วันนี้ขอเล่าเรื่องการตั้งองค์พระในเวลาปฏิบัติสมาธิภาวนา
ในตอนเริ่มตั้นภาวนานั้น ที่นิยมกันก็คือการตั้งนิมิตองค์พระ (ซึ่งอาจเป็นรูปองค์พระที่อยู่ในกำมือ) ไว้กึ่งกลางหน้าผาก ให้แตะรู้เบา ๆ อย่ากำหนดแรงนัก และให้คำบริกรรมภาวนาไตรสรณคมน์ดังก้องกังวานออกมาจากองค์พระ (เพื่อให้รวมความรู้สึกไว้ในจุดเดียว)
การเห็นนิมิตนั้น บางครั้งยังไม่ชัดเจนในตอนต้น อาจเพราะจิตยังฟุ้งอยู่ เพราะระหว่างวันไม่ได้สำรวมรักษาจิตเท่าที่ควร หรืออาจเพราะกำหนดแรงไป ดังนั้น ควรสูดลมหายใจลึก ๆ ปรับการนั่งให้เป็นที่สบายเสียก่อน แล้วนึกนิมิตง่าย ๆ เหมือนนึกถึงใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่เรา
รายละเอียดระหว่างปฏิบัติขอข้ามไปก่อน ทีนี้ในตอนจะเลิก ก่อนอาราธนาพระเข้าตัวและแผ่เมตตา ก็ให้เคลื่อนนิมิตองค์พระเข้ามาไว้กลางตัว ขยายองค์ท่านให้ใหญ่จนเกศของท่านจรดที่บริเวณลูกกระเดือกของเรา ส่วนฐานอยู่ที่กลางท้อง หันพระพักตร์ออก ตั้งนิมิตเสร็จก็กล่าวคำอาราธนาพระเข้าตัว พร้อมกับแผ่เมตตา โดยกำหนดให้แสงสว่าง (บุญ) ออกจากองค์พระกลางตัว ออกไปทุกทิศทุกทาง ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างด้วย (ถ้าตั้งจิตจนเกิดปีติในระหว่างแผ่เมตตาก็จะยิ่งดี)
เมื่อออกจากการนั่งกรรมฐานแล้ว ก็ให้ระลึกว่าองค์พระยังอยู่ เราก็บริกรรมภาวนาประคององค์พระไว้ให้ได้ตลอดวัน จะทำอะไร พูดกับใคร ก็แบ่งใจส่วนหนึ่งมาระลึกองค์พระนี้ไว้ พอถึงเวลาปฏิบัติ จิตก็จะสงบได้ง่าย การภาวนาจะหวังจับยอดเอาปัญญาเลย โดยมองข้ามความสงบของใจนั้นไม่ควร เพราะอุปมาเหมือนจะรับประทานอาหาร แต่ไม่มีที่ตั้งจานข้าว
ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่แบบสำเร็จรูปตายตัว บอกเล่าไว้ให้พอเป็นแนวทางเท่านั้นครับ
--------------------------------------------------
บทความจากพี่พรสิทธิ์