พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อังคาร 15 เม.ย. 2025 5:28 am
”มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปทั้งนั้น“
ไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่จะดับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ นอกจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น การใฝ่ธรรมยินดีในธรรมจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นคุณเป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจอย่างแท้จริง อย่าให้ความยินดีในธรรมหายไปจากใจ ด้วยการศึกษาธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ เวลาว่างจากภารกิจการงานอื่นๆ แทนที่จะดูหนังฟังเพลง ที่ให้ความสุขชั่วคราว แต่ไม่เป็นคุณเป็นประโยชน์กับจิตใจเลย
ถ้าได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว จะเข้าใจธรรมะ จะสามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้อง และบรรลุผลได้อย่างแน่นอน เหตุและผลเป็นของคู่กัน เหตุทำให้เกิดผล ถ้าเจริญเหตุที่ถูก ก็จะได้ผลที่ถูก ถ้าเจริญเหตุที่ผิด ก็จะได้ผลที่ผิด การศึกษาธรรมะจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นอันดับแรก ทรงสอนปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คือศึกษา ปฏิบัติ บรรลุผล ในเบื้องต้นต้องศึกษาจากผู้รู้เช่นพระพุทธเจ้า
ครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสอน มีนักศึกษาอยู่ ๕ รูป คือพระปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระอริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ หลังจากที่ทรงแสดงเสร็จ หนึ่งในผู้ฟังคือพระอัญญาโกณฑัญญะ ก็ได้บรรลุผล ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังได้ปฏิบัติในขณะนั้นเลย ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ที่เกิดขึ้นตามลำดับ ขณะที่ทรงแสดงผู้ฟังก็พิจารณาตาม พอเข้าใจแล้วก็ปล่อยวางความเห็นผิด ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นความทุกข์นั่นเอง ไปยึดในสิ่งที่ไม่ควรยึด ก็จะสร้างความทุกข์ใจขึ้นมา
ทรงสอนว่าความทุกข์อยู่ที่ร่างกาย ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา ถ้าไปยึดไปติดร่างกาย ไปอยากให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย พอร่างกายแก่เจ็บตาย ใจก็จะทุกข์ ถ้าจะดับความทุกข์ ก็ต้องปล่อยวางร่างกาย คืออย่าไปอยากให้ร่างกายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ปล่อยให้ร่างกายเป็นไปตามความจริง คือมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการแก่ การเจ็บ การตายเป็นธรรมดา พอฟังแล้วพิจารณาตาม ทำใจให้ปล่อยวาง ตัดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายได้ ใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็จะไม่เป็นปัญหาต่อผู้ที่เห็นด้วยปัญญาแล้วว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วดับไป พระอัญญาโกณฑัญญะหลังจากได้ฟังพระอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็ปรากฏมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาว่า ความทุกข์เกิดจากความอยาก อยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็ต้องตัดความอยาก ด้วยการยอมรับว่า ธรรมอันใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา พอยอมรับแล้วก็จะไม่ทุกข์ กับสิ่งที่มีการเกิดมีการดับเป็นธรรมดา จะไม่ยึดไม่ติดอีกต่อไป
นอกจากร่างกายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ก็อยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ คำสรรเสริญยกย่องเยินยอ และความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีการเจริญและมีการเสื่อมเป็นธรรมดา ผู้ที่มีปัญญาเข้าใจหลักของไตรลักษณ์ เข้าใจหลักของอนิจจัง ของการเกิดและการดับ ก็จะไม่ยึดติด.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ ๒๕ กัณฑ์ที่ ๔๒๓
วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๔
โอวาทพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
"..การนอน การสงบเข้าฌาณ เป็นอาหารของจิตและร่างกายอย่างหนึ่ง สมถะ ต้องพักจิตสอบอารมณ์ ส่วน วิปัสสนา จิตเดินไตรลักษณ์ให้รู้อริยสัจ เหนื่อยแล้วเข้าพักจิตพักจิตหายเหนื่อยแล้ว จิตตรวจอริยสัจอีกดังนี้ ฉะนั้นให้ฉลาดการพักจิต การเดินจิต ทั้งวิปัสสนาและสมถะ พระโยคาวจรเจ้าทิ้งไม่ได้ ชำนิชำนาญทั้งสองวิธี จึงเอาตัวพ้นจากกิเลสทั้งหลายไปได้ เป็นมหาศีล เป็นมหาสมาธิ เป็นมหาปัญญา
มีศีลทั้งอย่างหยาบอย่างกลาง อย่างละเอียด พร้อมทั้งจิตเจตสิก พร้อมทั้งกรรมบถ ๑๐ ไม่กระทำผิดในที่ลับและที่แจ้ง สว่างทั้งภายในและภายนอก มีมหาสติรอบคอบหมด วิโมกข์ วิมุติ อกุปธรรม จิตบริสุทธิ์ จิตปกติเป็นจิตพระอรหันต์ สว่างแจ้งทั้งภายนอกภายในสว่างโร่ ปุถุชนติเตียนเกิดบาป เพราะพระอรหันต์บริสุทธิ์ กายเป็นชาตินิพพาน วาจา ใจ เป็นชาตินิพพาน นิพพานมี ๒ อย่าง นิพพานยังมีชีวิตอยู่ ๑ นิพพานตายแล้ว ๑.."
#พระธรรมคำสอน
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
บันทึกธรรมโดย หลวงปู่หลุย จันทสาโร พ.ศ. ๒๔๘๓ ณ วัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี
(จากหนังสือ “บูรพาจารย์” โดยมูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๔
ถ้ายังไปยึดโน่นยึดนี่เสร็จ...ไปไม่รอด
สติเป็นตัววางขันธ์ ๕ ทั้งหมด...นี่เป็นทางรอด
#หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
...ใครจะเป็นคนดูล่ะที่นี้ จะเอาใครมาดู เวลาจะไปฆ่าสัตว์นั้น ใครเป็นคนรู้ มือนั้นหรือเป็นผู้รู้ หรือใครรู้ จะไปขโมยของเขาอย่างนี้ ใครเป็นผู้รู้ หรือมือนั่น เป็นผู้รู้ อันนี้เราก็จะรู้จักล่ะทีนี้ จะไปประพฤติผิดในกาม ใครเป็นผู้รู้ก่อน กายนี่หรือมันรู้ เราจะพูดเท็จอย่างนี้ ใครเป็นผู้รู้ก่อน เราจะพูดคําหยาบ พูดเพ้อเจ้ออย่างนี้ ใครรู้ก่อน ปากนั่นหรือมันรู้ หรือคําพูดมันรู้ก่อน นั่น ให้พิจารณาดูซิ #ใครมันรู้ก็เอาผู้นั้นแหละรักษามัน #ใครเป็นผู้รู้ก็เอาผู้นั้นแหละดู ผู้ใดรู้จัก ผู้ใดรู้ เอาผู้นั้นรักษา เอาผู้ที่มันพาผู้อื่นทํานั่นแหละ มันพาทําดี มันพาทําชั่ว เอาผู้ที่มันพาทํานั่นมารักษา #จับโจรนั่นแหละมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน มาเป็นกํานัน #จับตัวนี้แหละมารักษาหมู่คณะ เอามันนั่นแหละมาดู มาพิจารณา
...ท่านว่าให้รักษากาย ใครเป็นผู้รักษา กายมันไม่รู้จักอะไรนะ กายน่ะเดินไป เหยียบไป ไปทั่ว มือนี้ก็เหมือนกัน มันไม่รู้จักอะไร มันจะจับนั่นแตะนี่ มีผู้บอก มันจึงทํา จับอันนั้น จับแล้ววาง มันก็วางอันนั้น เอาอันโน้นอีก มันก็ทิ้ง อันนี้เอาอันนั้น ต้องมีผู้บอกทั้งนั้น มันไม่รู้จักอะไรหรอก ต้องผู้อื่นบอก ผู้อื่นสั่ง ปากของเรา ก็เหมือนกัน มันจะโกหก มันจะซื่อสัตย์สุจริต มันจะพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคําหยาบทั้งหลายเหล่านี้แหละ #มันมีผู้บอกทั้งนั้น
#พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
#สงกรานต์ที่แท้จริง
#คือชำระล้างให้สะอาด
#ทั้งภายนอกภายใน
.
"สงกรานต์ คือ สรง (ล้าง)ให้สะอาด
ถ้าใจมันไม่สะอาด มีแต่ความโกรธ
ความโลภ ความหลงอยู่ ก็ไม่เข้าท่านะ
ทีนี้ถ้าภายในมันสะอาด จิตใจมันสะอาด
ถ้าเอาของไม่สะอาดมาใส่
ใจก็เลยสกปรกไปด้วย
.
นี่แหละมันต้องสะอาดทั้งคู่
ภายในก็สะอาด ภายนอกก็สะอาด
มันจึงจะเป็นของสะอาดไปหมด
อันนี้ท่านจึงเรียกว่าสงกรานต์
ชำระสะสางให้มันดี ให้มันสะอาด
ให้มันบริสุทธิ์ มันจึงอยู่เป็นสุข เป็นมงคล
.
ปีเก่าโดนอะไรต่ออะไรสารพัด
ทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งดีทั้งเสียโดนมาหมด
ทีนี้ปีใหม่ท่านจึงให้ชำระจิตใจให้สะอาด
มันจึงเป็นมงคล พอมันเป็นมงคลแล้ว
อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข นั่งก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข"
หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ
วัดใหม่บ้านตาล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
วันสงกรานต์ (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)
อันตรายทุกสิ่งทุกอย่างนี้ ทุกวันนี้ยิ่งมาก เราได้ผ่านมาแล้ว อันตรายข้างนอกก็ไม่สำคัญเท่าใด
อันตรายข้างในมีการกระทำผิด การคิดผิด พูดผิด การกระทำผิดทั้งหลายเหล่านี้เป็นของที่สำคัญมาก
ดังนั้น ถ้ามาถึงจุดอันนี้แล้ว พระบรมศาสดาท่านสอนให้สำเหนียกในตัวของเจ้าของ ว่าเรามีอะไรบ้างไหมที่เราควรจะเปลี่ยน หรือที่เราจะเพิ่มต่อไป
อาตมาจึงให้ความเห็นว่า.. วันนี้เป็นวันสงกรานต์
ควรจะล้างมันออก ที่เอาน้ำล้างออกนั่นมิใช่ล้างอันใด ละอกุศลธรรม ความชั่วความผิดทั้งหลาย
เมื่อเรามีความเห็นผิดมาแล้ว ก็ทำให้มันถูกเสีย เมื่อเรามีความสกปรกมาแล้ว ก็ทำให้มันสะอาดเสีย
ทำตามธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าของเรา..."
#เทศนาธรรมคำสอน พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง
อำเภอวารินชำราบ
จังหวัดอุบลราชธานี
"..ธาตุมนุษย์เป็นธาตุตายตัว ไม่เป็นอื่นเหมือน นาค เทวดาทั้งหลายที่เปลี่ยนเป็นอื่นได้ มนุษย์ มีนิสัยภาวนาให้สำเร็จง่ายกว่าภพอื่น อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ มคฺคํ สตฺต วิสุทฺธิยา มนุษย์มีปัญญาเฉียบแหลมคม คอยประดิษฐ์ กุศล อกุศล สำเร็จอกุศล...มหาอเวจีเป็นที่สุด ฝ่ายกุศล มีพระนิพพานให้สำเร็จได้ ภพอื่นไม่เลิศเหมือนมนุษย์ เพราะมีธาตุที่บกพร่อง ไม่เฉียบขาดเหมือนมนุษย์ ไม่มีปัญญากว้างขวางพิสดารเหมือนมนุษย์ มนุษย์ธาตุพอหยุดทุกอย่าง สวรรค์ไม่พอ อบายภูมิธาตุไม่พอ มนุษย์มีทุกข์ สมุทัย...ฝ่ายชั่ว ฝ่ายดี...กุศลมรรคแปด นิโรธ รวมเป็น ๔ อย่าง มนุษย์จึงทำอะไรสำเร็จ ดังนี้ ไม่อาภัพเหมือนภพอื่น.."
ภูริทตฺตธมฺโมวาท
พระครูวินัยธร
(หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร
บันทึกธรรมโดยหลวงปู่หลุย จันทสาโร
#เรื่องการถือมงคลภายนอก..!!
"... ก็เป็นเรื่องทิฐิเหมือนกัน ทิฐิเข้าไปสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งนั้นดี สิ่งนี้ไม่ดี มันก็กลายเป็นของดีของไม่ดี ของศักดิ์สิทธิ์ของไม่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา
... พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ยืดถืออย่างนั้นท่านให้ถอนทิฐิมานะมั่นหมาย ท่านให้ละทิฐิมานะอย่างนั้น ถ้าเราละสิ่งเหล่านั้นออกไปแล้ว การปฏิบัติก็ถูกทางเท่านั้นเอง
... ทุกอย่างจะหมดค่าหมดราคา เมื่อเห็น
ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งทั้งหลาย
เหล่านั้น อุปาทานก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อไม่มีอุปาทาน ภพชาติก็ไม่มี แล้วทุกข์จะมาจากไหน ..."
-------------------------------
"จากหนังสือ อุปลมณี"
#พระโพธิญาณเถระ
(หลวงพ่อชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง
จังหวัดอุบลราชธานี (พ.ศ.๒๔๖๑ - ๒๕๓๕)
"..การตายนั้น...นักปราชญ์บัณฑิตท่านเห็นเหมือนกับว่า
เป็นการแก้ผ้าขี้ริ้วออกโยนทิ้งไปจากตัวเท่านั้น
จิตก็เหมือนกับตัวคน กายก็เหมือนกับเสื้อผ้า
ไม่เห็นว่าเป็นการสลักสำคัญอะไรเลย
แต่พวกเรานี่สิกลัวนัก พอเห็นเสื้อผ้าขาดนิดขาดหน่อย
ก็รีบหาอะไรมาปะมาเย็บให้มันติดต่อเข้าไปใหม่
ยิ่งปะยิ่งเย็บ มันก็ยิ่งหนา ยิ่งหนาก็ยิ่งอุ่น
ยิ่งอุ่นก็ยิ่งติด ยิ่งติดก็ยิ่งหลง ผลที่สุดเลยไปไหนไม่รอด
นักปราชญ์บัณฑิตนั้น
ท่านเห็นว่าการอยู่การตายไม่สำคัญเท่ากับการทำประโยชน์
ถ้าการอยู่ของท่านมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นแล้ว
ถึงผ้ามันจะเก่า เสื้อมันจะขาดจนเป็นผ้าขี้ริ้ว ท่านก็ทนใส่มันได้
แต่ถ้าเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใครแล้ว ท่านก็แก้มันโยนทิ้งไปเลย
ผิดกับคนธรรมดาสามัญอย่างเราที่ไม่มีใครอยากตาย
พอพูดถึงตาย ก็กลัวเสียแล้ว ถึงร่างกายมันจะตายก็ยังอยากจะให้มันอยู่ บางคนร่างกายมันจะอยู่ ก็อยากจะให้มันตาย
ตายไม่ทันใจเอามีดมาเชือดคอให้มันตายเร็วเข้า เอาปืนมายิงให้มันตายบ้าง กระโดดให้รถไฟทับตายบ้าง กระโดดลงแม่น้ำให้มันจมตายบ้าง ฯลฯ
อย่างนี้นี่เป็นเพราะอะไร ?
เพราะอวิชชา ความไม่รู้เท่าความเป็นจริงในสังขาร
หลงผิด คิดผิดทั้งหมด
อย่างนี้มันก็จะต้องตายไปตกนรกหมกไหม้ ไม่รู้จักผุดจักเกิด
ทุกคนย่อมรักตัวของตัวเองยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด
แต่การรักตัวนั้น มี ๒ สถาน คือ
รักอย่างลืมตัว เผลอตัวและหลงตัว นั้นอย่างหนึ่ง
การรักเช่นนี้ไม่เรียกว่า การรักตัว เพราะไม่กล้าจะทำความดีให้แก่ตัวเอง จะทำความดีก็กลัวอย่างนั้นกลัวอย่างนี้
กลัวว่าตัวเองจะได้รับทุกข์ยากลำบากต่างๆ
เช่น อยากไปวัด ก็กลัวไกล กลัวลำบาก กลัวแดดกลัวฝน
จะถือศีลอดข้าวเย็นก็กลัวหิวกลัวตาย จะให้ทานก็กลัวยากกลัวจน
จะนั่งภาวนาก็กลัวปวดกลัวเมื่อย เช่นนี้เท่ากับคนนั้นตัดมือ
ตัดเท้า ตัดปาก ตัดจมูก ตัดหู ฯลฯ ของตัวเอง
ผลดีที่จะได้อันเกิดจากตัวก็เลยเสียไป นี่เป็นการรักตัวในทางที่ผิด
การรักอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เมตตาตัว
คือ หมั่นประกอบบุญกุศลและคุณความดีให้มีขึ้นในตน
ขณะใดที่จะเกิดประโยชน์จากตา หู จมูก ปาก มือ เท้า ฯลฯ ของตนเองแล้ว
ก็ไม่ยอมปล่อยโอกาสให้เสียไป
มือของเราที่จะให้ทานก็ไม่ถูกตัด เท้าของเราที่จะก้าวเดินไปวัดก็ไม่ถูกตัดหูของเราที่จะได้ฟังเทศน์ก็ไม่ถูกตัด ตาที่จะได้พบเห็นของดีๆ ก็ไม่ถูกปิดมืด
เราก็จะได้รับผลได้อันดีจากตัวของเราอย่างเต็มที่
อย่างนี้เรียกว่า เมตตาตัว เป็นการรักที่ถูกทาง ผู้นั้นจะมีแต่ความสุข
คนใดที่ขาดเมตตาตัวเองเท่ากับฆ่าตัวเอง เรียกว่า เป็นคนใจร้าย
เมื่อฆ่าตัวเองได้ ก็ย่อมฆ่าคนอื่นได้ด้วย
เช่น เขาจะไป ห้ามไม่ให้เขาไป เขาจะดู ห้ามไม่ให้เขาดู
เขาจะฟัง ห้ามไม่ให้เขาฟัง ฯลฯ
ทำให้ผลประโยชน์ของคนอื่นที่ควรจะได้พลอยเสียไปด้วย
นี่แหล่ะเป็นการฆ่าตัวเองและฆ่าคนอื่นให้ตายไปจากคุณความดี.."
#เทศนาธรรมคำสอน
พระวิสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์(ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)วัดป่าคลองกุ้ง อ.เมือง จ.จันทบุรี
คัดลอกมาจากแนวทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน.
พิมพ์ครั้งที่ ๑. โดยชมรมกัลยาณธรรม. ปี ๒๕๕๒, หน้า ๖๕-๖๗.
“สงกรานต์ปีนี้ เราคงต้องเปลี่ยนการรดน้ำ
ด้วยรูปธรรม คือ น้ำธรรมดา ให้เป็นนามธรรม
คือ น้ำใจ
ขอให้เราทุกคนเริ่มปีใหม่ของไทย ด้วยการ
แสดงน้ำใจไมตรีต่อกัน ขอให้รดน้ำคนรอบข้าง
ด้วยการกระทำ และการพูดที่สะท้อนถึงความรัก
ความเคารพ การสำนึกในสิ่งที่ดี ที่เราได้รับ
และได้ให้ซึ่งกัน และกัน
ขอให้แสดงน้ำใจ และความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ
ทางโทรศัพท์ หรือสื่อออนไลน์ การระลึกถึงกัน
ด้วยใจบริสุทธิ์ เป็นที่มาแห่งความอบอุ่นใจ
ปีใหม่ไทยนี้ ขอให้ทุกคนเลิกแสดงออกแบบ
สาดน้ำร้อนเป็นอันขาด ให้ฝึกตนในการแสดงออก
ในทางที่ทั้งผู้แสดง และผู้รอบข้างรู้สึกเย็นสบาย
สิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป
ไม่มีใครทราบได้ แต่สิ่งที่เรามั่นใจได้ คือ ตราบใด
ที่เรามีน้ำใจต่อกันและกัน สังคมเรายังคงมีความหวัง”
พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
“สงกรานต์นับเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย
สงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกัน
มีการแสดงออกทางกาย และทางวาจาที่น่าชื่นใจต่อกัน
ผู้น้อยก็แสดงความนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดง
ความเอื้อเฟื้อเอ็นดูต่อผู้น้อย ด้วยความจริงใจ
นับเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย
ที่เราทั้งหลายต้องช่วยกันสืบสานต่อไป อย่าให้สิ้นสูญ”
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชฯ
“ขออำนวยพร ขออำนาจแห่งกุศลผลบุญ
แห่งความดี ที่ทุกคนได้กระทำมาแล้ว
จงร่วมกันเป็นปัจจัยอำนวยพรปีใหม่ไทย
แด่ท่านทั้งหลาย ประสบความสุขกายสบายใจ
ประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยธรรม
ขอสิ่งนั้นจงเป็นผลสัมฤธิ์ ดั่งที่ประสงค์ทุกประการเทอญ”
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชฯ
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.