การเจริญความเพียร มิใช่การเดินจงกรมนาน ๆ หรือนั่งสมาธิ ได้นาน ๆ แต่ หมายถึง การน้อมเข้ามา ในกายในใจ ของตนให้ต่อเนื่อง
หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล
“เมื่อเกิดก็ไม่ได้เอาอะไรมา เมื่อตายก็ไม่ได้เอาอะไรไป ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง หมดสิ้น ไม่ไช่ของเราเป็นของ กลางสำหรับแผ่นดิน
ตายแล้ว ทิ้งเสียหมด เอาไปไม่ได้ อย่าหลงมัวเมาไปเลย
แต่ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้เป็นของ ของเราแท้ หนีไม่พ้น เหตุนั้น เราจึงอุตส่าห์รีบเร่งก่อสร้าง บุญกุศล ซึ่งเป็นที่พึ่งของตน จงอุตส่าห์บำเพ็ญศีล แลเจริญ จตุรารักข์*.. แลวิปัสนานี้เป็น ทางสวรรค์ แลนฤพานเถิด.. ”
*หมายเหตุ
จตุรารักขกัมมัฏฐาน คือ 1. เจริญพุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย
2. เจริญอสุภกัมมัฏฐาน พิจารณากายให้เห็นเป็นของปฏิกูล
3. เจริญเมตตา แผ่เมตตาให้ตนเองและผู้อื่น
4.เจริญมรณานุสติ พิจารณาความตายทั้งของตนเองและของผู้อื่น โอวาทธรรม:องค์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
โลกไม่ได้ทำให้เราทุกข์ เราทุกข์เอง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันถูกต้องอยู่แล้ว มีแต่ “ความเห็นของคน” เท่านั้น ที่ผิด . …. “เหมือนกับเราเดินทาง หนทางไกลเท่าไหร่มันก็ไม่เหนื่อยกับเรา หนทางไม่เหนื่อย เราผู้เดินนี้เหนื่อย เราผู้วิ่งนี้มันหนัก หนทางมันจะไปไหนก็ช่าง มันไม่เมื่อย มันก็ไม่เหนื่อย มันเหนื่อยเพราะเราเดินทาง มันเป็นอย่างนี้ . …. ฉะนั้น ทางมันพอดีของมันอยู่ พอดีอย่างไร ถ้าเราเดินเหนื่อยเราก็พัก ก็ไม่เป็นไร ถ้าเราฉลาด ถ้าเหนื่อยแล้วยังขืนเดินไปก็ตายกับหนทางเท่านั้นแหละ ทางไม่เป็นอะไร ถึงแม้ว่าเราจะหยุด มันก็ไม่บังคับให้เราเดินไปอีก ถึงแม้เราจะไปอีก มันก็ไม่บังคับให้เราหยุด …. โลกมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักทางก็รู้จักกำลังของเรา พอสมควรเราก็พักได้ เราจึงค่อยเดินไป เป็นเรื่องของเรา คนรู้จักทางเป็นอย่างนี้ . …. คนรู้จักโลกก็เหมือนกัน โลกมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง ทางนั้นก็เป็นโลก โลกนั้นก็คือหนทาง ถึงแม้ว่าเราเดินต่อ มันก็ไม่สิ้นสุดสักที โลกไม่ได้ทำให้เราทุกข์ เราทุกข์เอง ฉะนั้น จึงมาแก้ที่เรา ใจเรานี้มันหลงโลก ไม่ใช่โลกหลงเรา เรามันหลงโลกเข้าใจไหม? …. ถ้าว่า อาหารทั้งหลาย ถ้ามันอร่อย ไม่ใช่อาหารมันหลงเรา เรามันหลงอร่อยอันนั้น หลงหวาน หลงเปรี้ยว หวานก็พอดีของมัน เปรี้ยวก็พอดีของมัน มันเป็นของพอดี ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันถูกต้องอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด” . พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
วันนี้เป็นวันที่ทราบกันทั่วสากลทั่วโลก ว่าเป็นวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก ความรักตัวนี้มีทั้งโทษ มีทั้งคุณ ถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์ก็เกิดประโยชน์ ถ้าใช้ให้เกิดโทษก็เกิดโทษ
ในหลักธรรมคำสอนของพุทธะท่านว่า ในการอยู่ด้วยกันต้องมองกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้มองกันแบบกิเลสตัณหา มองกันด้วยคุณความความดีในการอยู่ด้วยกัน ถ้าหากอยู่ด้วยกันด้วยกิเลสตัณหาก็อาจเป็นพิษเป็นภัยเป็นอริศัตรูกันอย่างร้ายแรง แต่ถ้าอยู่ด้วยกันด้วยความเมตตาอารี มองกันที่คุณงามความดีของกันและกัน คนในชุมชน คนในกลุ่มนั้นก็จะอยู่กันได้นานเท่านาน เพราะอยู่ด้วยกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ ด้วยความเมตตา แต่ถ้าอยู่ด้วยกันด้วยกิเลส ตัณหา ราคะ จะอยู่ด้วยกันไม่ยืด มันตัดขาดกันได้ง่าย ๆ
แต่การอยู่ด้วยกันได้มันก็เกี่ยวกับการสืบเนื่องมาอย่างยาวนานด้วย ว่าได้ทำบุญร่วมกันมา ปรารถนาร่วมกันมาในอดีตชาติ พอมาภพนี้ชาตินี้มาเจอกันก็เมตตากัน เห็นอกเห็นใจกัน มีอะไรก็เหมือนกับเป็นพี่น้องหรือยิ่งกว่าพี่น้องอีก นี่คือเคยสร้างบารมีมาร่วมกัน ประกอบคุณงามความดีมาด้วยกัน ก็เป็นเรื่องหาได้ยาก แต่ก็มีอยู่ อย่างเช่นพระพุทธเจ้าของเรากับนางยโสธราพิมพา ก็ได้ปรารถนามาด้วยกันในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน จากนั้นเกิดภพใดชาติใดก็เกิดวกวนเวียน ถึงจะตกทุกข์ได้ยากยังไงก็เห็นอกเห็นใจกัน นี่คือคนที่สั่งสมบารมีมาด้วยกัน
เพราะฉะนั้น วันวาเลนไทน์ ที่ว่าวันแห่งความรัก ก็ควรรักกันแบบเมตตา เห็นอกเห็นใจ รักในคุณงามความดีซึ่งกันและกัน สั่งสมคุณงามความดี ก้าวไปด้วยกัน มองกันด้วยเหตุด้วยผล อย่ามองกันในแง่ร้าย ช่วยกันคิด พึ่งพาอาศัยกัน
ถ้ารักก็ต้องรักให้เป็น รักที่คุณงามความดี รักด้วยเหตุด้วยผล ถ้ารักด้วยกิเลสตัณหาพอผ่านไปก็อาจเป็นอริศัตรูเป็นคู่แค้นกัน ถ้ารักก็ต้องมีปัญญา อย่าไปหลงจนเกินไป เราจะให้ทุกคนได้อย่างใจเราได้อย่างไร และก็อย่าลืมความตายของตนเอง ถึงจะรักขนาดไหน สักวันก็ต้องต่างคนต่างตาย อันไหนคือคุณงามความดี ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ควรจะประกอบคุณงามความดี ควรจะหันความดีเข้าหากัน เอาความดีเข้าหากัน
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก จากพระธรรมเทศนา “วาเลนไทน์ รักกันให้แต่พอดี” แสดงธรรมเมือวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
เดี๋ยวนี้มันพากันได้ หูทิพย์ตาทิพย์ กันง่ายน้อ...คนสมัยนี้นี้น่ะ มาภาวนามาหาครูบาอาจารย์ ก็พากันมานั่งกดนั่งจิ้ม ไอ้เครื่องอะไรนั้นน่ะ! ทั้งวันทั้งคืน อยากรู้อยากเห็นอะไรก็กดเอาจิ้มเอา จิตสงบอย่างนี้ จิตรวมอย่างนี้... บ๊ะ! จิตรวมนี้ไม่ใช่ของง่ายนะ หลวงปู่นี้ตายนับไม่ถ้วนว่ะถึงจะได้เห็นจิตสงบจิตรวม
นักปฏิบัติสมัยนี้เขาไม่ได้ฝึกหัดจากจิตจากใจ พากันฟังกันจำมาถาม มาโต้เถียงครูเถียงอาจารย์ มันรู้มาก แต่มันโง่มาก พวกกัมมัฏฐานอึ่งอ่าง แบบนี้ขาดทุนเปล่าๆ ไม่ได้อะไรเลย หายใจทิ้งไปวันๆ...
โอวาทธรรม #หลวงปู่แผ่นทอง จาครโต
เวลาไปหาพระองค์ไหน ครูบาองค์ไหน หรือจะเป็นเณรก็ได้ ให้สงบ อย่าคุยเสียมาก และไม่ต้องเรียนท่าน
เมื่อไปถึงกุฏิท่าน กระแอมเบาๆ ถ้าท่านอยู่ ท่านสะดวก ท่านออกมารับได้ และบางทีท่านยุ่งอะไรอยู่ ท่านอาจไม่สบายก็ได้
ไม่ยอมเป็นธรรมดา โอ้..มนุษย์หยาบอย่างนักหนา วุ่นวายมาก ไม่ใช่...ไม่เป็นอย่างนั้นนะ...
#หลวงปู่เชอรี่ อภิเจโต
"... การให้ทาน การรักษาศีล ตลอดถึงการภาวนา มีผลอานิสงส์มาก แต่การที่ผู้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ฟังธรรม กระทำเจริญกรรมฐานการภาวนา ที่ไม่ได้อานิสงส์ผลมากนั้น เพราะพวกเรายังมีการเห็นผิด มีความนับถือ และเชื่อถือผิดจากทางธรรม ที่พระพุทธองค์นำพาสาวกประพฤติปฏิบัติมา
... มีการฆ่าสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า มีวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ตลอดถึง เหล้า สุรา ยาดองของมึนเมา เอามาทำพิธีกรรม เซ่นสรวง บวงสรวง ทะคา ปีศาจ วิญญาณภูตผี พวกเรามีความเชื่อถือมาผิดๆ เพราะความเห็นผิดนี้แล การไหว้พระ ภาวนา รักษาศีล ให้ทาน การทำบุญกุศลจึงไม่มีผลอานิสงส์มาก
... ให้พากันเลิกละความเชื่อถือผิดตามความ ที่เคยเชื่อถือและนับถือผิดมาแล้วนั้นเสียตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่าได้เกี่ยวข้องกับมันอีกอย่างเด็ดขาด คุณพระรัตนตรัยเท่านั้นเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของพวกเรา ..." -------------------------------------------- #หลวงปู่มั่น_ภูริทัตตมหาเถระ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร (พ.ศ.๒๔๑๓ - ๒๔๙๒) บันทึกโดยพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ (จาก อาจาริยเถรประวัติ)
“… ศีลนำความสุขมาให้อย่างไร ก็คือการปฏิบัติของพวกเราที่ภาวนากันนี่แหละ จะไปพูดว่าศีลเป็นอย่างนั้นศีลเป็นอย่างนี้มันเป็นแต่เพียงคำพูด ศีลจริง ๆ อยู่ในจิต ศีลจะบริสุทธิ์ก็อยู่ที่จิต ก็ต้องอาศัยภาวนา ต้องอาศัยสติ ...”
#หลวงพ่อบุญช่วย ปุญญวณฺโต วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
"..เราเกิดมาได้อัตตภาพอันดี สมบูรณ์บริบูรณ์ พวกเราได้สมบัติมาดีแล้ว ควรใช้มันเสีย ใช้ไปในทางดี ทางดีคือการทำบุญให้ทาน รักษาศีลภาวนา ใช้มันเสียเมื่อมันยังสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่อย่าไปนอนใจ เมื่อวันคืนล่วงไป ๆ พระพุทธเจ้าว่า วันคืนล่วงไป ๆมิใช่จะล่วงไปแต่วันคืนเดือนปี ชีวิตความเป็นอยู่ของเราก็ล่วงไป ๆ ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ไม่ควรนอนใจ ได้มาดีแล้ว อัตตภาพอันนี้ ไม่เป็นผู้หนวกบอดใบ้บ้าเสียจริต สมบัติอันนี้คือมนุษย์สมบัติ มนุษย์ เราเป็นมนุษย์หรือเป็นอะไร คนเรอะ พระพุทธเจ้าว่า สิ่งอันประเสริฐก็ได้แก่คน บาปและบุญก็เรียก เราต้องเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ หิริ ความอายต่อความชั่ว โอตัปปะ ความสะดุ้งต่อผลของมัน ความชั่วมันจะให้ผลเราในคราวหลัง เมื่อเราเป็นมนุษย์ เราไม่ควรนอนใจ อย่าให้กาลกินเรา ให้เรากินกาล ให้เร่งทำคุณงามความดี.."
อนาลโยวาท หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู (พ.ศ.๒๔๓๑-๒๕๒๖)
" อกาลิโก " ให้ผลไม่จำกัดกาล
“นิชฺชโร” แปลว่า ไม่รู้จักชรา พระธรรม นั้น แก่ชราไม่เป็น ไม่พ้นสมัย ไม่ล้าสมัย ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ที่เรียกว่า“อกาลิโก” -------------------------------------------- . “คนสมัยนี้ จะมีกิเลสและความเจริญก้าวหน้าเท่าไร กรรมวิธีดับทุกข์ตามธรรมชาติแท้จริง ก็ยังคงเดิม” . จาก พุทธทาสลิขิต ๒ ( หน้า ๔๗๖ ) -------------------------------------------- ตอบคำถามที่ว่า... ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน แก่คนสมัยพุทธกาลเกือบ ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว จะนำมาใช้กับคนสมัยนี้ได้หรือ? . …. “พูดตรงๆก็ว่า พระพุทธเจ้านี้โดยเป็นบุคคลท่านเกิดในยุคในสมัยโน้น สองพันกว่าปีมาแล้ว…พระพุทธเจ้าไม่รู้จักไฟฟ้า ไม่มีไฟฟ้าใช้ ยังต้องใช้ไต้ใช้เทียน ใช้สิ่งธรรมดาสามัญที่สุดคือตะเกียงน้ำมันเนย ใช้กันเป็นประจําเหมือนกับเราใช้ไฟฟ้าเดี๋ยวนี้ เอาน้ำมันเนยมาใส่ไส้แล้วก็จุด ท่านรู้จักแต่อย่างนี้ แล้วจะเอาคําของท่านมาใช้กับคนในสมัยนี้ได้หรือไม่? …. พระพุทธเจ้าไม่รู้จักเครื่องขยายเสียงอย่างที่เราพูดกันอยู่เดี๋ยวนี้ ท่านไม่เคยรู้จัก ไม่เคยมี ไม่เคยใช้, พระพุทธเจ้าไม่รู้จักรถยนต์ ไม่มีรถยนต์นั่ง และไม่รู้จักนะ, พระพุทธเจ้าไม่รู้จักเรือบิน ไม่เคยรู้จักเรือบิน, แล้วพระพุทธเจ้าไม่รู้จักยานอวกาศที่จะไปเที่ยวโลกพระจันทร์ก็ได้ แล้วคําสอนของบุคคลชนิดยุคนั้นจะมาใช้กับบุคคลชนิดยุคนี้ได้อย่างไร? …. ถ้ามันเกิดคําถามอย่างนี้ขึ้นมา ท่านทั้งหลายจะตอบว่าอย่างไร? ว่าคนสมัยโน้นจะพูดจาถูกต้อง จนมาใช้กับคนสมัยนี้ได้หรือไม่ คิดดูให้ดี, ถ้าพูดกันภาษาเด็กๆ เด็กๆจะไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าฉลาดกว่าคนยุคนี้ ที่ไปโลกพระจันทร์ก็ได้ ไปไหนก็ได้ เด็กๆจะไม่เชื่อ แล้วก็จะสงสัยว่า ที่พูดไว้สําหรับคนยุคโน้นสมัยโน้น จะเอามาใช้สําหรับคนสมัยนี้ได้อย่างไร? …. ท่านทั้งหลายก็จงเข้าใจไว้ให้ดี เดี๋ยวก็จะเกิดสงสัยในพระรัตนตรัยขึ้นมา ถ้ามี “วิจิกิจฉา” (ลังเลสงสัย) อย่างนี้แล้ว ก็ไม่มีทาง ไม่มีทางที่จะบรรลุมรรคผล มีสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ไม่มีทางที่จะเป็นแม้แต่พระโสดาบัน ต้องรู้กันให้ดีๆ ว่าธรรมะที่สอนในยุคที่คนยังไม่รู้จักไฟฟ้าอย่างนี้ มาสอนคนในยุคนี้จะได้ไหม, จะตอบว่าอย่างไร? . “ความรู้ที่จําเป็น” ใช้ทุกยุคทุกสมัย …. ท่านจึงต้องรู้จักว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง มันก็ยังมีอยู่ สิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงก็คือ เรื่องทุกข์ กับ ความดับทุกข์ คือเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านพูดท่านตรัสนั่นแหละ ข้อนี้พูดกันหลายครั้งแล้ว ( ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ / ได้อ้างไว้เป็นหมายเหตุตอนท้าย ) ไม่ควรจะลืมเสียว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า “เดี๋ยวนี้ก็ดี แต่ก่อนโน้นก็ดี เราบัญญัติแต่ เรื่องทุกข์ กับ ดับทุกข์ สองเรื่องเท่านั้น” เรื่องอื่นไม่พูด …. ทีนี้ มันก็มีความจริงในข้อที่ว่า เรื่อง ความทุกข์ กับ ความดับทุกข์ สําหรับมนุษย์นี้ มันยังไม่เปลี่ยนแปลง มนุษย์ครั้งพุทธกาล หรือว่าก่อนพุทธกาลนานไกลไปโน้น อีกเท่าไรๆก็อย่างเดียวกัน ก่อนพระพุทธเจ้า หรือสมัยพระพุทธเจ้า หลังสมัยพระพุทธเจ้า เรื่อง ความทุกข์ และ ความดับทุกข์ นี้มันไม่เปลี่ยนแปลง ; ความทุกข์ต้องเกิดมาจากกิเลส ซึ่งเกิดมาจากความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น เรื่องที่พูดไว้ดับทุกข์ได้จริงสําหรับสมัยโน้น จึงยังใช้ได้สําหรับสมัยนี้ …. พร้อมกันนั้น ท่านก็ควรได้เห็นได้รู้สึกเสียเลยว่า ความรู้ชนิดไหนประเสริฐ เป็นอนุตริยะ อันไหนเป็นอนุตริยะ ? ความรู้เรื่องไฟฟ้า เรื่องเหาะเหินเดินอากาศไปเที่ยวโลกพระจันทร์ได้เหมือนกับไปเที่ยวหลังบ้านอย่างนี้ ประเสริฐกี่มากน้อย แล้วความรู้ที่ พระพุทธเจ้าตรัส “ดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง” นี้ อันไหนจะประเสริฐกว่ากัน, อันไหนควรจะเป็น “รัตนะ” คือเป็นสิ่งที่มีค่า นําความพอใจมาให้สูงสุด ความรู้ชนิดนั้นหรือความรู้ชนิดนี้ ? นี่เป็นสิ่งที่ต้องมองเห็นชัด …. เรื่องของโลกนี้ ต่อไปข้างหน้ามันยังทําอะไรได้มากกว่านี้ ไปเที่ยวโลกพระจันทร์เป็นเรื่องเด็กเล่นไปแล้ว แต่แล้วมันก็ดับทุกข์ไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้ มันอยู่ที่ตรงนี้ : แล้วมันก็จะเพิ่มปัญหา และเพิ่มความทุกข์เสียด้วยซ้ำไป อะไรที่ดับทุกข์ แล้วก็ตัดหนทางแห่งความทุกข์ ลดปัญหาเสียได้ นั่นแหละ! ประเสริฐ: ฉะนั้น เราจึงต้องทราบเรื่อง พระรัตนตรัย โดยเฉพาะพระพุทธเจ้า ไม่พ้นสมัย ไม่ล้าสมัย..” . พุทธทาสภิกขุ ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ชุด “อตัมมยตา” หัวข้อเรื่อง “อตัมมยตากับพระรัตนตรัย” เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๒ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “อตัมมยตาปริทัสน์” หน้า ๒๔-๒๗ . หมายเหตุ พระพุทธองค์ตรัสกับพระอนุราธะ ว่าดังนี้... … “อนุราธะ! ทั้งในกาลก่อน และในบัดนี้ เราย่อมบัญญัติ ทุกข์ และ ความดับทุกข์ เท่านั้น” . จาก อนุราธสูตร พระไตรปิฎกภาษาไทย ( สงฺ.ข.๑๗/๘๗/๑๕๗ ) ----------------------------- . ในพระไตรปิฎก ทุติยโรหิตัสสสูตร พระพุทธองค์ตรัสไว้ ดังนี้... …. “อนึ่ง เราบัญญัติโลก ความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก (อริยสัจ๔) ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจ นี้เอง.” . จาก ทุติยโรหิตัสสสูตร พระไตรปิฎกภาษาไทย องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๔๖/๗๕ # ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม. #
"..พึงอยู่ด้วยความไม่ประมาท.."
"..วิปัสสนานี้มีผลอานิสงส์ใหญ่ยิ่งกว่าทาน ศีล พรหมวิหารภาวนา ย่อมทำให้ผู้เจริญนั้นมีสติไม่หลงเมื่อทำกาลกิริยา มีสุคติภพคือมนุษย์และโลกสวรรค์เป็นไปในเบื้องหน้า หากยังไม่บรรลุผลทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ถ้าอุปนิสัยมรรคผลมี ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นบรรลุมรรคผล ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ในชาตินี้นั่นเทียว
อนึ่ง ยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะต้องตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์ คือ ศีล ๕ และกุศลธรรมบท ๑๐ จึงจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ชีวิตที่เป็นมานี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะอันตรายชีวิตทั้งภายในภายนอกมีมากต่างๆ การที่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะกาลที่เปล่าว่างอยู่ ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกยืดยาวนานนัก บางคาบบางสมัยจึงจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกสักครั้งสักคราวหนึ่ง เหตุนั้นเราทั้งหลายพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาเลย.."
#เทศนาธรรมคำสอน พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) วัดดอนธาตุ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
"ความสงสัยในการปฏิบัติธรรม ไม่เคยหายไปด้วยคำพูด คำอธิบายของคนอื่น แต่มันจะหายไป ก็ด้วยการปฏิบัติของตนเอง"
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
“อย่าน้อยใจในวาสนาของตน การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ย่อมมีบุญวาสนามาก ยิ่งได้มาพบพระพุทธศาสนาแล้ว นับว่าสั่งสมบุญมาไม่น้อย จึงควรรีบตักตวงเอาบุญกุศล ในอัตภาพนี้เสีย อย่าได้เสียที ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งสัตว์ทั้งหลายไม่มีโอกาสอย่างนี้”
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
"สร้างความดีต้องมีอุปสรรค ท่านทั้งหลายอย่าน้อยเนื้อต่ำใจนะ สร้างความดีมากเท่าไร อุปสรรคมาขัดขวางมากเท่านั้น ต้องสู้ต่อไปเพื่อใช้หนี้เขา เพราะคนเราเกิดมาเพื่อสร้างความดี ใช้หนี้กรรมเก่า
ถ้าเราสร้างความดีมากเท่าไร เจ้ากรรมนายเวร มักมาตามให้เราชดใช้ เหมือนพ่อค้า แม่ค้า ร้านค้า ยิ่งขายดิบขายดี เจ้าหนี้ก็มาทวง ถ้าเราขายไม่ได้ ไม่มีสตางค์เลย ไม่มีใครมาทวง ไม่มีใครมาขอแน่ๆ"
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
|