู้ว่า เราหายใจเข้า-ออกยาว
๒. เมื่อหายใจเข้า-ออกสั้น ก็รู้ว่า เราหายใจเข้า-ออกสั้น
๓. กำหนดรู้กายทั้งปวงหายใจเข้า-ออก
๔. ทำกายสังขารให้ระงับ หายใจเข้า-ออก
๕. กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า-ออก
๖. กำหนดรู้สุข หายใจเข้า-ออก
๗. กำหนดรู้สังขาร หายใจเข้า-ออก
๘. ทำจิตสังขารให้ระงับ หายใจเข้า-ออก
๙. กำหนดรู้จิต หายใจเข้า-ออก
๑๐. ทำจิตให้ปราโมทย์ หายใจเข้า-ออก
๑๑. ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า-ออก
๑๒. ทำจิตให้คลาย หายใจเข้า-ออก
๑๓. ตามเห็นอนิจจัง - ความไม่เที่ยง หายใจเข้า-ออก
๑๔. ตามเห็นวิราคะ - ความจางคลาย (คลายติด) หายใจเข้า-ออก
๑๕. ตามเห็นนิโรธ - ความดับโดยไม่มีเหลือ (ดับสนิท) หายใจเข้า-ออก
๑๖. ตามเป็นปฏินิสสัคคะ - ความสละคืน (ปล่อยวาง) หายใจเข้า-ออก

นี่คืออานาปานสติ ๑๖ ขั้น ตามอานาปานสติสูตร ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ต่อไปนี้จะได้อธิบายแต่ละขั้นตามลำดับ เพื่อให้ท่านผู้สนใจได้เข้าใจหลักการปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้นในอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ แบ่งออกเป็น ๔ หมวด คือ

หมวดที่ ๑ ตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ถึงขั้นที่ ๔ ว่าด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๒ ตั้งแต่ขั้นที่ ๕ ถึงขั้นที่ ๘ ว่าด้วยการกำหนดเวทนา เป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๓ ตั้งแต่ขั้นที่ ๙ ถึงขั้นที่ ๑๒ ว่าด้วยการกำหนดจิต เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๔ ตั้งแต่ขั้นที่ ๑๓ ถึงขั้นที่ ๑๖ ว่าด้วยการกำหนดธรรมที่ปรากฏในจิต เป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน ๔ ก็ปรากฏอยู่ในอานาปานสติสูตรนี้เอง ในกายาสติปัฏฐาน ตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ถึง ๔ นั้น

เรามักปฏิบัติอานาปานสติกันโดยทั่วไป แต่บางท่านอาจยังไม่ทราบชัดว่าตนกำลังปฏิบัติอยู่ในขั้นใดของขั้นทั้ง ๔ นี้

**จากหนังสือวิปัสสนากรรมฐาน โดย ฐิตวณฺโณ ภิกฺขุ (พระสาสนโสภณ) **
วัดโสมนัส ราชวรวิหาร สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา







ทางโลก ถึงจะไม่ร่ำไม่รวยขอให้มีอยู่มีกิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องดีกว่าหิวโหยไม่มีข้าวจะกรอกหม้อเสียเลย อย่างน้อยให้มีอยู่มีกิน มากกว่านั้นก็ให้มีอยู่มีกินแล้วก็ดูแลญาติโกโหติกาผู้อยู่ใกล้ชิดให้มีอยู่มีกิน ถ้ามากกว่านั้นก็เป็นเศรษฐี มีเงินคำทรัพย์สมบัติสมบูรณ์บริบูรณ์เต็มที่เต็มเปี่ยม กินไม่หมดจบไม่ลง อุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง อันนี้ก็คือทางโลก

แต่ทางธรรม ท่านว่าเราหาเช้ากินค่ำนะ ยังไม่เป็นมาตรฐาน ยังเป็นปุถุชนอยู่ ยังเลื่อนลอยอยู่ ยังไม่รับรองว่าเป็นมาตรฐาน เหมือนกับหาเช้ากินค่ำ ถ้าหากว่าเป็นพระโสดาบันขึ้นมาเมื่อไร เมื่อนั้นมีพออยู่พอกินนะ เลี้ยงตัวเองได้ พออยู่พอกิน ไม่ตกต่ำ พอพระสกทาคามีขึ้นมา เออ เลี้ยงพี่เลี้ยงน้องวงศาคณาญาติได้ พอเป็นพระอนาคามี เป็นตัวของตัวได้สมบูรณ์ เป็นหลักเป็นแหล่ง เป็นจุดยืน หรือเป็นที่พึ่งของผู้คนได้ในระดับหนึ่ง ถ้าหากเป็นพระอรหันต์ จิตใจหลุดพ้นจากอาสวกิเลส อันนั้นเป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์ กินไม่หมดจบไม่ลง เป็นมาตรฐาน เป็นสแตนดาร์ดของการเป็นอยู่ของธรรม

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา “สร้างจิตสร้างใจให้เป็นอริยบุคคล”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๗







การทำ “มาฆบูชา” ที่แท้จริง
หรือถูกต้องตามความหมาย
คือ การทำตามพระอรหันต์ เป็นอยู่คล้ายพระอรหันต์
.
.... “ การทำตามพระอรหันต์นั้น ไม่ใช่เป็นการอวดดี, ท่านผู้ใดอย่าได้คิดว่า เมื่อพูดว่า “เราจะทำตามพระอรหันต์” ดังนี้แล้วจะเป็นการอวดดี ดังนี้ก็หาไม่ อุบาสกอุบาสิกาที่ดี ย่อมปัจจเวกขณ์องค์อุโบสถอยู่เป็นประจำทั้ง ๘ องค์ แต่ละองค์ๆก็มีว่า “พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านทำอย่างนั้นๆๆ และแม้เราในวันนี้ ก็จะทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น ด้วยองค์อันนี้ๆ ครบทั้ง ๘ องค์แห่งอุโบสถ”. นี้ไม่ถือว่าเป็นการอวดดิบอวดดีอะไร เป็นการตั้งอกตั้งใจจะทำเพื่อความดับทุกข์ เช่นเดียวกับที่พระอรหันต์ท่านทำ
.... หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็เพื่อต้องการจะเป็นอยู่ในวันหนึ่งๆนั้น ให้คล้ายกันกับที่พระอรหันต์ทั้งหลายท่านเป็นอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ “เราไม่ได้ประกาศว่าเราเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าเราจะทำตามพระอรหันต์ให้สุดความสามารถของเรา โดยเฉพาะในวันอุโบสถ วันนี้ก็เป็นวันอุโบสถ ; แต่ว่าเป็นวันอุโบสถที่ยิ่งไปกว่าวันอุโบสถอื่นๆ คือเป็น “วันมาฆบูชา” ด้วย
.... การเรียกว่า “มาฆบูชา” แปลว่า การบูชาที่ทำในเดือนมาฆะ เพียงเท่านี้ไม่ค่อยมีความหมายอะไรนัก เพราะเป็นชื่อของเวลา เป็นการกำหนดด้วยเวลา เราควรจะทราบถึงความหมายเสียใหม่ว่า การทำการบูชาในเดือนมาฆะ เพื่อระลึกถึงพระอรหันต์ เพื่อบูชาพระอรหันต์ เพื่อทำตามอย่างพระอรหันต์ ให้เรามีความเป็นอยู่ที่คล้ายพระอรหันต์ให้มากที่สุด ทุกลมหายใจเข้าออกในวันนี้ ทำอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการทำมาฆบูชาที่แท้จริง หรือถูกต้องตามความหมาย
.... ถ้าทำอย่างอื่น หรือทำอย่างละเมอเพ้อฝัน ทำไปตามธรรมเนียมประเพณี, สรวลเสเฮฮาอย่างใดอย่างหนึ่งไปตามเรื่อง, นั้นเป็นการทำมาฆบูชาของลูกเด็กๆ : ไม่สมควรแก่อุบาสกอุบาสิกาผู้ประกอบไปด้วยคุณธรรม : ผู้รู้ความหมายของพระอรหันต์ดี ว่ามีอยู่อย่างไร แล้วพยายามจะทำตนให้คล้อยตามให้มากที่สุดที่จะมากได้.
.... ผู้ที่พิจารณาเห็นความหมายอันแท้จริง ของความเป็นพระอรหันต์โดยถูกต้องเท่านั้น ที่จะทำมาฆบูชาให้เป็นมาฆบูชาอย่างถูกต้อง
.... ความหมายอันแท้จริง ของคำว่า “พระอรหันต์” นั้น ก็คือ ความสะอาด สว่าง สงบ นั่นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ หมายถึงบุคคลที่มีความสะอาดถึงที่สุด มีความสว่างไสวถึงที่สุด และมีความสงบเย็นถึงที่สุด เรียกว่า “พระอรหันต์”
.... ที่ว่า สะอาด หมายถึง บริสุทธิ์หมดจด ไม่มีบาป ไม่มีความชั่ว ซึ่งเป็นสิ่งเศร้าหมอง ไม่มีความลับที่จะต้องปกปิด
.... ที่ว่า มีความสว่างไสว นั้น หมายถึง ความรู้แจ้ง ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องเต็มตามที่เป็นจริง จนประพฤติปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง, ไม่มีความทุกข์อันใดเกิดขึ้นมาได้เลย นี้เรียกว่า ความสว่างไสว คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง
.... ที่เรียกว่า ความสงบ นั้น หมายถึง ความสงบเย็นปราศจากความทุกข์ ไม่มีความเร่าร้อน ไม่มีความกระวนกระวาย ระส่ำระสาย ไม่ถูกห่อหุ้มพัวพัน ตบตี ทิ่มแทง เผาลน แต่ประการใด จึงนับว่าเป็นความสงบเย็นอย่างแท้จริง
.... ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ นี้ เรียกเป็นภาษาไทยสั้นๆ เพื่อจำง่าย ความสะอาด ก็คือ สุทธิหรือสุทธิคุณ, ความสว่างก็คือปัญญาคุณ ความสงบก็คือสันติคุณ...”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : มาฆบูชาเทศนา เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ หัวข้อเรื่อง “โอวาทปาฏิโมกขปฐมภาคกถา” จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “มาฆบูชาเทศนา” หน้า ๔-๕








วันนี้เป็นวันที่ทราบกันทั่วสากลทั่วโลก ว่าเป็นวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก ความรักตัวนี้มีทั้งโทษ มีทั้งคุณ ถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์ก็เกิดประโยชน์ ถ้าใช้ให้เกิดโทษก็เกิดโทษ

ในหลักธรรมคำสอนของพุทธะท่านว่า ในการอยู่ด้วยกันต้องมองกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้มองกันแบบกิเลสตัณหา มองกันด้วยคุณความความดีในการอยู่ด้วยกัน ถ้าหากอยู่ด้วยกันด้วยกิเลสตัณหาก็อาจเป็นพิษเป็นภัยเป็นอริศัตรูกันอย่างร้ายแรง แต่ถ้าอยู่ด้วยกันด้วยความเมตตาอารี มองกันที่คุณงามความดีของกันและกัน คนในชุมชน คนในกลุ่มนั้นก็จะอยู่กันได้นานเท่านาน เพราะอยู่ด้วยกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ ด้วยความเมตตา แต่ถ้าอยู่ด้วยกันด้วยกิเลส ตัณหา ราคะ จะอยู่ด้วยกันไม่ยืด มันตัดขาดกันได้ง่าย ๆ

แต่การอยู่ด้วยกันได้มันก็เกี่ยวกับการสืบเนื่องมาอย่างยาวนานด้วย ว่าได้ทำบุญร่วมกันมา ปรารถนาร่วมกันมาในอดีตชาติ พอมาภพนี้ชาตินี้มาเจอกันก็เมตตากัน เห็นอกเห็นใจกัน มีอะไรก็เหมือนกับเป็นพี่น้องหรือยิ่งกว่าพี่น้องอีก นี่คือเคยสร้างบารมีมาร่วมกัน ประกอบคุณงามความดีมาด้วยกัน ก็เป็นเรื่องหาได้ยาก แต่ก็มีอยู่ อย่างเช่นพระพุทธเจ้าของเรากับนางยโสธราพิมพา ก็ได้ปรารถนามาด้วยกันในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน จากนั้นเกิดภพใดชาติใดก็เกิดวกวนเวียน ถึงจะตกทุกข์ได้ยากยังไงก็เห็นอกเห็นใจกัน นี่คือคนที่สั่งสมบารมีมาด้วยกัน

เพราะฉะนั้น วันวาเลนไทน์ ที่ว่าวันแห่งความรัก ก็ควรรักกันแบบเมตตา เห็นอกเห็นใจ รักในคุณงามความดีซึ่งกันและกัน สั่งสมคุณงามความดี ก้าวไปด้วยกัน มองกันด้วยเหตุด้วยผล อย่ามองกันในแง่ร้าย ช่วยกันคิด พึ่งพาอาศัยกัน

ถ้ารักก็ต้องรักให้เป็น รักที่คุณงามความดี รักด้วยเหตุด้วยผล ถ้ารักด้วยกิเลสตัณหาพอผ่านไปก็อาจเป็นอริศัตรูเป็นคู่แค้นกัน ถ้ารักก็ต้องมีปัญญา อย่าไปหลงจนเกินไป เราจะให้ทุกคนได้อย่างใจเราได้อย่างไร และก็อย่าลืมความตายของตนเอง ถึงจะรักขนาดไหน สักวันก็ต้องต่างคนต่างตาย อันไหนคือคุณงามความดี ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ควรจะประกอบคุณงามความดี ควรจะหันความดีเข้าหากัน เอาความดีเข้าหากัน

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา “วาเลนไทน์ รักกันให้แต่พอดี”
แสดงธรรมเมือวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙






"...การปฏิบัติถ้ามีความสงสัยลังเลในศีล
มีความสงสัยในธรรม จะเกิดความไม่มั่นใจใน
ตัวเอง ไม่กล้าที่จะทุ่มเทในการปฏิบัติอย่างเต็มที่ได้
เดี๋ยวไปลูบคลำในศีล เดี๋ยวไปลูบคลำธรรม
ว่าผิดไหม ถูกไหม อยู่อย่างนั้น การภาวนาปฏิบัติ
จะไม่ก้าวหน้าไปถึงไหนเลย เป็นผู้ที่ไม่กล้าตัดสินใจ
ด้วยตัวเองได้ เป็นบุคคลที่พึ่งตัวเองไม่ได้ พึ่งสติ
พึ่งปัญญา และพึ่งความสามารถของตัวเองไม่ได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

'อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน'

การพึ่งตนเอง หมายถึง พึ่งสติปัญญา และพึ่งความ
สามารถ ในเหตุผลของตัวเองให้ได้ มิใช่ว่าจะหา
ถามหลวงปู่ หลวงตา ตลอดไป..."

#ที่มา หนังสือ จุดประกายแห่งปัญญา
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี
ตอบกระทู้