#การประเคนของ
การถวายสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่พระภิกษุรับ เรียกว่าประเคนสิ่งของ เราควรทำความเข้าใจให้รู้ก่อนว่าทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมและถูกต้องดี
ในการประเคนของนั้น ขนาดและน้ำหนักของสิ่งของที่จะประเคนนั้น ควรจะเป็นสิ่งของพอบุรุษมีกำลังยกคนเดียวได้ หรือไม่หนักเกินไป เพื่อจะยกประเคนได้สะดวก และพระก็รับประเคนได้สะดวกเช่นกัน ส่วนสิ่งของที่น้ำหนักเบาและขนาดเล็กน้อยนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อหากทายกจัดเตรียมสิ่งของเหล่านั้นเสร็จแล้ว พระก็นั่งเรียบร้อยดี เราก็ถือสิ่งของเหล่านั้นเข้าไปใกล้พระให้ได้หัตถบาท คือให้ห่างกันประมาณ ๑ ศอกคืบ หรือ ๒ ศอก พอเหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ ด้วย แล้วยกของนั้นประเคนพระภิกษุให้สูงพอแมวลอดได้ พระภิกษุก็น้อมรับสิ่งของที่โยมถวายแก่ตนด้วยความเคารพเช่นกัน
การรับประเคนสิ่งของนั้น ถ้าโยมยกของถวาย ๒ มือ พระก็ต้องรับของ ๒ มือ ถ้าโยมยกของถวายมือเดียว พระก็รับของมือเดียวเช่นกัน ถือว่าถูกต้องในการประเคนสิ่งของสำหรับโยมผู้ชาย
ถ้าหากว่าเป็นโยมผู้หญิงประเคนสิ่งของแก่พระภิกษุนั้น ก็ควรจะนั่งห่างจากพระภิกษุประมาณ ๒ ศอก หรือให้เหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ
พระภิกษุเมื่อจะรับประเคนสิ่งของจากโยมผู้หญิงนั้น ก็ควรมีผ้าสำหรับรับประเคน หรือผ้าที่่ควรหาได้ว่าเหมาะสมก็ได้ แล้ววางผ้านั้นลงที่ตรงหน้าของตนให้เรียบร้อย แล้วโยมผู้หญิงก็น้อมสิ่งของที่จะถวายพระ วางลงบนผ้าที่พระท่านจัดปูไว้นั้นด้วยความเคารพ
ถ้าโยมยกของถวาย ๒ มือ พระก็ต้องจับผ้า ๒ มือ ถ้าโยมยกของถวายมือเดียว พระก็จับผ้ามือเดียวเช่นกัน ด้วยความเคารพในสิ่งของที่ตนบริจาคทานด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย จึงเรียกว่าเป็นการประเคนสิ่งของให้พระภิกษุอย่างถูกต้อง และแลดูสวยงามเหมาะสม
#หลวงพ่อพระอาจารยฺเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป คัดจากหนังสือ ”ทำบุญอย่างไรจึงได้บุญมาก“
#โลกไม่ได้ทำให้เราทุกข์_เราทุกข์เอง..!!
"... ฉะนั้นจึงมาแก้ที่เรา ใจเรานี้มันหลงโลก ไม่ใช่โลกหลงเรา เรามันหลงโลกเข้าใจไหม
... ถ้าว่าอาหารทั้งหลาย ถ้ามันอร่อย ไม่ใช่อาหารมันหลงเรา เรามันหลงอร่อยอันนั้น หลงหวาน หลงเปรี้ยว หวานก็พอดีของมัน เปรี้ยวก็พอดีของมัน มันเป็นของพอดี
... ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันถูกต้องอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้น..ที่ผิด ..." ------------------------------------------------ #พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี (พ.ศ.๒๔๖๑ - ๒๕๓๕)
#คุณธรรมข้ออุเบกขา นอกจากจะทำให้จิตใจของเราสงบระงับแล้ว ยังเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำงานของปัญญา ถ้าจิตใจเราไม่เป็นกลาง ยังเข้าข้างตัวเอง ยังอคติ ปัญญาเกิดไม่ได้ ปัญญาจะเกิดขึ้นในจิตใจที่เป็นกลาง ถ้าจิตใจยังไม่เป็นกลาง ปัญญาที่เกิดขึ้นคือความฉลาด แต่เป็นความฉลาดที่ยังรับจ้างตัณหา ไม่เป็นอิสระ เมื่อเรามีอคติเข้าข้างตัวเอง บางครั้งเราก็รู้ตัว แต่บ่อยครั้งเราไม่รู้ตัว เราคิดว่าเราใช้เหตุผล แต่เหตุผลนั้นถูกตัณหาดึงไปรับใช้มัน จึงไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
เมื่อเราฝึกจิตใจเราให้เป็นกลางกับสิ่งต่างๆ เราจะเริ่มสังเกตเห็นหลายๆ สิ่ง เช่น ความสงบสามารถเกิดได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องปลีกตัวออกจากสิ่งกระทบทั้งหลาย เราทำตัวเหมือนระฆัง เวลามีสิ่งมากระทบระฆัง มันเป็นปัญหาไหม มันก็ไม่เป็นปัญหา ตรงกันข้าม กลับมีเสียงกังวาน เหง่ง... เหง่ง... ถ้าเราทำตัวให้เป็นระฆัง อะไรมากระทบ มีก็มีแต่ เหง่ง... เหง่ง... มันก็ดีสิ ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่ความสงบอย่างนี้เกิดจากการรู้เท่าทัน และต้องฝึกจิตให้เข้มแข็ง ให้ชินกับการวางความยินดีกับสิ่งที่ชวนให้ยินดี วางความยินร้ายกับสิ่งที่ชวนให้ยินร้าย นับเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เป็นความสามารถที่เกิดขึ้นจากความเพียรพยายาม และต้องใช้เวลานาน
#พระอาจารย์ชยสาโร
"...จิต เป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล ด้วยวิธีเก็บรักษาให้ดี ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิต อันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะก็คือภาวนา ฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร ตรวจดูจิตว่า มีอะไรบกพร่องและเสียไป จะได้ซ่อมสุขภาพจิต
นั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือ ความคิดปรุงแต่งของจิตว่า คิดอะไรบ้าง มีสาระประโยชน์ไหม คิดแส่หาเรื่อง หาโทษ ขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั้น พอรู้ผิดถูกของตัวบ้างไหม
พิจารณาสังขารภายนอกว่า มีความเจริญขึ้นหรือเจริญลง สังขารมีอะไรใหม่หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดไป พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้ ตายแล้วจะเสียการให้ท่องในใจอยู่เสมอว่า เรามีความแก่ เจ็บ ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน
ทาน ศีล ภาวนา ธรรมทั้ง ๓ นี้ เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องเป็นผู้เคยสั่งสมธรรมเหล่านี้มาอยู่ในนิสัย ของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษย์อย่างแท้จริง..."
โอวาทธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
"กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เป็นน้องอานาปานสติ อานาปานสติเป็นยอดมงกุฏของกรรมฐาน ทั้งหลายอยู่แล้ว
ศาสนาอื่นๆ นอกจากพุทธศาสนาแล้ว ไม่ได้เอามาสั่งสอน ให้หัดปฏิบัติ เพราะกรรมฐานอันนี้ บริบูรณ์พร้อมทั้งสติปัฏฐาน ๔ ไปในตัวด้วย และเป็นแม่เหล็กที่มีกำลังดึงกรรมฐานอื่นๆ ให้เข้ามาเป็นเมืองขึ้น ของตัวได้
เช่นพระมหาอนัตตคุณ ของพุทโธ ธัมโม สังโฆ สีโล จาโค กายคตา แก่ เจ็บ ตาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้ เป็นต้น ย่อมมีอยู่ จริงอยู่ พร้อมทุกลมหายใจออก-เข้าแล้ว แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ย่อมจริง ย่อมมีอยู่ ทุกลมหายใจออก-เข้าแล้ว ไม่ต้องไปค้น ไปหา ไปจด ไปจำ ไปบ่น ไปท่องทางอื่น ก็ได้
ถ้าไม่หลงลมเข้า-ออกแล้ว... โมหะ อวิชชา วัฏจักร มันจะรวมพลมาจากโลกหน่วยไหนล่ะ หลงลมเข้า-ออก ก็หลงหนังเหมือนกัน ถ้าไม่หลงหนัง ก็ไม่หลงลมเข้า-ออก โดยนัยเดียวกัน
ดูโลก ก็ดูทุกข์ ดูทุกข์ ก็ดูโลก ดูสังขาร ก็ดูทุกข์ ดูทุกข์ ก็ดูสังขาร พ้นโลก ก็พ้นทุกข์ พ้นทุกข์ ก็พ้นโลก พ้นสังขาร ก็พ้นทุกข์ พ้นทุกข์ ก็พ้นสังขาร มีความหมายอันเดียวกันทั้งนั้น ไม่ผิด
รู้ลมออก-เข้า ในปัจจุบัน รู้ลมออก-เข้า ในอดีต รู้ลมออก-เข้า ในอนาคต รู้...ผู้รู้ ในปัจจุบัน รู้...ผู้รู้ ในอดีต รู้...ผู้รู้ ในอนาคต แล้วไม่ติดข้องอยู่ ใน...ผู้รู้ ทั้งสามกาล ผู้นั้น...ก็ดับรอบแล้ว ในโลกทั้งสามด้วยในตัว อวิชชา และสังขารเป็นต้น ก็ดับไป ณ. ที่นั้นเอง
ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง ก็ดับไป ณ. ที่นั้นเอง." ___________________________________________ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต.
"...ศีลเป็นเครื่องกำจัดความโกรธความพยาบาท ออกไป สมาธิเป็นเครื่องขจัดความรัก ความชัง ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญจิตใจต่างๆ เหล่านี้ ความสงสัยลังเล เมื่อทำใจสงบอย่างนี้ กิเลสต่างๆ ก็ระงับลงไป แต่มันก็ไม่ขาดหรอก แต่มันสงบลงไป มันไม่มารบกวนจิตใจ
ปัญญาเป็นเครื่องขจัดความหลง ความไม่รู้แจ้งเห็น จริงในธรรม ความจริงนี่เรียกว่าขจัดความหลง ความเข้าใจผิดคิดว่า ตัณหาความทะยานอยาก เป็นเหตุให้มีความสุขสบาย นี่เรียกว่าเป็นความเห็น ผิด หรือเห็นผิดหยั่งดิ่งลงไปกว่านั้น ก็เห็นผิดว่า ทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาปไม่ได้บาป ผลแห่งบุญแห่ง บาปไม่มี ทำก็สักแต่ว่าทำไปอย่างนั้นแหละ ไม่มีผล อะไรตอบสนอง นี่คือความเห็นผิดอย่างดิ่งเลย
อันนี้ ความเห็นผิดอย่างนี้นะ มันจะระงับได้เพราะ อาศัยปัญญา อบรมปัญญาให้เกิดขึ้น เมื่อปัญญา เกิดขึ้นแล้ว มันย่อมเห็นเหตุ เห็นผลของชีวิต เห็นกรรม เห็นผลของกรรมได้ เห็นว่าทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง..."
#ที่มา หนังสือ ๑๐๐ ปี ชาตกาล พระสุธรรมคณาจารย์ ( หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ) ............................................................
ความว่างตรงนี้ ไม่ใช่ไม่มีอะไร ไม่ใช่ไม่มีปัญญา ปัญญาของเขาคือ.... ปัญญารู้อยู่กับความว่าง เพราะความว่างก็ทำงานของความว่าง...
เพราะจิตมันมีความว่าง มันเลยยิ่งใหญ่มาก เอาโลกล้านล้านโลกมารวมกันยังแคบกว่าความว่าง และจิตไปอยู่ตรงนี้แล้วจะไม่มีโอกาสกลับมาอยู่ในสังขารได้ เพราะกลับไม่ได้ เพราะใช้เวลาเดินสั้นมากที่สุด ถ้าเดินยาวอาจจะกลับมาได้ อันนี้ใช้เวลาไม่ได้ตั้งใจเดิน.. แต่เดินไปเสร็จแล้วก็เสร็จเลย ไม่มีอะไรจะไปเกี่ยวข้อง ไม่มีอะไรจะเอาไปเป็นทาสได้เลย จนบางคนบอกว่า อาจารย์เยื้อนโดนด่าเท่าไหร่ ก็ไม่เห็นท่านโกรธท่านเกลียดเลย ความจริงโดนด่าก็โกรธได้ แต่เราจะไม่โกรธพร้อมกัน เราจะให้คุณด่าจนจบ เสร็จแล้วเราจะโกรธ หรือไม่โกรธ เราก็มาพิจารณาดู แต่ดูแล้วไม่น่าโกรธ เพราะเขาด่าจบแล้ว เพราะฉะนั้น จิตที่มีความว่างตรงนี้...
"มันยอดปัญญา"
: พระราชวิสุทธิมุนี วิ.(หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล) วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์
“...ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำรวจดูความสุข ว่าตรงไหน ที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แค่ที่เรา เคยรู้เคยพบมาแล้วนั่นเอง
ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่ แค่นั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ร่ำไป มันจึงน่า จะมีความสุขชนิดพิเศษกว่าประเสริฐกว่า นั้น ปลอดภัยกว่านั้น
พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วน น้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุข อันเกิดจาก ความสงบกายสงบจิต สงบกิเลส เป็นความ สุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย...”
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
'..ใครก็ใคร ถ้าขาดศีลธรรม หางามไม่มี หาดีไม่เห็น กลิ่นเหม็นทั่วโลก.."
คติธรรมหลวงปู่สาย เขมธัมโม
#การทำสมาธิ
ไม่ได้หมายความว่านั่งหรือเดินหรือหรือยืน สมาธิหมายถึงจิตที่ห่างออกจากอารมณ์ที่วุ่นวาย เมื่อจิตไม่มีอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทำให้วุ่นวายใจ นั่นคือ สงบวิเวกภายใน นั่นถึงเรียกว่า เป็นสมาธิ
โอวาทธรรม พระชินวัตร ฐิตโสภโณ (ครูบาแหวง)
อ่านหนังสือ ฟังธรรมะ ยังไม่ใช่ “ตัวธรรมะ” . …. “ อุปมาเหมือนกับว่า พริกมันเผ็ด เกลือมันเค็ม เราบอกว่า..“พริกมันเผ็ด” อย่างนี้ยังไม่เห็นความเผ็ดของมัน ยังไม่รู้จักคำที่ว่ามันเผ็ด มันเค็ม ไม่ใช่ตัวเผ็ด ตัวเค็ม การอธิบายธรรมะให้ฟังก็เหมือนกัน อันนี้ไม่ใช่ตัวธรรมะ เป็นคำพูดของบุคคล เป็นอุบายให้เข้าไปเห็นธรรมะ …. ตัวหนังสือคัมภีร์ต่างๆ ก็เหมือนกัน เป็นข้อความบันทึกของธรรมะ ไม่ใช่ตัวธรรมะ อ่านได้ ท่องได้ แต่ใจยังไม่เป็นธรรมะ พูดรู้เรื่องอยู่ ก็ยังไม่เป็นธรรมะ ยังไม่เห็นธรรมะ ตัวธรรมะจริงๆนั้นบอกกันไม่ได้ เอาให้กันไม่เป็น ไม่รู้จัก …. ส่วนที่เราศึกษาเล่าเรียน สิ่งที่เราปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอุบาย เป็นข้อประพฤติปฏิบัติบอกให้เข้าไปถึง เช่น บอกว่า.. “พริกมันเผ็ด นะ!” ยังไม่รู้จักว่า “ตัวเผ็ดจริงๆ” นั้นเป็นอย่างไร? รู้จักแต่ใช้สำเนียง ชื่อมันว่าเผ็ด แต่ตัวเผ็ดไม่รู้จัก ส่วน(การได้สัมผัสตัวเผ็ดด้วยอายตนะจริงๆ)นั้น ไม่ใช่ส่วนของครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ส่วนของหนังสือ ไม่ใช่ส่วนของคัมภีร์ มันเป็นส่วนของเจ้าของ(ตัวผู้สัมผัสเอง)ที่ปฏิบัติ มันจึงจะรู้จักว่ามันเผ็ดจริงๆ จึงจะรู้ว่าตัวเผ็ด จึงจะเข้าถึง “ตัวเผ็ด ตัวเค็ม” เป็นต้น …. เผ็ด เค็ม มีแต่ชื่อ ไม่ใช่ตัวมัน ได้ยิน แต่ไม่รู้จัก ส่วนนั้นมันเป็นส่วนของ “การปฏิบัติ” ต้องเอาไปกิน ความเผ็ด-ความเค็ม-ความเปรี้ยว จึงจะปรากฏขึ้นมา อันนั้นเป็นตัวเผ็ด อันนั้นเป็นตัวเค็ม …. เราอ่านหนังสือ เราฟังธรรมะ ยังไม่ใช่ธรรมะ ตรัสรู้ธรรมไม่ได้ รู้ได้ด้วยตำราเป็นส่วนของอุปัชฌาย์อาจารย์จะแนะนำด้วยอุบายต่างๆ เพื่อให้เข้าไปเห็น“ความเผ็ด” คือธรรมะ อันนี้ก็เหมือนกัน เป็นอุบายให้เข้าไปเห็นธรรมะ ไม่ใช่ตัวธรรมะ” . พระโพธิญาณเถร ( หลวงพ่อชา สุภัทโท ) ที่มา : ธรรมเทศนาเรื่อง “ปลาไม่เห็นน้ำ” จากหนังสือ“เหนือสิ่งอื่นใด”
"...คำว่าสมาธิ คือความสงบของใจ ใจถ้าไม่มีความสงบจะหาความสุขไม่ได้แม้แต่น้อย ถ้าใจเริ่มสงบเราก็เริ่มจะเห็นความสุข และเริ่มเห็นใจของตนเองว่าจะเริ่มมีคุณค่าขึ้นมา ความสงบได้แก่ใจที่เคยก่อไฟคือความรุ่มร้อน หรือคิดไปเพื่อความรุ่มร้อนให้มาเผาลนตนเอง ความสงบจากสิ่งเหล่านี้ แม้จะชั่วขณะเดียวท่านก็เรียกว่าสมาธิ เมื่อจิตเริ่มมีความสงบ ใจก็เริ่มจะเห็นคุณเกิดขึ้นในตัวเอง เพราะฉะนั้นความสงบจึงเป็นธรรมจำเป็น ซึ่งจะเป็นรากฐานหรือเป็นสักขีพยานแห่งความสุข อันจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติพระศาสนา
ความสงบมีหลายชั้น โปรดได้ทราบไว้ด้วยว่า ความสงบอย่างหยาบปรากฏขึ้นในจิต ชั่วระยะเวลาไม่นาน แล้วก็จืดจางและหายไป เมื่อเราได้บำเพ็ญอยู่เรื่อยๆ ความสงบซึ่งเกิดขึ้นมาชั่วขณะนั้น ก็จะค่อยยืดยาวไปเป็นลำดับ เพราะอำนาจแห่งเหตุได้แก่ การอบรมของเราได้ทำอยู่เสมอ ความสงบของใจจะเริ่มปรากฏ และมีกำลังขึ้นเป็นลำดับ เมื่อความสงบได้ปรากฏขึ้น ใจจะเริ่มมีความสุข และจะปรากฏเป็นความอัศจรรย์ขึ้นมา ซึ่งเราไม่เคยปรากฏมาตั้งแต่กาลไหนๆ จะรู้สึกขึ้นในขณะที่ใจได้รับความสงบนั้น นี่ท่านเรียกว่าสมาธิ ..."
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๖ ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
............................. ทางหลุดรอดของชีวิตมีอยู่ ทางที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์เหล่านี้มีอยู่ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมไว้ให้
เรามาถึงระดับว่ามาเป็นมนุษย์ มาพบพุทธศาสนา เราจะไม่สนใจคำสอนของพระพุทธเจ้าและน้อมมาปฏิบัติหรือ ในเมื่อมีทางเดียว มีสิ่งเดียวที่จะทำให้ดับทุกข์ ที่จะพ้นทุกข์ คือการปฏิบัติตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้วางไว้
#การงานอื่นๆไม่ได้ทำให้เราพ้นทุกข์ได้ #โยมจะไปทำงานอะไรอาชีพอะไรถึงจะพ้นทุกข์ #ถึงจะพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตายได้ #โยมจะมีเงินเท่าไรถึงจะพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตาย #มียาอะไรไหมที่จะช่วยให้เราไม่แก่ไม่ตาย
#มีงานการอย่างเดียวคืองานของเจริญกรรมฐาน #โดยเฉพาะเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้เท่านั้น #ที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ #ที่จะทำให้เราพ้นจากสังสารวัฏนี่ได้ #แล้วจะไม่เอาหรือ #จะไม่สนใจหรือกับคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้บอกไว้
โอกาสที่เราจะเกิด แล้วก็มีชีวิตมาใกล้ต่อศาสนา มาพบพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ตอนนี้มาพบแล้ว เหลือแต่ว่าเราจะศึกษาแล้วก็ทำความเข้าใจ แล้วก็นำมาปฏิบัติ เข้าใจแล้วก็ยังต้องปฏิบัติ ต้องพากเพียร ต้องภาวนา นั่นก็คือว่าเราจะต้องปฏิบัติจนมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริง
เข้าใจเห็นแจ้งในชีวิตตนเองว่า ชีวิตนี้มันเป็นเพียงสภาพธรรม เป็นสภาวธรรม หรือเป็นเพียงธรรมชาติ ที่มันเปลี่ยนแปลง มันเกิดดับ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน เพราะมีเหตุปัจจัยประกอบขึ้นมา ชีวิตธรรมชาติเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาแต่ละขณะ ๆ เหตุปัจจัยหมดไป สภาพธรรมเหล่านี้ก็หมดไป ๆ มันเกิดขึ้น มันหมดไปอยู่ทุกขณะ สังขารร่างกายจิตใจมันเกิดมันดับ มันแตกดับตลอดเวลา
ถ้าเกิดมีปัญญาเข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะละกิเลสได้ ทำลายความหลงออกไป ทำลายตัณหา ทำลายอุปาทาน ยอมรับกับความเป็นจริง
ทุกวันนี้ที่เราทุกข์เพราะอะไร? เพราะเราไม่ยอมใช่ไหม ไม่ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับกับความทุกข์ กับความที่ต้องแตกดับ ไม่ยอมรับกับความที่มันไม่เป็นไปตามความปรารถนา เราไม่ยอมรับ มันก็เลยทุกข์ มันก็เลยผิดหวัง มันก็เลยทุกข์ใจ แค้นใจ ทำไมอย่างนั้น ทำไมอย่างนี้ ทำไมไม่ได้อย่างนั้น ไม่ได้อย่างนี้ น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะให้ได้อย่างนี้
ทำไมจึงไม่ยอม? #ทำไมใจเราจึงไม่ยอมลงปลงได้กับความเปลี่ยนแปลง? ทำไมจึงไม่ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง กับความที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแตกดับ ไม่ว่าจะตนเอง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลอื่นที่มาเกี่ยวข้องกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุวัตถุสิ่งของที่ต้องเปลี่ยนแปลงแตกดับอย่างนี้ ทำไมจึงไม่ยอม? ใจทำไมจึงไม่ยอมรับได้? #เพราะว่ามันไม่เห็นแจ้งความจริง #ว่าความเปลี่ยนแปลงมันเป็นธรรมดาที่มันต้องเป็นของมันอย่างนั้น #ความเป็นทุกข์ #ความเกิดดับ #มันต้องเป็นของมันอย่างนั้น #มันเป็นธรรมดาที่ต้องเป็นอย่างนั้น #มันไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้
เพราะไม่เห็นความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างเขาต้องเป็นไปอย่างนั้น เขาต้องไม่เที่ยงอย่างนั้น เปลี่ยนอะไรไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัย
เพราะฉะนั้นเมื่อเราสามารถเข้าไปรู้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมชาติของชีวิต ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างนี้เอง มันเกิดมันดับ เป็นของมันไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างนี้ เราจะบังคับไม่ได้ จะไปฝืนขืนธรรมชาติไม่ได้ ไปรู้แจ้งอย่างนี้จริง ๆ รู้ว่ามันฝืน มันขืน มันแก้ไม่ได้ มันต้องเป็นอย่างนี้แหละ ใจมันจึงยอม
ใจยอม มันก็หลุดออกมา หลุดพ้นออกมา ปล่อยวางออกมา เพราะฉะนั้นเมื่อเจอสิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็ไม่ทุกข์ เพราะก็รู้อยู่แล้วว่ามันต้องเปลี่ยนแปลง เจอความแตกดับก็ไม่ทุกข์ เพราะว่ารู้อยู่แล้วว่ามันต้องแตกดับ
ฉะนั้นถ้าเราเพียงเราได้ยินได้ฟังคำสอนทำนองนี้ แม้ยังไม่เข้าไปเห็นตัวรูปตัวนาม เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาด้วยวิปัสสนาญาณ เพียงแค่เราฟังให้เข้าใจ คิดให้เป็นไปสอดคล้อง ก็ช่วยบรรเทาความโศกเศร้าความทุกข์ไปได้เยอะ
มันจะต่างกับคนที่ไม่มีธรรมะ ไม่ฟังธรรม ไม่เคยพิจารณาในเรื่องนี้ พอเจอเหตุการณ์ต้องสูญเสียต้องพลัดพรากก็ดี จะทุกข์ใจมาก แต่ถ้าคนที่รู้จักคิดพิจารณาเป็น เขาจะวางลงไปได้ จะมีทุกข์ก็ยังลดลงไป จะเศร้าโศกก็ยังน้อยลง
ถ้าเรามัวไปเศร้าโศก มันก็ทุกข์เพิ่มขึ้นอีก เสียแล้วก็ต้องมาเสียอีก เสียหาย เสียบุคคลอันเป็นที่รัก เสียของอันเป็นที่รัก แล้วยังต้องมาเสียใจตัวเองอีก เสียใจทุกข์ไหมเล่า เป็นความเสียซ้ำซ้อนเข้ามาอีก เรียกว่าเสียหาย
แต่ถ้าเรารู้จักพิจารณา เข้าใจในธรรม เวลาสูญเสีย มันจะวาง มันจะเข้าใจ มันยอมรับ ดีไม่ดีก็กลับได้ธรรมะ เจอความทุกข์ เจอความผิดหวัง เจอความไม่สมความปรารถนา ก็ได้ธรรมะ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้ ชีวิตเป็นทุกข์อย่างนี้ เป็นของธรรมดา ได้ปัญญา ได้ข้อคิดขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าเสียแล้วได้ เสียแล้วได้สติปัญญาขึ้นมา ก็จะเป็นทางที่เราจะนำพาตนเองให้พ้นทุกข์
ธรรมบรรยาย ภพภูมิในสังสารวัฏ (ธรรมสุปฏิปันโน ๒) (ตอนที่ ๔) ............................. ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
#เรื่องของการถ่ายบาตร
" การถ่ายบาตรถ่ายอะไรก็ ถ่ายพอสมควรอย่าถ่ายบาตรในลักษณะเทบาตร ถ่ายบาตรอย่าเป็นลักษณะเททิ้ง ต้องทำความสำรวมระมัดระวังเพราะที่บิณฑบาตรมานั้นเป็นไทยทาน
การที่ทำให้ไทยทานเสียไม่ดี พระพทธเจ้าท่านไม่ทรงสรรเสริญ ถ่ายในเมื่อเรายังจะรับบาตรเราก็ถ่ายพอสมควรเหลียวดูมองอกให้ตกค้างไว้ในบาตรอย่าไปเทจนหมด แล้วข้าวที่ถ่ายออกจากบาตรนั้นก็ให้ใส่ใจด้วย ควรที่จะยกควรที่จะเอาไปวางไว้ตรงไหนก็น่าจะคิดกัน อันนี้ต้องพากันใส่ใจ
จึงว่าลาภสักการะก็มีส่วน ลาภก็มีส่วนเป็นเครื่องทำให้เหลิงทำให้หลง บิณฑบาตรมา เอาไปให้คนอื่นที่ไม่ใช่บิดามารดาพระพุทธเจ้าทรงตำหนิ ถ้าหากว่าเราฉันแล้วอันนั้นเป็นลักษณะหนึ่ง เรายังไม่ได้ฉันต้องระวัง จึงว่าการถ่ายบาตรออกนั้นต้องให้ความสำคัญในสิ่งนั้นด้วย อย่าทำเหมือนกับถ่ายทิ้ง เพราะมันยังจะมีอยู่อันนี้ต้องระวัง การทำในใจอันนี้ก็มีความสำคัญ ไม่อยากให้ถ่ายจนหมดให้ตกค้างไว้บ้าง
ในเมื่อจะรับเพิ่มก็ไม่ถึงกับว่าเต็ม หรือถ้าจะเต็มเราก็หาทางแก้ไขเอา ลาภสักการะอันตราย พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัส การพิจารณาอาหารหมายถึงเวลาตักอาหาร แต่ก่อนตักใส่บาตร เดี๋ยวนี้ให้ตักเองเพราะตักใส่บาตรมันชอบมาก เวลามากมันก็มากเกิน ตักเอาเองพอดีๆ จึงว่าการตักเอาเองต้องดูให้พอดีอย่าให้เหลือมาก ดีที่สุดให้เหมือนที่จะขาดนิดหน่อยหล่ะดี เผื่อนิดหน่อยจะเหลือมาก ถ้าหากว่าเหลือ มันจะกลายเป็นของเหลือเดนไป เหลือก็ให้มันเหลือเป็นของที่สภาพสมบูรณ์ มันเป็นการฝึกเราไปในตัวให้รู้จักความพอดี พิจารณาก่อนจึงค่อยบริโภค
หลังจากฉันแล้วก็ไปเดินจงกรมพิจารณาอาหารปฏิกูล เดินจงกรมพิจารณาอาหารสิ่งที่เราบริโภคเข้าไป คำว่าปฏิกูลเราเห็นชัดอาหารที่เราบริโภคเข้าไป "
...... หลวงปู่แบน ธนากโร
เวลาพระให้ศีล จะลงท้ายด้วยคำว่า
"สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย"
แล้วเราก็รับว่า สาธุ...สาธุ...สาธุ ส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่าหมายถึงอะไร เข้าใจเอาว่า สาธุไปตามรูปแบบพิธีกรรม
ความจริงไม่ใช่ ถ้ารู้ความหมาย จะลึกซึ้ง คือพระท่านบอกให้คนที่รับศีลไปนั้น เมื่อรับแล้ว-รักษาได้ดีแล้ว อานิสงส์จะเกิด ดังนี้
สีเลนะ สุคะติง ยันติ = ศีลเป็นเหตุให้ถึงสุคติ
สีเลนะ โภคะสัมปะทา = ศีลเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ = ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน
ตัสมา สีลัง วิโสทะเย = เพราะเหตุนั้น พึงชำระศีลให้หมดจด
เห็นมั้ย...อย่าทำเป็นเล่นไป............
รักษาศีลจะไม่ตกนรก รักษาศีลจะมีเครื่องกิน-เครื่องใช้ ทรัพย์สินเงินทอง และศีลที่รักษาดีแล้ว จะทำให้ถึงพระนิพพานได้
แล้วพระท่านก็ย้ำ "ตัสมา สีลัง วิโสทะเย" คือพระบอกว่า เพราะเหตุนี้ พวกท่านทั้งหลาย พึงรักษาศีลให้หมดจด!
พระที่บอกนี้ .............
ไม่ใช่หลวงพ่อ-หลวงพี่-หลวงตา ที่ให้ศีลนะ
หากแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสบอกไว้ ณ ครั้งพุทธกาล
หลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร
ใจที่วิ่งออกไปข้างนอก ตามความอยาก ความต้องการอยู่เป็นประจำ คือใจที่ลำบากเป็นอันมาก เป็นการทำตนให้ลำบากเปล่า เป็น “ อัตตกิลมถานุโยค “
โอวาทธรรม พระชินวัตร ฐิตโสภโณ (ครูบาแหวง)
"...เราต้องใคร่ครวญ ถ้าพูดตามปรมัตถธรรมนี่ ตายไม่มี ไม่มีตาย ในอภิธรรมท่านว่าไว้อย่างนั้น ไม่มีตาย เรียกว่าธาตุขันธ์มันปรับสภาพเปลี่ยน แปลง เขาถือว่ามันเปลี่ยนแปลงเฉยๆ โดยทั่วไป เมื่อดับขันธ์วายชนม์ไปนี่พวกเราเรียกว่าตาย ส่วนธรรมะไม่เรียกว่าตายหรอก เปลี่ยนสภาพ ชำรุดทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา นี่มันไปคนละรูป เสียแล้ว เราว่าโอ้ยตายคนนั้นตายคนนี้ตาย สามีเราตาย ปู่ย่าของเราตาย นี่มันเปลี่ยนสภาพ ว่าตายก็ใช่ ใช่หมดล่ะ ก็สมมติล่ะ มันต้องใคร่ครวญ พิจารณาให้มันดีเรื่องพรรค์นี้
เกิดมาชาตินี้ทำซะ ใครจะไหว้พระเจ้าสวดมนต์ จะเอาก็เอาซะ ไม่เอาก็ช่วยเหลือกันไม่ได้ล่ะ มันต้องเอา ต้องคิดว่าเราไปนี่ไปคนเดียวล่ะ ไม่มีเพื่อนนะ ไม่มีเพื่อนเกาะแขนเหมือนอย่างเป็น มนุษย์นี่หรอก มนุษย์ยังมีคู่มีสามีภรรยาไปไหน มาไหนก็ไปด้วยกัน แต่เวลาตายนี่ไปคนเดียวล่ะ ไปคนเดียวกับอำนาจ เราสร้างอำนาจหรือยัง เราสร้างทานสร้างศีลสร้างภาวนาไว้ในใจของเรา หรือยัง..."
#โอวาทธรรม หลวงปู่หลอด ปโมทิโต วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ........................................................
"การเริ่มต้น การพิจารณากาย จะใช้บทพุทโธ เป็นบทบริกรรมสำหรับ ผูกจิต ก็ได้ เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้ว... ให้วาง...บทบริกรรมเสีย แล้วพิจารณา กาย ต่อไป
ในการพิจารณากาย เริ่มแรก... ให้พิจารณาเพียงส่วนใด ส่วนหนึ่งที่เราสามารถที่จะเพ่งพิจารณาได้อย่างสะดวก ในอาการ ๓๒ เมื่อพิจารณาจนเกิดความชัดเจน กลับไป กลับมา หรือที่เรียกกันว่า... โดยอนุโลมปฏิโลม จนหายสงสัยในจุดที่พิจารณานั้นแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นจุดอื่น ต่อไป
อย่าพิจารณาเป็นวงกว้าง ทั้งร่างกาย เพราะปัญญา ยังไม่เเก่กล้า ถ้าพิจารณาพร้อมกันทีเดียว ทั้งร่างกาย ความชัดเจน จะไม่ปรากฏ ต้องค่อยเป็น ค่อยไป เมื่อพิจารณาจนเกิดความชำนาญแล้ว ถ้าเราเพ่งปัญญาลงไปจุดใด จุดหนึ่ง ความชัดเจนจากจุดอื่นๆ ก็จะปรากฏเป็น นัยเดียวกัน
เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้ว ให้น้อมจิตเข้าพัก อยู่...ในความสงบ เมื่อพัก อยู่...ในความสงบพอสมควรแล้ว ให้ย้อนกลับออกมาพิจารณาร่างกายอีก ให้เจริญ อยู่...อย่างนี้ จึงจะเจริญทางด้านปฏิบัติ
เมื่อจิต มีความชำนาญเพียงพอแล้ว คำบริกรรมพุทโธ ก็ไม่จำเป็น เพียง...กำหนดจิตก็จะสงบ เข้าสู่...สมาธิ ได้ทันที." _______________________________________ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต.
|