Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

อัตภาพร่างกาย

อาทิตย์ 23 มี.ค. 2025 9:05 am

#จริงก็อย่าไปยึดมั่นมันสิ #ถ้าไปยึดมั่น #มันก็ไม่เป็นจริงเท่านั้นแหละ เหมือนสุนัข ไปจับขามันดูสิ จับมันไม่วาง เดี๋ยวมันก็วุ่น มากัด ลองดูสิ สัตว์ทั้งปวงก็เหมือนกัน เช่น งู ไปยึดหางมันสิ ยึดไม่ปล่อยไม่วาง เดี๋ยวมันก็กัดเราเท่านั้นแหละ

สมมุตินี้ก็เหมือนกัน ให้ทําตามสมมุติ #สมมุตินี้เป็นของใช้เพื่อให้มันสะดวก เมื่อเรามีชีวิตอยู่นี้ ไม่ใช่เรื่องจะต้องยึดมั่นถือมั่นจนมันเกิดทุกข์ทรมาน แล้วก็แล้วไปเท่านั้น อะไรที่เราเข้าใจว่าถูกแล้ว แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นไม่แบ่งใคร นั่นแหละคือมันเห็นผิดแล้ว #เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว

#พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)






"..อันนี้พระพุทธเจ้าก็ว่าอยู่ กิจโฉ มนุสสปฏิลาโภ การที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นลาภใหญ่ เกิดมาชาติหนึ่ง ๆ แสนทุกข์แสนยากแสนลำบาก เราได้มาแล้ว เราเป็นผู้ไม่ประมาท รีบเร่งเอาทรัพย์ภายในไว้เสีย ความได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นลาภอันสำคัญ มนุษย์เป็นชาติอันสูงสุด เป็นสัตว์ใจสูง มีเมตตาซึ่งกันแลกัน ได้สมบัติมาดีแล้วก็รีบเอามัน รับทำเอาเสีย อบรมบ่มอินทรีย์ให้มันแก่กล้า แก่กล้ามันสุก สุกมันก็ดี หมากไม้มันสุกมันก็หวานไม่ใช่สุกแกมดิบ นอกจากอัตภาพร่างกายของเราแล้วสิ่งอื่นไม่มีเรื่องนอกธรรม เรื่องข้างนอกกว้างขวาง ต้องเข้ามาพิจารณาแต่กายกับใจของเราเท่านั้น อันนี้ได้ชื่อว่าเข้ามาใกล้แล้ว ใกล้เข้ามาทุกที ใกล้ทางพระนิพพาน เป็นผู้อยู่ต้นทางพระนิพพานก็ว่าได้ เป็นผู้ไม่ประมาท เข้าใกล้เข้าทุกที ๆ ครั้นบารมีของเราพร้อมบริบูรณ์แล้วก็สามารถที่จะพิจารณาได้.."

อนาลโยวาท
หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
(พ.ศ.๒๔๓๑-๒๕๒๖)








#จงมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
"..ผู้ใดมาถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ผู้นั้นย่อมชนะได้ซึ่งความร้อน สรณะทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มิได้เสื่อมสูญอันตรธานไปไหน ยังปรากฏอยู่แก่ผู้ปฏิบัติ เข้าถึงอยู่เสมอ ผู้ใดมายึดถือเป็นที่พึ่งของตนแล้ว ผู้นั้นจะอยู่กลางป่า หรือเรือนว่างก็ตาม สรณะทั้ง ๓ จริง ๆ แล้ว จะแคล้วคลาดจากภัยทั้งหลาย อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนได้แน่นอนทีเดียว.."

ภูริทตฺตธมฺโมวาท
พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
(พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)








"..ตัวของเรานี้แล อันได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์
ซึ่งเป็นชาติสูงสุด เป็นผู้เลิศตั้งอยู่ในฐานะอัน
เลิศด้วยดี คือมีกายสมบัติ วจีสมบัติ แลมโน
สมบัติบริบูรณ์ จะสร้างสมเอาสมบัติภายนอก
คือ ทรัพย์สินเงินทองอย่างไรก็ได้ จะสร้างสม
เอาสมบัติภายในคือมรรคผลนิพพานธรรมวิเศษ
ก็ได้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย
ก็ทรงบัญญัติแก่มนุษย์เรานี้เอง มิได้ทรงบัญญัติ
แก่ ช้าง ม้า โค กระบือที่ไหนเลย

มนุษย์นี้เองจะเป็นผู้ปฏิบัติถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้
ฉะนั้นจึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนมีบุญวาสนา
น้อย เพราะมนุษย์ทำได้ เมื่อไม่มี ทำให้มีได้ เมื่อมีแล้วทำให้ยิ่งได้สมด้วยเทศนานัยอันมาในเวสสันดรชาดกว่า ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ
เมื่อได้ทำกองการกุศล คือ ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนา ตามคำสอนของพระบรมศาสดาจารย์เจ้า
แล้ว บางพวกทำน้อยก็ต้องไปสู่สวรรค์
บางพวกทำมากและขยันจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมี
แต่หนหลังประกอบกัน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่ต้องสงสัยเลย พวกสัตว์ดิรัจฉานท่านมิได้กล่าวว่าเลิศ เพราะจะมาทำเหมือนพวกมนุษย์ไม่ได้
จึงสมกับคำว่ามนุษย์นี้ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดี
สามารถนำตนเข้าสู่มรรคผล เข้าสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ได้แล.."

ภูริทตฺตธมฺโมวาท
พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
(๒๔๑๓-๒๔๙๒)







"..เมื่อเรามาเห็นโอกาสและเวลา เหมาะสมแก่เรื่องราวของเราเช่นนั้น ก็ควรจะพากันรีบถ่อ รีบแจว รีบพาย รีบขวนขวายพยายาม อย่างภาษิตเขาว่า “รีบถ่อรีบพาย ตลาดมันจะวาย สายบัวมันจะเน่า” คือ ยายแก่พายเรือไปเก็บสายบัว จะไปขายที่ตลาด มัวแต่ช้าเมินเฉยอยู่ ตลาดเขาเลิกหมด บัวมันก็จะต้องเน่า นี่ท่านจึงสอนว่า “รีบถ่อรีบพาย ตะวันมันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวมันจะบูด” เราก็เหมือนกัน เมื่อมีศรัทธาก็รีบเร่ง บากบั่นพยายาม ตลาดคือได้แก่การที่พวกเราทั้งหลายได้มาฟังเทศน์ สวดมนต์ อบรมจิตใจ ถ้าโอกาสและเวลาเช่นนั้นหมดไป เราก็จะไม่ได้ทำ ที่เขาเรียกว่าสายบัวคืออะไร คือชีวิตไม่รีบเร่งขวนขวายเข้าไปมันจะตาย ไม่มีนิมิตเครื่องหมายว่าลมหายใจมันจะขาดเมื่อไร แจวเข้าไป คือ ความพากความเพียรบากบั่นพยายาม รีบไปเก็บเครื่องที่จะให้เกิดบุญเกิดกุศลแก่ตน รวบรวมไปขายในตลาด ใส่บาตรใส่พก บำเพ็ญคุณงามความดี นอกจากนั้นทีนี้ สายบัวมันก็จะต้องเน่า เมื่อหมดลมก็ตาย ตลาดจะต้องวาย พระสงฆ์ก็เป็นของไม่แน่ บางทีก็ตาย บางทีก็สึก บางทีก็หนี บางทีวัดมันร้าง ไม่ร้างบางทีคนชั่วมาอยู่ นี่ตลาดมันวาย ก็พอดีและตลาดก็วาย สายบัวคือลมหายใจมันก็ขาด เราก็ไม่สามารถไปขวนขวายพยายาม หาพัสดุข้าวของมาถวายทานการกุศลได้ เมื่อโอกาสเหมาะสมแก่เรื่องราว ภาวะและชีวิตของเรา ก็ควรจะต้องทำ ไม่ประมาท พยายามรีบเร่งขวนขวาย พยายามเสียโดยเร็ว นี่เป็นอย่างนี้.."

ธมฺมธโรวาท
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
(พ.ศ.๒๔๔๙-๒๕๐๔ )







“มีการอุปมาว่าชีวิตเปรียบเหมือนการเดินทาง....
ในการเดินทางนั้น จุดหมายกับปลายเป็นเรื่องเดียวกัน แต่สำหรับชีวิต จุดหมายกับปลายทางไม่เหมือนกัน
จุดหมายชีวิต กับปลายทางชีวิต เป็นคนละเรื่องเลยก็ว่าได้

“จุดหมายชีวิตก็คือภาพฝันที่เราอยากไปให้ถึง และเราต้องขวนขวายใช้ความเพียร จึงจะไปถึงจุดหมายชีวิตได้ ไม่ว่าจุดหมายนั้นจะหมายถึงความสำเร็จในการงาน ความมั่งมี ร่ำรวย มียศศักดิ์อัครฐาน หรือการบรรลุธรรมก็แล้วแต่

“ใคร ๆ ก็อยากบรรลุถึงจุดหมายชีวิต
แต่ปลายทางชีวิตนั้นไม่ค่อยมีใครอยากคิด ไม่ค่อยมีใครอยากถึง แม้กระนั้นทุกคนก็ต้องไปถึงปลายทางชีวิตอย่างแน่นอน
ขณะที่จุดหมายชีวิตนั้น บ้างก็ถึง บ้างก็ไม่ถึง

“ปลายทางชีวิตคืออะไร
ก็คือความตายนั่นเอง...

“จุดหมายชีวิตต้องใช้ความเพียรจึงจะถึง แต่ปลายทางชีวิตไม่ต้องใช้ความเพียรเลย อย่างไรก็มาถึงแน่ ...

“แต่คนส่วนใหญ่มัวสนใจแต่จุดหมายชีวิต ตั้งแต่เล็กจนโต สิ่งที่เราทำมาตลอดก็คือการพยายามบรรลุถึงจุดหมายชีวิต เรียนหนังสือก็ต้องทำคะแนนให้ได้ดี ๆ จะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง หรือสอบเข้าคณะที่จะให้มีอาชีพมั่นคง ทำเงินได้ หลายคนอยากประสบความสำเร็จในการงาน รวมทั้งการมีครอบครัวที่ผาสุก นี้คือจุดหมายชีวิตของคนหลายคน

“...น้อยคนนักที่จะคิดถึงเรื่องปลายทางชีวิต ทั้ง ๆ ที่มันต้องมาถึงอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว... เมื่อวันนั้นมาถึง ก็เลยทุกข์ทรมาน ทุรนทุราย กระสับกระส่าย สุดท้ายก็ตายไม่ดี... นี้คือโศกนาฏกรรมของผู้คนจำนวนมาก

“...ต้องใส่ใจทั้งจุดหมายชีวิต และปลายทางชีวิต... จะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะถึงจุดหมายชีวิตก่อนที่จะถึงปลายทางชีวิต...

“...การระลึกถึงความตาย ที่เรียกว่ามรณสติหรือมรณานุสติ เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริมและเน้นย้ำ จัดว่าเป็น ๑ ในอนุสติ ๑๐ ประการ...

“... หลายคนไม่พร้อมตาย เพราะรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นชีวิตที่ย่ำแย่ สร้างบาปกรรมไว้เยอะ ตอนที่ยังอยู่สบายก็ไม่สนใจทำความดี ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่... อยากมีโอกาสทำความดีเพื่อแก้ตัว รวมทั้งให้เวลากับคนรัก

“ถ้าหากว่าเราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ควรแก่การภาคภูมิใจ เราก็พร้อมจะตายได้มากขึ้น ความดีเหล่านั้นทำให้การตายของเราเป็นการตายที่ดีได้...

“...คนที่ตระหนักว่า หากจะต้องตายก็ขอตายดี...จะพยายามใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม... “

ตัดตอนจาก
“เตรียมตัวสอบไล่วิชาชีวิต”
โดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล






"ให้มีศรัทธาตั้งมั่น ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ให้ตั้งใจรักษาศีล ได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็พยายามทำ

อย่างน้อยที่สุด ก็ให้มีสมบัติติดตัว (บุญกุศล)
สมบัตินี่ละ จะส่งผลให้เรามีความสุข
ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"

หลวงปู่ประเสริฐ สิริคุตโต






#สิ่งอันนี้เป็นเหตุที่ทําให้คนเราไม่ค่อยสบาย นอกจากผู้ประพฤติปฏิบัติที่เห็นว่าแง่นี้ปุ่มนี้เป็นปุ่มที่สําคัญ ท่านจะจดไว้ พอพูดไปถึงปุ่มนั้นปั๊ป มันจะวิ่งขึ้นมาทันทีเลย #ความยึดมั่นถือมั่นวิ่งขึ้นมา อาจจะเป็นอยู่นาน บางทีวันหนึ่ง สองวัน สามเดือน สี่เดือนถึงปีก็ได้ ขนาดช้านะ แต่ขนาดเร็วความปล่อยวางมันจะวิ่งเข้ามาสกัดหน้าเลย #คือพอความยึดเกิดขึ้นปุ๊ปก็จะมีการปล่อย #บังคับให้วางในเวลานั้นเลย #จะต้องเห็นสองอย่างนี้พร้อมกัน ประสานงานกัน #ตัวยึดก็มี #ผู้ที่ห้ามความยึดนั้นก็มี เราดูสองอย่างนี้เท่านี้แหละ ไปแก้ปัญหาอันนี้ #บางทีมันก็ยึดไปนาน #ก็ปล่อย

#พิจารณาเรื่อยไป ทําเรื่อยไป มันก็ค่อยบรรเทาไป น้อยไป #ความเห็นถูกมันก็เพิ่มเข้ามา ความเห็นผิดมันก็หายไป #ความยึดมั่นถือมั่นมันน้อยลง #ความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เกิดขึ้นมา มันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้น จึงให้พิจารณาอันนี้ #แก้ปัญหาได้ในปัจจุบัน บางทีไอ้ตัวนั้นมันวิ่งขึ้นมา ตัวนี้มันก็วิ่งตะครุบเลย หายไปเลย อันนี้เราดูภายในใจของเราหรอก ดูภายในใจของเรา #แก้ปัญหาเฉพาะภายในใจของเราเอง ถ้าเราแก้มันไม่ได้ตรงนี้เป็นต้น ปุ่มนี้ จับไว้ #เมื่อมันเกิดอีกที่ไหนก็พิจารณาตรงนั้น #พระพุทธองค์ก็ให้เพ่งตรงนี้ให้มากที่สุด

#พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
ตอบกระทู้