อาตมาคิดว่า คนทุกคนต้องเคยฝัน ฝันอยู่บ่อย ๆ บ้าง นาน ๆ ฝันสักครั้งหนึ่งบ้าง ความฝันทั้งหมดนี้เกิดจากเหตุอะไรจะเป็นจริงหรือไม่ ต้องลองอ่านเรื่องนี้ดู
เหตุของความฝัน ท่านกล่าวไว้ว่ามี ๔ อย่าง คือ
๑. ฝันเพราะธาตุกำเริบ คือธาตุในร่างกายแปรปรวนทำให้ฝันต่าง ๆ เช่น เป็นเหมือนตกจากภูเขา เหมือนเหาะไปทางอากาศ และเหมือนถูกเนื้อร้าย ช้างร้าย และโจร เป็นต้น ไล่ติดตามมา
๒. ฝันเพราะจิตอาวรณ์ (เพราะเคยทราบมาก่อน) คือ ฝันถึงอารมณ์ที่ตนเคยผ่านมาแล้ว เช่น เรามีจิตกังวลถึงเรื่องการสอบ เราก็ฝันถึงเรื่องสอบ ว่าข้อสอบออกตรงนั้น ตรงนี้ ถ้าญาติที่เรารักต้องตายจากไป เราคิดถึงเขามาก บางทีก็ฝันเห็นเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือบงคนมีจิตใจใฝ่ในบุญกุศล ก็ฝันว่าได้ทำบุญใส่บาตร ถวายสังฆทาน เป็นต้น
๓. ฝันเพราะเทพสังหรณ์ คือ พวกเทวดาทำให้ฝันเพื่อความเจริญบ้าง เพื่อความเสื่อมบ้าง แก่ผู้ฝัน แก่ผู้ฝัน ผู้นั้นย่อมฝันเห็นอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยอานุภาพของพวกเทวดา
๔. ฝันเพราะบุพนิมิต คือ เป็นฝันที่เกิดจากบุญและบาป เป็นนิมิต (เครื่องหมาย) แห่งความเจริญบ้าง แห่งความเสื่อมบ้าง เหมือนมารดาของพระโพธิสัตว์ ทรงพระสุบินนิมิตในการที่จะได้โอรส (ซึ่งเป็นฝันที่เกิดจากบุญ) ฉะนั้น
บรรดาเหตุแห่งการฝัน ๔ อย่างนี้ ๒ อย่างแรก คือ ฝันเพราะธาตุกำเริบ และฝันเพราะจิตอาวรณ์ เป็นฝันที่ไม่เป็นความจริง ส่วนฝันเพราะเทพสังหรณ์ จริงก็มี ไม่จริงก็มี เพราะว่าเทวดาโกรธแล้วประสงค์จะให้พินาศ โดยใช้อุบายให้ฝันก็มีอยู่ ส่วนอย่างสุดท้าย ฝันเพราะบุพนิมิตนี้เป็นจริงโดยส่วนเดียว เพราะเป็นความฝันที่เกิดจากกรรมที่เรากระทำแล้ว
ถ้าเราอยากฝันดี ก็ควรไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนจิตจะได้เป็นบุญกุศล ทำให้ไม่ฝันร้าย หรือเป็นผู้ที่เจริญเมตตา (คือความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข) อยู่เสมออานิสงส์ของการเจริญเมตตามีข้อหนึ่งว่า ทำให้ไม่ฝันร้ายเพราะผู้ที่เจริญเมตตา เมื่อฝันร้ายย่อมฝันดี เช่น เป็นเหมือนว่ากำลังไหว้เจดีย์ เหมือนว่ากำลังฟังธรรม ส่วนชนทั้งหลายอื่น อาจฝันร้าย เช่น ฝันเห็นตนเหมือนถูกพวกโจรล้อมเหมือนถูกฝูงสัตว์ทำอันตรายเอา เป็นต้น ความฝัน ๔ อย่าง เหล่านี้ เกิดแก่ทุกคนได้ ยกเว้นพระอรหันต์ เพราะท่านละวิปลาส (ความเห็นคลาดเคลื่อนจากความจริง) ได้แล้วท่านย่อมไม่ฝันอะไรทั้งสิ้น
ที่อาตมาได้นำเรื่องเหตุที่เราฝันมากล่าวไว้ เพื่อให้ท่านผู้ได้ทราบ จะได้ไม่ต้องไปหาหมอดูให้เสียเงินเสียทองจะได้ไม่วิตกกังวลกับเรื่องที่ตนเองฝันเห็นมากเกินไป ทำให้ไม่สบายใจต่าง ๆ เพราะความฝันอาจจะจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การกระทำของเราในปัจจุบัน (กรรมปัจจุบัน) นั่นเอง ที่จะเป็นตัวกำหนดชีวิตของเรา ถ้าเราทำกรรมดีในปัจจุบัน ย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญกรรมชั่วยอมให้ผลได้ยาก ตรงกันข้าม ถ้าเราทำกรรมชั่วในปัจจุบัน ย่อมประสบความทุกข์ ความเดือดร้อนต่าง ๆ
“ อยากได้ดี ไม่ทำดี นั้นมีมาก
ดีแต่อยาก หากไม่ทำ น่าขำหนอ
อยากได้ดี ต้องทำดี อย่ารีรอ
ดีแต่ขอ รอแต่ดี ไม่ดีเลย ”
คัดจากหนังสือ ตายแล้วไปไหน ?
เรียบเรียงโดย พระมหาสุสวัสดิ์ จนฺทปญฺโญ ป.ธ.๙
พิมพ์โดย สุวิภา กลิ่นสุวรรณ์
ขออนุญาตและขอบคุณเว็ป kanlayanatam.com
_________________ อันความสุขทางใจนั้นหายาก คนส่วนมากไม่ชอบแสวงหา หวังแต่สุขเพื่อสนุกเพียงหูตา มันจึงพาชักจูงให้ยุ่งใจ
|