จันทร์ 18 พ.ค. 2009 2:49 pm
- lp2.jpg (74.87 KiB) เปิดดู 981 ครั้ง
แนวทางการสอนของหลวงปู่อย่างหนึ่งก็คือ ท่านแทบจะไม่พยากรณ์ว่าจิตของลูกศิษย์เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สิ่งที่เน้นย้ำมากที่สุดคือ “หมั่นทำเข้าไว้” และ “ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ให้ทำ” มีเป็นบางครั้งเท่านั้น ที่ท่านจะพยากรณ์ผลการปฏิบัติหรือสภาวะจิตของลูกศิษย์ ซึ่งก็ต้องมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ต้องการขจัดความลังเลสงสัย หรือเกรงจะไปผิดทาง หรือให้เกิดกำลังใจและเกิดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติ เป็นต้น
ท่านคงพิจารณาแล้วว่า หากลูกศิษย์ต้องคอยมาให้ครูอาจารย์บอกหรือรับรองผลการปฏิบัติ ลูกศิษย์ก็จะไม่สอบตัวเองเท่าที่ควร และจะ “โง่” ในทางธรรม เพราะการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าก็ตรัสแล้วว่าเป็นปัจจัตตัง ผู้ปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง ครูบาอาจารย์จึงเตือนเสมอๆ ว่าจิตเราเป็นอย่างไร เราก็ต้องดูตัวเอง สอบตัวเองให้รู้ มิใช่ต้องรอให้ผู้อื่นมาบอก เช่น จิตเรามีราคะอยู่ก็ให้รู้ จิตเราขี้เกียจขี้คร้านก็ให้รู้ จิตเราชอบหลงตัวก็ให้รู้ จิตอิ่มเอิบในการพิจารณาธรรมหมวดใดก็ให้รู้ จิตมีโทสะเป็นเจ้าหัวใจก็ให้รู้ จิตทรงตัวได้ไม่นานก็ให้รู้ จิตถูกจริตกับอสุภะกรรมฐานหรือไม่ก็ให้รู้ จิตตั้งอยู่ในความประมาทหรือไม่ก็ให้รู้ วางจิตหนักเบาเกินไปอย่างไรก็ให้รู้ จิตถูกนิวรณ์ตัวไหนเล่นงานอยู่ก็ให้รู้ ฯลฯ
ดังนั้น หลวงปู่ท่านจึงมุ่งตรงไปที่การให้หมั่นปฏิบัติ ทำไป พิจารณาไป สอบดูตัวเอง ปรับปรุงพัฒนาตัวเองเรื่อยไป จะได้เป็นที่พึ่งแก่ตัว พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์เป็นเพียงผู้ชี้ทาง มิใช่ผู้คอยพยากรณ์หรือรับรองผลการปฏิบัติของศิษย์ ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อพระภิกษุรับกรรมฐานหรือแนวทางการปฏิบัติไปแล้ว ก็ไปสู่ที่วิเวก ปฏิบัติจิตตภาวนาตามแนวทางที่ได้รับ แล้วก็สอบดูตัวเองเป็นระยะๆ พรรษาผ่านไป หากมีอุปสรรคขัดข้อง จึงจะกราบทูลเพื่อขอคำแนะนำจากพระพุทธองค์ โดยที่ไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าต้องคอยพยากรณ์ผลการปฏิบัติให้ มีแต่ว่าเมื่อรับประทานอาหารเอง ก็ให้รู้เองว่าอิ่ม นี้แหละ ที่เรียกว่าให้หมั่นสอบตัวเอง และเตือนตนด้วยตนเอง