ศุกร์ 22 พ.ค. 2009 12:12 pm
- character.jpg (30.8 KiB) เปิดดู 1041 ครั้ง
ปฏิปทาที่เด่นชัดอันหนึ่งของหลวงปู่ ก็คือความเคารพในธรรม เวลาใครสนทนาธรรมกัน ท่านจะสอนไม่ให้นำเรื่องโลกๆ ไปพูดแทรก ท่านว่าบาป ยิ่งคนกำลังนั่งสมาธิ หากไปส่งเสียงรบกวน ท่านว่ายิ่งบาปมาก ท่านเคยยกคำพูดหลวงปู่มั่นที่ว่า คนที่ส่งเสียงรบกวนคนที่กำลังปฏิบัติสมาธิภาวนา อาจได้รับบาปกรรมเท่ากับฆ่าช้างทั้งตัวทีเดียว
ยิ่งผู้นั้นกำลังชำระใจในขั้นละเอียด การเสียโอกาสบุญใหญ่ของเขาก็จะกลับมาเป็นบาปใหญ่แก่เราได้ การพาเด็กเล็กเข้าวัดวิ่งเล่นส่งเสียงดังรบกวนผู้ปฏิบัติ นับเป็นบาปที่ไม่จำเป็น ที่หลวงปู่พยายามบอกให้หลีกเลี่ยงเสีย แต่เราก็ยังคงสามารถพบเห็นได้เสมอๆ ในทุกวันนี้ ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่พ่อแม่ไม่ได้ศึกษาและตระหนักถึงบาปกรรมที่เด็กจะได้รับ ผู้ไม่รู้มิใช่ว่าจะไม่ได้รับบาป เหมือนเด็กเล็กที่เอาปืนจริงมายิงเล่นด้วยความไม่รู้ สุดท้ายก็เสียชีวิตจริงๆ มานักต่อนักแล้ว
เวลาสอนธรรมะ หลวงปู่จะไม่ลืมกล่าวอ้างพระพุทธองค์เสมอๆ หลวงปู่ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธองค์มิได้บัญญัติ หลวงปู่ท่านจะไม่พูดถึงความรู้นอกพระไตรปิฎก เพราะการสอนสิ่งที่พระพุทธองค์พิจารณาแล้วว่านั่นมิใช่สิ่งที่เป็นสาระต่อการดับทุกข์ นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังจะเป็นโทษเพราะไม่กอปรด้วยธรรม อีกทั้งยังเป็นเหมือนการอวดภูมิของเจ้าของให้ดูเกินเลยครูอาจารย์สูงสุดคือพระพุทธเจ้า จึงถือว่าเป็นการขาดความเคารพในธรรมอีกด้วย
หลวงปู่เล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกด้วยความเบิกบานใจทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง มีเรื่องราวสนุกชวนฟังหลายๆ เรื่อง เป็นต้นว่า เรื่องการนับเม็ดฝนของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ และเรื่องกุมารหูตุ้มที่ยืนยันว่าเพียงแค่จิตมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก็มีอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ให้ได้ทิพยสมบัติแล้ว ดังนั้น การบริกรรมภาวนาไตรสรณาคมน์ขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยจิตเลื่อมใสจึงมีอานิสงส์มาก เป็นต้น
หลวงปู่เคารพในวินัยสงฆ์ ให้เคารพพระผู้มีพรรษามากกว่า รวมทั้งให้ความเคารพในรูปวัตถุ หรือรูปภาพของพระพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย เพราะนั่นคือสื่อดึงดูดใจเราไปสู่คุณของพระรัตนตรัย ท่านมิได้มองว่ารูปเคารพเหล่านั้นจะมาบังธรรมที่เป็นแก่นแท้ หากแต่สามารถใช้เป็นสื่อหรือเป็นอุปกรณ์ช่วยนำผู้เคารพไปสู่ธรรมที่เป็นแก่นแท้ต่อไปได้ หลวงปู่มิได้ปฏิเสธวัตถุหรือพิธีรีตอง หากแต่ท่านใช้วัตถุและพิธีรีตอง เพื่อให้คนเข้าถึงธรรม จึงมิใช่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดที่จะเห็นลูกศิษย์หลวงปู่จำนวนไม่น้อย มีจุดเริ่มต้นจากความสนใจในวัตถุมงคล จากนั้นจึงค่อยๆ เขยิบเข้าสู่การรักษาศีล และเจริญภาวนา กระทั่งฝึกฝนเพื่อการมีตนเป็นที่พึ่ง เป็นอิสระ และเป็นไทแก่ตัว โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุภายนอก เมื่อปัญญาเกิด วัตถุสิ่งยึดเหล่านั้นก็กลายเป็นแค่ปัจจัยเครื่องอาศัยไปเสียหมด เพราะทราบชัดแล้วว่าแก่นแท้อยู่ที่วิมุติหลุดพ้นเท่านั้น
----------------------------------------------------------------
บทความจากพี่พรสิทธิ์