นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 11 เม.ย. 2025 2:10 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ที่ตั้งของสติ
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 04 มี.ค. 2025 4:43 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4886
"..พระพุทธเจ้าให้นั่งพิจารณาดู และให้เข้าวัดทุกวัน จะนั่งอยู่ก็ดี จะนอนอยู่ก็ดี กราบที่พึ่งของเราเสียก่อน คือกราบครั้งที่หนึ่ง "พุทโธ" นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา กราบครั้งที่สอง "ธัมโม" นึกถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งของเรา กราบครั้งที่สาม "สังโฆ" นึกถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา เข้าวัดพักนี้แหละ เอาใจของเรานึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้วมารวมว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ คำเดียว รักษากาย หลับตา งับปาก ลิ้นก็ไม่กระดุกกระดิก ระลึกพุทโธไว้ในใจนี่แหละ เข้าวัดกันตรงนี้ ให้เข้าวัด วัดอยู่ที่ตรงนี้ จะได้รู้จะได้เห็นความสุข มิใช่อื่นสุข นอกจากใจเราสงบแล้ว ไม่มีอื่นสุข.."

#เทศนาธรรมคำสอน
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม
จ.สกลนคร
(พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๒๐)







"..เกิดเป็นมนุษย์ใช้ร่างกายให้คุ้มค่า
ศีลของเราดีหรือเปล่า ภาวนาของเราตั้งใจมั่นหรือเปล่า ถ้าไม่แน่วแน่ ยังวอกแวกไม่เป็นอันเดียว มันก็งมโข่งไปเรื่อย
ถ้าเราแน่วแน่ในใจเต็มที่ ไว้วางใจตนเอง เป็นที่เชื่อมั่นในตัวเองไม่เกี่ยวข้องอะไร
มีดวงจิตดวงเดียวเท่านั้น

เวลาตายยิ้มตายไม่กลัวอะไรเลย.."

โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่ท่อน ญาณธโร
ที่มาของบทความ: คัดมาจากวารสารบ้านอารีย์ ฉบับที่ ๕๕, วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๓.(ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) หน้า ๔
พระราชญาณวิสุทธิโสภณ (หลวงปู่ท่อน ญาณธโร)
วัดศรีอภัยวัน อ.เมือง จ.เลย








# หลวงปู่ขาว อนาลโย ตอบเรื่องบาปทุจริต #
ถาม : ทำไม สมัยนี้คนชอบทำบาปทุจริตกันมากปู่ ดูตั้งหน้าตั้งตาทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันจริงๆ
ใครไม่ทำบาปทุจริต เท่ากับไม่เต็มคน
กลายเป็นคนขาดบาทขาดเต็งไป

หลวงปู่ขาว อนาลโย ตอบคำถาม :

ปู่บวชมาไม่เคยทำบาปด้วยเจตนาเลยแม้นิดเดียว พระเณรในวัดปู่นี้ก็ตั้งหน้าทำบุญกุศลบำเพ็ญภาวนากันอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังจริง ๆ ถ้าเป็นตามคำตำหนิที่เขาว่าไม่เต็มคน ปู่และพระเณรในวันนี้ก็ไม่เต็มพระเต็มเณรคงขาดบาทขาดสลึงไปดังคำตำหนิ แต่พระธรรมวินัยของปู่และพระเณรไม่ขาดบาทสลึง ปู่และพระเณรก็ไม่เดือดร้อน พระขาดบาทขาดสลึงเหล่านี้ก็เห็นอยู่กันสงบสุขดีนี่ ไม่เห็นดิ้นรนกระวนกระวายอันเป็นลักษณะพระเณรบ้า ๆ บอ ๆ เพราะขาดบาทตาเต็งเลย ตำหนิก็ให้เขาตำหนิไป ทำบาปทุจริตก็ตามนิสัยเขา แต่เราอย่าตำหนิ อย่าทำกับเขาก็แล้วกัน จะกลายเป็นคนเกินบาทก็ยิ่งจะไปกันใหญ่

ลองคิดดูก็แล้วกัน สมมุติว่ามีเงินจริงตามกฎหมายรองรับอยู่ ๕ บาท และมีเงินปลอมรวมอยู่ด้วย ๑๐ บาท ปู่ทำไมไม่เอาจำนวน ๑๐ บาทเล่า
ไม่เอาเพราะเอามาแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร
ดีไม่ดีถูกเขาจับก็ยิ่งจะเป็นโทษใหญ่เพิ่มเข้าอีก

ส่วนเงินจริงได้มาเท่าไรก็สำเร็จประโยชน์ตามจำนวนของมัน ทั้งไม่เกิดโทษแต่อย่างใด
มีมากเท่าไรยิ่งดี นี่แหละหลานระหว่างคนดี
คนสุจริตกับคนชั่ว

คนทุจริตก็เช่นเดียวกับเงินปลอม แม้มีจำนวนมาก กับเงินจริงแม้มีจำนวนน้อย

ใคร ๆ เขาไม่ปรารถนาคนชั่วคนทุจริต
แต่คนดีคนสุจริตมีมากน้อย
โลกต้องการและปรารถนากัน

คนชั่วคนทุจริตมีมากน้อยย่อมเป็นภัยแก่ส่วนรวมตลอดประเทศชาติ มิใช่ของดี
ยิ่งมีมากและมีอำนาจอิทธิพลมากเท่าไร
ก็ยิ่งทำความชั่วเสียหายได้มาก
ดีไม่ดี คนและสมบัติทั้งประเทศอาจอยู่ในเงื้อมมือหรืออยู่ในปากในท้องเขาหมด บ้านเมืองล่มจมได้เพราะคนชั่วคนทุจริตไม่อาจสงสัย

ส่วนคนดีคนสุจริตมีมากน้อยย่อมเป็นคุณแก่ส่วนรวมตลอดประเทศชาติ ยิ่งมีอำนาจและอิทธิพลมา
ก็ยิ่งทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรามและประเทศชาติได้มาก ใครก็ต้องการและปรารถนากันทั่วโลก
ฉะนั้นคนประเภทนั้นจึงไม่ใช่เป็นคนดีวิเศษและนับถืออะไรเลย

แม้เขาจะไปเที่ยวคดโกงรีดไถมาได้มากเพียงไร
ก็อย่าหลงยินดีและอัศจรรย์เขา
นั้นคือสมบัติเป็นพิษแก่ตัวเอง ครอบครัวตลอดจนไปถึงลูก หลาน เหลน ไม่มีประมาณ
นั่นเป็นสมบัติกาฝากคอยดูดซึมผู้เป็นเจ้าของ
ให้เสียคนไปโดยลำดับทั้งปัจจุบันและอนาคต
ไม่มีจบสิ้นนั่น

คือสมบัติปลอมย่อมเป็นโทษทัณฑ์แก่ผู้แสวงหามากน้อย เช่นเดียวกับธนบัตรปลอมที่มีมากน้อยในครอบครองนั่นแล อย่าไปหลงยินดี
ซึ่งเท่ากับหลงจับไฟ จะร้อนและแผดเผาเจ้าของ
ไม่มีจบสิ้นลงได้

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล
จังหวัด​หนองบัว​ลำภู

เนื้อหาคำสอนบางส่วนจากหนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว อนาลโย









"..ที่คุมขังแห่งเรือนจำของวัฏฏทุกข์นี้ ใหญ่โตมโหฬาร แน่นหนามั่นคงมาก
มีเครื่องยั่วยวนชวนให้เผลอตัว และติดอยู่รอบตัวไม่มีช่องว่าง จึงยากที่จะมีผู้แหวกว่ายออกมาได้เพราะสัตว์โลกจำนวนมากไม่ค่อยมีผู้สนใจกับทุกข์ที่เป็นอยู่กับตัวตลอดมา ว่าเป็นสิ่งที่ทรมานและเสียดแทงร่างกายจิตใจเพียงใดพอจะคิดเสาะแสวงหาทางออกด้วยวิธีต่างๆเหมือนคนเป็นโรค แต่มิได้สนใจกับยา ยาแม้มีมากจึงไม่มีประโยชน์สำหรับคนประเภทนั้น ธรรมของเราตถาคตก็เช่นเดียวกับยา สัตว์โลกอาภัพเพราะโรคกิเลสตัณหาภายในใจเบียดเบียนเสียดแทง ทำให้เป็นทุกข์แบบไม่มีจุดหมายว่าจะหายได้เมื่อไร สิ่งตายตัวก็คือโรคพรรค์นี้ถ้าไม่รับยา คือธรรม จะไม่มีวันหายได้ ต้องฉุดลากสัตว์โลกให้ตายเกิดคละเคล้าไปกับความทุกข์กายทุกข์ใจและเกี่ยวโยงกันเหมือนลูกโซ่ตลอดอนันตกาล.."

ภูริทตฺตธมฺโมวาท
พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
(พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒) จากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หน้า ๑๒๘








อย่าเอากิเลสมาเผาตัวเอง
ถ้าเราโกรธเขา บาปกรรมก็เกิดแก่เราเอง
ถ้าเขาโกรธเรา บาปกรรมก็เกิดแก่เขาเอง
ด้วยอำนาจกรรมของใครของมัน
โดยมากคนที่ไม่ได้ฝึกหัดจิต มักจะโทษผู้อื่น
เข้าใจว่าผู้อื่นทำให้ตนเดือดร้อน
การโทษผู้อื่นเป็นสิ่งผิด เราต้องพิจารณาตัวเอง
อย่าเอากิเลสมาเป็นเชื้อไฟ เผาเราเอง.

ธรรมโอวาท
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต







"คิดไว้บ้าง… ตายแล้วเราจะไปไหน
ไม่ใช่คิดแล้วฟุ้งซ่าน หวาดกลัว

คิดเพื่อเตรียมตัวไว้
เพราะวันตายจริง
… มันจะไม่ทุกข์มาก
ไม่กระวนกระวายเกินไป"

กราบโอวาทธรรม..พระอาจารย์กิตติเชษฐ์ สิริวฑฺฒโก







"เราต้องมีสติปัญญา เพื่อจะแก้ไข เพื่อตักเตือนจิตใจของพวกเราในความคิดของพวกเรา เราต้องดูแก้ไขตนเองนั่นแหละ ไม่ต้องแก้ไขจิตของคนอื่น เพราะความทุกข์ ความสุข เกิดอยู่ที่ตนเอง เราทุกข์ใครจะมาแก้ไขให้ได้ เราสุขก็เป็นเรื่องของเรา ที่จะรับผลของเรา"

กราบโอวาทธรรม..หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก จ.เชียงใหม่









“การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ยาก
ที่ยากที่สุดก็เพราะเราไม่ปฏิบัติธรรม”

โอวาทธรรม...หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล






“การที่ไม่ได้คบกับคนโง่กับคนพาลนี้
ก็ถือว่าเป็นมงคลอีกอย่างหนึ่ง เพราะจะได้ไม่ถูกดึงไป ในทางที่ผิดที่เสียหาย งั้นเราต้องรู้จักคบคน”

คติธรรม...พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่
.............................
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การเวียนว่ายตายเกิดเป็นความทุกข์
การที่ปรารถนาที่จะหลุดพ้นกาลอันยืดยาว หลุดพ้นกองทุกข์ทั้งหลาย
ก็ต้องทำความรู้แจ้งในอริยสัจ

พระองค์เคยตรัสถาม
ภิกษุทั้งหลาย
มีผู้เสนอว่ามีบุรุษใช้หอกมาแทงตอนเช้า ๑๐๐ เล่ม
กลางวัน ๑๐๐ เล่ม ตอนเย็นอีก ๑๐๐ เล่ม
เป็นเวลา ๑๐๐ ปี
พ้นจากนั้นก็จะได้รู้แจ้งอริยสัจ
เธอจะรับข้อเสนอนี้ไหม

โยมจะรับไหมข้อเสนอนี้
โดนหอกแทงทุกวันไปเป็นเวลา ๑๐๐ ปี
พ้นจากนั้นก็จะได้รู้แจ้งอริยสัจ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ผู้เห็นแจ้งอริยสัจควรรับข้อเสนอ
เพราะอะไร?
เพราะว่าในกาลที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจนั้นจะต้องเวียนว่ายตายเกิด
จะเจอหนักยิ่งกว่านี้อีกมากมหาศาล
ยิ่งกว่าโดนหอกวันละ ๓๐๐ เล่ม ๑๐๐ ปี
โดนหอบ โดนดาบ โดนมีด โดนปืน
โดนฆ่า โดนอะไรนับมากกว่านี้อีกมากนักหนา
ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไรด้วย
แต่อันนี้มัน ๑๐๐ ปีแล้วมันจบ มันหมดทุกข์

พระองค์ยกข้ออุปมาไว้ให้เราได้คิดแล้ว
ได้ความคิดอย่างไรบ้าง
ขนาดพระองค์ตรัสว่าโดนหอกขนาดนี้ ๑๐๐ ปี
แต่ว่ามันสิ้นสุดแค่นั้น แล้วก็ได้รู้แจ้ง
ตามความรู้สึกเราก็ยังรู้สึกสาหัสสากรรจ์
แต่มันดีกว่ากาลเวลายืดยาวที่ต้องเจอทุกข์อีกนับไม่ถ้วนมากกว่านี้

ได้ข้อคิดไหมว่าชีวิตที่มันเวียนว่ายตายเกิดมันทุกข์เยอะ
การที่โยนไม้ขึ้นไปบนอากาศ
เวลามันตกลงมามันก็ไม่แน่นอน
บางทีมันก็เอาทางโคนลงมา
บางครั้งก็เอาทางปลายลงมา
บางครั้งก็เอาทางขวางลงมา
ความหมายก็คือว่า
การเวียนว่ายตายเกิดบางครั้งคติหรือว่าภพภูมิไม่แน่นอนสำหรับปุถุชน
บางครั้งเป็นมนุษย์
บางครั้งเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก

ยากด้วยที่จะมาเป็นมนุษย์
ท่านอุปมาเต่าตาบอดจมอยู่ในทะเล
ตาก็บอด
๑๐๐ ปีจะโผล่มาได้สักครั้งหนึ่งในผิวน้ำ มีแอกซึ่งมีช่องเดียว
ง่ายไหม ๑๐๐ ปีจะได้โผล่มาสักครั้ง แล้วก็ตาก็บอด
มันก็อาจจะมีโอกาสโผล่ขึ้นมาได้ แต่มันยาก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์มันยากกว่านั้น

เปรียบเหมือนเราเป็นเต่าที่ขึ้นมาได้
เป็นเรื่องยากมากที่จะได้มาเป็นมนุษย์
ได้ขึ้นมาแล้ว เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไหม
เห็นคุณค่าของชีวิตที่มันได้มายากไหม
บางคนเจอทุกข์เจอปัญหา ไปทำลายชีวิตตัวเองนี่
หมดท่า หมดโอกาสเลย

ฉะนั้นเรามีชีวิตเป็นมนุษย์
มันจะทุกข์ยากลำบาก
มันก็ยังมีเวลาให้เราทำความดีได้สักหน่อยก็ยังดี
ถึงจะป่วยถึงจะเจ็บ แต่มันก็ยังพอทำความดีได้อีกหน่อย
พิกลพิการยังสามารถเจริญภาวนาได้ไหม? ได้
แม้ว่าแก่เฒ่า เดินลำบาก แต่มันก็ยังภาวนาได้
ไปไหนไม่ได้ นอนอยู่บนเตียง
ถ้าเราเข้าใจ มันก็ยังมีโอกาส
ยังได้กำไร ยังได้โอกาส
มีชีวิตอีก ๑ วันก็ยังดีสำหรับชีวิตนั้นได้ภาวนา

อริยสัจ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ
มีอะไรบ้าง?

อะไรคือทุกข์?
ถ้าเราไม่รู้ เราจะกำหนดไม่ถูก
เราจะกำหนดภาวนาได้อย่างไรในเมื่อไม่รู้จักทุกข์
เพราะว่ากิจที่จะทำต่อทุกข์คือปริญญากิจ คือการกำหนดรู้
ไม่รู้จักทุกข์แล้วจะกำหนดกันได้อย่างไร
มันต้องรู้จักทุกข์ถึงจะกำหนดได้
การรู้จักทุกข์เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ
ถามว่าความเห็นชอบเป็นอย่างไร?
พระองค์ก็ได้เฉลยว่า
ได้แก่ความรู้ในทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์

ถ้าเราไม่รู้จักทุกข์ เราก็กำหนดไม่ได้
เพราะกิจที่จะทำต้องกำหนดรู้

ทุกขสัจได้แก่อะไร?

ชาติปิ ทุกขา
แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์

ชะราปิ ทุกขา
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์

มะระณัมปิ ทุกขัง
แม้ความตายก็เป็นทุกข์

โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา
แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน
ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ
ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์

อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข
ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์

ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์

ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง
มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา
ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์

การกำหนดพิจารณาความเกิด ความแก่
ความตาย ความพลัดพราก
ความเผชิญกับสิ่งไม่พึงปรารถนา ความผิดหวัง
พิจารณาสิ่งเหล่านี้ได้ประโยชน์ไหม?

เห็นทุกข์เห็นโทษจะได้ปรารถนาที่จะพ้น
ถ้าเราไม่เห็นโทษของความเกิด ความแก่ ความตาย
เราก็ไม่สนใจจะหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้
มันต้องเห็นสิ่งนี้เป็นทุกข์
การเกิดเป็นทุกข์
ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์
จิตใจจะได้น้อมไปปรารถนาไปที่จะให้มันพ้น
ก็ได้ประโยชน์

ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์
มันจะต้องกำหนดอุปาทานขันธ์
กิจที่จะทำต่อทุกข์คือการกำหนดรู้
ให้กำหนดรู้อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕

อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ มีอะไรบ้าง?

รูปูปาทานักขันโธ
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือรูป

เวทะนูปาทานักขันโธ
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา

สัญญูปาทานักขันโธ
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสัญญา

สังขารูปาทานักขันโธ
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสังขาร

วิญญาณูปาทานักขันโธ
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือวิญญาณ

นี่แหละก็คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ที่อุปาทานเข้าไปยึดถือยึดมั่นในความเป็นตัวตน
นี่คือทุกข์
รูปเป็นทุกข์
เวทนาเป็นทุกข์
สัญญาเป็นทุกข์
สังขารเป็นทุกข์
วิญญาณเป็นทุกข์
ท่านให้กำหนดทุกขสัจคือกำหนดขันธ์ ๕ นี่แหละ

แต่ทีนี้รู้จักรูปหรือยัง?

#รู้จำจากการฟัง
รูปมีอะไรบ้าง?
รูปที่ปรากฏที่ร่างกายมีอะไร?
รูปปรากฏทางตา รูปที่ประกอบเป็นสรีระร่างกายมีอะไร?
มีรูปดิน รูปน้ำ รูปไฟ รูปลม
รูปตา รูปหู จมูก ลิ้น กาย
มีรูป มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
นี่คือรูป
กำหนดรู้รูปก็คือกำหนดรู้สิ่งเหล่านี้
เย็น ร้อน ตึง หย่อน ไหว สี เสียง กลิ่น รส นี่คือรูป

ทีนี้เราฟัง รู้จำ
จำได้แล้วว่าอะไร ๆ แต่มันก็ยังไม่รู้จัก
#ความรู้มันต้องจากความรู้จำไปสู่การรู้จัก
รู้จัก ทำอย่างไรถึงจะรู้จัก?
ก็ต้องเจริญสติ
ก็ต้องเจริญสติถึงจะไปรู้จักได้จริง ๆ
พูดกันเฉย ๆ ฟังกันเฉย ๆ ถือว่าไม่รู้จัก
ถึงเราจะตอบได้ก็ตามว่ารูปมีอะไร
ถ้าโดยอภิธรรมก็รูป ๒๘
แต่มันไม่รู้จัก

แค่รู้จักมันไม่พอ
รู้จักแค่นั้น กำหนดไปได้หน่อยเดียว ก็ยังไม่รู้แจ้ง
ปัญญาเรายังไม่พอ
ยังเสี้ยมยังฝนยังไม่แหลมคม
ก็ต้องอบรม กำหนดแล้วกำหนดอีก

#จากรู้จักก็ต้องไปรู้เจอ
เจอกันอยู่เสมอ ระลึกรู้อยู่เสมอๆ
เรียกว่าไปเจอรูปอยู่เสมอ

#เมื่อรู้เจอที่สุดมันก็จะรู้แจ้ง
ความรู้แจ้งมันจะเกิดขึ้นมาถ้าไปเจอเขาอยู่เสมอ

#เมื่อรู้แจ้ง #ที่สุดก็รู้จบ
จบอะไร? #จบกิจ
กิจเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่ต้องมีอีกแล้ว

ฉะนั้นต้อง #รู้จำจากการฟัง
#รู้จักจากการเจริญสติ
#รู้เจอด้วยการพากเพียรภาวนา #ดูแล้วดูอีก
#ที่สุดก็จะรู้แจ้ง
#เมื่อรู้แจ้งแทงตลอดก็รู้จบ #จบกิจ

ต่อมาก็คือเวทนา ก็ต้องรู้จัก
รู้จำก่อน เวทนาคืออะไร?
สุขเวทนา สบาย
ทุกขเวทนา ไม่สบาย
อทุกขมสุข เฉย ๆ
แล้วก็ไปเจริญสติ ไปกำหนดดูเวลามันเกิดขึ้น
ความสบาย ความไม่สบาย ความเฉย ๆ
ทางกายก็มี ทางใจก็มี
แล้วมันเกิดจากตอนผัสสะ
พอเกิดการผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวทนาก็เกิด
ก็ให้กำหนดดูเวทนาที่ปรากฏจนกระทั่งปัญญาเห็นแจ้ง
ต้องดูแล้วดูอีก

ไปเจอ ในที่สุดก็รู้แจ้ง
เกิดความรู้สึกเห็นว่าเวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา
สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึก สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยรู้
ตัณหาทิฏฐิก็อาศัยอยู่ไม่ได้
ไม่ยึดถือยึดมั่นอะไร ๆ ในโลกด้วย

ปฏิบัติเวทนาเพื่อให้เห็นว่าเวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา
ไม่ใช่ตัวเราของเรา
ไม่ใช่ว่าเมื่อไรจะหายปวด
หายปวดก็ไม่ได้หมดกิเลส
ถ้าหายปวดแล้วหมดกิเลส มันก็น่าจะง่าย ทำอย่างไรก็ได้ให้หายปวด
ยาชาหายปวด หมดกิเลสไหม? ไม่

ฉะนั้นเราก็ไม่ต้องไปมุ่งอยู่ว่าเมื่อไรจะหายปวด
ปวดไม่ปวดก็แล้วแต่เขา
แต่ว่ามีหน้าที่ที่จะทำความรู้แจ้งเวทนา
ให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา
เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา

ที่ท่านใช้คำในสติปัฏฐานว่า
เมื่อสติตั้งมั่น
พิจารณาเห็นว่าเวทนานี้ก็เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึก สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยรู้
หมายความว่าอย่างไร?
เวทนานี้มันก็เป็นเพียงเกิดขึ้นมาเป็นที่ตั้งของสติ เป็นที่ตั้งของญาณปัญญา
มันเป็นสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวเราของเรา
แสดงว่าเห็นเวทนา เห็นจิตที่รู้เวทนา
เวทนามีญาณปัญญาไปรู้เห็น
เวทนาก็อย่างหนึ่ง ญาณปัญญาก็อย่างหนึ่ง

ทุกข์ข้อที่ ๓ คือ สัญญา จำได้หมายรู้

ข้อที่ ๔ สังขาร สิ่งที่ปรุงแต่งจิตใจ
ถ้าว่าด้วยอภิธรรมมีเท่าไร?
มันมี ๕๒
ไปเป็นเวทนาเสีย ๑ เป็นสัญญาเสีย ๑
ที่เหลือก็นั่นแหละสังขาร

ในทางปฏิบัติก็ให้รู้เพียงว่าสิ่งที่มันปรุงแต่งในจิตใจ
มันจะมีกี่ดวงกี่ชนิดก็แล้วแต่
มันโผล่มาก็รู้
อันไหนโผล่มาในใจก็รู้
ปรุงอะไรแต่งขึ้นมา
วิตกตรึกนึก วิจาร วิจัย บางทีสงสัย
บางทีพอใจ ไม่พอใจ
ตัวพอใจไม่พอใจก็เรียกว่าเป็นสังขาร
ปรุงแต่งจนกลัว ปรุงแต่งเป็นห่วง หวง วิตกกังวล
คิดไปเรื่องนั้น คิดไปเรื่องนี้ เรื่องอดีตบ้างอนาคตบ้าง ทุกข์
นี่สังขารปรุงแต่ง ก็กำหนดรู้

#พระพุทธเจ้าสอนให้กำหนดรู้ทุกข์
#ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ที่มันปรุงแต่งคิดนึกปรุงแต่งมันก็เอามาเป็นกรรมฐานได้
#คำว่าเอามาเป็นกรรมฐานก็คือเป็นที่ตั้งของสติ
#ขณะที่มันคิดนึกปรุงแต่งก็ถือโอกาสเจริญสติ
#เกิดมาก็ดี #จะได้ฝึกดูฝึกกำหนดสังขารเหล่านี้
เวลามันคิดนึก ลองทำใจ เออ! คิดมาก็จะได้ดู
มันก็จะไม่คิดเสียอีก จริงไหม

ลองไปนั่งให้มันคิดดูสิ คิดไปเลย! จะได้ดู!
ตั้งใจจะกำหนดดูความคิดสักหน่อย ไม่คิดอีกแล้ว
พอไม่อยากคิด มันก็จะคิด คิดเรื่อย
ฉะนั้นเราก็ลองทำใหม่
คิดมา! คิดแล้วจะได้ดู จะได้ฝึก

คอร์สกรรมฐานพุทธคยาประเทศอินเดีย ๑๕-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
(๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘)
.............................
ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO