ในการปฏิบัติสมาธิภาวนานั้น แน่นอนว่าเราหวังตัว ปัญญา เพราะเป็นตัวที่จะสามารถไปละกิเลสอันเป็นตัวที่ก่อทุกข์ก่อโทษ สร้างทุกข์ทางใจได้ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน แต่ตัวปัญญานี้ พระพุทธเจ้าสอนว่า จะใช้ให้ได้ผล ต้องฝึกจิตของเราให้อยู่ในสภาพที่เรียกว่า “จิตที่อ่อนโยนควรแก่การงาน” เสียก่อน นั่นก็คือ จิตที่เป็นสมาธินั่นเอง ซึ่งก็อาจเปรียบได้กับเครื่องบินที่ไต่ระดับขึ้นไปจนพ้นแรงโน้มถ่วงในระดับที่จะสามารถทรงตัวอยู่ในอากาศได้อย่างมั่นคง ไม่โคลงเคลงสั่นไหวแล้วนั่นเอง
วิธีการไต่ระดับจิต เพื่อให้จิตควรแก่การงาน ก็อาจเริ่มจากการจดจ่อในคำบริกรรมภาวนา โดยเอาตัวศรัทธา เป็นแรงส่งหรือแรงขับเคลื่อน หรือจะว่าเป็นแรงฉุดก็ไม่ผิด ซึ่งถ้าเป็นสำนวนที่หลวงน้าสายหยุดพูดเสมอๆ ก็คือ “อย่าบริกรรมเฉยๆ ให้ยินดีในองค์พระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นที่จิตด้วย”
หรือเราอาจระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติชนิดธรรมะอยู่ฟากตาย เราก็จะสามารถไต่ระดับจิตของเราให้สูงขึ้น ให้โปร่ง โล่ง เบา ขึ้น เพื่อจะได้พ้นไปจากแรงฉุดของนิวรณ์เครื่องรบกวนต่าง ๆ เช่น การลุ่มหลงยินดีติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ฯลฯ หรืออารมณ์ขุ่นเคือง หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ รวมทั้งความง่วงเหงาหาวนอน และความลังเลสงสัยต่างๆ นานา
หากเราไม่ผ่านขั้นตอนการไต่ระดับจิต ให้เป็นจิตที่อ่อนโยนควรแก่การงาน แล้วไปพิจารณาทางด้านปัญญา ก็เหมือนคนที่ฝืนทำงานทั้ง ๆ ที่มิได้พักผ่อนหลับนอนหรือรับประทานอาหารที่เพียงพอ ปฏิบัติไปไม่นานก็หมดแรง และตกไปสู่ภาวะแห่งความฟุ้งซ่าน หรือทำในขณะที่ยังมองอะไรได้ไม่ชัดเจน เรียกว่ามีนิวรณ์ต่าง ๆ เข้าครอบงำ
การต่อสู้กับกิเลสก็มิได้ต่อสู้กับกิเลสตัวจริง เข้าทำนองต่อสู้กับ “เสือกระดาษ” กิเลสที่ตาย ก็คือเสือกระดาษตาย ส่วนเสือหรือกิเลสตัวจริงนั้นยังคงอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี และยิ่งจะอ้วนท้วนกว่าเดิม เพราะคู่ปรับ (นักปฏิบัติ) กำลังปฏิบัติในทางป้อนข้าวป้อนน้ำให้กับมันอยู่เพราะความที่ไม่รู้เท่าทันนั่นเอง การปฏิบัติที่หลวงปู่และครูบาอาจารย์พาทำคือการฝึกการฝืน ไม่อย่างนั้น ท่านคงไม่เรียกว่าการอบรมจิต คือ ทั้งอบ ทั้งรม จนกว่าจิตจะมีสภาวะที่ควรแก่การงาน
---------------------------------------------------
จากลูกศิษย์ท่านหนึ่งของหลวงปู่ดู่