นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 11 เม.ย. 2025 2:22 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: มีสติควบคุมจิต
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 17 มี.ค. 2025 5:12 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4886
"...บุญเกิดจากการปฏิบัติจึงเป็นบุญที่ถูกต้อง เป็นบุญที่บริสุทธิ์ เป็นบุญที่ไม่หวังเอาหน้าเอาตา เอาเกียรติ เอายอด เอาความยิ่งใหญ่อะไรมาเป็นใจของเรา เรียกว่า เป็นธรรมะเป็นกลาง ธรรมะเป็นหลักหนึ่งเดียวเท่านี้..."

หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร






#ถ้าเราทำจิตให้เป็นปัจจุบันได้นะเราจะหาทุกข์มาจากไหน

นี่...เรื่องเมื่อเช้า ก็เอามาคิดตอนเย็น
เรื่องตอนเย็น ก็เอามาคิดตอนเช้า
แล้วเรา...จะอยู่กับปัจจุบัน ได้ยังไง

#ธรรมะ_มันต้องลงที่ปัจจุบันนี่
#เป็นปัจจุบันเท่านั้น_ไม่มีอดีต_ไม่มีอนาคต

นั่นถ้าจิต เป็นปัจจุบัน มันจะลงไปสู่ความว่างเองอัตโนมัติ นั่นละ ธรรมถึงจะเกิดขึ้น
จิตที่มีธรรมที่แท้จริง คือ จิตปัจจุบันนี่ละ

โอวาทธรรม : หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล...วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร อ.บัวเชต จ.สุรินทร์
บันทึกโดย : เขมปัญโญคฤหัสถ์






ธรรมะเป็นอกาลิโก “เจ้ารู้ไหม
ธรรมะของพระพุทธองค์ ไม่มีจำกัดเรื่องกาลเวลา
แม้จะผ่านไปกี่พันปีก็ตามธรรมะไม่เคยหายไปไหน
ยังคงมีอยู่อย่างสมบูรณ์ ครบถ้วน
คนที่รู้จักธรรมะ อยู่ที่ไหน เวลาไหน ก็พบธรรม
คนไม่รู้จัก อยู่ใกล้ แทบทิ่มตา ก็ไม่รู้จัก
ถ้าใจเรารู้จักธรรม จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน
มันก็เห็นธรรม
หลวงพ่อเลยสอน ให้พวกเจ้า เจอธรรมแท้ นี่ละ
เอาน้ำเย็น ล่อให้จิตเข้าใน
ให้รู้จักจิตของตัวเจ้าของ
สุดท้ายก็จะเจอธรรมเอง
ธรรมะไม่ได้อยู่ข้างนอก
ไม่ต้องไปหาที่ไหน
อยู่ที่ในใจเรานี้ละ”
ปรารภธรรม
หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล
วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร
จ.สุรินทร์
บันทึกประทับจิตโดย เขมปัญโญคฤหัสถ์







#บุญทำมากเท่าไหร่

ก็เรียกว่า สะสมบุญ
บุญเหล่านี้แหละ
เมื่อทำมากเข้าๆ
มันก็กลายเป็น วาสนา
เมื่อวาสนามากเข้าๆ
เขาก็เรียกว่าเป็น บารมี

โอวาทธรรม
#หลวงปู่วิริยังค์_สิรินธโร
วัดธรรมมงคล กรงเทพฯ







#เราทำอะไรให้ดีๆมีสติรอบคอบ

เชื่อมั่นในการกระทำที่ถูกต้องของเรา
สิ่งอื่นจะมาทำให้เรา
เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีหรอก
ทำจิตใจให้เชื่อมั่นในการกระทำ
เชื่อเหตุผล เชื่อมั่นความจริง
ไม่ตื่นเต้นกับคำเล่าลือ เรื่องมงคลตื่นข่าว
ไม่ตื่นเต้นกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
เป็นผู้อยู่นิ่งด้วยปัญญา
เชื่อว่าทุกอย่างเกิดจากเหตุ
ถ้าต้องการผลดี ต้องทำเหตุให้ดี
อย่างนี้เป็นต้น...

โอวาทธรรม
#หลวงพ่อชา_สุภัทโท








#เราจงนึกถึงพระพุทธคุณทั้งหลายทั้งปวง
ว่าจะมีอยู่กี่ร้อยบทพันบท แต่พระพุทธคุณเหล่านั้น
จะต้องมาสรุปรวมลงไปได้ในบทว่า "พุทโธ"
ฉะนั้น เมื่อเราเปล่งเสียงว่า "พุทโธ"
ก็คือเราเปล่งเสียงพระพุทธคุณทั้งหมด
เมื่อเรานึกถึงความหมายของคำว่า"พุทโธ"
ก็คือนึกถึงความหมายของพระพุทธคุณทั้งหมด
ฉะนั้น การที่จะบริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ
ด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ในความหมายนี้คำเดียวก็ใช้ได้
คือหมายถึงพระพุทธคุณทั้งหมด

โอวาทธรรม
#พุทธทาสภิกขุ







#ฝึกสติ_มหาสติเป็นอย่างไร

มีสติควบคุมจิตอยู่ตรงนั้นแหละ
จิตอยู่ที่ใด
ให้เอาสติไปตั้ง
ไว้ตรงในที่นั่น
จึงจะเรียกว่าควบคุมจิต
รักษาจิต

ที่จะห้ามไม่ให้คิดไม่ให้นึกนั้น
ห้ามไม่ได้เด็ดขาด
ธรรมดาของจิต
มันต้องมีคิดมีนึก
แต่หากมีสติ
ควบคุมจิตอยู่เสมอ
คิดนึกอะไรก็รู้ตัวอยู่_ทุกขณะ
เรียกว่า บริกรรมภาวนา

ถ้าหากสติอ่อนเมื่อไร
ก็เป็นเบื้องต้นเมื่อนั้น
สติแก่กล้าเมื่อไร
ก็เป็นท่ามกลางและที่สุด
เมื่อนั้น
คือหมายความว่า
สติคุมจิตอยู่ทุกขณะ
จนกระทั่งเป็น_มหาสติปัฏฐาน
จะยืน เดิน นั่ง นอน
ในอิริยาบถใด ๆ ทั้งหมด

มีสติรอบตัวอยู่เสมอ
โดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้มีสติ
แต่มันเป็นของมันเอง
สติควบคุมจิตไปในตัว
เมื่อมีสติเช่นนั้น
มันก็ไม่เกี่ยวข้องพัวพันกัน
กับสิ่งต่าง ๆ

เมื่อตาเห็นรูป
หูได้ยินเสียง
ลิ้นลิ้มรสต่าง ๆ
กายได้สัมผัส
มันก็เป็นสักแต่ว่า
สัมผัสแล้วก็หายไป ๆ
ไม่ได้เอามาเป็นอารมณ์
ไม่เอามาคำนึงถึงใจ
อันนั้นเป็น มหาสติ แท้ทีเดียว

โอวาทธรรม
#หลวงปู่เทสก์_เทสรังสี

แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔
จากหนังสือ เทสกานุสรณ์ หน้า ๑๗๑








#ต้องพิจารณาดับมันให้ได้

การภาวนาจึงแยกออกเป็น ๒ ภาค ๒ เวลา คือ ๑. สมถะ ๒. วิปัสสนา เวลาเจริญสมถภาวนาเพื่อความสงบก็ไม่ต้องพิจารณา ภาวนาเพื่อให้จิตนิ่งไม่ให้คิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น นอกจากมีนิสัยชอบคิด หยุดคิดไม่ได้ ก็ต้องบังคับให้คิดไปทางปัญญา เพื่อเป็นแนวแห่งปัญญาอบรมสมาธิ คิดด้วยเหตุด้วยผลเพื่อกล่อมจิตใจให้เข้าสู่ความสงบ ให้เป็นสมาธิ แต่ถ้าไม่ชอบคิดก็บังคับจิตให้อยู่กับพุทโธๆ หรืออยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็กำหนดรู้ไปจนจิตสงบตัวลงรวมเป็นเอกัคคตารมณ์ ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ ตอนนั้นการบริกรรมหรือการกำหนดดูลมหายใจก็หยุดไปโดยปริยาย เพราะได้ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการแล้ว การดูลมหายใจเข้าออกหรือการบริกรรมเป็นเพียงทางเดินเท่านั้น เป็นตัวพาไปสู่จุดหมายปลายทาง เหมือนกับรถยนต์ที่นั่งมาเพื่อให้มาถึงสถานที่นี้ พอมาถึงก็ลงจากรถแล้วก็ขึ้นมานั่งอยู่ที่ศาลานี้ รถยนต์ก็จอดทิ้งไว้ ฉันใดการภาวนาเมื่อจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบจนนิ่งเฉยแล้ว การบริกรรมพุทโธๆ ก็จะหยุดไปโดยปริยาย การกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็จะหยุดไปโดยปริยาย อย่างนี้เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญเพื่อความสงบ ขณะที่จิตรวมอยู่นั้น จะนานหรือไม่นาน ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าไปดึงอย่าไปถอนจิตออกมา เหมือนกับการทอดสมอเรือ พอสมอติดดินแล้ว เราก็ไม่ถอนมันขึ้นมา ถ้าถอนเรือก็จะไม่จอดนิ่ง

จิตที่รวมอยู่ในความสงบก็เช่นเดียวกัน ควรปล่อยให้นิ่งจนกว่าจะถอนออกมาเอง เพราะนี่คือเป้าหมายของการทำสมถภาวนา ทำเพื่อให้จิตนิ่งสงบ จะสงบนิ่งได้นานเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะเสริมสร้างกำลังให้กับจิตไว้ต่อสู้กับกิเลสตัณหาต่างๆ ยิ่งสงบนิ่งได้นานเท่าไหร่ ก็จะมีกำลังต่อสู้กับกิเลสตัณหาได้มากขึ้นตามลำดับ ในเบื้องต้นจึงต้องสร้างฐานของสมาธิคือความสงบให้มีให้มาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำแต่สมถภาวนาเพียงอย่างเดียว ก็ยังสามารถเจริญวิปัสสนาไปได้ด้วย สลับกันไป เมื่อออกจากสมาธิความสงบแล้ว ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่มีภารกิจการงานอย่างอื่นหรือมีก็ตาม ก็ควรเจริญปัญญาต่อ ด้วยการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาในสังขารร่างกาย เช่นเป็นพระก็ต้องออกไปบิณฑบาต ก็สามารถเจริญธรรมขั้นวิปัสสนาได้ ด้วยการพิจารณาร่างกายในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ พิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกายไปก็ได้ พิจารณาดูความแก่ความเจ็บความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็พิจารณาไปได้เรื่อยๆอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าวิปัสสนา ถ้าตามรู้นามรูปรู้ว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับ แต่ไม่ควบคุม ไม่ดับมัน ก็จะไม่ทันการณ์ เช่นเวลาเกิดกิเลสขึ้นมา แล้วดูเฉยๆ รอให้มันดับเอง แต่มันไม่ดับ เช่นเวลาโกรธก็จะโกรธไปเรื่อยๆ เกลียดก็เกลียดไปเรื่อยๆจนวันตาย ถ้าจะให้มันดับก็ต้องใช้ปัญญาใช้วิปัสสนาเข้าไปดับมัน

เช่นใช้ความเมตตา เวลาโกรธก็ต้องเห็นว่าความโกรธนี่เป็นเหมือนไฟเผาจิตใจ คนที่ถูกโกรธไม่รู้เรื่องหรอก เขาสบาย แต่คนที่โกรธจะตายเอา เพราะความรุ่มร้อนของจิตใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ อาฆาตพยาบาท ก็เพราะความโกรธกำลังเผาผลาญใจ กำลังสร้างความทุกข์ให้กับใจ จึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธ พอเห็นปั๊บก็จะดับความโกรธได้ เอ๊ะเรากำลังบ้า ไปโกรธเขาทำไม โกรธแล้วเหมือนเอาฆ้อนมาทุบศีรษะเรา ไม่เกิดประโยชน์อะไร นี้คือวิปัสสนา ต้องพิจารณาดับมันให้ได้ ไม่ใช่รอให้มันดับเอง พิจารณาดูนามรูปว่า มันเกิดแล้วเดี๋ยวมันดับ เกิดแล้วเดี๋ยวมันดับ แล้วถ้าเกิดมันไม่ดับจะทำอย่างไร บางสิ่งบางอย่างเราดับมันได้ถ้ารู้เหตุว่าเกิดจากอะไร เช่นความทุกข์ใจนี่มีเหตุทำให้มันเกิดขึ้นมา เหตุของความทุกข์ใจก็คือตัณหา ที่ท่านแสดงไว้ในอริยสัจสี่ มี กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาทั้ง ๓ นี้เกิดจากอะไร ก็เกิดจากความหลง เห็นอะไรแล้วก็อยากได้ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่อยากได้นั้นเป็นความทุกข์ คิดว่าเป็นความสุข เหมือนกับคิดว่างูพิษเป็นปลาไหล เพราะมีรูปร่างเหมือนกัน ปลาไหลกับงูพิษ ถ้าดูไม่เป็นก็จะคิดว่างูพิษเป็นปลาไหลไป ก็อยากจะจับมากิน โดยไม่รู้จักวิธีจับที่ถูกต้อง ก็จะถูกงูกัดตายได้ ฉันใดความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ที่เกิดจากตัณหาทั้ง ๓ ที่มีโมหะความหลงมีอวิชชาความไม่รู้เป็นผู้ผลักดัน ทำให้ไม่เห็นว่าสิ่งที่อยากได้อยากสัมผัสนั้นเป็นโทษ ก็เป็นเช่นเดียวกัน.

โอวาทธรรม
#พระอาจารย์สุชาติ_อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี

กำลังใจ ๒๘ กัณฑ์ที่ ๒๗๔
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO