นับเป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่งเหลือประมาณที่หลวงปู่เตือนผู้ปฏิบัติใหม่แต่จะจับยอดธรรมเช่นผู้เขียนว่า “เบื้องต้นก็จะขึ้นยอดตาล มีหวังตกลงมาตาย หรือแข้งขาหักเท่านั้น”
พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ชัดเจนในเรื่องหลักของไตรสิกขาคือการฝึกฝนพัฒนาในเรื่องศีล การฝึกฝนพัฒนาในเรื่องสมาธิ และการฝึกฝนพัฒนาในเรื่องปัญญา แต่คนสมัยนี้ก็มักจะไปจับที่ตัวปัญญา มองข้ามเรื่องศีล มองข้ามเรื่องสมาธิ หนักเข้า นอกจากมองข้ามแล้ว ยังมีทัศนะในทางลบเอาเสียอีก
ผู้เขียนเพิ่งได้อ่านตำราสอนศีลธรรมเด็ก ๆ ว่าพระพุทธศาสนามิได้สอนให้นั่งสมาธิหลับตา นั่งนิ่งเป็นก้อนหินหรือต้นไม้...หรือให้อดทนอย่างนางเอกละครฯ แต่สอนเรื่อง “รู้” สอนเรื่อง “สติสัมปชัญญะ”
คนสมัยใหม่ที่ไม่มีพื้นฐานความเข้าใจที่ดีพอ ยากที่จะรู้ได้ เพราะมันเป็น “ความผิดในความถูก” การสอนทางลัดสมัยนี้ ก็คล้าย ๆ กับจำลองสภาวะจิตของพระอรหันต์มาให้นักปฏิบัติใหม่วางใจหรือทำใจให้ได้อย่างนั้นบ้าง โดยไม่เฉลียวใจว่านั่นคือส่วนของ “ผล” มิใช่ “เหตุ” ซึ่งมีครูบาอาจารย์บางท่านอุปมาว่า เรายังเป็นน้ำมันดิบที่ต้องอาศัยกระบวนการกลั่นอีกมาก เรายังไม่ได้เป็นน้ำมันโซล่า ดีเซล ฯลฯ มันจึงยังใช้การใช้งานไม่ได้ จิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมเท่านั้น จึงจะเป็นจิตที่ควรแก่การงาน
พระพุทธเจ้าสอนให้ฝึกจิต ดัดจิตให้ตรง คนสมัยนี้ก็จะสอนให้ปล่อยจิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ให้แม้แต่การประคองจิต เราลองนึกถึงเด็กเล็กที่เพิ่งเริ่มหัดเดิน ถามว่าการประคองเป็นสิ่งจำเป็นไหม การปล่อยให้โซซัดโซเซ เดินไปเหยียบของมีคม ฯลฯ จะเป็นสิ่งที่ควรในขั้นตอนนี้หรือ
อุปมาอีกอย่างก็คือที่ว่ากระบี่อยู่ที่ใจนั้น เป็นขั้นของผู้ที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว จนสามารถหยิบฉวยอะไร ๆ มาเป็นอาวุธได้ แต่นั่นก็ต้องผ่านกระบวนการฝึกฝนตั้งแต่หาบน้ำ แบกของ ฯลฯ จากงานหยาบสู่งานละเอียดเป็นลำดับ เรื่อยมา
ถ้าสมาธิเป็นของไม่จำเป็น หรือเป็นของที่มีมาเองตามธรรมชาติ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนมากในเรื่องกรรมฐานกองต่าง ๆ รวมไปถึงให้ความหมายของการเจริญสัมมาสมาธิว่าคือการเจริญฌานทั้งสี่ แล้วทำไมครูบาอาจารย์เช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่ดู่ ฯลฯ จึงสอนเน้นหนักให้นั่งสมาธิทำกรรมฐาน พอเห็นหน้าหลวงปู่ดู่ท่านก็ชี้ให้ไป “ทำงาน” (ไปทำกรรมฐาน) แล้ว เพราะในเมื่อหลับตาแล้วจิตเรายังไม่ทันกิเลส ลืมตาเจออะไรสารพัดเข้ามา แล้วจะเหลือหรือ การจะเก่งในชีวิตประจำวัน หรือเก่งในขณะลืมตา มันก็ต้องเริ่มจากความเก่งในตอนหลับตา ปิดทวารต่าง ๆ เหลือไว้แต่ช่องทางใจ
ครูบาอาจารย์ก็ไม่เคยสั่งสอนว่าให้เอาเวลางานมาหลับตาภาวนา มีแต่ยามปลอดภาระก็นั่งหลับตาภาวนา ยามลืมตาทำกิจกรรมก็ให้ทำภาวนาไว้ในใจ ตามดูจิตรักษาจิตต่อไปให้ได้ทุกอิริยาบถ
การปล่อยวางก็เหมือนกัน หากวางจิตปล่อยวางในทันทีที่มีผัสสะมากระทบ มันจะเป็นการปล่อยวางที่ไม่มีผลยั่งยืน เพราะจิตมิได้ปล่อยวางเพราะธรรมสังเวชอันเกิดจากการพิจารณาสิ่งที่กระทบจนรู้ชัดในสภาวะแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนเราล้วงมือลงในน้ำขุ่น ๆ เจตนาจะจับปลาไหล แต่พอยกขึ้นพ้นน้ำ เห็นชัดว่าเป็นงู เราก็จะปล่อยมือออกในทันที มิใช่ปล่อยมือจากปลาไหล แล้วก็ไปจับมันขึ้นมาอีกในภายหลังเพราะยังเข้าใจว่ามันคือปลาไหล ไม่ใช่งู
โดยสรุปก็คือ ให้ยึดถือคำสอนหลวงปู่ที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านวางแบบแผนการปฏิบัติไว้ครบถ้วนสมบูรณ์ดีแล้ว ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา อย่าปฏิบัติชนิดเริ่มต้นก็จะขึ้นยอดตาล เพราะนอกจากจะคว้ายอดไม่ได้แล้ว ก็อาจคว้าอะไรไม่ได้เลย
-----------------------------------------------------------------------------
บทความจากพี่พรสิทธิ์